คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1462 – 1471/2562  นายมะณู  ยิ้มละมัย กับพวก  โจทก์

                                                                                               บริษัทอีเทอร์นิตี้ แกรนด์ 

                                                                                 โลจิสติคส์ จำกัด (มหาชน)     จำเลย

พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘  มาตรา ๑๒ วรรคสอง

           นับแต่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างครั้งแรก จำเลยและพนักงานขับรถของจำเลยยอมรับและตกลงกันว่าจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติให้แก่พนักงานขับรถไปแล้ว และเมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในครั้งต่อๆ มามีการเจรจากัน ผู้แทนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างยอมรับกันว่าจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติให้แก่พนักงานขับรถทุกคนอยู่แล้วโดยเรียกว่า ค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยง ภายหลังเมื่อมีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามที่เคยปฏิบัติมา ย่อมถือได้ว่า มิได้มีการเจรจาตกลงกันใหม่ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้ถือว่าการจ่ายค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ ซึ่งให้ถือว่าข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละหนึ่งปีตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงจึงมิใช่ค่าจ้างตามผลงาน แต่ถือเป็นค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ
เมื่อโจทก์ทั้งสิบได้รับค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงให้แก่โจทก์ทั้งสิบอีก

______________________________

         โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน

         จำเลยทั้งสิบสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์ทั้งสิบสำนวนอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสิบเป็นพนักงานขับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ๑๘ ล้อ ให้แก่จำเลยและปัจจุบันยังคงทำงานอยู่ ในการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ จำเลยจ่ายเป็นเงินไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ดังที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ ๑๒.๒ โดยเรียกค่าตอบแทนนั้นว่าค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยง ซึ่งค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวเป็นไป
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
ข้อ ๖ อันเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานและทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และมีจำนวนมากกว่าอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงที่โจทก์ทั้งสิบมีสิทธิได้รับอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสิบและจำเลยไม่มีข้อตกลงกันว่าจำเลยจะจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทำงานหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด ประกอบกับจำเลย
จ่ายค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงให้แก่โจทก์ทั้งสิบตลอดมาจนถึงปัจจุบันตามใบจ่ายเงินเดือน โดยโจทก์ทั้งสิบยอมรับว่าได้รับค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติจากจำเลยที่เรียกกันว่าค่าเที่ยว
หรือเบี้ยเลี้ยงแล้ว โจทก์ทั้งสิบจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยอีก

         ที่โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์ว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้ถือว่าค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติรวมอยู่ด้วยสิ้นสุดลงแล้ว และไม่มีการเจรจาตกลงกันใหม่ โจทก์ทั้งสิบและพนักงานขับรถของจำเลยในปัจจุบันมิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยดังกล่าว นอกจากนี้ โจทก์ทั้งสิบ ตัวแทนพนักงานขับรถ หรือสหภาพแรงงานที่โจทก์ทั้งสิบและพนักงานขับรถของจำเลยเป็นสมาชิกอยู่ในปัจจุบันมิได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้ถือว่าค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติรวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด ทั้งสัญญาจ้างแรงงานก็มิได้กำหนดไว้เช่นเดียวกัน ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพ
การจ้างที่ให้ถือว่าค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงาน
ปกติรวมอยู่ด้วย จึงไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสิบและพนักงานขับรถของจำเลยในปัจจุบันนั้น เห็นว่า ตามข้ออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจำต้องย้อนไปวินิจฉัยเสียก่อนว่ามีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้ถือว่าค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน
นอกเวลาทำงานปกติรวมอยู่ด้วย และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสิบ
อันจะนำไปสู่ปัญหาว่าจำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติแก่โจทก์ทั้งสิบหรือไม่ เพียงใด ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจะต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวน แม้ศาลแรงงานกลางจะรวบรัดวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว แต่การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงให้แก่โจทก์ทั้งสิบเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติแล้ว กรณีพอเข้าใจได้
อยู่ในตัวว่า ศาลแรงงานกลางพิจารณาถึงความมีอยู่และการมีผลใช้บังคับของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพ
การจ้างที่ให้ถือว่าค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติรวมอยู่ด้วย อันเป็นการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในสำนวนนั่นเอง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบ
จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบว่า จำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติให้แก่โจทก์ทั้งสิบหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบจะเป็นค่าจ้างหรือไม่ต้องพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการจ่ายเป็นสำคัญ หากจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติหรือจ่ายโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้
ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานก็เป็นค่าจ้าง แม้ประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางจะมิได้แสดงเหตุผล
แห่งคำวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่านำข้อเท็จจริงใดมาเป็นหลักในการวินิจฉัยว่ามีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้ถือว่าการจ่ายค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสิบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของนายจิรัฐิติ ผู้รับมอบอำนาจจำเลย ประกอบรายงานการประชุม บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หนังสือแจ้งข้อเรียกร้อง หนังสือแต่งตั้งผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้อง บันทึกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน หนังสือรับจดทะเบียนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยโจทก์ทั้งสิบไม่โต้แย้ง ทำให้ข้อเท็จจริงยุติในชั้นพิจารณา
ของศาลแรงงานกลางฟังได้ว่า เดิมจำเลยและสหภาพแรงงานขนส่งสินค้าซึ่งพนักงานขับรถของจำเลยเป็นสมาชิกอยู่ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ลงวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๘ ระบุว่าจำเลย
จ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติให้แก่พนักงานขับรถไปแล้วและมีการปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวต่อพนักงานขับรถทุกคนเรื่อยมา ต่อมาโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ โจทก์ที่ ๖ ถึงที่ ๘ โจทก์ที่ ๑๐ และพนักงานขับรถของจำเลยยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กระทั่งวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยตกลง
ให้จำเลยเปลี่ยนถ้อยคำในใบจ่ายเงินเดือนจากค่าล่วงเวลาเป็นค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงโดยยังคงเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติไว้ตามเดิม หลังจากนั้นพนักงานขับรถของจำเลยบางส่วนร่วมกันก่อตั้งสหภาพแรงงานอีเทอร์นิตี้ ประเทศไทย ขึ้น และยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอีก ซึ่งในชั้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานโดยพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน
นายจิรัฐิติเข้าร่วมเป็นผู้แทนเจรจาฝ่ายจำเลย โจทก์ที่ ๑ และที่ ๖ เข้าร่วมเป็นผู้แทนเจรจาฝ่ายสหภาพแรงงานอีเทอร์นิตี้ ประเทศไทย โดยผู้แทนเจรจาทั้งสองฝ่ายยอมรับกันว่าจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงาน
นอกเวลาทำงานปกติให้แก่พนักงานขับรถทุกคนอยู่แล้ว โดยเรียกว่าค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยง จึงเป็นเหตุ
ให้การทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามที่ปฏิบัติกันมา และจำเลย
ก็ไม่เคยตกลงจ่ายค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงให้เป็นค่าจ้างตามผลงานอีกส่วนหนึ่งแก่โจทก์ทั้งสิบหรือพนักงานขับรถ กรณีเห็นได้ว่า นับแต่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างครั้งแรก จำเลยและพนักงานขับรถของจำเลยยอมรับและตกลงกันว่าจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติให้แก่พนักงานขับรถไปแล้ว และเมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในครั้งต่อ ๆ มา
มีการกล่าวถึงค่าตอบแทนที่ได้ตกลงกันไว้ดังกล่าวทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ โจทก์ที่ ๖
ถึงที่ ๘ โจทก์ที่ ๑๐ และพนักงานขับรถของจำเลยบางส่วนร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งในชั้นไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ผู้แทนเจรจาทั้งสองฝ่ายยอมรับกันว่าจำเลย
จ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติให้แก่พนักงานขับรถทุกคนอยู่แล้วโดยเรียกว่าค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยง เมื่อมีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ ก็ไม่มี
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามที่ปฏิบัติกันมา ย่อมถือได้ว่ามิได้มีการเจรจาตกลงกันใหม่ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ให้ถือว่าการจ่ายค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ ซึ่งให้ถือว่าข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละหนึ่งปีตามมาตรา ๑๒ วรรคสอง แห่งพ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ดังนั้น ค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวจึงมิใช่ค่าจ้างตามผลงานดังที่โจทก์ทั้งสิบอ้างในอุทธรณ์ แต่ถือเป็นค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ เมื่อโจทก์ทั้งสิบได้รับค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงให้แก่โจทก์ทั้งสิบอีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(ไพรัช  โปร่งแสง – วิโรจน์  ตุลาพันธุ์ – ปณิธาน  วิสุทธากร)

 

กิตติ  เนตรประเสริฐชัย – ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ – ตรวจ