คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1430 - 1458/2562 นายวรัญญู ทองเจริญ
กับพวก โจทก์
บริษัทลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต
(ประเทศไทย) จำกัด จำเลย
กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ข้อ 6
งานที่โจทก์ทั้งยี่สิบเก้าต้องปฏิบัติคือการขับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าไปส่งที่ห้างสรรพสินค้า ท. ตามสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้รับค่าจ้างเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเงินเดือนประจำ อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าเที่ยวซึ่งจำเลยจ่ายโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการทำงานที่โจทก์แต่ละคนต้องทำงานเกินเวลาทำงานปกติเข้าไว้ด้วย ค่าเที่ยวจึงเป็นเงินที่จำเลย
จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการขับรถบรรทุกตามคำสั่งจำเลยทั้งในเวลาทำงานปกติและนอกเวลาทำงานปกติ ย่อมถือเป็นค่าจ้างตามผลงานสำหรับการขับรถที่เป็นจำนวนชั่วโมงทำงานปกติและที่เป็นจำนวนชั่วโมงนอกเวลาทำงานปกติปะปนอยู่ด้วยกัน ค่าจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบเก้าจึงได้แก่เงินเดือนประจำรวมกับค่าเที่ยวเฉพาะส่วนที่เป็นการขับรถที่เป็นจำนวนชั่วโมงทำงานปกติ แต่โดยที่ค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับต้องอาศัยฐานข้อมูลอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานซึ่งต้องรวมคำนวณจากค่าจ้าง
ส่วนเงินเดือนประจำและค่าจ้างตามผลงานสำหรับการขับรถในชั่วโมงทำงานปกติ และฐานข้อมูลจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาในแต่ละวันทำงานตามความเป็นจริงของโจทก์ทั้งยี่สิบเก้า
แต่ละคน ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวนี้แตกต่างกันและเมื่อคำนวณเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานอาจมีจำนวนน้อยกว่า เท่ากับ หรือมากกว่าจำนวนเงินค่าเที่ยวเหมาจ่ายตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 5.1 ก็เป็นได้ การที่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 5.1 กำหนดให้ค่าเที่ยวเป็นการเหมาจ่ายรวมค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและการทำงานเกินเวลาทำงานปกติไว้ด้วยแล้วในทุกกรณีจึงขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2541) ข้อ 6 ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ แต่ศาลแรงงานภาค 1 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้จ่ายค่าเที่ยวโดยให้ส่วนหนึ่ง
เป็นค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง และอีกส่วนหนึ่งที่เหลือเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่ อย่างไร ในช่วงเวลาวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2560 โจทก์แต่ละคนมีวันทำงานคือวันใดบ้าง แต่ละวันทำงานนั้นเป็นจำนวนชั่วโมงทำงานปกติกี่ชั่วโมงและเป็นจำนวนชั่วโมงทำงานเกินเวลาทำงานปกติกี่ชั่วโมง คิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในแต่ละวันทำงานของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยจ่ายค่าเที่ยวในแต่ละวันทำงานให้แก่โจทก์แต่ละคนแล้วเท่าใด และโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงาน
เกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพียงใด เป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิพากษาถึงค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานสำหรับช่วงเวลาวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ให้แก่โจทก์คนละคนได้
จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นก่อน แล้วพิพากษาคดี
เสียใหม่ตามรูปคดี
______________________________
โจทก์ทั้งสามสิบฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคนแก่โจทก์ทั้งสามสิบ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค ๑ โจทก์ที่ ๑๙ ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานภาค ๑ อนุญาต เหลือโจทก์รวม ๒๙ คน คือโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ และโจทก์ที่ ๒๐ ถึงที่ ๓๐ และโจทก์ดังกล่าวแถลงรับข้อเท็จจริงโดยให้คิดเวลาทำงานเฉพาะเวลาที่ขับรถ
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งยี่สิบเก้า อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า จำเลยประกอบกิจการขนส่งสินค้า โดยใช้รถยนต์บรรทุกส่งสินค้าให้แก่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส มีโจทก์ทั้งยี่สิบเก้าเป็นพนักงานขับรถ ทำหน้าที่ขับรถบรรทุกส่งสินค้า ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน กำหนด
จ่ายทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน และค่าเที่ยวกำหนดจ่ายทุกวันที่ ๑๕ ของเดือน ค่าเที่ยวจ่ายตามผลงานที่ทำได้ คำนวณตามระยะทางที่ขับรถไปส่งสินค้าและระยะเวลาในการขับรถ ซึ่งจ่ายให้เป็นรายเที่ยวในลักษณะ
เป็นหน่วยการทำงานในแต่ละหน่วย แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ มีอำนาจฟ้อง ค่าเที่ยวตั้งแต่วันที่
๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๘ ขาดอายุความ ๒ ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๔ โจทก์ทั้งยี่สิบเก้าจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติสำหรับการขับรถนับแต่วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นไปเท่านั้น แม้เดิมหลักเกณฑ์การจ่ายค่าเที่ยวจะมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน แต่มีการตกลงกันใหม่ต่างหากและปฏิบัติต่อกันมาตลอด และต่อมามีการแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามสำเนาข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ในหมวดที่ ๕ ข้อ ๕.๑ กำหนดว่า จำเลยจะจ่ายค่าตอบแทนเรียกว่าค่าเที่ยว เป็นการเหมาจ่ายโดยรวมค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและการทำงาน
เกินเวลาทำงานปกติอยู่ในค่าเที่ยว ดังนั้น ค่าเที่ยวจึงเป็นเงินที่จ่ายด้วยเหมารวมระยะเวลาทำงานในเวลาทำงานปกติและนอกเวลาทำงานปกติเข้าด้วยกัน ค่าเที่ยวจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของมาตรา ๕
แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยโจทก์ทั้งยี่สิบเก้าไม่ได้คัดค้านและยังคงปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่แก้ไขตลอดมา ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นสภาพการจ้างโดยปริยาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งยี่สิบเก้าว่า ตั้งแต่วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ จำเลยต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานให้แก่โจทก์
ทั้งยี่สิบเก้าหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า “เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น
หรือจ่ายให้ โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ
ตามพระราชบัญญัตินี้” นอกจากนี้ในงานขนส่งทางบกต้องอยู่ภายใต้กฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
ซึ่งข้อ ๖ กำหนดว่า “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างในงานขนส่งทางบกทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว” คดีนี้ข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานภาค ๑ ฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า งานที่โจทก์ทั้งยี่สิบเก้าต้องปฏิบัติคือการขับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าไปส่งที่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส ตามสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีวันทำงานเป็นรอบ ๆ ละ ๖ วัน ติดต่อกันแล้วจึงหยุดพัก ๑ วัน ได้รับค่าจ้างเป็น
๒ ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินเดือนประจำ อีกส่วนหนึ่งเป็นค่าเที่ยว ค่าเที่ยวที่จำเลยกำหนดเป็นเงินที่จำเลยจ่ายโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงระยะเวลาในการทำงานที่โจทก์แต่ละคนต้องทำงานเกินเวลาทำงานปกติเข้าไว้ด้วย ค่าเที่ยวจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการขับรถบรรทุกตามคำสั่งจำเลยทั้งในเวลาทำงานปกติและนอกเวลาทำงานปกติ ดังนี้ ค่าเที่ยวสำหรับโจทก์ทั้งยี่สิบเก้า
ในคดีนี้จึงเป็นค่าจ้างตามผลงานสำหรับการขับรถที่เป็นจำนวนชั่วโมงทำงานปกติและที่เป็นจำนวนชั่วโมงนอกเวลาทำงานปกติปะปนอยู่ด้วยกัน กับค่าจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบเก้าแต่ละคนในคดีนี้จึงได้แก่เงินเดือนประจำรวมกับค่าเที่ยวเฉพาะส่วนที่เป็นการขับรถที่เป็นจำนวนชั่วโมงทำงานปกติ แต่โดยที่ค่าตอบแทน
การทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับจำต้องอาศัยฐานข้อมูลอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานซึ่งต้องรวมคำนวณจากค่าจ้างทั้งส่วนเงินเดือนประจำและค่าจ้างตามผลงานสำหรับการขับรถในชั่วโมงทำงานปกติ และฐานข้อมูลจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาในแต่ละวันทำงาน
ตามความเป็นจริงของโจทก์ทั้งยี่สิบเก้าแต่ละคน ซึ่งฐานข้อมูลดังกล่าวนี้แตกต่างกันและเมื่อคำนวณ
เป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานอาจมีจำนวนน้อยกว่า เท่ากับ หรือมากกว่าจำนวนเงินค่าเที่ยวเหมาจ่ายตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ ๕.๑ ก็เป็นได้ การที่ข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานข้อ ๕.๑ กำหนดให้ค่าเที่ยวเป็นการเหมาจ่ายรวมค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและการทำงานเกินเวลาทำงานปกติไว้ด้วยแล้วในทุกกรณีจึงขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ข้อ ๖ ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ แต่ศาลแรงงานภาค ๑ ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้จ่ายค่าเที่ยวโดยให้ส่วนหนึ่ง
เป็นค่าตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติวันละ ๘ ชั่วโมง และอีกส่วนหนึ่งที่เหลือเป็นค่าตอบแทน
การทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่ อย่างไร ในช่วงเวลาวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ โจทก์แต่ละคนมีวันทำงานคือวันใดบ้าง แต่ละวันทำงานนั้น เป็นจำนวนชั่วโมงทำงานปกติกี่ชั่วโมงและเป็นจำนวนชั่วโมงทำงานเกินเวลาทำงานปกติกี่ชั่วโมง คิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในแต่ละวันทำงานของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยจ่ายค่าเที่ยวในแต่ละวันทำงานให้แก่โจทก์แต่ละคนแล้วเท่าใด และโจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพียงใด เป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิพากษาถึงค่าตอบแทน
การทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันทำงานสำหรับช่วงเวลาวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่
๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ ให้แก่โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นก่อน แล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๑ ให้ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้น แล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ วรรคสอง และวรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา
ศาลแรงงานภาค ๑.
(นงนภา จันทรศักดิ์ ลิ่มไพบูลย์ – เริงศักดิ์ วิริยะชัยวงศ์ – นาวี สกุลวงศ์ธนา)
วิฑูรย์ ตรีสุนทรรัตน์ - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ