คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 297/2562 นายรัฐเดช  แจ้งกระจ่าง                  โจทก์ 

                                                                    บริษัทอีซี่ บาย จํากัด (มหาชน)         จําเลย 

ป.พ.พ. มาตรา ๕๘3 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ 

         คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จําเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จําเลยให้การว่า จําเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ลาออก โดยไม่ได้ให้การว่าจําเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานของจําเลย หรือกระทําการในลักษณะใดที่จําเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะไล่โจทก์ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๓ แม้จําเลยจะอ้างในคําให้การว่า ระหว่างสัญญาจ้างโจทก์กระทําผิดสัญญาและฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน
ของจําเลย หมวดที่ ๗ ข้อ ๕.๒๕ โดยมาทํางานสายหรือเริ่มปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเป็นอาจิณ แต่จําเลย
ก็ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นในคดีที่ศาลแรงงานกลางจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์ละเลยไม่นําพาต่อคําสั่งของจําเลยอันชอบด้วยกฎหมายเป็นอาจิณหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าโจทก์ไปทํางานสายเป็นอาจิณ ถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นําพาต่อคําสั่ง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานของจําเลย จําเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง นอกประเด็น ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒
 

         เมื่อสัญญาจ้างโจทก์เป็นสัญญาจ้างทดลองงาน ซึ่งมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานของจําเลย กําหนดไว้ทํานองว่า เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการทดลองงานแล้ว หากผลงานเป็นที่น่าพอใจจําเลยจะบรรจุเป็นพนักงานของจําเลย แต่ถ้าผลงาน ความประพฤติ ทัศนคติ สุขภาพ หรือมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ผ่านมาตรฐานการทํางาน จําเลยมีสิทธิยุติการทดลองงานได้ จึงไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดเมื่อใด ถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา จําเลยต้องบอกเลิกสัญญาจ้าง
โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้าง
คราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕4๑  มาตรา ๑๗ วรรคสอง เมื่อมีกําหนดจ่ายค่าจ้างทุกวัน
สิ้นเดือนและโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ การเลิกจ้างย่อมมีผลในวันที่
๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑ อันเป็นวันถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป จําเลยจึงต้องจ่ายสินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ ๒ เดือน
 

          ค่าระดับตําแหน่งงานเดือนละ ๑๒,๕๐๐ บาท เป็นเงินที่จําเลยจ่ายให้แก่โจทก์ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเป็นการประจําและมีจํานวนแน่นอน จึงเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทํางานในเวลาปกติ
ของวันทํางาน ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕4๑ มาตรา ๕ ซึ่งจะต้องนํามาเป็นฐานคํานวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย 

_____________________________

         โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๗๐,๐๐๐ บาท               พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกัน
และศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๐ โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งทนายความอาวุโส ๒ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๗๒,๕๐๐ บาท และค่าระดับตำแหน่งงาน ๑๒,๕๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน มีระยะเวลาจ้างทดลองงาน ๑๑๙ วัน นับแต่วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๐ ถึงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ตามสัญญาจ้างทดลองงาน
แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไปทำงานสายเป็นอาจิณ ผิดสัญญาข้อ ๔ และข้อ ๖ และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานของจำเลย หมวดที่ ๗ ข้อ ๕.๒๕ เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ เพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน ไม่ใช่เพราะโจทก์ลาออก การที่โจทก์ไปทำงานสายเป็นอาจิณ ถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่ง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้
โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า                                  คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแห่งคดีที่คู่ความพิพาทกันหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์
โดยโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ลาออก โดยไม่ได้ให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หรือกระทำการในลักษณะใดที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะไล่โจทก์ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทน                  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ แม้จำเลยจะอ้างในคำให้การว่า ระหว่างสัญญาจ้างโจทก์กระทำผิดสัญญาและฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ ๗ ข้อ ๕.๒๕ โดยมาทำงานสายหรือเริ่มปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเป็นอาจิณ แต่จำเลยก็ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นในคดีที่ศาลแรงงานกลางจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลย
อันชอบด้วยกฎหมายเป็นอาจิณหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่าโจทก์
ไปทำงานสายเป็นอาจิณ ถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่ง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อสัญญาจ้างโจทก์เป็นสัญญาจ้างทดลองงาน ซึ่งข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กำหนดไว้ในหมวดที่ ๑ บททั่วไป ข้อ ๔ ทำนองว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการทดลองงานแล้ว     หากผลงานเป็นที่น่าพอใจจำเลยจะบรรจุเป็นพนักงานของจำเลย แต่ถ้าผลงาน ความประพฤติ ทัศนคติ สุขภาพ หรือมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ผ่านมาตรฐานการทำงาน จำเลยมีสิทธิยุติการทดลองงานได้          จึงไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดเมื่อใด ถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา จำเลยต้องบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า           ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ปรากฏว่ามีการกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนและโจทก์บอกเลิกสัญญาจ้างวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ การเลิกจ้างย่อมมีผล
ในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑ อันเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒ เดือน และเมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนยุติว่า ตลอดระยะเวลาสัญญาจ้างทดลองงานโจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ ๗๒,๕๐๐ บาท และค่าระดับตำแหน่งงานเดือนละ ๑๒,๕๐๐ บาท ค่าระดับตำแหน่งงานเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ที่อยู่ในเกณฑ์ได้รับเป็นการประจำและมีจำนวนแน่นอน จึงเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงาน ถือได้ว่า
เป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ซึ่งจะต้องนำมาเป็นฐานคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๑๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผล
ของคดีเปลี่ยนแปลงไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง

         พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๗๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

(อนันต์  คงบริรักษ์ – วัฒนา  สุขประดิษฐ์ – สุวรรณา  แก้วบุตตา)

อิศเรศ  ปราโมช ณ อยุธยา – ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ – ตรวจ