คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 255/2562     สหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ      โจทก์

                                                                             นายศักดิ์สิทธิ์  อุดมศิลป์ กับพวก      จำเลย

พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103 (2)

          โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายกับมีคำขอให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อันมีลักษณะเป็นฟ้องคดีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของโจทก์และสมาชิกของโจทก์ กรณีจึงไม่ใช่การดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนร่วม โจทก์ย่อมมีอำนาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีมติของที่ประชุมใหญ่ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103 (2) อีกทั้งยังไม่เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามข้อบังคับของโจทก์แต่อย่างใด ส่วนหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มีลายมือชื่อบุคคลซึ่งพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างธนาคารแล้วนั้น ก็มีผลเพียงทำให้บุคคลดังกล่าวไม่อยู่ในฐานะเป็นกรรมการโจทก์ในขณะที่มอบอำนาจเท่านั้น เมื่อองค์ประกอบของคณะกรรมการโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยังคงมีอยู่ครบถ้วนตามข้อบังคับของโจทก์ จึงไม่ทำให้หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าวบกพร่องหรือขัดต่อกฎหมาย ประกอบกับหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวระบุให้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่บุคคลผู้ได้กระทำความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญากับให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ ดังนี้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบุคคลใดในข้อหาใดที่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ได้โดยไม่จำต้องระบุชื่อบุคคลและข้อหาที่จะฟ้องในหนังสือมอบอำนาจแต่อย่างใด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 18 โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวได้

______________________________

 

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน ๗๐๓,๗๖๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งยี่สิบให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน ๗๐๓,๗๖๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑๙ และที่ ๒๐

          จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ เป็นคณะกรรมการชุดเดิมของโจทก์ มีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ จำเลยที่ ๑๙ เป็นอนุกรรมการชุดเดิมของโจทก์ และขณะที่คณะกรรมการชุดเดิมมีมติตามฟ้อง จำเลยที่ ๒๐ พ้นสภาพจากการเป็นกรรมการชุดเดิมและดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา ส่วนคณะกรรมการชุดใหม่ของโจทก์มีวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ถึงวันที่
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ และการดำเนินการของคณะกรรมการเป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ และวินิจฉัยว่า การที่โจทก์โดยคณะกรรมการมอบอำนาจให้นายชูเกียรติ ประธานโจทก์ และนางสาวชนากานต์  
รองประธานโจทก์ ร่วมกันเป็นผู้แทนและผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคล
ผู้ได้กระทำความเสียหายแก่โจทก์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ทั้งมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้โดยไม่ต้องประทับตราโจทก์ เป็นการมอบอำนาจทั่วไป แม้บุคคลลำดับที่ ๒๔ ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคารตามที่ระบุไว้ในเอกสาร ก็ไม่ทำให้การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีซึ่งสมบูรณ์แล้วบกพร่องไป และยังเป็นการมอบหมายให้ประธานกรรมการร่วมกับคณะกรรมการคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทนโจทก์ได้โดยมีหลักฐาน
การมอบหมายตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ ๒๑ กรณีไม่จำต้องขอมติต่อที่ประชุมใหญ่ของโจทก์เสียก่อน
จึงเป็นการมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบได้
และการที่ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดเดิมของโจทก์ได้เรียกประชุมคณะกรรมการภายหลังจาก
ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๒๕๕๙ ของโจทก์มีมติเลือกคณะกรรมการชุดใหม่แล้วนั้น เป็นการใช้สิทธิ
ที่ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์อีกทั้งยังไม่เป็นการใช้อำนาจควบคุมการดำเนินงานของโจทก์แต่อย่างใด พฤติการณ์และการกระทำของฝ่ายจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายจำเลยเอง จึงฟังได้ว่าการประชุมวิสามัญและมติที่ประชุมของคณะกรรมการชุดเดิมเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ และวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙กับการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เป็นการกระทำ
ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ ในฐานะคณะกรรมการ
ชุดเดิมจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๑๙ และที่ ๒๐ ไม่มีสิทธิออกเสียง
ลงมติใด ๆ ตามข้อบังคับของโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันกระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายกับมีคำขอให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อันมีลักษณะเป็นการฟ้องคดี
เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของโจทก์และสมาชิกของโจทก์ กรณีจึงไม่ใช่การดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม โจทก์ย่อมมีอำนาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องมีมติ
ของที่ประชุมใหญ่ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๐๓ (๒) อีกทั้งยังไม่เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของโจทก์ตามข้อบังคับของโจทก์ แต่อย่างใด ส่วนหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มีลายมือชื่อบุคคลลำดับที่ ๒๔ ซึ่งพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างธนาคารแล้วนั้น มีผลเพียงทำให้บุคคลดังกล่าวไม่อยู่
ในฐานะเป็นกรรมการโจทก์ในขณะที่มอบอำนาจเท่านั้น เมื่อองค์ประกอบของคณะกรรมการโจทก์
ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวยังคงมีอยู่ครบถ้วนตามข้อบังคับของโจทก์ ข้อ ๒๐ จึงไม่ทำให้หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ดังกล่าวบกพร่องและขัดต่อกฎหมาย ประกอบกับหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวระบุให้นายชูเกียรติในฐานะประธานโจทก์ และนางสาวชนากานต์ในฐานะกรรมการและรองประธานโจทก์ เป็นผู้แทนของสหภาพแรงงานและเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ตามข้อบังคับ ข้อ ๒๑ วรรคหนึ่ง โดยให้มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบุคคลผู้ได้กระทำความเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งในคดีแพ่ง
และคดีอาญา กับให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ดังนี้ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบุคคลใด
ในข้อหาใดที่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์ได้โดยไม่จำต้องระบุชื่อบุคคลและข้อหาที่จะฟ้องในหนังสือ
มอบอำนาจแต่อย่างใด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจ
ฉบับดังกล่าวได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ ประการต่อไปว่า การประชุมวิสามัญ
และมติที่ประชุมของคณะกรรมการชุดเดิมเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ และ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙
กับการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ คณะกรรมการชุดเดิมของโจทก์จัดการประชุมใหญ่สามัญ เพื่อให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการโจทก์ชุดใหม่เนื่องจากคณะกรรมการชุดเดิมใกล้จะหมดวาระ
ลงในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าคณะกรรมการโจทก์ชุดปัจจุบันได้รับ
การเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๓ และที่ ๑๘ ได้ร่วมกันเรียก
และเปิดประชุมวิสามัญคณะกรรมการชุดเดิมของโจทก์ขึ้นในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ และมีมติ
มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไปร้องต่ออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขอให้การเลือกตั้งคณะกรรมการโจทก์เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ เป็นโมฆะ และมีคำสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ และที่ ๒๐ ร่วมกันเรียกและเปิดประชุมวิสามัญคณะกรรมการชุดเดิมของโจทก์และมีมติให้เปิดการประชุมใหญ่วิสามัญตามคำขอของสมาชิกในวันที่
๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ พร้อมทั้งมีมติอนุมัติค่าใช้จ่ายในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งนี้เป็นเงิน
๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท กับมีมติรับรองคณะกรรมการเตรียมการประชุมใหญ่วิสามัญและคณะกรรมการเตรียมการและดำเนินการเลือกตั้งทั้ง ๒ คณะดังนี้ ตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ ๑๒ กำหนดว่าการประชุมใหญ่สามัญให้หมายถึงการประชุมที่จัดให้มีปีละครั้งและกำหนดระเบียบวาระการประชุมไว้ใน (๓) ว่า เลือกตั้งกรรมการ อันแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแล้วว่า ในกรณีปกติการเลือกตั้งคณะกรรมการโจทก์จะต้องจัดให้มีขึ้นในการประชุมใหญ่สามัญเท่านั้น แม้คำว่า “การประชุมใหญ่”
ตามบังคับของโจทก์ข้อ ๑๙ จะหมายถึงการประชุมใหญ่สามัญและการประชุมใหญ่วิสามัญตามนิยาม
ในข้อบังคับของโจทก์ข้อ ๑๐ ก็ตาม แต่การที่ข้อบังคับของโจทก์กำหนดให้นำระเบียบวาระการประชุม
ที่ระบุไว้ในการประชุมใหญ่สามัญตามข้อ ๑๒ มาระบุซ้ำไว้อีก ก็เพื่อหากไม่สามารถประชุมใหญ่สามัญ
ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ก็สามารถที่จะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นได้เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดข้องที่ต้องใช้มติของที่ประชุมใหญ่ตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ ๑๘ ได้เท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ของโจทก์ได้ลงคะแนนและประกาศผลเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ เพียงแต่คณะกรรมการชุดเดิมของโจทก์ประชุมร่วมกันและมีมติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ ว่า ให้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อมีคำสั่งให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะและให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอธิบดี
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยังไม่ได้มีคำสั่งอย่างใด ๆ การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๔ และที่ ๒๐ จัดให้มีการประชุมวิสามัญคณะกรรมการชุดเดิมขึ้นอีกเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ แล้วมีมติให้เปิด
การประชุมใหญ่วิสามัญตามคำขอของสมาชิกในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ พร้อมทั้งมีมติอนุมัติค่าใช้จ่าย
ในการประชุมใหญ่วิสามัญเป็นเงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท กับมีมติรับรองคณะกรรมการเตรียมการประชุมใหญ่วิสามัญและคณะกรรมการเตรียมการและดำเนินการเลือกตั้งทั้ง ๒ คณะ จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบ
ด้วยกฎหมาย แม้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ จะอ้างว่ามีสมาชิกโจทก์เข้าชื่อกันครบจำนวนตามข้อบังคับขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการโจทก์ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า การเลือกตั้งคณะกรรมการโจทก์เพิ่งเสร็จสิ้นไปโดยการประชุมใหญ่สามัญและอยู่ในระหว่างการยื่นหนังสือขอให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ อีกทั้งการดำรงตำแหน่ง
ของคณะกรรมการชุดเดิมของโจทก์ก็ยังไม่หมดวาระ ยังคงมีอำนาจในการบริหารกิจการของโจทก์เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและหยุดชะงักต่อไปได้ กรณีจึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการโจทก์ขึ้นใหม่ด้วยการประชุมใหญ่วิสามัญ ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ อ้างว่าเมื่อมี
สมาชิกโจทก์เข้าชื่อกันครบจำนวนตามข้อบังคับขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญแล้ว คณะกรรมการโจทก์
ต้องเปิดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นตามข้อบังคับนั้น กรณีตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ ๑๓ กำหนดว่า เมื่อสมาชิกเข้าชื่อกันครบจำนวนตามข้อบังคับ ให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือ แต่ทั้งนี้ หากคณะกรรมการไม่เรียกประชุมใหญ่ภายในระยะเวลาดังกล่าวก็มีขั้นตอนกำหนดต่อไปว่า สมาชิกมีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือให้นายทะเบียนจังหวัดทราบเพื่อพิจารณาสั่งให้คณะกรรมการเรียกประชุมใหญ่ได้ตามที่เห็นสมควร จึงแสดงให้เห็นว่าตามข้อบังคับข้อดังกล่าวไม่ได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าคณะกรรมการจะต้องเปิดประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกร้องขอเสมอไป ทั้งนี้คณะกรรมการจะต้องพิจารณาถึงความชอบด้วยเหตุผล ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมายร่วมด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑
ถึงที่ ๑๘ ร่วมกันจัดประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๙ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการโจทก์
ขึ้นใหม่อีกจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘
ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

          ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าได้รับมติ
ที่ประชุมใหญ่ให้มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งยี่สิบแล้วก็ดี โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ ยักยอกเอาเงิน๗๐๓,๗๖๑ บาท ของโจทก์ไปโดยไม่มีผู้ใดรับรองความถูกต้อง เป็นการกล่าวหาลอย ๆ ไม่มีหลักฐานว่า
ได้มีการเบิกถอนจากบัญชีใดหรือจำเลยคนใดเป็นผู้นำเอาไปบ้าง และเป็นจำนวนเงินที่ถูกต้องหรือไม่ก็ดี และโจทก์ใช้เงินของสมาชิกที่ได้รับมาจากค่าบำรุงมาฟ้องร้องเรียกเงินที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ ได้บริหารจัดการแทนโจทก์ เป็นการใช้สิทธิที่ไม่ได้แสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้าง
หรือสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างด้วยกัน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดีนั้น เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๘ ดังกล่าวล้วนแต่เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้าม
มิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

          พิพากษายืน.

 

(วิโรจน์  ตุลาพันธุ์ – ปณิธาน  วิสุทธากร – ไพรัช  โปร่งแสง)

 

ปณิธาน  วิสุทธากร - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ