อุทธรณ์ที่ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

หมายเลขคดีดำที่ ร.932/2560                      การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค                                    โจทก์

หมายเลขคดีแดงที่ 1746/2560                      นางมลิวรรณ จินตะเวช กับพวก                       จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 694, 1754 วรรคสาม

 

          ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แม้ขณะที่ จ. ถึงแก่ความตาย ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาระดับสูง (กรส.) ยังมิได้มีมติให้ จ. ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังมิได้มีคำสั่งเห็นชอบตามมติดังกล่าวก็ตาม แต่ตามบันทึกของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและความรับผิดทางละเมิด ลงวันที่ 18 กันยายน 2558 ที่มีไปถึงเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาระดับสูง (กรส.) สรุปความได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและความรับผิดทางละเมิด พิจารณาแล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นควรให้ จ. รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย นอกจากนี้ในบันทึกดังกล่าวยังระบุอีกว่า “แต่เนื่องจากปัจจุบัน จ. ได้เสียชีวิตแล้ว ดังนั้น จึงเห็นว่าความผิดทางด้านวินัยจึงเป็นอันยุติ”  ซึ่งหมายความว่าเมื่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและความรับผิด
ทางละเมิดที่โจทก์แต่งตั้งทำการสอบสวนแล้วเสนอความเห็นว่าบุคคลใดบ้างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
แก่โจทก์ โดยเสนอความเห็นไปตามลำดับชั้นจนถึงเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาระดับสูง (กรส.) ทราบเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนและเริ่มนับ
อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ตั้งแต่วันดังกล่าว ความล่าช้าในการรายงานผลการสอบสวนไปยังผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่เป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์แก่กองมรดกต้องสะดุดหยุดลง โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ จ.
การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึง
ขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้างได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 694

______________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 528,828.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 506,853.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาและทายาทโดยธรรมของนายเจษฎา นายเจษฎาได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นพนักงานโจทก์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2531 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานพัสดุระดับ 5 แผนกโรงงานผลิตภัณฑ์คอนกรีตมหาสารคาม กองผลิตภัณฑ์คอนกรีต ฝ่ายก่อสร้างระบบไฟฟ้า มีหน้าที่ควบคุมดูแลการเบิกจ่ายวัสดุที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของนายเจษฎา จากการตรวจนับพัสดุประจำเดือนมกราคม 2556 พบว่าลวดเหล็กปลอกสูญหายไป 292 ขด น้ำหนัก 32,120 กิโลกรัม เป็นเงิน 844,765 บาท (ที่ถูก 844,756 บาท) วันที่ 27 พฤษภาคม 2556 โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและความผิดทางละเมิดแก่นายเจษฎาและพนักงานที่เกี่ยวข้อง ระหว่างการสอบสวนนายเจษฎาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557 จำเลยที่ 1 แจ้งการตายของนายเจษฎาไปยังโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจากการตายของนายเจษฎา 100,000 บาท เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2557 นอกจากนี้สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ได้ออกรายงานการสิ้นสุดสมาชิกภาพของนายเจษฎาพร้อมกับจ่ายทุนสวัสดิการสงเคราะห์สมาชิกกรณีถึงแก่ความตายและค่าทำศพรวมทั้งจ่ายเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยที่ 1 และทายาทอื่นของนายเจษฎาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

            คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แม้ขณะที่นายเจษฎาถึงแก่ความตายที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาระดับสูง (กรส.) จะยังมิได้มีมติให้นายเจษฎาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยังมิได้มีคำสั่งเห็นชอบตามมติดังกล่าวก็ตาม แต่ตามบันทึกเลขที่ กนส. (งส) 438/2559 ปรากฏข้อความในบันทึกของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและความผิดทางละเมิด ลงวันที่ 18 กันยายน 2558 ไปถึงเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาระดับสูง (กรส.) สรุปความได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและความผิดทางละเมิดพิจารณาแล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นควรให้นายเจษฎารับผิดชดใช้ค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 60 ของค่าเสียหายจำนวน 844,756 บาท คิดเป็นเงิน 506,853.60 บาท นอกจากนี้ ในบันทึกดังกล่าวยังระบุอีกว่า “แต่เนื่องจากปัจจุบันนายเจษฎาได้เสียชีวิตแล้ว ดังนั้น จึงเห็นว่าความผิดทางด้านวินัยจึงเป็นอันยุติ” ซึ่งหมายความว่า เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและความผิดทางละเมิดที่โจทก์แต่งตั้งทำการสอบสวนแล้ว เสนอความเห็นว่าบุคคลใดบ้างจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ โดยเสนอความเห็นไปตามลำดับชั้นจนถึงเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาระดับสูง (กรส.) ทราบเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ถือได้ว่าโจทก์รู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนและเริ่มนับอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ตั้งแต่วันดังกล่าว ความล่าช้าในการรายงานผลการสอบสวนไปยังผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่เป็นเหตุให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์แก่กองมรดกต้องสะดุดหยุดลง โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องนี้ได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายเจษฎา การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นอ้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ที่ศาลแรงงานภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน.

 

(อนันต์  คงบริรักษ์ – วัฒนา  สุขประดิษฐ์ – สุวรรณ  แก้วบุตตา)

 

ศาลแรงงานภาค 4                         นายศักดา  วะสมบัติ

 

นายเดชวิบุล  พนาเศรษฐเนตร            ผู้ช่วยฯ/ย่อสั้น

นายสุโรจน์  จันทรพิทักษ์                   ผู้พิพากษาฯ ประจำกองผู้ช่วยฯ/ตรวจย่อสั้น/ตรวจย่อยาว

นางสาวนิติรัตน์  ศิระภัสร์บารมี            นิติกร/ย่อยาว

นางสาวมนัสนันท์  อิ่มใจ                   พิมพ์