คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1737 – 1739 นางสาวศริวรรณ หนูเทศ
/2560 กับพวก โจทก์
บริษัทจงเช่อ รับเบอร์ (ไทยแลนด์)
จำกัด กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 575
โจทก์ที่ 1 เขียนใบลาออกจากที่ทำงานเดิมระบุทำงานจนถึงวันที่ 20 เมษายน 2558 โดยโจทก์ที่ 1 มีหนังสือรับรองการผ่านงานมาแสดง ทั้งโจทก์ทั้งสามได้เตรียมส่งมอบเอกสารที่จำเป็นคือใบรับรองผลการตรวจสุขภาพให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อเริ่มปฏิบัติงาน อันสอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับการว่าจ้างที่ระบุว่า บุคคลใดที่บริษัทตกลงว่าจ้างให้เป็นพนักงานของบริษัทจะต้องมอบเอกสารที่จำเป็นให้แก่บริษัทเมื่อเริ่มปฏิบัติงานคือใบรับรองผลการตรวจสุขภาพ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเลื่อนนัดโจทก์ทั้งสามเข้าทำงานและทดสอบความสามารถเนื่องจากความไม่พร้อมในเรื่องสถานที่ที่ไม่มีความปลอดภัยนั้นปราศจากเหตุผล ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองตกลงรับโจทก์ทั้งสามเข้าทำงาน สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองจึงเกิดขึ้นแล้ว
______________________________
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค ๒ มีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ และค่าเสียหายจำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๓ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสองทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๒ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๒๗,๐๐๐ บาท และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน ๙,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวแต่ละจำนวน นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายรับกันและศาลแรงงานภาค ๒ ฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ ๑ ประกอบกิจการผลิตยางรถยนต์ จำเลยที่ ๒ ประกอบกิจการรับจัดหาคนงานเพื่อไปทำงานกับจำเลยที่ ๑ โดยมีพนักงานของจำเลยทั้งสองร่วมอยู่ด้วยในขณะที่ทำการสัมภาษณ์ จำเลยที่ ๒ จะเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสาม โจทก์ที่ ๑ ลาออกจากที่ทำงานเดิมโดยมีหนังสือรับรองการผ่านงาน ที่ระบุว่าโจทก์ที่ ๑ ทำงานกับที่ทำงานเดิมจนถึงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ มาแสดง นอกจากนี้ ตามสำเนาระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ ๒ ยังระบุว่า “บุคคลใดที่บริษัทตกลงว่าจ้างให้เป็นพนักงานของบริษัท จะต้องส่งมอบเอกสารที่จำเป็นให้แก่บริษัทเมื่อเริ่มปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้ ...ใบรับรองผลการตรวจสุขภาพ...” ซึ่งโจทก์ทั้งสามก็ได้ไปตรวจสุขภาพและเตรียมนำใบรับรองผลการตรวจสุขภาพ เพื่อจะนำมายื่นให้จำเลยทั้งสองในวันเริ่มทำงาน ทั้งมีการตกลงค่าจ้างที่จำเลยที่ ๒ จะจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสามเอาไว้ ซึ่งศาลแรงงานภาค ๒ วินิจฉัยแล้วว่า หลังจากโจทก์ที่ ๑ กลับไปทำงานที่เดิม ก็ได้เขียนใบลาออกจากที่ทำงานเดิมระบุทำงานจนถึงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ โดยโจทก์ที่ ๑ มีหนังสือรับรองการผ่านงานมาแสดง ทั้งโจทก์ทั้งสามได้เตรียมส่งมอบเอกสารที่จำเป็นคือใบรับรองผลการตรวจสุขภาพให้แก่จำเลยที่ ๒ เมื่อเริ่มปฏิบัติงาน อันสอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับการว่าจ้าง ที่ระบุว่า บุคคลใดที่บริษัทตกลงว่าจ้างให้เป็นพนักงานของบริษัทจะต้องมอบเอกสารที่จำเป็นให้แก่บริษัทเมื่อเริ่มปฏิบัติงานคือ ใบรับรองผลการตรวจสุขภาพ ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ทั้งสามว่าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ให้โจทก์ทั้งสามนำใบรับรองผลการตรวจสุขภาพมามอบให้ในวันเริ่มทำงาน ที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าเลื่อนนัดโจทก์ทั้งสามเข้าทำงานและทดสอบความสามารถเนื่องจากความไม่พร้อมในเรื่องสถานที่ที่ไม่มีความปลอดภัยนั้นปราศจากเหตุผล จึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองตกลงรับโจทก์ทั้งสามเข้าทำงานกับจำเลยทั้งสอง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสองจึงเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๒ ที่วินิจฉัยว่าสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยทั้งสองเกิดขึ้นแล้ว และพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามนั้นจึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
(อารีรัตน์ วงศ์ศักดิ์มณี – สัญชัย ลิ่มไพบูลย์ – โกสินทร์ ฤทธิรงค์)
เดชวิบุล พนาเศรษฐเนตร - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ