คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1757 - 1759 นายพิชัย ซื่อมั่น กับพวก โจทก์
/2560 นายศิริพงษ์ ประพฤติดี ในฐานะ
พนักงานตรวจแรงงาน กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 577
ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57
จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 การที่โจทก์ทั้งสามโอนมาทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นการโอนโดยผลของกฎหมาย ไม่ใช่การแสดงเจตนาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จึงไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 577
เกี่ยวกับค่าชดเชยนั้นมีระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายบำเหน็จเงินทำขวัญและเงินช่วยเหลือในการทำศพเจ้าหน้าที่คุรุสภา พ.ศ. 2503 ข้อ 5 วรรคสาม กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งสัญญาจ้างสิ้นสุดลงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ โดยหากมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยแล้วไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จอีก แต่ค่าชดเชยมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จเท่าใดก็ให้จ่ายบำเหน็จกับส่วนที่ต่ำกว่านั้น จึงถือว่าเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้รวมค่าชดเชยอยู่ด้วย โจทก์ทั้งสามได้รับเงินบำเหน็จครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีก
ระเบียบของจำเลยที่ 2 ว่าด้วยการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง พ.ศ. 2555 ข้อ 37 วรรคสี่ กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งพ้นสภาพการเป็นพนักงานแล้วไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่มีสิทธิเรียกร้องประโยชน์จากวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่นั้น ไม่ถือเป็นการลิดรอนสิทธิของโจทก์ทั้งสาม
หากโจทก์ทั้งสามพบว่าผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ได้นั่งพิจารณาครบองค์คณะ โจทก์ทั้งสามชอบที่จะโต้แย้งในขณะพิจารณาหรือก่อนมีคำพิพากษา แต่โจทก์ทั้งสามเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง
______________________________
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ที่ 0007/2558 ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 ของจำเลยที่ 1 กับบังคับจำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 31,449.99 บาท ค่าชดเชย 629,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 28,075 บาท ค่าชดเชย 561,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 23,130 บาท ค่าชดเชย 462,600 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันเกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานตรวจแรงงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 องค์การค้าของจำเลยที่ 2 เป็นกิจการตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 โดยทำงานประจำที่องค์การค้าของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 โจทก์ทั้งสามพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเกษียณอายุโดยไม่ได้กระทำผิด แต่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยให้ โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 มีคำสั่งที่ 0007/2558 เรื่อง ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย และดอกเบี้ย ลงวันที่ 11 มกราคม 2559 ว่าโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย และดอกเบี้ย โดยจำเลยที่ 2 มีระเบียบเกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิภาพในการคุ้มครองพนักงานไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชยมาใช้บังคับได้ แล้ววินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 การที่โจทก์ทั้งสามโอนมาทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นการโอนกิจการโดยผลของกฎหมาย ไม่ใช่โดยการแสดงเจตนาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 ไม่ถือว่ากระทำโดยนายจ้างฝ่ายเดียว ซึ่งผลแห่งการนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 และระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 2 โดยในระหว่างที่ยังไม่ออกคำสั่ง ประกาศหรือระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น มาตรา 90 ให้นำคำสั่ง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 ซึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 มาบังคับใช้โดยอนุโลม โดยในส่วนที่เกี่ยวกับค่าชดเชยนั้นมีระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จ เงินทำขวัญและเงินช่วยเหลือในการทำศพเจ้าหน้าที่คุรุสภา พ.ศ. 2503 ข้อ 5 วรรคสาม กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งสัญญาจ้างสิ้นสุดลงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้โดยหากเจ้าหน้าที่คนใดมีสิทธิรับเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่ใช้ในขณะนั้นแล้วไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ แต่ถ้าเงินชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะพึงได้รับตามระเบียบนี้เท่าใด ก็ให้จ่าย เงินบำเหน็จให้เท่ากับส่วนที่ต่ำกว่านั้น จึงต้องถือว่าเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้มีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเงินบำเหน็จที่โจทก์ทั้งสามได้รับมีจำนวนมากกว่าจำนวนค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 และโจทก์ทั้งสามได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ครบถ้วนทุกคนแล้ว เท่ากับโจทก์ทั้งสามได้รับเงินชดเชยไปครบถ้วนแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยอีก สำหรับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ได้ความว่าตามระเบียบของจำเลยที่ 2 ว่าด้วยการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง พ.ศ. 2555 ข้อ 37 วรรคสี่ กำหนดให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งพ้นสภาพการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่มีสิทธิเรียกร้องประโยชน์จากวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่ใด ๆ ทั้งสิ้น จึงต้องบังคับไปตามระเบียบฉบับนี้และไม่ถือเป็นการลิดรอนสิทธิโจทก์ทั้งสามแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ได้นั่งพิจารณาครบองค์คณะนั้น เห็นว่า หากโจทก์ทั้งสามพบว่าผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ได้นั่งพิจารณาครบองค์คณะ โจทก์ทั้งสามชอบที่จะโต้แย้งเสียในขณะพิจารณาหรือก่อนมีคำพิพากษา แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามได้โต้แย้งในเรื่องนี้มาก่อน โจทก์ทั้งสามเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ซึ่งเป็นการล่วงเลยระยะเวลาที่จะโต้แย้งแล้ว ทั้งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางมีผู้พิพากษาลงชื่อครบองค์คณะ จึงเป็นอุทธรณ์บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย อันเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ทั้งสามนั้น เห็นว่า ไม่อาจทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันสมควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายืน.
(เฉลิมพงศ์ ขันตี – สมเกียรติ คูวัธนไพศาล – รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์)
สุรพัศ เพ็ชรคง - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ