คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1726/2560   นายรัฐเอกราช ก๊วยซกกวง

                                                                         ราษฎร์ภักดีรัช                         โจทก์

                                                                         สำนักงานประกันสังคม              จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 224

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31, 52, 54 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2535 มาตรา 33, 78 (1), 79, 85, 87

 

          พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 79 บัญญัติให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2547 ข้อ 1 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 (1) มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน สำหรับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และข้อ 2 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ 1 ตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้ใดไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวเพียงแต่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน ให้ได้รับครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนนั้นหากได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวัน นับแต่วันว่างงาน
จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย แต่หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวัน นับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับแต่วันที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐเท่านั้น ส่วนการงดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานก็เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าวข้อ 3 ที่ให้งดจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพียง 3 กรณี ได้แก่ กรณีเมื่อผู้รับประโยชน์ทดแทนกลับเข้าทำงานเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 33 ซึ่งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนนั้นก็ไม่ใช่ผู้ว่างงานที่ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอีก กรณีที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้ปฏิเสธการทำงานหรือปฏิเสธการฝึกงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้โดยไม่มีเหตุอันสมควร และกรณีผู้รับประโยชน์ทดแทนไม่ไปรายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งสองกรณีหลังนี้เป็นเรื่องที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 78 (1) ทั้ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. 2547 จึงมิได้เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิหรือกำหนดให้งดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวัน นับแต่วันว่างงาน ให้ไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานสำหรับวันที่แปดนับแต่วันว่างงานไปจนถึงวันก่อนวันขึ้นทะเบียนแล้ว ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเฉพาะเพียงส่วนที่เหลือนับแต่วันที่ขึ้นทะเบียนถึงวันที่หนึ่งร้อยแปดสิบนับแต่วันที่แปดที่ว่างงานแต่อย่างใด แม้ประกาศของจำเลยเรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ข้อ 3.2 (1) จะกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนหางานเกินสามสิบวันนับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนตามสิทธิที่เหลือนับแต่วันที่ขึ้นทะเบียนก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎกระทรวงไม่อาจนำมาใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 7 ในวันที่ 20 มกราคม 2558 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวันไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ 20 มกราคม 2558 ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 1 (1) และข้อ 2 ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุดและศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 7 ที่มีคำสั่งเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานหนึ่งร้อยสามสิบหกวันเพื่อให้คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพิ่มเนื่องจากโจทก์พึ่งทราบคำสั่งเลิกจ้างของนายจ้าง ทำให้โจทก์ขึ้นทะเบียนหางานต่อสำนักจัดหางานของรัฐเมื่อพ้นสามสิบวัน เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วยังคงเห็นด้วยกับคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 7 โดยมีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าว แม้ฟ้องโจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มตามสิทธิได้รับ ย่อมถือได้ว่าเป็นการขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวนั่นเอง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงไม่เป็นที่สุดตามที่จำเลยอุทธรณ์ ส่วนกรณีที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของต้นเงินทดแทนในกรณีว่างงานที่ได้รับเพิ่มตามสิทธิโดยโจทก์ไม่ได้เรียกดอกเบี้ยมานั้น เห็นว่า เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้มีคำขอเกี่ยวกับดอกเบี้ยในต้นเงินมาด้วย ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ย โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานตามสิทธิของโจทก์เพิ่มอีก ๔๔ วัน

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่ ๑๗๒/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙ ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างเพิ่มอีก ๔๔ วัน เป็นเงิน ๑๐,๖๑๒.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
โจทก์เป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๓๓ โดยเป็นลูกจ้างของบริษัทพี แอนด์ เอส ทรานส์ เซอร์วิส จำกัด และพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ด้วยเหตุ
ถูกเลิกจ้าง โจทก์ขึ้นทะเบียนว่างงานไว้ที่สำนักจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๗ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ และโจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานวันละ ๒๔๑.๒๐ บาท แล้ววินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๘, ๗๙ ประกอบกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑ และข้อ ๒ ไม่มีบทบัญญัติตัดสิทธิหรือกำหนดให้งดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน
ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงาน ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเฉพาะเพียงส่วนที่เหลือนับแต่วันขึ้นทะเบียนถึงวันที่หนึ่งร้อยแปดสิบแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานอัตราร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างรายวันไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๗ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานเพียงส่วนที่เหลือนับแต่วันขึ้นทะเบียนถึงวันที่หนึ่งร้อยแปดสิบเป็นเวลา ๑๓๖ วัน จึงไม่ถูกต้อง ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานเพิ่มอีก ๔๔ วัน เป็นเงิน ๑๐,๖๑๒.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพิ่มอีก ๔๔ วัน ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๙ บัญญัติให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑ วรรคหนึ่ง กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา ๗๘ (๑) มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และข้อ ๒ กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา ๗๘ ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ ๑ ตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงาน
กับนายจ้างรายสุดท้าย เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้ใดไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ เห็นได้ว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าวเพียงแต่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน ให้ได้รับครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนนั้น หากได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงาน
กับนายจ้างรายสุดท้าย แต่หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงาน จะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับแต่วันที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐเท่านั้น ส่วนการงดจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานก็เป็นไปตามกฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ ๓ ที่ให้งดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพียง ๓ กรณี ได้แก่กรณีเมื่อผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกลับเข้าทำงานเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๓๓ ซึ่งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนนั้นก็จะไม่ใช่ผู้ว่างงานที่ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอีก กรณีที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้ปฏิเสธการทำงานหรือปฏิเสธการฝึกงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้โดยไม่มีเหตุอันสมควร และกรณีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่ไปรายงานตัวที่สำนักจัดหางานของรัฐโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งสองกรณีหลังนี้เป็นเรื่องที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข
ของ พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๘ (๑) ดังนั้น ทั้ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงมิได้เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิหรือกำหนดให้งดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ลูกจ้าง
ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงาน
ให้ไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานสำหรับวันที่แปดนับแต่วันว่างงานไปจนถึงวันก่อนวันขึ้นทะเบียนแล้ว ให้ได้รับประโยชน์ทดแทนเฉพาะเพียงส่วนที่เหลือนับแต่วันที่ขึ้นทะเบียนถึงวันที่หนึ่งร้อยแปดสิบนับแต่วันที่แปดที่ว่างงานแต่อย่างใด แม้ประกาศของจำเลยเรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ ข้อ ๓.๒ (๑) จะกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนหางานเกินสามสิบวันนับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนตามสิทธิที่เหลือนับแต่วันขึ้นทะเบียน
ก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวก็ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมและกฎกระทรวงไม่อาจนำมาใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๗ ในวันที่
๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวันไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑ (๑) และข้อ ๒ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวันจำนวนหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยได้รับเพิ่มอีก ๔๔ วัน เป็นเงิน ๑๐,๖๑๒.๘๐ บาท อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุดและศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๗  ที่มีคำสั่งประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงาน ๑๓๖ วัน เพื่อให้คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพิ่มเนื่องจากโจทก์เพิ่งทราบคำสั่งเลิกจ้างของบริษัทพี แอนด์ เอส ทรานส์
เซอร์วิส จำกัด นายจ้าง ทำให้โจทก์ขึ้นทะเบียนหางานต่อสำนักจัดหางานของรัฐเมื่อพ้นเวลาสามสิบวัน เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วยังคงเห็นด้วยกับคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๗ มีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ที่ ๑๗๒/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๙ โจทก์ก็นำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แสดงว่าโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าว แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้
มีคำขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ก็ตาม แต่การที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานเพิ่มตามสิทธิที่จะได้รับ ย่อมถือได้ว่าเป็นการขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่โจทก์ไม่พอใจอยู่ด้วย โจทก์ฟ้องคดีตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงไม่เป็นที่สุด ดังนี้ ศาลแรงงานกลางชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ ส่วนที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยของต้นเงินทดแทนในกรณีว่างงานที่ได้รับเพิ่มตามสิทธิ โดยโจทก์ไม่ได้เรียกดอกเบี้ยมาด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อคำฟ้องโจทก์ไม่ได้มีคำขอเกี่ยวกับดอกเบี้ยในต้นเงินมาด้วย ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ย โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าเห็นสมควร
เพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๕๒ มาตรา ๕๒ อุทธรณ์ของจำเลยส่วนนี้ฟังขึ้น

         สำหรับปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายที่ว่า จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๔ หรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการที่ศาลแรงงานกลางกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดให้แก่โจทก์นั้นเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป

            พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๐,๖๑๒.๘๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

 

(อนันต์  คงบริรักษ์ – สุวรรณา  แก้วบุตตา – ดำรงค์  ทรัพยผล)

 

สุเจตน์  สถาพรนานนท์ - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ