คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1717/2560 นางสาวเพชรอุมา เพ็งนวล โจทก์
คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 583
ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ป.รัษฎากร มาตรา 118
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (1), 119 (2), 119 (4)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49, 54 วรรคหนึ่ง, 57
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 (1), 121 (2)
จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ลงข้อความในเฟซบุ๊กซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสียแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการใส่ความจำเลยที่ 2 หาได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน อนุกรรมการสหภาพแรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือผู้แทนสหภาพแรงงานในการยื่นข้อเรียกร้องหรือเจรจากับจำเลยที่ 2 ไม่ การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่ถือเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 (1) และ (2) คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 350/2559 จึงชอบแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 350/2559 อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ต้องมีหนังสือเตือนโจทก์ก่อน จึงจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ และผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์เพราะติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57
______________________________
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓๕๐/๒๕๕๙ และบังคับจำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชย ๑๓๓,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๙,๕๘๘ บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การในทำนองเดียวกับจำเลยที่ ๑ และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ ๒
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ ๒
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ลงข้อความในเฟซบุ๊กซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสียแก่จำเลยที่ ๒ อันเป็นการใส่ความจำเลยที่ ๒ การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ กรณีร้ายแรงตาม หมวดที่ ๗ ข้อ ๓.๒ (๒๗) และ (๔๗) และเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์เป็นผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน อนุกรรมการสหภาพแรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือผู้แทนสหภาพแรงงานในการเจรจาข้อเรียกร้องกับจำเลยที่ ๒ การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๑) และ (๒) และไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) (๒) และ (๓) และการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ ๒ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓๕๐/๒๕๕๙ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยแล้วว่า โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๑) เนื่องจากไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ผู้ยื่นข้อเรียกร้อง หรือผู้แทนในการเจรจา ทั้งโจทก์ให้การยอมรับต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ว่า สหภาพแรงงาน ไพโอเนียร์ แห่งประเทศไทย ยังมิได้แจ้งรายชื่ออนุกรรมการของสหภาพแรงงานดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ ทราบ และโจทก์เป็นผู้พิมพ์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ดังนี้ เมื่อข้อความที่ปรากฏในเอกสารนั้นมีความหมายในทำนองที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ ๒ กระทำการกดขี่ข่มเหงและไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างจำเลยที่ ๒ อันเป็นการใส่ความจำเลยที่ ๒ และเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์จึงมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากที่โจทก์ลงข้อความในเฟซบุ๊กตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๒ หาได้เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน อนุกรรมการสหภาพแรงงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือผู้แทนสหภาพแรงงานในการยื่นข้อเรียกร้องหรือเจรจากับจำเลยที่ ๒ ไม่ การกระทำของจำเลยที่ ๒ ไม่ถือเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑ (๑) และ (๒) คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓๕๐/๒๕๕๙ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๒ ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า ข้อความที่โจทก์ลงในเฟซบุ๊กซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสียอันเป็นการใส่ความจำเลยที่ ๒ นั้น ถือเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยที่ ๒ จงใจทำให้จำเลยที่ ๒ ได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง การที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ดังนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ล้วนแต่เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๑ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตร ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ประการอื่นที่ว่า แม้การกระทำของโจทก์จะถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ก็ตาม แต่ไม่ถือเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ ๒ จึงต้องมีหนังสือเตือนโจทก์ก่อน จึงจะเลิกจ้างได้ และผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ ๒ เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ ๒ ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ติดอากรแสตมป์และมีพยานลงลายมือชื่อเพียงคนเดียวนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓๕๐/๒๕๕๙ ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค ๑ ได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยอีกเช่นกัน
พิพากษายืน.
(นงนภา จันทรศักดิ์ ลิ่มไพบูลย์ – มาลิน ภู่พงศ์ จุลมนต์ – นาวี สกุลวงศ์ธนา)
กรรณิกา อัศวเมธา - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ