อุทธรณ์ที่ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย
หมายเลขคดีดำที่ ร.443/2560 นายสิทธิชัย รุจจนเวท โจทก์
หมายเลขคดีแดงที่ 940/2560 บริษัทลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด จำเลย
ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ป.พ.พ. มาตรา 585
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 57
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5, 9 วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานภาค 5 พิจารณาข้อเท็จจริงในประเด็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ โดยฟังข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนและไม่เป็นไปตามกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ที่ประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังว่า จำเลยสามารถปรับปรุงโครงสร้างการทำงานให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และนำไปสู่การเลิกจ้างโจทก์เป็นเหตุอันสมควรและเป็นการเลิกจ้างโดยเป็นธรรม ซึ่งแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 5 รับฟังมา เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 5 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานภาค 5 กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมโดยมิได้พิจารณาจากความเหมาะสมเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 และยังสูงเกินควรนั้น ศาลแรงงานภาค 5 ก็ได้ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณาแล้ว ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานภาค 5 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานภาค 5 ควรพิจารณาถึงบันทึกการสละสิทธิเรียกร้องของโจทก์ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องและมีสิทธิฟ้องจำเลยได้อีกหรือไม่ เมื่อศาลแรงงานภาค 5 ได้วินิจฉัยแล้วว่าหนังสือที่โจทก์ลงลายมือชื่อไม่มีข้อความระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทั้งจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ จึงเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานภาค 5 เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายเช่นเดียวกัน ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น แต่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่เมื่อค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นค่าจ้างตามนิยามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง อัตราร้อยละ 15 ต่อปี การที่ศาลแรงงานภาค 5 กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57 เห็นสมควรให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ การจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดลง โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าโจทก์นั้นได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรตาม ป.พ.พ. มาตรา 585 ดังนั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ในวันที่การจ้างแรงงานสิ้นสุดลง แต่เมื่อศาลแรงงานภาค 5 ไม่ได้พิพากษาให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ตามฟ้องเป็นการไม่ชอบ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57 เห็นสมควรให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์
อนึ่ง การที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิได้ระบุวันที่ให้มีผลเป็นเลิกจ้างอย่างถูกต้อง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้
______________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม 3,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงาน (ใบผ่านงาน) ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 402,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 26 พฤษภาคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 5 รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยประจำศูนย์ธุรกิจเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 อ้างเหตุว่ามีการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับทิศทางการทำธุรกิจของจำเลยที่เน้นการทำธุรกิจไปที่ลูกค้าประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ และได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการปฏิบัติงานด้านการติดตามหนี้ในส่วนภูมิภาคโดยใช้บริการของผู้รับจ้างภายนอก โดยจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์แล้ว และยังจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 2 เดือนด้วย สำหรับผลประกอบการของจำเลยโดยรวมแล้วมีกำไร โดยยังสามารถจ่ายโบนัสแก่พนักงานได้ทุกปี แล้ววินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพื่อให้เห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยนั้น เนื่องจากมีการปรับปรุงโครงสร้างและอัตรากำลังให้สอดคล้องกับปริมาณงาน ทำให้ต้องมีการลดการจ้างงานลง เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจของจำเลยและประคับประคองธุรกิจ ตลอดจนพนักงานส่วนที่เหลือให้สามารถผ่านวิกฤตของสภาวะเศรษฐกิจต่อไป มิได้เป็นการเลือกปฏิบัติแก่พนักงานคนหนึ่งคนใดมิให้ได้รับประโยชน์ตามที่โจทก์ควรจะได้รับ จึงเป็นการเลิกจ้างโดยเป็นธรรม อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติแก่โจทก์หรือไม่เป็นสำคัญ ซึ่งการที่จะวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่จำเลยอุทธรณ์ ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 5 เพื่อจะนำเข้าสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยเลิกจ้างโดยเป็นธรรมอันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานภาค 5 กำหนดค่าเสียหายสูงเกินสมควรและไม่นำเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษมาคิดคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายนั้น เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานภาค 5 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์เช่นเดียวกัน ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า ศาลแรงงานภาค 5 ควรพิจารณาถึงบันทึกการสละสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามหนังสือประนีประนอมยอมความว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องและมีสิทธิฟ้องจำเลยได้อีกหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานภาค 5 ได้วินิจฉัยแล้วว่า หนังสือที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือประนีประนอมยอมความไม่มีข้อความระบุไว้โดยแจ้งชัดว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทั้งจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ โจทก์จึงชอบที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายดังกล่าวได้และย่อมเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานภาค 5 ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 5 ในส่วนดอกเบี้ยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดให้กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 15 วันทำงานต่อปี ในปี 2559 โจทก์ไม่ได้ลาหยุดพักผ่อนประจำปี ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วน เมื่อคำนวณแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเป็นเงิน 2,060 บาท พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 402,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวประกอบด้วยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม 400,000 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,060 บาท แต่เมื่อค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นค่าจ้างตามบทนิยามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นการที่ศาลแรงงานภาค 5 กำหนดดอกเบี้ยให้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงไม่ถูกต้อง แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้มาก็ตามแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57 จึงเห็นสมควรให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,060 บาท อัตราร้อยละ 15 ต่อปี
คดีมีปัญหาจะต้องพิจารณาต่อไปในประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 การจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าโจทก์นั้นได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร และจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมมีหน้าที่ต้องออกใบสำคัญแสดงการทำงานที่มีข้อความดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 การที่ศาลแรงงานภาค 5 ไม่ได้พิพากษาให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ตามฟ้องเป็นการไม่ชอบ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ปัญหาข้อนี้มาก็ตามแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57 จึงเห็นสมควรให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์
อนึ่ง จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ดังนั้นจึงต้องถือว่าวันเลิกจ้างคือ วันที่ 1 มิถุนายน 2559 ไม่ใช่วันที่ 26 พฤษภาคม 2559 การที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้างคือวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 402,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,060 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 1 มิถุนายน 2559) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้แก่โจทก์ด้วย.
(วิเชียร แสงเจริญถาวร - ยิ่งศักดิ์ โอฬารสกุล - ดาราวรรณ ใจคำป้อ)
ศาลแรงงานภาค 5 นายมีศักดิ์ พยับวิภาพงศ์
นายกิตติ เนตรประเสริฐชัย ผู้ช่วยฯ/ย่อสั้น
นายสุโรจน์ จันทรพิทักษ์ ผู้พิพากษาฯ ประจำกองผู้ช่วยฯ/ตรวจย่อสั้น/ตรวจย่อยาว
นางสาวนิติรัตน์ ศิระภัสร์บารมี นิติกร/ย่อยาว
นางสาวมนัสนันท์ อิ่มใจ พิมพ์