คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ วทป 55/2560

                                      นางศิริพร กระแจะจันทร์                                              โจทก์

                                      พันจ่าอากาศเอกอริยะ เพ็งปาน กับพวก                           จำเลย

 

พ.ร.บ. ความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๔, ๒๒

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (10), ๙

 

         โจทก์ฟ้องเรียกให้จําเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการทําละเมิด
ของจําเลยที่ ๑ ผู้ควบคุมเรือ พรชนัน ที่ได้กระทําไปในทางการที่จ้างหรือของจําเลยที่ ๒ เจ้าของเรือ
จนเป็นเหตุให้เรือโดนกันกับเรือ ช.วรรัตน์ ๙ ซึ่งเป็นเรือกลประมงทะเล ชั้น ๑ ของโจทก์ เมื่อปรากฏว่า เรือของโจทก์เป็นเรือเดินทะเล คดีจึงมีข้อพิพาทกันในเรื่องความรับผิดและค่าเสียหายอันเกิด
จากเรือโดนกัน ตามบทบัญญัติ มาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้กําหนดให้คดีเกี่ยวกับความรับผิด
ทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกันอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอํานาจพิจารณา
พิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตามมาตรา ๗ (๑๐) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

_____________________________

         โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเรือประมงชื่อ ช.วรรัตน์ ๙ จําเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันชื่อ พรชนัน มีจําเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างเป็นกัปตันเรือ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๐ เวลา ๑9 นาฬิกาเศษ ขณะที่เรือของโจทก์ซึ่งมีนายทองสุข เป็นผู้ควบคุมเรือออกจากท่าเทียบเรือ โรงน้ำแข็ง คลองบางหญ้า ตําบลมหาชัย อําเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มุ่งหน้าปากอ่าวไทย โดยแล่นมาตามเส้นทางเดินเรือจนถึงบริเวณหน้าวัดช่องลม เรือบรรทุกน้ำมันของจําเลยที่ ๒ ที่มีจําเลยที่ ๑ เป็นผู้ควบคุม แล่นมาจากปากอ่าวไทยด้วยความเร็วทั้งที่เป็นทางโค้งและมีแหลม (พื้นที่น้ำตื้น) ยื่นออกมา เรือทั้งสองลําได้ส่งสัญญาณไฟตามหลักการเดินเรือที่จะแล่นสวนกัน เรือของโจทก์จึงชะลอความเร็วให้เรือของจําเลยที่ ๒
แล่นผ่านไปได้ แต่เมื่อเรือทั้งสองลํากําลังจะแล่นสวนกัน เรือของจําเลยที่ ๒ ได้หักหัวเรือหลบแหลมมาที่เรือของโจทก์ นายทองสุขไม่สามารถหลบได้พ้นเนื่องจากระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้เรือของโจทก์ถูกชนบริเวณด้านขวากลางลําเรือ แตกหักเป็นแนวยาวบริเวณเหนือเก๋งเรือกาบขวามาทางหัวเรือมีน้ำเข้า ส่วนเรือของจําเลยที่ ๒ แล่นต่อไปโดยไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ หลังเกิดเหตุโจทก์เจรจาค่าเสียหายกับตัวแทน
ของจําเลยที่ ๒ ซึ่งเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้เพียง ๕๐,๐๐๐ บาท จึงไม่สามารถตกลงกันได้ จําเลยที่ ๑ กระทําโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จําเลยที่ ๑ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการเดินเรืออาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่
และไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ จําเลยที่ ๑ และจําเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เป็นค่าน้ำแข็งที่ใช้สําหรับดองปลาที่บรรทุกอยู่ในเรือของโจทก์ในวันเกิดเหตุ
๗,๖๐๐ บาท ค่าซ่อมแซมเรือ ๕๘๙,๑๗๙.๖๐ บาท ค่าแรงที่โจทก์ต้องจ่ายให้ลูกจ้างในระหว่างซ่อมแซมเรือ ๘ คน คนละ ๓๐ วัน เป็นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ค่าขาดรายได้ของโจทก์จากการที่ไม่สามารถนําเรือ
ออกหาปลาได้ ๓๐๐,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น ๑,๐๑๖,๗๗9.๖๐ บาท ขอให้บังคับ
จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย ๑,๐๑๖,๗๗๙.๖๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ
๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์

         ในวันนัดพิจารณาศาลจังหวัดสมุทรสาคร เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่า คดีนี้อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วเสนอปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙

         พิเคราะห์แล้ว กรณีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอํานาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๗ (๑๐) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกให้จําเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย อันเกิดจากการทําละเมิดของจําเลยที่ ๑ ผู้ควบคุมเรือ พรชนัน ที่ได้กระทําไปในทางการที่จ้างหรือของ จําเลยที่ ๒ เจ้าของเรือ จนเป็นเหตุให้เรือโดนกันกับเรือ ช.วรรัตน์ ๙ ซึ่งเป็นเรือกลประมงทะเล ชั้น 1
ของโจทก์ เมื่อปรากฏว่าเรือของโจทก์เป็นเรือเดินทะเล คดีจึงมีข้อพิพาทกันในเรื่องความรับผิด
และค่าเสียหายอันเกิดจากเรือโดนกัน ตามบทบัญญัติ มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกัน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้กําหนด
ให้คดีเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่งและค่าเสียหายจากเรือโดนกันอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษา
ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่
ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตามมาตรา ๗ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

 

วินิจฉัย ณ วัน 16 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๐

 

เมทินี ชโลธร

(นางเมทินี ชโลธร)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ