คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1089/2567 ธนาคาร ก. โจทก์
บริษัท ซ. กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 686
พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 มาตรา 17 วรรคสอง, 29
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9, 10 (2)
โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ การฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐ (๒) กล่าวคือ โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกัน
มาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา
เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท โจทก์มีห้องชุด ๑ ห้อง ของจำเลยที่ ๑ จำนองเป็นประกัน และจำเลยที่ ๑ ทำสัญญานำเครื่องจักรเป็นหลักประกันทางธุรกิจแก่โจทก์ แต่นอกจากหลักประกันตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว ยังปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ตกลงตราทรัพย์สินสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับชำระหนี้ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจประเภทสินค้าคงคลังวัตถุดิบเป็นหลักประกันทางธุรกิจ และสิทธิในเงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์
โดยจดทะเบียนเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ อันมีผลให้โจทก์ผู้รับหลักประกันมีสิทธิที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญตามมาตรา ๒๙ และเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายตามมาตรา ๑๗
วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ ๒ โจทก์มีสิ่งปลูกสร้างในนิคมอุตสาหกรรม ห้องชุด ๗ ห้อง และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม ๙ แปลง จำนองเป็นประกัน แต่โจทก์ตีราคาหลักประกันมาในฟ้องเฉพาะ
สิ่งปลูกสร้างในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ห้องชุด และที่ดิน หาได้ตีราคาหลักประกันส่วนที่เป็น
สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่รับจำนองทั้ง ๙ แปลง มาด้วย เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวิธีการจัดการทรัพย์หลักประกันของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ครบถ้วน คำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐ (๒) ที่ศาลจะรับไว้พิจารณา
บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยัง
ผู้ค้ำประกันก่อนจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ อันเป็นเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ต้องปฏิบัติในกรณีที่เจ้าหนี้
ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้เป็นคดีแพ่ง แต่คดีนี้เป็นกรณีโจทก์ใช้สิทธิฟ้องขอให้
จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ ตกเป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา 9
อันเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายที่จะนำทรัพย์สินของลูกหนี้มาจัดสรรชำระหนี้
ให้แก่เจ้าหนี้เหล่านั้นอย่างเป็นธรรม หาใช่เป็นการฟ้องบังคับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ ให้ชำระหนี้แก่โจทก์โดยเฉพาะ โจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ก่อนฟ้องขอให้ผู้ค้ำประกัน
เป็นบุคคลล้มละลาย ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ลูกหนี้ชั้นต้นไปยังจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ โดยชอบดังที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์หรือไม่ ก็หามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีล้มละลาย
หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงิน และสัญญาขายลดหรือขายตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งสามารถคิดคำนวณยอดหนี้จนถึงวันฟ้องได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด โดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ. ล้มละลาย
พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) เพียงแต่กำหนดว่าหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่า
หนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น โดยหาได้บัญญัติว่าหนี้นั้น
ศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งเจ็ดเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ด
เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๗ ไม่ยื่นคำให้การและไม่สืบพยาน
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งเจ็ดเด็ดขาด ให้จำเลยทั้งเจ็ด
ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยแต่ละคน เฉพาะค่าทนายความ
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีกรรมการและอำนาจกรรมการตามสำเนาหนังสือรับรอง จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ ๓
เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขแดงที่ กคE ๔๑/๒๕๖๕ ซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน 1๒๔,๔๘๒,๙๑๗.๓๙ บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราเอ็มแอลอาร์ (MLR) ตามประกาศเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ บวกอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี โดยให้การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดหรือเบี้ยปรับนี้ปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงแปรผันตามอัตราดอกเบี้ยอัตราเอ็มแอลอาร์ในประกาศของโจทก์ ของต้นเงิน ๙๓,๖๗๐,๘๒๔.๙๔ บาท นับถัดจากวันฟ้อง
(ฟ้องวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ เบี้ยปรับดังกล่าวต้องไม่เกินดอกเบี้ยผิดนัดตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์ในเงิน ๑๐,๐๕๖,๐๔๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี
นับแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๒ เงิน ๘,๔๓๙,๑๕๒.๓๓ บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๒
เงิน ๒๐,๐๕๖,๖๙๔.๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๒ เงิน ๔๖,๗๖๒,๖๖๓.๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒6 กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๒ และเงิน ๘,๓๕๖,๒๗๓.๒๐ บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๒ หากจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์
จนครบถ้วนตามความรับผิดของจำเลยแต่ละคน กับให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกัน
ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑0,0๐๐ บาท และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕
เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
คดีหมายเลขแดงที่ กคE ๒๖/๒๕๖๕ ซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกันชำระเงิน๘๑๑,๔๗๕,๒๙๐.๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี ของต้นเงิน ๕๗๐,๖๗๐,๘๔๗.๗๒ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงิน ๘๑๑,๔๗๕,๒๙๐.๙๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ
๑๒ ต่อปี ของต้นเงิน ๕๗๐,๖๗๐,๘๔๗.๗๒ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔)
เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๔๐,๐๐๐ บาท ก่อนฟ้องคดีล้มละลายโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระหนี้ตามคำฟ้องแล้วสองครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยทั้งเจ็ดได้รับหนังสือทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑
และจำเลยที่ ๒ ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ การฟ้องคดีของโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐ (๒) กล่าวคือ โจทก์ต้องกล่าวมาในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า
หนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท คดีนี้โจทก์นำมูลหนี้
ตามสัญญากู้เงินรวม ๓ ฉบับ สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินสกุลเงินตราต่างประเทศเพื่อการส่งออก สัญญาขายตั๋วสัญญาใช้เงินสกุลเงินตราต่างประเทศเพื่อการนำเข้า และหนี้ตามคำพิพากษา
ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขแดงที่ กคE ๔๑/๒๕๖๔
มาฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ ลูกหนี้ชั้นต้นเป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า หนี้ของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวมีห้องชุด ตำบลคลองเตย อำเภอคลองเตย กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๑ กับสิ่งปลูกสร้าง
ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เขตอุตสาหกรรมส่งออก ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ของจำเลยที่ ๒ ทรัพย์จำนองเป็นหลักประกัน และจำเลยที่ ๑ ทำสัญญานำเครื่องจักร (มีทะเบียนกรรมสิทธิ์) เป็นหลักประกันทางธุรกิจแก่โจทก์ แต่นอกจากหลักประกันตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว
ยังปรากฏตามเอกสารรายละเอียดหลักประกันท้ายสัญญากู้เงินว่า จำเลยที่ ๑ ตกลงจะจัดให้มี
การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ เงินฝากสะสมทรัพย์ กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑
เป็นประกัน จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ สิทธิเรียกร้องที่จะได้รับชำระหนี้ กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ เป็นประกัน จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ได้แก่ กระจกผลิตจอ TV (Pure cell) กระจกผลิตจอ TV ติดฟิล์ม และแผงวงจร (Open cell) และโทรทัศน์ (TV) กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ เป็นประกัน ทั้งทางนำสืบของโจทก์ก็ปรากฏว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้แจ้งความเรื่องต้นฉบับเอกสารลูกหนี้รายจำเลยที่ ๑ สูญหายต่อเจ้าพนักงานตำรวจ โดยเอกสารที่สูญหายรวมถึงเอกสารชุดสัญญา
นำสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับชำระหนี้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2560
รวมลูกหนี้แห่งสิทธิ์ 30 ราย มูลค่าเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ชุดสัญญานำสังหาริมทรัพย์ที่ใช้
ในการประกอบธุรกิจเป็นหลักประกันทางธุรกิจ (กรณีมีทรัพย์สินแล้วในขณะทำสัญญา) ฉบับลงวันที่
17 สิงหาคม 2560 ประเภทสินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ กระจกผลิตจอ TV (Pure cell) กระจกผลิตจอ TV ติดฟิล์มและแผงวงจร (Open cell) โทรทัศน์ (TV) มูลค่าเป็นจำนวนเงินรวม ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ชุดสัญญานำสิทธิในเงินฝากเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2560 บัญชีสะสมทรัพย์ จำนวนเงิน ๖๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท กรณีจึงเชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ตกลงตราทรัพย์สิน
สิทธิเรียกร้องที่จะได้รับชำระหนี้ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจประเภทสินค้าคงคลังวัตถุดิบ
เป็นหลักประกันทางธุรกิจ และสิทธิในเงินฝากบัญชีสะสมทรัพย์ โดยจดทะเบียนเป็นหลักประกัน
การชำระหนี้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ อันมีผลให้โจทก์
ผู้รับหลักประกันมีสิทธิที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญ
ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๒๙ และเป็นเจ้าหนี้มีประกัน
ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายตามมาตรา ๑๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับวิธีการจัดการทรัพย์หลักประกันของจำเลยที่ ๑ ให้ครบถ้วน คำฟ้องของโจทก์
ในส่วนของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐ (๒) ที่ศาล
จะรับไว้พิจารณา
สำหรับคำฟ้องส่วนของจำเลยที่ ๒ นั้น โจทก์นำมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกัน สัญญากู้เงิน
สัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินสกุลเงินตราต่างประเทศเพื่อการส่งออก สัญญาขายตั๋วสัญญาใช้เงิน
สกุลเงินตราต่างประเทศเพื่อการนำเข้า และสัญญาทรัสต์รีซีท มาฟ้องขอให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นและฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์บรรยายฟ้องได้ความ
โดยสรุปว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันของจำเลยที่ ๒ ในมูลหนี้ดังกล่าว มีทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ จำนองเป็นหลักประกัน คือ สิ่งปลูกสร้างในนิคมอุตสาหกรรม ห้องชุดรวม ๗ ห้อง และที่ดินตำบลวังทองหลาง (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง
โดยโจทก์ตีราคาหลักประกันของจำเลยที่ ๒ มาในฟ้องเฉพาะหลักประกันที่เป็นสิ่งปลูกสร้างในนิคมอุตสาหกรรม ห้องชุด และที่ดิน หาได้ตีราคาหลักประกันส่วนที่เป็นสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่รับจำนอง
มาด้วย ได้ความเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินหลักประกันจากทางนำสืบของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ว่า
ฝ่ายจำเลยให้บริษัท พ. เป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์หลักประกันทั้งหมดของจำเลยที่ ๒ โดยรายงาน
การประเมินมูลค่าหลักประกันที่ดินตำบลวังทองหลาง (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวมีสิ่งปลูกสร้างทาวน์เฮาส์สองชั้น จำนวน ๒ คูหา และอาคารเก็บของชั้นเดียวปลูกอยู่ หลักประกันที่ดินตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านพักอาศัยชั้นเดียว อาคารโกดังชั้นเดียว ๒ หลัง อาคารห้องน้ำชั้นเดียว อาคารป้อมยาม
ชั้นเดียว สิ่งปลูกสร้างส่วนโล่งหลังคาคลุม และรั้วคอนกรีตปลูกอยู่ และหลักประกันที่ดินตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีอาคารโรงงานชั้นเดียว ๒ หลัง อาคารบ้านพักคนงานชั้นเดียว
อาคารห้องเก็บของชั้นเดียว ลานคอนกรีต และรั้วคอนกรีตปลูกอยู่ โจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งว่า
ที่ดินหลักประกันของโจทก์ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง กรณีจึงเชื่อได้ว่าหลักประกันที่ดินทั้ง ๘ แปลง มีสิ่งปลูกสร้างตามที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ นำสืบ เมื่อโจทก์ไม่ได้ตีราคาหลักประกันสิ่งปลูกสร้างข้างต้น หรือกล่าวมา
ในฟ้องว่า ถ้าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันนั้นเพื่อประโยชน์
แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายอันเป็นการบรรยายฟ้องเกี่ยวกับวิธีการจัดการทรัพย์หลักประกันของจำเลยที่ ๒
ไม่ครบถ้วน คำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐ (๒) ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาเช่นเดียวกัน ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง
แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ
มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘/๑
ที่ศาลล้มละลายกลางรับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไว้พิจารณาและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เด็ดขาดมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึง
ผู้ค้ำประกันมิได้...” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกัน
ก่อนจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ อันเป็นเงื่อนไขที่เจ้าหนี้ต้องปฏิบัติในกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้เป็นคดีแพ่ง แต่คดีนี้เป็นกรณีโจทก์ใช้สิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗
ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา 9 อันเป็นการฟ้อง
เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายที่จะนำทรัพย์สินของลูกหนี้มาจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เหล่านั้น
อย่างเป็นธรรม หาใช่เป็นการฟ้องบังคับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ ให้ชำระหนี้แก่โจทก์โดยเฉพาะ
โจทก์จึงไม่จำต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ก่อนฟ้องขอให้
ผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลล้มละลาย ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ลูกหนี้ชั้นต้นไปยังจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ โดยชอบดังที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์หรือไม่ ก็หามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีล้มละลายไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้น
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗
เป็นหนี้โจทก์อันอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทหรือไม่ เห็นว่า
หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงิน และสัญญาขายลดหรือขายตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งสามารถคิดคำนวณ
ยอดหนี้จนถึงวันฟ้องได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด โดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ เนื่องจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 9 (3) เพียงแต่กำหนดว่าหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น โดยหาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน แม้จำเลยทั้งเจ็ดจะอุทธรณ์ว่า โจทก์คำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ก็ยังฟังได้ว่าจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ เป็นหนี้โจทก์ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ เป็นหนี้โจทก์ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดประการสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗
มีหนี้สินล้นพ้นตัว และมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วสองครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน
และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ ไม่ชำระหนี้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย
พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๘ (๕) ว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ จึงมีหน้าที่
นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ทางนำสืบของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗
ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ มีทรัพย์สินใดที่เพียงพอชำระหนี้โจทก์ พยานหลักฐานของจำเลยที่ ๓
ถึงที่ ๗ จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่โจทก์ และไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่อย่างไรก็ดี ได้ความตามคำฟ้องและทางนำสืบของจำเลยที่ ๓ ว่า หนี้ตามฟ้องที่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์มีทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ลูกหนี้ชั้นต้นเป็นหลักประกัน ซึ่งฝ่ายจำเลยยังนำสืบโต้แย้งราคาประเมินทรัพย์หลักประกันว่ามีราคาพอชำระหนี้ตามฟ้องได้ทั้งหมด นอกจากหลักประกันตามคำฟ้องโจทก์ยังมีหลักประกันอื่นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อีกหลายรายการที่มิได้กล่าวและตีราคามาในคำฟ้องดังวินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ซึ่งมูลค่าของหลักประกันดังกล่าว หากโจทก์ตีราคา
มาในคำฟ้องอาจเพียงพอที่จะชำระหนี้ทั้งหมดก็ได้ กรณีจึงมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ ล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ เด็ดขาดมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดฟังขึ้นบางส่วน และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งเจ็ดเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.
(สิริพร เปรมาสวัสดิ์ สุรมณี - เพชรน้อย สมะวรรธนะ - อัจฉรา ประจันนวล)
นราธิป บุญญพนิช - ย่อ
ปวีณา แสงสว่าง - ตรวจ