คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ  นางสาว อ.                                     โจทก์       

         ที่ วยช 101/2567                             นาง ร.                                         จำเลย

 

            โจทก์ฟ้องว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ผู้ตายทำบันทึกข้อตกลงว่าจะชำระเงินค่าเลี้ยงดูโจทก์ แต่ผู้ตายไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เมื่อผู้ตาย
ถึงแก่ความตายโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกขอบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมชำระหนี้
ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าว ตกลง
เรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของบุตรของผู้ตาย มิใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์จึงต้องใช้สิทธิในฐานะมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องคดีแทนบุตร  ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับเนื่องจากโจทก์จดทะเบียนสมรสใหม่ การที่ผู้ตายชำระเงินให้แก่โจทก์ภายหลังโจทก์สมรสใหม่เป็นการชำระหนี้โดยผิดหลง โจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่กองมรดกของผู้ตาย และคดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นคดีครอบครัว
อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์
ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอบังคับให้จำเลยคืนเงินที่ผู้ตายชำระไปโดยผิดหลง นั้น
การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตายชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจากกองมรดกของผู้ตาย  เป็นกรณีต้องว่ากล่าวตาม ป.พ.พ. บรรพ ๖ มิได้อยู่ภายใต้บังคับแห่ง
ป.พ.พ. บรรพ ๕  และแม้โจทก์กับผู้ตายเคยอยู่กินฉันสามีภริยาและมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน แต่โจทก์กับผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรผู้เยาว์จึงมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ไม่อยู่ในบังคับ
แห่งบทบัญญัติ ป.พ.พ. บรรพ ๕ เช่นกัน คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัวตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชน
และครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓)

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์กับนาย ด. ผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรส
มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ เด็กชาย ว. ส่วนจำเลยเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก่อนผู้ตายถึงแก่ความตาย
ผู้ตายทำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ ว่าจะชำระเงินค่าเลี้ยงดูโจทก์ โดยกำหนดชำระเงินให้แก่โจทก์ ๑๐๐,๐๐๐ บาท และชำระเป็นรายเดือน ๆ ละ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ผู้ตายชำระเงินแก่โจทก์
ไม่ครบถ้วน โดยผู้ตายค้างชำระแก่โจทก์ ๑,๑๐๑,๐๐๐ บาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๖๕ ผู้ตาย
ถึงแก่ความตาย และเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๖ ศาลจังหวัดพัทยา มีคำสั่งตั้งโจทก์และจำเลย
เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน จากนั้นเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖ โจทก์แจ้งแก่จำเลยในการประชุมทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกผ่านแอปพลิเคชันไลน์กลุ่มว่า “โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามสัญญาบันทึกข้อตกลง
ฉบับลงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ ขอบังคับชำระหนี้จากกองมรดกก่อนที่จะแบ่งให้แก่ทายาท” ซึ่งทายาท
๕ ใน ๖ คนเห็นด้วย แต่จำเลยเพียงผู้เดียวไม่ยินยอมที่จะนำทรัพย์มรดกมาชำระหนี้แก่โจทก์ จึงเป็น
การโต้แย้งสิทธิโจทก์ ทำให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ในกองมรดกได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกร่วม ดำเนินการหรือให้กระทำการร่วมกับโจทก์ในการชำระหนี้จากกองมรดก เพื่อนำทรัพย์
ในกองมรดกของผู้ตาย (เจ้ามรดก) ชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๑๐๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ในอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากจำเลยไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอา
คำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา

 

         จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ตกลง
เรื่องการชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของบุตรของผู้ตาย มิใช่เป็นการอุปการะเลี้ยงดูโจทก์
โจทก์จึงต้องใช้สิทธิของบุตรในฐานะมารดาเป็นผู้ฟ้องคดี แต่ในคดีนี้โจทก์ใช้สิทธิในฐานะส่วนตัว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ และในการนัดประชุมทายาท เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
และ ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๗ ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมได้รับหนังสือเชิญประชุมแล้ว ไม่มาเข้าร่วม
ในการประชุม เป็นเหตุทำให้ไม่สามารถจัดการทรัพย์มรดกได้ และโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยกระทำการชำระหนี้จากกองมรดกดังกล่าว บันทึกข้อตกลงดังกล่าวสิ้นผลผูกพันผู้ตายและกองมรดกแล้ว เนื่องจากโจทก์จดทะเบียนสมรสกับสามีใหม่ ผู้ตายและกองมรดกรวมทั้งจำเลยย่อมไม่มีหน้าที่ชำระเงิน
ตามบันทึกข้อตกลงให้แก่โจทก์ การที่ผู้ตายชำระเงินให้แก่โจทก์ภายหลังโจทก์สมรสใหม่แล้ว รวมเป็นเงิน ๘๓๙,๐๐๐ บาท จึงเป็นการชำระหนี้โดยผิดหลงเป็นลาภมิควรได้ โจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว
ให้แก่กองมรดกของผู้ตาย และการประชุมทายาทเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๖ เป็นการประชุม
ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์
จึงเป็นคดีครอบครัวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอบังคับให้จำเลยชำระเงินที่ผู้ตายโอนเงินให้โจทก์หลังจากที่โจทก์สมรสใหม่โดยผิดหลง

         ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดพัทยาพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงให้รอการพิจารณาพิพากษาไว้ชั่วคราวแล้วเสนอ
ปัญหาดังกล่าวให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชน
และครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๑

         วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่
เห็นว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “คดีครอบครัว” หมายความว่า คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ
ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์หรือครอบครัวซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมาย
ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัว ดังนั้น คดีที่เกี่ยวด้วยการสมรส
สิทธิและหน้าที่หรือความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา บิดามารดาและบุตรไม่ว่าในทางใด ซึ่งพิพาทกัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ทั้งหมด คดีที่เกี่ยวด้วยสถานะและความสามารถ
ของบุคคลเกี่ยวกับครอบครัวหรือส่วนได้เสียของผู้เยาว์ซึ่งพิพาทกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบรรพ ๑ มาตรา ๒๑ ถึง ๒๘, ๓๒, ๔๓ และ ๔๔ และในบรรพ ๖ มาตรา ๑๖๑๐, ๑๖๑๑, ๑๖๘๗
และ ๑๖๙๒ รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัวหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับครอบครัวย่อมถือเป็นคดีครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับนาย ด. ผู้ตาย โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ผู้ตายทำบันทึกข้อตกลงว่าจะชำระเงินค่าเลี้ยงดูโจทก์ แต่ผู้ตาย
ไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกขอบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ จำเลยให้การ
และฟ้องแย้งว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าว ตกลงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของบุตรของผู้ตาย
มิใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โจทก์จึงต้องใช้สิทธิในฐานะมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องคดีแทนบุตร ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับเนื่องจากโจทก์จดทะเบียน
.

 

 

สมรสใหม่ การที่ผู้ตายชำระเงินให้แก่โจทก์ภายหลังโจทก์สมรสใหม่เป็นการชำระหนี้โดยผิดหลง
โจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่กองมรดกของผู้ตาย และคดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นคดีครอบครัวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอบังคับให้จำเลยคืนเงินที่ผู้ตาย
ชำระไปโดยผิดหลง นั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตายชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจากกองมรดกของผู้ตาย เป็นกรณีต้องว่ากล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ บรรพ ๖ มิได้อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ และแม้โจทก์กับผู้ตายเคยอยู่กินฉันสามีภริยาและมีบุตรผู้เยาว์ด้วยกัน แต่โจทก์กับผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน
บุตรผู้เยาว์จึงมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์บรรพ ๕ เช่นกัน คดีนี้จึงไม่เป็นคดีครอบครัว ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๐ (๓)

         วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว

วินิจฉัย ณ วันที่ ๑ เดือน สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗

ประกอบ ลีนะเปสนันท์

(นายประกอบ ลีนะเปสนันท์)

ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

 

 

อุษา จิวะชาติ - ย่อ

สัญชัย ภักดีบุตร - ตรวจ