คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 5040 – 5048/2566 นาย ช. กับพวก โจทก์
นาย ว. ในฐานะพนักงาน
ตรวจแรงงาน กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๐
พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๐ วรรคแรก บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงานโดยให้
นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้าง
ตกลงกัน” วรรคสาม บัญญัติว่า “นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้
ตามส่วนก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าว วรรคแรกเป็นบทกำหนดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง
ที่ทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับการทำงานปีแรกได้เมื่อทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี และในกรณีที่ลูกจ้างทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี ลูกจ้างจะเกิดสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี
ตามส่วนของระยะเวลาการทำงานได้ เมื่อนายจ้างกำหนดหรือตกลงให้ตามวรรคสี่ ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือมิฉะนั้นก็จะต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน โดยนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสม
และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้ตามวรรคสาม
ซึ่งตามระเบียบของจำเลยที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ได้กำหนดหลักเกณฑ์การหยุดพักผ่อนประจำปีไว้ในข้อ ๙.๑ วรรคแรก ว่า พนักงานซึ่งผ่านการทดลองงานและปฏิบัติงานกับจำเลยที่ ๒ ติดต่อกันมาครบ ๑๒ เดือนแล้ว ให้ได้รับสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีถัดไป และในข้อ ๙.๑ วรรคสอง ว่า ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนในวรรคแรก
ให้พนักงานล่วงหน้า หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน ๓ รอบปีติดต่อกัน จะเห็นได้ว่าระเบียบของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์วันหยุดพักผ่อนประจำปีสอดคล้องกับบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นและมีลักษณะเป็นคุณกว่า โดยในข้อ ๙.๑ วรรคแรกเป็นบทกำหนดระยะเวลา
การทำงานของลูกจ้าง ที่ทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีได้กี่วัน และวรรคสอง
เป็นบทกำหนดวิธีการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่าสามารถทำได้ ๒ กรณี คือ ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนวันที่มีสิทธิในวรรคแรกให้แก่พนักงานล่วงหน้า
หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่ไม่เกิน ๓ รอบปีติดต่อกัน วิธีการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงใช้สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีทำงานปกติและวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เลื่อนไปสะสมในรอบปีถัดไปด้วย เมื่อจำเลยที่ ๒ เลือกที่จะให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่พนักงานล่วงหน้า จึงได้ออกประกาศจำเลยที่ ๒ ที่ ๐๑๕/๒๕๖๔
ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ เรื่อง กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ให้พนักงานใช้ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาตามโครงสร้างองค์กรเดิมกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ให้แก่พนักงานกลุ่มที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ และพนักงานที่แสดงความจำนงเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งเก้า โดยให้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ และระบุไว้ด้วยว่าในวันที่จำเลยที่ ๒ กำหนดให้พนักงาน
ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี หากพนักงานเข้ามาทำงานในวันหยุดดังกล่าว จะถือว่าพนักงานไม่ประสงค์จะหยุดและสละสิทธิที่จะใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าว จำเลยที่ ๒ จะไม่จ่ายเงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ดังกล่าวทั้งสิ้น เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้กำหนดให้พนักงานใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ โจทก์ทั้งเก้าจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามฟ้อง
โจทก์ทั้งเก้าพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 แล้วนับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่ระบุในหนังสือเลิกจ้าง สัญญากู้ระหว่างโจทก์ทั้งเก้ากับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด แต่ละฉบับปรากฏมีข้อตกลงระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่า ผู้กู้ยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนและหรือค่าจ้างของผู้กู้เพื่อชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย ณ วันจ่ายเงินเดือนไปจนกว่าจะครบถ้วน หากผู้กู้
ไม่สามารถจะชดใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับสหกรณ์ตามเงื่อนไขดังกล่าว ผู้กู้ยินยอมให้จำเลยที่ ๒ นำเงินรายได้ที่ผู้กู้จะพึงได้รับจากจำเลยที่ ๒ เป็นเงินบำเหน็จ เงินโบนัส หรือเงินรายได้อื่น ๆ
มาหักชดใช้หนี้เงินกู้และดอกเบี้ยได้จนกว่าจะครบ และหากผู้กู้ผิดข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งหรือผิดนัด
ไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งตามสัญญากู้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือผิดข้อบังคับหรือระเบียบสหกรณ์
ว่าด้วยการควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้ถือว่าหนี้เงินกู้นั้นเป็นอันถึงกำหนดส่งคืน
โดยสิ้นเชิงพร้อมดอกเบี้ยในทันที และผู้กู้ยินยอมให้สหกรณ์เรียกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงระบุไว้ในทำนองเดียวกันอีกว่า ผู้กู้ยังตกลงยอมรับผูกพันตามข้อบังคับของสหกรณ์ว่า ถ้าผู้กู้ออกจากงานประจำ ผู้กู้จะต้องแจ้งเป็นหนังสือ
ให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งผู้กู้มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน หากผิดข้อตกลง
หรือสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือผิดข้อบังคับ
ในกรณีใด ๆ ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ว่าด้วยการควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้ถือว่าหนี้เงินกู้นั้นเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมดอกเบี้ยในทันที และผู้กู้ยอมให้สหกรณ์เรียกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน เมื่อโจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นผู้กู้ถูกจำเลยที่ ๒ เลิกจ้างทำให้ต้องออกจากงานประจำ โจทก์ทั้งเก้าย่อมไม่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ หักและนำส่งแก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขในสัญญากู้ได้ และโจทก์ทั้งเก้าก็ไม่ได้ทำหนังสือแจ้งให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินที่มีอยู่ต่อสหกรณ์
ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นผู้กู้กระทำผิดข้อตกลงตามสัญญากู้ เป็นผลให้หนี้เป็นอันถึงกำหนดชำระทันที สหกรณ์จึงมีสิทธิเรียกให้โจทก์ทั้งเก้าชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน ตามหนังสือกู้แต่ละฉบับ อีกทั้งโจทก์ทั้งเก้าได้ทำหนังสือยินยอม
ให้จำเลยที่ ๒ มีสิทธิหักเงินเดือน หรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งแก่จำเลยที่ ๒ จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไปตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ วรรคแรก และสัญญาว่าจะไม่ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าว จนกว่าสหกรณ์จะได้รับ
ชำระหนี้ครบถ้วนหรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป ซึ่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อสมาชิกได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์ ให้ผู้บังคับบัญชา
ในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้น เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่น
ที่มีต่อสหกรณ์ ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไปจนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป ให้หน่วยงานนั้นหักเงินดังกล่าวและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สหกรณ์โดยพลัน” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์ที่สหกรณ์จะมีสิทธิแจ้งผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้าง
ในสถานประกอบการหรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกของสหกรณ์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ให้หักเงินเดือน
หรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกผู้นั้น เพื่อนำมาชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่น
ที่สมาชิกผู้นั้นมีต่อสหกรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อสหกรณ์ให้สมาชิกผู้นั้นทำความยินยอมเป็นหนังสือ
ไว้กับสหกรณ์ และเมื่อได้รับแจ้งจากสหกรณ์แล้วให้หน่วยงานนั้นหักเงินและส่งเงินที่หักไว้ให้แก่สหกรณ์โดยพลัน ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งเก้าทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือน
หรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใด โดยมีข้อความว่า โจทก์ทั้งเก้ายินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งแก่จำเลยที่ ๒ จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป ดังนั้น เมื่อสหกรณ์แจ้งจำนวนยอดหนี้ที่โจทก์ทั้งเก้าแต่ละคนยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระแก่สหกรณ์
ให้จำเลยที่ ๒ ทราบ จำเลยที่ ๒ ย่อมสามารถนำเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เมื่อถูกเลิกจ้างส่งให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้ที่โจทก์ทั้งเก้า
มีต่อสหกรณ์ อันเป็นการทำตามข้อตกลงยินยอมของโจทก์ทั้งเก้า ชอบด้วย พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง
_____________________________
โจทก์ทั้งเก้าสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๙ ที่ ๓๐๒/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔ และบังคับจำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม พร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งเก้า รายละเอียดตามคำขอท้ายคำฟ้อง
ของโจทก์แต่ละคน
จำเลยที่ ๑ และที่ 2 ทั้งเก้าสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ โดยผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทั้งห้าจ่ายเงินคืน
แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นค่าชดเชย ๕๓๑,๔๑๓ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓๕,๘๗๐ บาท
และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ๒๑,๒๕๗ บาท จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ที่ ๒ เป็นค่าชดเชย ๗๒๙,๗๗๓ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๔๙,๒๖๐ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ๙๖,๖๙๕ บาท จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ที่ ๓ เป็นค่าชดเชย ๑๖๖,๔๔๐ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๔,๙๘๐ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ๘,๘๗๗ บาท จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ที่ ๔ เป็นค่าชดเชย ๖๖๖,๖๖๗ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๔๕,๐๐๐ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ๕๖,๖๖๗ บาท จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ที่ ๕
เป็นค่าชดเชย ๗๕๗,๗๔๗ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๕๑,๑๔๘ บาท และค่าจ้าง
สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ๑๑,๗๖๘ บาท จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ที่ ๖ เป็นค่าชดเชย ๔๓๔,๖๑๓ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒๙,๓๓๖ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ๒๘,๒๕๐ บาท จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ที่ ๗ เป็นค่าชดเชย ๖๖๖,๖๖๗ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๔๕,๐๐๐ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ๔๑,๖๖๗ บาท จ่ายเงินคืนแก่โจทก์ที่ ๘ เป็นค่าชดเชย ๖๙๑,๘๖๗ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๔๖,๗๐๑ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ๘๗,๓๔๘ บาท และจ่ายเงินคืนแก่โจทก์ที่ ๙
เป็นค่าชดเชย ๑๖๒,๖๒๐ บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑๔,๖๓๖ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือ ๗,๕๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงิน
แต่ละจำนวนนับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ ๑
โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยที่ ๒ ทั้งเก้าสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ทั้งเก้าเคยเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ โดยโจทก์ที่ ๑ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๔ ตำแหน่งสุดท้ายพนักงานขับรถ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๙,๘๕๖ บาท โจทก์ที่ ๒ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๕ ตำแหน่งสุดท้าย
ช่างโลหะแผ่น ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๔,๗๓๓ บาท โจทก์ที่ ๓ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๘ ตำแหน่งสุดท้ายพนักงานฝ่ายอุปกรณ์ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๖,๖๔๔ บาท โจทก์ที่ ๔ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๖ ตำแหน่งสุดท้ายหัวหน้าช่างโลหะแผ่น ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ
๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๕ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๕ ตำแหน่งสุดท้ายช่างโลหะแผ่น
ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๖,๘๓๑ บาท โจทก์ที่ ๖ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๙
ตำแหน่งสุดท้ายหัวหน้างาน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๒,๕๙๖ บาท โจทก์ที่ ๗ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๕ ตำแหน่งสุดท้ายช่างโลหะแผ่น ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ที่ ๘ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๕ ตำแหน่งสุดท้ายช่างโลหะแผ่น ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๑,๘๙๐ บาท และโจทก์ที่ ๙ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ตำแหน่งสุดท้ายพนักงานฝ่ายอุปกรณ์ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๖,๒๖๒ บาท จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างโจทก์ทั้งเก้า
ทุกวันที่ ๒๗ ของเดือน จำเลยที่ ๒ มีระเบียบว่าด้วยการบริหารงานบุคคล โจทก์ทั้งเก้าเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับสหกรณ์ดังกล่าว วันที่
๑๔ กันยายน ๒๕๖๓ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ ๒ และตั้งผู้ทำแผน
เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ จำเลยที่ ๒ ออกประกาศที่ ๐๑๕/๒๕๖๔ เรื่อง กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ให้พนักงานใช้ กำหนดแนวทางการจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงานในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ทั้งเก้า
โดยหักค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์ทั้งเก้าส่งให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด ต่อมาวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ ๒ และตั้งผู้บริหารแผน วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ โจทก์ทั้งเก้า
ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ว่าจำเลยที่ ๒ ไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งเก้า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๔๑ จำเลยที่ ๑ สอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการ
และคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๙ ที่ ๓๐๒/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔
แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานทำการสอบสวนข้อเท็จจริง
ทั้งทางฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ตลอดจนรวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว
จึงสรุปสำนวนพร้อมทำคำวินิจฉัยไปตามประเด็นที่ลูกจ้างผู้ร้องได้ยื่นคำร้องไว้ โดยปรับประเด็นข้อพิพาท
และอ้างอิงกฎหมายแรงงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ แล้วมีคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานตรวจแรงงาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๔ คำสั่ง
ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓๐๒/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๔ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
ไม่มีเหตุเพิกถอน เมื่อพิจารณาหนังสือกู้และสัญญาที่โจทก์ทั้งเก้าทำไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์
พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แล้ว ปรากฏข้อสัญญาว่า ผู้กู้ยอมรับผูกพันตามข้อบังคับ
ของผู้ให้กู้ว่า ถ้าผู้กู้ออกจากงานประจำ ผู้กู้จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการ
ชำระหนี้สินซึ่งผู้กู้มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ถ้าผู้กู้ประสงค์จะขอลาออกจากงานประจำ
ตามข้อบังคับสหกรณ์ข้อ ๓๔ (๓) ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ให้กู้ทราบด้วยและต้องจัดการชำระหนี้
ซึ่งมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ถ้าผู้กู้ไม่จัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อผู้กู้
ได้ลงชื่อรับเงินเดือน ค่าจ้าง เงินสะสม บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัทจะจ่ายให้ผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมให้หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้
พร้อมดอกเบี้ยส่งชำระต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ข้อตกลงที่ให้ผู้กู้ลงลายมือชื่อยอมรับผูกพันหนี้
ของสหกรณ์ โดยยินยอมให้หักเงินเดือน ค่าจ้าง เงินสะสม เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ และเงินอื่นใด
ที่จะได้รับชำระหนี้สหกรณ์ให้เสร็จสิ้น เป็นกรณีที่ผู้กู้ออกจากงานประจำหรือผู้กู้ลาออกจากงานประจำ
ซึ่งแตกต่างจากกรณีถูกเลิกจ้าง กรณีของโจทก์ทั้งเก้าจึงไม่ใช่กรณีตามสัญญาที่จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้าง
จะสามารถหักเงินค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือเงินอื่นใดเพื่อชำระหนี้สหกรณ์ก่อนได้ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ บัญญัติว่า เมื่อสมาชิกได้ทำความยินยอม
เป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์ให้ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ
หรือหน่วยงานอื่นใด ที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่าย
แก่สมาชิกนั้น เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ การหักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้นเพื่อชำระหนี้จึงเป็นกรณีการหักเงินชำระหนี้เป็นรายงวด มิใช่กรณีเลิกจ้าง ประกอบกับหนี้ของโจทก์ทั้งเก้ามิใช่เป็นหนี้ที่ครบกำหนดตามหนังสือกู้ การที่จำเลยที่ ๒ ส่งเงินผลประโยชน์ของโจทก์ทั้งเก้าเพื่อชำระหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด
เป็นการส่งเงินผลประโยชน์ของโจทก์ทั้งเก้าตามอำเภอใจ เมื่อพิจารณากฎหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับ
ที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้ว ไม่มีข้อความใดที่ให้สิทธิจำเลยที่ ๒ ส่งเงินหรือหักเงินให้แก่สหกรณ์
จำเลยที่ ๒ ย่อมไม่มีสิทธิหักเงินดังกล่าวของโจทก์ทั้งเก้าส่งให้กับสหกรณ์ ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ทั้งเก้าโดยโจทก์ทั้งเก้าไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทั้งเก้าจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ค่าจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี การที่จำเลยที่ ๒ หักเงินสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของโจทก์ทั้งเก้าส่งชดใช้หนี้ตามหนังสือกู้ที่โจทก์ทั้งเก้าได้ทำสัญญาไว้ต่อ
สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด มิใช่กรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงิน
ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยที่ ๒ ว่า โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม พร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๒ หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ทั้งเก้าโดยโจทก์ทั้งเก้าไม่ได้กระทำผิด
โจทก์ทั้งเก้าจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคงเหลือพร้อมดอกเบี้ย
ให้แก่โจทก์ทั้งเก้าแล้ว ที่โจทก์ทั้งเก้าอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนที่ขอให้จำเลยที่ ๒ ชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งเก้าน่าจะเกิดจากการสับสนและเข้าใจผิด
อีกทั้งข้ออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเก้าที่โต้แย้งคัดค้านมาข้างต้นนั้น ก็เป็นการโต้แย้งคัดค้านข้อวินิจฉัย
ในคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ศาลแรงงานกลางเพียงกล่าวย้อนถึงเพื่อวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเท่านั้น
มิได้เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางแต่อย่างใด อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเก้าในส่วนนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ และไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๐ วรรคแรก เป็นบทกำหนดระยะเวลา
การทำงานของลูกจ้างที่ทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับการทำงานปีแรกได้เมื่อทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี และในกรณีที่ลูกจ้างทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี ลูกจ้างจะเกิดสิทธิ
หยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนของระยะเวลาการทำงานได้ เมื่อนายจ้างกำหนดหรือตกลงให้ตามวรรคสี่ ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือมิฉะนั้นก็จะต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน โดยนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้
ตามวรรคสาม ซึ่งตามระเบียบของจำเลยที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ได้กำหนดหลักเกณฑ์
การหยุดพักผ่อนประจำปีไว้ในข้อ ๙.๑ วรรคแรก ว่า พนักงานซึ่งผ่านการทดลองงานและปฏิบัติงาน
กับจำเลยที่ ๒ ติดต่อกันมาครบ ๑๒ เดือนแล้ว ให้ได้รับสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีถัดไป
และในข้อ ๙.๑ วรรคสอง ว่า ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวน
ในวรรคแรกให้พนักงานล่วงหน้า หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสม
และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน ๓ รอบปีติดต่อกัน จะเห็นได้ว่าระเบียบของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์วันหยุดพักผ่อนประจำปีสอดคล้องกับบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นและมีลักษณะเป็นคุณกว่า โดยในข้อ ๙.๑ วรรคแรกเป็นบทกำหนดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ที่ทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีได้กี่วัน และวรรคสอง
เป็นบทกำหนดวิธีการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่าสามารถทำได้ ๒ กรณี คือ ให้ผู้บังคับบัญชา
เป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนวันที่มีสิทธิในวรรคแรกให้แก่พนักงานล่วงหน้า
หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่ไม่เกิน ๓ รอบปีติดต่อกัน วิธีการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงใช้สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีทำงานปกติและวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เลื่อนไปสะสมในรอบปีถัดไปด้วย เมื่อจำเลยที่ ๒ เลือกที่จะให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่พนักงานล่วงหน้า จึงได้ออกประกาศจำเลยที่ ๒ ที่ ๐๑๕/๒๕๖๔ ลงวันที่
๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ เรื่อง กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ให้พนักงานใช้ กำหนด
ให้ผู้บังคับบัญชาตามโครงสร้างองค์กรเดิมกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ให้แก่พนักงานกลุ่มที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ และพนักงานที่แสดงความจำนง
เข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งเก้า โดยให้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ และระบุไว้ด้วยว่าในวันที่จำเลยที่ ๒ กำหนดให้พนักงาน
ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี หากพนักงานเข้ามาทำงานในวันหยุดดังกล่าว จะถือว่าพนักงานไม่ประสงค์จะหยุดและสละสิทธิที่จะใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าว จำเลยที่ ๒ จะไม่จ่ายเงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ดังกล่าวทั้งสิ้น เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้กำหนดให้พนักงานใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ แต่โจทก์ทั้งเก้าไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ โจทก์ทั้งเก้าจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งเก้ามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยดังนี้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในส่วนอื่นอีก เพราะไม่ทำให้
ผลของคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ ต้องจ่ายค่าชดเชย
และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งเก้าหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติ
ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 จำเลยที่ 2 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งเก้า โดยให้มีผลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โจทก์ทั้งเก้าจึงพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 แล้วนับแต่วันที่ระบุในหนังสือเลิกจ้าง เมื่อพิจารณาสัญญากู้ระหว่างโจทก์ทั้งเก้า
กับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด แต่ละฉบับ ปรากฏมีข้อตกลงระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่า ผู้กู้ยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนและหรือค่าจ้างของผู้กู้เพื่อชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย ณ วันจ่ายเงินเดือนไปจนกว่าจะครบถ้วน หากผู้กู้ไม่สามารถจะชดใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับสหกรณ์ตามเงื่อนไขดังกล่าว ผู้กู้ยินยอมให้จำเลยที่ ๒ นำเงินรายได้ที่ผู้กู้จะพึงได้รับจากจำเลยที่ ๒
เป็นเงินบำเหน็จ เงินโบนัส หรือเงินรายได้อื่น ๆ มาหักชดใช้หนี้เงินกู้และดอกเบี้ยได้จนกว่าจะครบ
และหากผู้กู้ผิดข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งตามสัญญากู้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือผิดข้อบังคับหรือระเบียบสหกรณ์ ว่าด้วยการควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้ถือว่า
หนี้เงินกู้นั้นเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมดอกเบี้ยในทันที และผู้กู้ยินยอมให้สหกรณ์
เรียกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงระบุไว้ในทำนองเดียวกันอีกว่า ผู้กู้ยังตกลงยอมรับผูกพันตามข้อบังคับของสหกรณ์ว่า ถ้าผู้กู้ออกจาก
งานประจำ ผู้กู้จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งผู้กู้มีอยู่ต่อสหกรณ์
ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน หากผิดข้อตกลงหรือสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือผิดข้อบังคับในกรณีใด ๆ ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ว่าด้วยการควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้ถือว่าหนี้เงินกู้นั้นเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิง
พร้อมดอกเบี้ยในทันที และผู้กู้ยอมให้สหกรณ์เรียกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด
หรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน เมื่อโจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นผู้กู้ถูกจำเลยที่ ๒ เลิกจ้างทำให้ต้องออกจากงานประจำ โจทก์ทั้งเก้าย่อมไม่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ หักและนำส่งแก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้
เงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขในสัญญากู้ได้ และโจทก์ทั้งเก้าก็ไม่ได้ทำหนังสือแจ้งให้สหกรณ์ทราบ
และจัดการชำระหนี้สินที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นผู้กู้
กระทำผิดข้อตกลงตามสัญญากู้ เป็นผลให้หนี้เป็นอันถึงกำหนดชำระทันที สหกรณ์จึงมีสิทธิเรียกให้โจทก์ทั้งเก้าชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน ตามหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก หนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญเพื่อบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจ หนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญ หนังสือกู้ยืมเงิน เงินกู้พิเศษ และหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกอันเนื่องมาจากอุทกภัย อีกทั้งโจทก์ทั้งเก้าได้ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ มีสิทธิหักเงินเดือน หรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้
หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งแก่จำเลยที่ ๒ จนกว่าหนี้
หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ วรรคแรก และสัญญาว่าจะไม่ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าว จนกว่าสหกรณ์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป ซึ่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑
วรรคแรก กำหนดหลักเกณฑ์ที่สหกรณ์จะมีสิทธิแจ้งผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้าง
ในสถานประกอบการหรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกของสหกรณ์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ให้หักเงินเดือน
หรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกผู้นั้น เพื่อนำมาชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่สมาชิกผู้นั้นมีต่อสหกรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อสหกรณ์ให้สมาชิกผู้นั้นทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์
และเมื่อได้รับแจ้งจากสหกรณ์แล้วให้หน่วยงานนั้นหักเงินและส่งเงินที่หักไว้ให้แก่สหกรณ์โดยพลัน ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งเก้าทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใด โดยมีข้อความว่า โจทก์ทั้งเก้ายินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งเก้า
มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ ตามจำนวน
ที่สหกรณ์แจ้งแก่จำเลยที่ ๒ จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป ดังนั้น เมื่อสหกรณ์แจ้ง
จำนวนยอดหนี้ที่โจทก์ทั้งเก้าแต่ละคนยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระแก่สหกรณ์ให้จำเลยที่ ๒ ทราบ จำเลยที่ ๒
ย่อมสามารถนำเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์ทั้งเก้ามีสิทธิได้รับ
จากจำเลยที่ ๒ เมื่อถูกเลิกจ้างส่งให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้ที่โจทก์ทั้งเก้ามีต่อสหกรณ์ อันเป็น
การทำตามข้อตกลงยินยอมของโจทก์ทั้งเก้า ชอบด้วยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามฟ้อง
ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งเก้าจึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นเงินเพิ่มและดอกเบี้ย รวมทั้งประเด็นว่าที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาเกินคำขอ
ชอบหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่
โจทก์ทั้งเก้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
(พนารัตน์ คิดจิตต์ – วรศักดิ์ จันทร์คีรี – ฤทธิรงค์ สมอุดร)
ภัทรวรรณ ทรงกำพล - ย่อ
เกริกเกียรติ พุทธสถิตย์ - ตรวจ