คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 845/2567   นาย อ.                                   โจทก์

                                                                      เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก.

                                                                      กับพวก                                   จำเลย

ป.วิ.พ. มาตรา 144, 198 ทวิ

พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22, 24, 46, 63, 145 (1)

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

 

         คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ดำเนินกระบวนพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายล้มละลายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของบริษัท ก. ลูกหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ หรือยื่นคำฟ้องเพื่อขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของบริษัท ก. ลูกหนี้อีกครั้ง
แต่คำฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้บังคับตามข้อเสนอของโจทก์ที่เสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ของลูกหนี้พิจารณาเกี่ยวกับการขอชำระหนี้แทนลูกหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์สินของลูกหนี้ และขอให้จำเลยที่ ๑ ถอนการยึดทรัพย์จำนอง แม้เนื้อหาในการขอบังคับแก่จำเลยทั้งสี่

จะใกล้เคียงกับข้อตกลงและเงื่อนไขบางส่วนในคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายในคดีหมายเลข
แดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕ ของศาลล้มละลายกลางก็ตาม แต่การกล่าวอ้างในคดีนี้ของโจทก์เป็นการอ้าง
โดยเจาะจงเพื่อขอใช้สิทธิในทางแพ่งให้จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่การขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายตามกฎหมายล้มละลายเพื่อการจัดการทรัพย์สิน
ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การฟ้องคดีนี้จึงมิใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕ ของศาลล้มละลายกลางซ้ำอีก
และไม่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการประนอมหนี้ในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด คำฟ้องโจทก์จึงไม่เป็น
การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับการพิจารณาคดีในชั้นประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕ ของศาลล้มละลายกลาง

         ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๙๘ ทวิ ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ การที่จำเลยไม่ยื่นคำให้การ ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอบังคับจำเลยทั้งสี่ให้ปฏิบัติตามมติ
ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) ที่ลงมติยอมรับข้อเสนอของโจทก์ที่ตกลงจะรับใช้หนี้ของลูกหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและผู้รับโอนสิทธิจำนองในที่ดินรวม ๑๙ แปลง ของลูกหนี้ แล้วขอให้จำเลยที่ ๑ ถอนการยึดที่ดินทรัพย์จำนองทั้ง ๑๙ แปลง และคืนโฉนด
ให้แก่โจทก์เพื่อดำเนินการต่อไป การพิจารณาปัญหาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ตรวจสำนวนแล้ว ข้อเท็จจริงในสำนวนตามคำฟ้องของโจทก์เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ดังนั้น
ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานของคู่ความนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล

 

 

         ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๔ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่อาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนได้ อำนาจในการรวบรวม
และจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้จะตกไปอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา ๒๒ แต่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องดำเนินการตามวิธีการ
และขอบอำนาจที่บัญญัติไว้ในกฎหมายล้มละลาย สำหรับการถอนการยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย
ตามมาตรา ๑๔๕ (๑) บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้เพื่อประสงค์จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ถอนการยึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่อ้างว่าถูกยึดไว้ในคดีล้มละลาย หากโจทก์เข้ารับใช้หนี้แทนลูกหนี้
แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือเป็นผู้รับโอนสิทธิจำนอง จำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้จึงไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะกระทำได้ จำเลยที่ ๑
จึงต้องนัดประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ตามคำขอของโจทก์และคำสั่งศาลในคดีหมายเลขแดงที่ สล.๔๑๔/๒๕๖๑ ของศาลล้มละลายกลาง ทั้งนี้ แม้โจทก์จะเป็นกรรมการของบริษัทลูกหนี้
ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕ ของศาลล้มละลายกลาง แต่โจทก์มิใช่ลูกหนี้โดยตรง
ในคดีดังกล่าว การที่โจทก์จะขอชำระหนี้แทนลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดของลูกหนี้
เป็นการส่วนตัว แม้เป็นเรื่องที่โจทก์และเจ้าหนี้รายดังกล่าวอาจตกลงดำเนินการระหว่างกันได้
ก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นข้อตกลงที่ไม่อาจบังคับในคดีล้มละลาย และไม่อาจผูกพันเจ้าหนี้
รายอื่นและกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้ เพราะมิใช่วิธีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) ลงมติยอมรับการจัดการทรัพย์สินตามคำร้องในคดีหมายเลขแดงที่ สล.๔๑๔/๒๕๖๑ ของศาลล้มละลายกลาง มติดังกล่าวจึงมีผล
เป็นเพียงการให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ ๑ เพื่อไปดำเนินการจัดการทรัพย์สินตามข้อเสนอดังกล่าวต่อไปเท่านั้น เพราะหากไม่มีมติของที่ประชุมเจ้าหนี้แล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่มีอำนาจดำเนินการ
ถอนการยึดทรัพย์ที่ถูกยึดในคดีล้มละลายสำหรับรายการที่เกี่ยวข้องได้ มติของที่ประชุมเจ้าหนี้
ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) ดังกล่าวย่อมมิใช่คำสนองของเจ้าหนี้ทั้งหลายเพื่อสนองรับข้อเสนอที่อ้างว่า
เป็นคำเสนอของโจทก์แต่อย่างใด มติดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่  โจทก์จึงไม่อาจอ้างมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยทั้งสี่ได้ ส่วนที่โจทก์
นำข้อเสนอดังกล่าวมาระบุเพิ่มเป็นรายละเอียดในคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ และจำเลยที่ ๑ จัดให้เจ้าหนี้ประชุมลงมติในวันเดียวกัน ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) มีมติยอมรับคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้แล้วก็ตาม
แต่การยอมรับคำขอประนอมหนี้ดังกล่าวของที่ประชุมเจ้าหนี้ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่า
ศาลจะได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้วตามมาตรา ๔๖ และมาตรา ๖๓ ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลาง
มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยกับคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้ตามมติประชุมเจ้าหนี้
ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ซึ่งต่อมาคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุด
โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาและไม่รับฎีกาของโจทก์ คำขอประนอมหนี้ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันทั้งโจทก์ ลูกหนี้ จำเลยทั้งสี่ และบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา ๔๖ และมาตรา ๖๓ โจทก์จึงไม่อาจขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ยอมให้จำเลยที่ ๑ จัดการทรัพย์สินตามข้อเสนอของโจทก์และคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยได้   

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับ (๑) จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามสัญญาโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขบังคับหลังตามคำร้องและคำสั่งศาลคดีสาขาหมายเลขแดงที่ สล.๔๑๔/๒๕๖๑
ของศาลล้มละลายกลาง ประกอบกับมติที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่
ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕ ของศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ และเงื่อนเวลาสิ้นสุดกำหนดไว้ตามแผนประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย (๒) ให้โจทก์รับใช้หนี้ให้แก่จำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๓๒๒,๐๓๐,๓๒๖ บาท และเมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แล้ว ให้โจทก์รับช่วงสิทธิรับจำนองที่ดินตำบลบางพูด (บางพัง) อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวม ๑๘ โฉนด ให้เสร็จสิ้นไปก่อนหรือภายใน ๑ ปี
นับแต่ศาลฎีกามีคำสั่งชั้นประนอมหนี้ (๓) ให้โจทก์รับใช้หนี้ให้แก่จำเลยที่ ๔ เป็นเงิน ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้แล้ว ให้โจทก์รับช่วงสิทธิรับจำนองที่ดินตำบลบางพูด (บางพัง) อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี รวม ๑ โฉนด ให้เสร็จสิ้นไปก่อนหรือภายใน ๑ ปี นับแต่ศาลฎีกามีคำสั่ง
ชั้นประนอมหนี้ (๔) ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินตามข้อ (๒)
และข้อ (๓) แก่โจทก์ และโจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนตามข้อ (๒) และข้อ (๓) ให้เสร็จสิ้นไป แล้วคืนต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ ไป

         ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖ ว่า จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ แล้วให้พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว ต่อมาวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖
ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งว่าจำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การ

         จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๒ ยื่นคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ

            ระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของบริษัท ก. ลูกหนี้ แต่ศาลล้มละลายกลาง
และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ดังกล่าว และคดีอยู่ระหว่างศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาของลูกหนี้

         ศาลล้มละลายกลางตรวจคำฟ้อง คำให้การ ประกอบคำแถลงของคู่ความแล้ว จึงมีคำสั่ง
ให้งดสืบพยาน และพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์
ของโจทก์ในข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับการพิจารณาคดี
ในชั้นประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของบริษัท ก. ลูกหนี้ ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕
ของศาลล้มละลายกลางหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ดำเนินกระบวนพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายล้มละลายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย
ของบริษัท ก. ลูกหนี้ ตามคำขอประนอมหนี้ ฉบับลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หรือยื่นคำฟ้องเพื่อขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของบริษัท ก. ลูกหนี้อีกครั้ง แต่คำฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้บังคับ
ตามข้อเสนอของโจทก์ที่เสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ของลูกหนี้พิจารณาเกี่ยวกับการขอชำระหนี้แทนลูกหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ในฐานะผู้รับจำนองทรัพย์สินของลูกหนี้ และขอให้จำเลยที่ ๑ ถอนการยึดทรัพย์จำนอง ดังนั้น แม้เนื้อหาในการขอบังคับแก่จำเลยทั้งสี่จะใกล้เคียงกับข้อตกลงและเงื่อนไขบางส่วนในคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕ ของศาลล้มละลายกลางก็ตาม แต่การกล่าวอ้างในคดีนี้ของโจทก์เป็นการอ้างโดยเจาะจงเพื่อขอใช้สิทธิในทางแพ่งให้จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่การขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย
ตามกฎหมายล้มละลายเพื่อการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การฟ้องคดีนี้จึงมิใช่
การดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕
ของศาลล้มละลายกลางซ้ำอีก และไม่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการประนอมหนี้ในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด
คำฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับการพิจารณาคดีในชั้นประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕ ของศาลล้มละลายกลาง เป็นแต่เพียง
การที่โจทก์อ้างว่าจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามข้อเสนอของโจทก์ตามที่
ที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕ ของศาลล้มละลายกลาง มีมติให้ดำเนินการได้ การที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับการพิจารณาคดีในชั้นประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของบริษัท ก. ลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕
ของศาลล้มละลายกลาง จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

         ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อต่อไปมีว่า คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่งดสืบพยานชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๘ ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ การที่จำเลย
ไม่ยื่นคำให้การ ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้
เพื่อขอบังคับจำเลยทั้งสี่ให้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒
ที่ลงมติยอมรับข้อเสนอของโจทก์ที่ตกลงจะรับใช้หนี้ของลูกหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและผู้รับโอนสิทธิจำนองในที่ดินรวม ๑๙ แปลง ของลูกหนี้ แล้วขอให้จำเลยที่ ๑ ถอนการยึดที่ดินทรัพย์จำนองทั้ง ๑๙ แปลง และคืนโฉนดให้แก่โจทก์เพื่อดำเนินการต่อไป การพิจารณา
ปัญหาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตรวจสำนวนแล้ว ข้อเท็จจริงในสำนวนตามคำฟ้องของโจทก์เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ดังนั้น ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานของคู่ความนั้น ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว
จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนที่อ้างว่า มีการดำเนินกระบวนพิจารณา
ที่ผิดระเบียบเกี่ยวกับการขาดนัดยื่นคำให้การของฝ่ายจำเลยอีก อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ได้หรือไม่ เห็นว่า
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๔ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่อาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนได้ อำนาจในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้จะตกไปอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ แต่ในการรวบรวมและจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องดำเนินการตามวิธีการและขอบอำนาจที่บัญญัติไว้ในกฎหมายล้มละลาย สำหรับการถอนการยึดทรัพย์
ในคดีล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔๕ (๑) บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรรมการเจ้าหนี้ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้เพื่อประสงค์จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถอนการยึดทรัพย์จำนองของลูกหนี้ที่อ้างว่าถูกยึดไว้
ในคดีล้มละลาย หากโจทก์เข้ารับใช้หนี้แทนลูกหนี้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์สิน
ของลูกหนี้หรือเป็นผู้รับโอนสิทธิจำนอง จำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้
จึงไม่มีอำนาจโดยลำพังที่จะกระทำได้ ประกอบกับคดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการตั้งกรรมการเจ้าหนี้ จำเลยที่ ๑ จึงต้องนัดประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ตามคำขอของโจทก์และคำสั่งศาลในคดีหมายเลขแดงที่
สล.๔๑๔/๒๕๖๑ ของศาลล้มละลายกลาง ทั้งนี้ แม้โจทก์จะเป็นกรรมการของบริษัทลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.๑๒๒๙/๒๕๔๕ ของศาลล้มละลายกลาง แต่โจทก์มิใช่ลูกหนี้โดยตรงในคดีดังกล่าว การที่โจทก์จะขอชำระหนี้แทนลูกหนี้ให้แก่เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดของลูกหนี้เป็นการส่วนตัว แม้เป็น
เรื่องที่โจทก์และเจ้าหนี้รายดังกล่าวอาจตกลงดำเนินการระหว่างกันได้ก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าว
ก็เป็นข้อตกลงที่ไม่อาจบังคับในคดีล้มละลาย และไม่อาจผูกพันเจ้าหนี้รายอื่นและกองทรัพย์สิน
ของลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้ เพราะมิใช่วิธีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมายล้มละลาย ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ ๑ จัดประชุมเจ้าหนี้ตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางในคดีหมายเลขแดงที่ สล.๔๑๔/๒๕๖๑ เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอชำระหนี้แทนลูกหนี้และขอถอนการยึดทรัพย์จำนอง
ของเจ้าหนี้ จำเลยที่ ๑ จึงต้องนัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นเพื่อปรึกษาว่าจะยอมให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการจัดการทรัพย์สินตามข้อเสนอของโจทก์หรือไม่ การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) เมื่อวันที่
๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ลงมติยอมรับการจัดการทรัพย์สินตามคำร้องในคดีหมายเลขแดงที่ สล.๔๑๔/๒๕๖๑ ของศาลล้มละลายกลาง มติดังกล่าวจึงมีผลเป็นเพียงการให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ ๑ เพื่อไปดำเนินการจัดการทรัพย์สินตามข้อเสนอดังกล่าวต่อไปเท่านั้น เพราะหากไม่มีมติของที่ประชุมเจ้าหนี้แล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่มีอำนาจดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ที่ถูกยึดในคดีล้มละลายสำหรับรายการที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้น
มติของที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ดังกล่าวย่อมมิใช่คำสนอง
ของเจ้าหนี้ทั้งหลายเพื่อสนองรับข้อเสนอที่อ้างว่าเป็นคำเสนอของโจทก์แต่อย่างใด มติดังกล่าว
จึงไม่ก่อให้เกิดสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ดังที่โจทก์อุทธรณ์มา โจทก์จึงไม่อาจอ้างมติ
ของที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยทั้งสี่ได้ และนอกจากจำเลยที่ ๑ จะปรึกษาที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อขอจัดการทรัพย์สินตามแนวทางข้อเสนอของโจทก์แล้ว โจทก์ยังนำข้อเสนอเช่นเดียวกับ
ที่เจ้าหนี้มีมติให้จำเลยที่ ๑ จัดการทรัพย์สินตามข้อเสนอมาระบุเพิ่มเป็นรายละเอียดในคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้ ฉบับลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ที่โจทก์ในฐานะกรรมการของลูกหนี้
ยื่นต่อจำเลยที่ ๑ เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ และจำเลยที่ ๑ จัดให้เจ้าหนี้ประชุมลงมติในวันเดียวกัน ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ มีมติยอมรับคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้แล้วก็ตาม แต่การยอมรับคำขอประนอมหนี้ดังกล่าวของที่ประชุมเจ้าหนี้
ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๖๓ ดังนั้น เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วย
กับคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้ตามมติประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่น (ครั้งที่ ๓) เมื่อวันที่
๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ซึ่งต่อมาคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุด
โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาและไม่รับฎีกาของโจทก์ ตามเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ คำขอประนอมหนี้ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันทั้งโจทก์ ลูกหนี้ จำเลยทั้งสี่ และบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๔๖ และมาตรา ๖๓ โจทก์จึงไม่อาจขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ที่ยอมให้จำเลยที่ ๑ จัดการทรัพย์สินตามข้อเสนอของโจทก์และคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของลูกหนี้ที่ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยได้
ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ข้อนี้
ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

(อัจฉรา ประจันนวล - สิริพร เปรมาสวัสดิ์ สุรมณี - เพชรน้อย สมะวรรธนะ)

นราธิป บุญญพนิช - ย่อ

                                                                                                                          ปวีณา แสงสว่าง - ตรวจ