คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 5018 – 5023/2566 นาย พ. กับพวก โจทก์
(ประชุมใหญ่) นาย ว. ในฐานะพนักงาน
ตรวจแรงงาน กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๐
พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๐ วรรคแรก บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน
โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้าง
และลูกจ้างตกลงกัน” วรรคสาม บัญญัติว่า “นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสม
และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง
โดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าว วรรคแรกเป็นบทกำหนดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างที่ทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับการทำงานปีแรกได้เมื่อทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี และในกรณีที่ลูกจ้างทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี ลูกจ้างจะเกิดสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนของระยะเวลาการทำงานได้เมื่อนายจ้างกำหนดหรือตกลงให้ตามวรรคสี่ ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือมิฉะนั้นก็จะต้อง
กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน โดยนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้
ตามวรรคสาม ซึ่งตามระเบียบจำเลยที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ได้กำหนดหลักเกณฑ์
การหยุดพักผ่อนประจำปีไว้ในข้อ ๙.๑ วรรคแรก ว่า พนักงานซึ่งผ่านการทดลองงานและปฏิบัติงาน
กับจำเลยที่ ๒ ติดต่อกันมาครบ ๑๒ เดือนแล้ว ให้ได้รับสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีถัดไป และในข้อ ๙.๑ วรรคสอง ว่า ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวน
ในวรรคแรกให้พนักงานล่วงหน้า หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสม
และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน ๓ รอบปีติดต่อกัน จะเห็นได้ว่าระเบียบจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์วันหยุดพักผ่อนประจำปีสอดคล้อง
กับบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นและมีลักษณะเป็นคุณกว่า โดยในข้อ ๙.๑ วรรคแรก เป็นบทกำหนดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างที่ทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีได้กี่วัน และวรรคสองเป็นบทกำหนดวิธีการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่าสามารถทำได้ ๒ กรณี คือ ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนวันที่มีสิทธิในวรรคแรกให้แก่พนักงานล่วงหน้า
หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่ไม่เกิน ๓ รอบปีติดต่อกัน วิธีการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงใช้สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีทำงานปกติและวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เลื่อนไปสะสมในรอบปีถัดไปด้วย เมื่อจำเลยที่ ๒ เลือกที่จะให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่พนักงานล่วงหน้า จึงได้ออกประกาศจำเลยที่ ๒ ที่ ๐๑๕/๒๕๖๔
ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ เรื่อง กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ให้พนักงานใช้ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาตามโครงสร้างองค์กรเดิมกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ให้แก่พนักงานกลุ่มที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ และพนักงานที่แสดงความจำนงเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหก โดยให้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ และระบุไว้ด้วยว่าในวันที่จำเลยที่ ๒ กำหนดให้พนักงานใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี หากพนักงานเข้ามาทำงานในวันหยุดดังกล่าว จะถือว่าพนักงานไม่ประสงค์
จะหยุดและสละสิทธิที่จะใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าว จำเลยที่ ๒ จะไม่จ่ายเงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ดังกล่าวทั้งสิ้น เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้กำหนดให้พนักงานใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ ๖ ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนดังกล่าว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ ๖ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามฟ้อง
ที่จำเลยที่ ๒ ให้สิทธิพนักงานแสดงความประสงค์ว่าจะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนวันใดและจำนวนกี่วัน โดยต้องจองวันล่วงหน้าด้วยการลงชื่อในแฟ้มเอกสารที่ทำไว้สำหรับวันลาหยุดพักผ่อนประจำปี
ในส่วนงานของตน และต้องเขียนใบลายื่นต่อหัวหน้างานก่อนวันลา ๓ วัน เมื่อได้รับอนุมัติการลา
จึงจะสมบูรณ์ เป็นเพียงขั้นตอนการปฏิบัติในการใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม กรณีมิอาจฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ มีข้อตกลงกับพนักงานเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า
ให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงานตกลงกันล่วงหน้ากำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามจำนวนวันที่พนักงานมีสิทธิเพียงอย่างเดียวดังที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ ๖ ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้เงินเพิ่มและดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ดังกล่าว
ที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์อ้างว่า ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมดังกล่าว เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ นั้น ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า วันหยุดสะสม คือ วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ให้สิทธิลูกจ้างในการสะสมได้ ซึ่งนายจ้างให้ลูกจ้างนำวันหยุดที่สะสมนั้น
มาใช้สิทธิในปีต่อ ๆ ไปเท่านั้น หาใช่เป็นวันหยุดพิเศษอย่างอื่นนอกเหนือจากวันหยุดประจำปีไม่
และตามระเบียบจำเลยที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ข้อ ๙.๑ วรรคสอง กำหนดให้เป็นอำนาจ
ของผู้บังคับบัญชาพิจารณาการลาเพื่อใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานในเบื้องต้นก่อน
หรืออาจจะให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงานตกลงกันได้ ผู้บังคับบัญชาจึงมีอำนาจในการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งรวมถึงวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ได้สะสมมาด้วย ข้ออ้างของโจทก์ทั้งหกดังกล่าว
ฟังไม่ขึ้น เมื่อจำเลยที่ ๒ มีอำนาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ ๖ ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ตามที่จำเลยที่ ๒ กำหนด โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ ๖ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามฟ้องนั้น
โจทก์ทั้งหกพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 แล้วนับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่ระบุในหนังสือเลิกจ้าง สัญญากู้ระหว่างโจทก์ทั้งหกกับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด แต่ละฉบับปรากฏมีข้อตกลงระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่า ผู้กู้ยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนและหรือค่าจ้างของผู้กู้เพื่อชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย ณ วันจ่ายเงินเดือนไปจนกว่าจะครบถ้วน หากผู้กู้
ไม่สามารถจะชดใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับสหกรณ์ตามเงื่อนไขดังกล่าว ผู้กู้ยินยอมให้จำเลยที่ ๒ นำเงินรายได้ที่ผู้กู้จะพึงได้รับจากจำเลยที่ ๒ เป็นเงินบำเหน็จ เงินโบนัส หรือเงินรายได้อื่น ๆ มาหักชดใช้หนี้เงินกู้และดอกเบี้ยได้จนกว่าจะครบ และหากผู้กู้ผิดข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งตามสัญญากู้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือผิดข้อบังคับหรือระเบียบสหกรณ์ ว่าด้วย
การควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้ถือว่าหนี้เงินกู้นั้นเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมดอกเบี้ยในทันที และผู้กู้ยินยอมให้สหกรณ์เรียกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด
หรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงระบุไว้ในทำนองเดียวกันอีกว่า ผู้กู้ตกลงยอมรับผูกพันตามข้อบังคับของสหกรณ์ว่า ถ้าผู้กู้ออกจากงานประจำ ผู้กู้จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งผู้กู้มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน หากผิดข้อตกลงหรือสัญญา
ข้อใดข้อหนึ่งหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือผิดข้อบังคับในกรณีใด ๆ
ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ว่าด้วยการควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้ถือว่า
หนี้เงินกู้นั้นเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมดอกเบี้ยในทันที และผู้กู้ยอมให้สหกรณ์
เรียกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน เมื่อโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นผู้กู้ถูกจำเลยที่ ๒ เลิกจ้างทำให้ต้องออกจากงานประจำ โจทก์ทั้งหกย่อมไม่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างให้จำเลยที่ ๒
หักและนำส่งแก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขในสัญญากู้ได้ และโจทก์ทั้งหก
ก็ไม่ได้ทำหนังสือแจ้งให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นผู้กู้กระทำผิดข้อตกลงตามสัญญากู้ เป็นผลให้หนี้เป็นอันถึงกำหนดชำระทันที สหกรณ์จึงมีสิทธิเรียกให้โจทก์ทั้งหกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือ
แต่บางส่วนได้โดยพลัน ตามหนังสือกู้แต่ละฉบับ อีกทั้งโจทก์ทั้งหกได้ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒
มีสิทธิหักเงินเดือน หรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้
หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งแก่จำเลยที่ ๒ จนกว่าหนี้
หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไปตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ วรรคแรก
และสัญญาว่าจะไม่ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าว จนกว่าสหกรณ์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป ซึ่ง พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อสมาชิกได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์ ให้ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงาน
ของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกปฏิบัติหน้าที่อยู่หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกนั้น เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไปจนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป ให้หน่วยงานนั้นหักเงินดังกล่าวและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สหกรณ์โดยพลัน” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์ที่สหกรณ์จะมีสิทธิแจ้งผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการหรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกของสหกรณ์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ให้หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใด
ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกผู้นั้น เพื่อนำมาชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่สมาชิกผู้นั้นมีต่อสหกรณ์ได้
ก็ต่อเมื่อสหกรณ์ให้สมาชิกผู้นั้นทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์ และเมื่อได้รับแจ้ง
จากสหกรณ์แล้วให้หน่วยงานนั้นหักเงินและส่งเงินที่หักไว้ให้แก่สหกรณ์โดยพลัน ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งหกทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใด โดยมีข้อความว่า โจทก์ทั้งหกยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ ตามจำนวนที่สหกรณ์
แจ้งแก่จำเลยที่ ๒ จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป ดังนั้น เมื่อสหกรณ์แจ้งจำนวนยอดหนี้ที่โจทก์ทั้งหกแต่ละคนยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระแก่สหกรณ์ให้จำเลยที่ ๒ ทราบ จำเลยที่ ๒ ย่อมสามารถนำเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒
เมื่อถูกเลิกจ้างส่งให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้ที่โจทก์ทั้งหกมีต่อสหกรณ์ อันเป็นการทำตามข้อตกลงยินยอมของโจทก์ทั้งหก ชอบด้วย พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหก
_____________________________
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๙ ที่ 301/2564 ลงวันที่ 16 กันยายน 2564 และบังคับจำเลยที่ 2 จ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นค่าชดเชย 757,747 บาท และค่าจ้างแทน
การบอกกล่าวล่วงหน้า ๕๑,148 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม 34,099 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จ่ายเงินแก่โจทก์ที่ ๒ เป็นค่าชดเชย 680,093 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๔๕,906 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่
วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำสะสม 30,๖04 บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ให้จ่ายเงินแก่โจทก์ที่ ๓ เป็นค่าชดเชย ๗17,453 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
48,428 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม 32,285 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จ่ายเงินแก่โจทก์ที่ ๔ เป็นค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวมเป็นเงิน 230,936 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จ่ายเงินแก่โจทก์ที่ ๕ เป็นค่าชดเชย 570,440 บาท และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 38,505 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ
15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม 25,670 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่
4 มิถุนายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จ่ายเงินแก่โจทก์ที่ ๖ เป็นค่าชดเชย 497,787 บาท
และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 33,601 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน
แต่ละจำนวนนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม 22,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2564 จนกว่าจะชำระเสร็จและเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๒ จะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ของเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม
ทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งหกสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการ
และคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๙ ที่ 301/2564 ลงวันที่ 16 กันยายน 2564
ของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ทั้งหก ให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าชดเชย 757,747 บาท ค่าจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 51,148 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ค่าชดเชย 680,093 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 54,906 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ค่าชดเชย 717,453 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 48,428 บาท แก่โจทก์ที่ 3 ค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวม 230,936 บาท แก่โจทก์ที่ 4 ค่าชดเชย 570,440 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 38,505 บาท แก่โจทก์ที่ 5 ค่าชดเชย 497,787 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 33,601 บาท แก่โจทก์ที่ 6
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งหกและจำเลยที่ ๒ ทั้งหกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และปรากฏข้อเท็จจริงยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2
โจทก์ที่ ๑ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๓ ตำแหน่งสุดท้ายหัวหน้างานอาวุโส
หรือรองผู้จัดการแผนกขนส่งอาหาร ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๖,๘๓๑ บาท โจทก์ที่ ๒ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๓ ตำแหน่งสุดท้ายรองผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๑,๐๐๗ บาท โจทก์ที่ ๓ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ตำแหน่งสุดท้ายหัวหน้างานอาวุโสหรือรองผู้จัดการแผนกขนส่งอาหาร ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๓,๘๐๙ บาท โจทก์ที่ ๔ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๘ ตำแหน่งสุดท้ายแม่ครัวระดับ ๔ หรือกุ๊ก ๔ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๓,๕๘๘ บาท โจทก์ที่ ๕ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๓๑ ตำแหน่งสุดท้ายหัวหน้าควบคุมงาน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔๒,๗๘๓ บาท โจทก์ที่ ๖ เข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๙ ตำแหน่งสุดท้ายหัวหน้างานแผนกบรรจุภาชนะ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๓๗,๓๓๔ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ของเดือน ระเบียบจำเลยที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล กำหนดหลักเกณฑ์
การหยุดพักผ่อนประจำปีไว้ในข้อ ๙ ในระหว่างทำงานโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด ทำสัญญากู้ยืมเงินกับสหกรณ์ดังกล่าว วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๓
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ ๒ และตั้งผู้ทำแผน เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ จำเลยที่ ๒ ออกประกาศที่ ๐๑๕/๒๕๖๔ เรื่อง กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่
ให้พนักงานใช้ กำหนดแนวทางการจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงานในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ และเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 จำเลยที่ 2 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งหก โดยให้มีผลในวันที่
31 พฤษภาคม 2564 เมื่อโจทก์ทั้งหกพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ได้หักค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์ทั้งหกส่งให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 2 และตั้งผู้บริหารแผน แล้ววินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่วินิจฉัยว่า ค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินอื่นที่นายจ้างจะจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไม่มีข้อกำหนดใดที่ห้ามนายจ้าง
หักเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นเงินอื่นไม่ใช่ค่าจ้างเพื่อชำระหนี้สหกรณ์ให้แก่ลูกจ้าง ประกอบกับเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยที่ ๒ นายจ้างและโจทก์ทั้งหกลูกจ้างมีข้อตกลงกันตามกฎหมายอื่น พนักงานตรวจแรงงานจึงไม่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัย คำสั่ง
ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายแรงงาน เนื่องจากสิทธิและนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยที่ 2 เป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานกรณีดังกล่าวจึงเป็นอำนาจ
ของพนักงานตรวจแรงงานในการที่จะวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 2 หักเงินค่าชดเชยและค่าจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้สหกรณ์ให้แก่โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นลูกจ้างนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องนี้ไว้ในคำสั่ง
จึงเป็นการไม่ชอบ พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ กำหนดให้นายจ้างมีอำนาจ
หักเงินเดือนหรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ เพื่อชำระหนี้
ที่ลูกจ้างมีต่อสหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไปจนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป
แต่การที่สหกรณ์จะแจ้งจำนวนเงินว่าจะให้หักเท่าใด และจำเลยที่ ๒ จะหักได้มากน้อยเพียงใด
ต้องพิจารณาจากข้อตกลงในสัญญากู้เงิน หนังสือยินยอม ตลอดจนข้อบังคับสหกรณ์เป็นสำคัญ
เมื่อพิเคราะห์สัญญากู้เงินและหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินค่าจ้างและเงินอื่นใดเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของตน มีข้อความในทำนองว่า โจทก์ทั้งหกกู้เงินสหกรณ์และตกลงผ่อนชำระหนี้เงินกู้คืนเป็นรายงวด
โดยยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนและหรือค่าจ้างเพื่อชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย ณ วันจ่ายเงินเดือนและหรือค่าจ้างของโจทก์ทั้งหกจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น และโจทก์ทั้งหกตกลงกับสหกรณ์ผู้ให้กู้ว่า หากโจทก์ทั้งหกผิดข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง หรือผิดข้อบังคับสหกรณ์ข้อ ๑๘ ว่าด้วยการควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ โจทก์ทั้งหกยินยอมให้จำเลยที่ ๒
หรือสหกรณ์มีสิทธินำเงินรายได้หรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งหกจะพึงได้รับจากจำเลยที่ ๒ และหรือจากสหกรณ์หักชำระหนี้ได้ทันที จนกว่าสหกรณ์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน เห็นได้ว่า โจทก์ทั้งหก
ทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์เป็น ๒ ส่วน ส่วนแรก เป็นการยอมให้หักเงินเดือน
และหรือค่าจ้างเพื่อชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยตามปกติของงวดการผ่อนชำระ ณ วันจ่ายเงินเดือนและหรือค่าจ้างของโจทก์ทั้งหกจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น ส่วนที่สอง เป็นส่วนที่โจทก์ทั้งหกยอมให้ถือว่าหนี้เงินกู้ทั้งหมดเป็นอันถึงกำหนดชำระโดยพลัน และยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หรือสหกรณ์มีสิทธินำเงินรายได้
หรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งหกจะพึงได้รับจากจำเลยที่ ๒ และหรือจากสหกรณ์มาหักชำระหนี้ทั้งหมด
ได้ทันที หรือจนกว่าสหกรณ์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 25๔๒
มาตรา 42/1 ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหกผิดนัดชำระหนี้เป็นเวลาถึง ๒ งวดติดต่อกัน หรือผิดนัดเป็นระยะเวลา ๓ งวด หรือออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ และปรากฏเหตุอื่น
อันทำให้โจทก์ทั้งหกต้องพ้นจากสมาชิกสหกรณ์ ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของสหกรณ์ที่มีต่อโจทก์ทั้งหก
จึงยังไม่ถึงกำหนดชำระและสหกรณ์ยังไม่สามารถเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน สหกรณ์คงมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้เฉพาะในส่วนของงวดการผ่อนชำระรายเดือนตามข้อตกลงในสัญญา และจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่เพียงหักเงินค่าจ้างเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของงวดที่มีการเลิกจ้าง เมื่อสหกรณ์ยังไม่อาจเรียกให้โจทก์ทั้งหกชำระหนี้ได้โดยพลัน จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจนำเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์ทั้งหกส่งให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่โจทก์ทั้งหกค้างชำระสหกรณ์โดยโจทก์ทั้งหก
ไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ ๒ ฝ่าฝืนถือได้ว่าเป็นการหักเงินของโจทก์ทั้งหกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เท่ากับว่าโจทก์ทั้งหกยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยที่ ๒
ดังนี้ จำเลยที่ ๒ จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้อง
แก่โจทก์ทั้งหก แม้ในสัญญากู้มีข้อความว่าถ้าโจทก์ทั้งหกออกจากงานประจำ โจทก์ทั้งหกต้องแจ้ง
เป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบ และจัดการชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ก็เป็นเพียงข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ทั้งหกชำระหนี้ที่ค้างกับสหกรณ์เมื่อต้องออกจากงาน แต่หากโจทก์ทั้งหก
ไม่ดำเนินการ สหกรณ์ก็ชอบที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวไม่อาจแปลความว่าให้อำนาจแก่สหกรณ์ที่จะเรียกชำระหนี้ทั้งหมดได้โดยพลัน
หรือให้อำนาจจำเลยที่ ๒ หักเงินค่าชดเชยหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้สหกรณ์
ทั้งจำนวนโดยโจทก์ทั้งหกไม่ยินยอม วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมเป็นกรณีที่นายจ้างให้สิทธิลูกจ้างสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีและนำมาใช้สิทธิในปีต่อ ๆ ไปได้เท่านั้น หาใช่เป็นวันหยุดพิเศษนอกเหนือจากวันหยุดประจำปีไม่ ซึ่งระเบียบจำเลยที่ 2 ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ข้อ 9.1 วรรคสอง ระบุว่า ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนในวรรคแรกให้พนักงานล่วงหน้า หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน ๓ รอบปีติดต่อกัน ทั้งนี้ การหยุดพักผ่อนประจำปีให้ใช้ใบลาตามแบบของบริษัท จะเห็นได้ว่า การหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาพิจารณาในเบื้องต้นก่อน หรืออาจจะให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงานตกลงกันได้ ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาจึงมีอำนาจในการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งรวมถึงวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ได้สะสมมาตามระเบียบดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามระเบียบดังกล่าวจึงเป็นการชอบ
ด้วยกฎหมายแล้ว การที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามที่จำเลยที่ 2 กำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหก แต่จำเลยที่ ๒ ไม่จ่าย จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์ดังกล่าวตามพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคแรก แต่ในส่วนของการเรียกร้องเงินเพิ่มจากนายจ้างนั้น จะต้องปรากฏว่านายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อเหตุที่จำเลยที่ ๒ ไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งหก เพราะจำเลยที่ ๒ อ้างว่าโจทก์ทั้งหกให้ความยินยอมให้หักเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้ที่โจทก์ทั้งหกมีต่อสหกรณ์ตามสัญญา หนังสือยินยอม ข้อบังคับสหกรณ์
และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ เงินค่าตอบแทนพิเศษเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท มิใช่ค่าจ้างและไม่อาจนำมารวมคำนวณเพื่อจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี กรณียังมี
ข้อโต้เถียงว่าจำเลยที่ ๒ สามารถหักค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อชำระหนี้สหกรณ์ได้หรือไม่ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ จงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่ม ส่วนวันหยุดพักผ่อนประจำปี
สะสมนั้น จำเลยที่ 2 ได้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมเพื่อให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6
ใช้สิทธิในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ เป็นการชอบแล้ว แต่โจทก์ดังกล่าวไม่ใช้สิทธิของตน จำเลยที่ 2
จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้เงินเพิ่มและดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งหกแต่อย่างใด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ ๖
มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่จำเลยที่ ๒ กำหนดให้ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ พร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๒ หรือไม่ เพียงใด ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติ
ที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓๐ วรรคแรกเป็นบทกำหนดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างที่ทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับการทำงานปีแรกได้เมื่อทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี และในกรณีที่ลูกจ้างทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี ลูกจ้างจะเกิดสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนของระยะเวลาการทำงานได้เมื่อนายจ้างกำหนดหรือตกลงให้ตามวรรคสี่
ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือมิฉะนั้นก็จะต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน โดยนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้นรวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้
ตามวรรคสาม ซึ่งตามระเบียบจำเลยที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ได้กำหนดหลักเกณฑ์
การหยุดพักผ่อนประจำปีไว้ในข้อ ๙.๑ วรรคแรก ว่า พนักงานซึ่งผ่านการทดลองงานและปฏิบัติงาน
กับจำเลยที่ ๒ ติดต่อกันมาครบ ๑๒ เดือนแล้ว ให้ได้รับสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีถัดไป
และในข้อ ๙.๑ วรรคสอง ว่า ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวน
ในวรรคแรกให้พนักงานล่วงหน้า หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสม
และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่สะสมได้ไม่เกิน ๓ รอบปีติดต่อกัน
จะเห็นได้ว่าระเบียบจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์วันหยุดพักผ่อนประจำปีสอดคล้อง
กับบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นและมีลักษณะเป็นคุณกว่า โดยในข้อ ๙.๑ วรรคแรก เป็นบทกำหนดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างที่ทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีได้กี่วัน และวรรคสองเป็นบทกำหนดวิธีการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่าสามารถทำได้ ๒ กรณี คือ ให้ผู้บังคับบัญชา
เป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามจำนวนวันที่มีสิทธิในวรรคแรกให้แก่พนักงานล่วงหน้า
หรือผู้บังคับบัญชาและพนักงานจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปรวมหยุดในรอบปีถัดไปก็ได้ แต่ไม่เกิน ๓ รอบปีติดต่อกัน วิธีการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงใช้สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในรอบปีทำงานปกติและวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เลื่อนไปสะสมในรอบปีถัดไปด้วย เมื่อจำเลยที่ ๒ เลือกที่จะให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่พนักงานล่วงหน้า จึงได้ออกประกาศจำเลยที่ ๒ ที่ ๐๑๕/๒๕๖๔ ลงวันที่
๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ เรื่อง กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ให้พนักงานใช้ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาตามโครงสร้างองค์กรเดิมกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ให้แก่พนักงานกลุ่มที่ไม่แสดงความจำนงเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ และพนักงานที่แสดงความจำนง
เข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหก โดยให้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ และระบุไว้ด้วยว่าในวันที่จำเลยที่ ๒ กำหนดให้พนักงาน
ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี หากพนักงานเข้ามาทำงานในวันหยุดดังกล่าว จะถือว่าพนักงานไม่ประสงค์จะหยุดและสละสิทธิที่จะใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าว จำเลยที่ ๒ จะไม่จ่ายเงินทดแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ไม่ได้ใช้ดังกล่าวทั้งสิ้น เมื่อจำเลยที่ ๒ ได้กำหนดให้พนักงานใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่สะสมและเหลืออยู่ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ ๖ ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนดังกล่าว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ ๖ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามฟ้อง ส่วนที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์อ้างว่า จำเลยที่ ๒
ให้สิทธิพนักงานแสดงความประสงค์ว่าจะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนวันใดและจำนวนกี่วัน โดยต้องจองวันล่วงหน้าด้วยการลงชื่อในแฟ้มเอกสารที่ทำไว้สำหรับวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีในส่วนงานของตน
และต้องเขียนใบลายื่นต่อหัวหน้างานก่อนวันลา ๓ วัน เมื่อได้รับอนุมัติการลาจึงจะสมบูรณ์ แสดงให้เห็นว่าการใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามสภาพการจ้างเป็นการกำหนดโดยผู้บังคับบัญชาและพนักงานตกลงกัน มิใช่จำเลยที่ ๒ ฝ่ายเดียวเป็นผู้กำหนด ข้ออ้างดังกล่าว
เป็นเพียงขั้นตอนการปฏิบัติในการใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม กรณีมิอาจฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ มีข้อตกลงกับพนักงานเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่า ให้ผู้บังคับบัญชา
และพนักงานตกลงกันล่วงหน้ากำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม
ตามจำนวนวันที่พนักงานมีสิทธิเพียงอย่างเดียวดังที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริง
ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ ๖ ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้เงินเพิ่มและดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ดังกล่าว และที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์อ้างว่า ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่อง
การกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมดังกล่าว เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ นั้น ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า วันหยุดสะสม คือ วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ให้สิทธิลูกจ้างในการสะสมได้ ซึ่งนายจ้างให้ลูกจ้างนำวันหยุดที่สะสมนั้น
มาใช้สิทธิในปีต่อ ๆ ไปเท่านั้น หาใช่เป็นวันหยุดพิเศษอย่างอื่นนอกเหนือจากวันหยุดประจำปีไม่
และตามระเบียบจำเลยที่ ๒ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล ข้อ ๙.๑ วรรคสอง กำหนดให้เป็นอำนาจ
ของผู้บังคับบัญชาพิจารณาการลาเพื่อใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานในเบื้องต้นก่อน
หรืออาจจะให้ผู้บังคับบัญชาและพนักงานตกลงกันได้ ผู้บังคับบัญชาจึงมีอำนาจในการกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งรวมถึงวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ได้สะสมมาด้วย ข้ออ้างของโจทก์ทั้งหกดังกล่าวฟังไม่ขึ้น ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ มีอำนาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ ๖ ไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔
ตามที่จำเลยที่ ๒ กำหนด จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามฟ้องนั้น
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ว่า จำเลยที่ ๒ ต้องจ่ายค่าชดเชย
และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติ
ในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 จำเลยที่ 2 มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งหก โดยให้มีผลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โจทก์ทั้งหกจึงพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 แล้วนับแต่วันที่ระบุในหนังสือเลิกจ้าง เมื่อพิจารณาสัญญากู้ระหว่างโจทก์ทั้งหก
กับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด แต่ละฉบับปรากฏมีข้อตกลงระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่า ผู้กู้ยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนและหรือค่าจ้างของผู้กู้เพื่อชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย ณ วันจ่ายเงินเดือนไปจนกว่าจะครบถ้วน หากผู้กู้ไม่สามารถจะชดใช้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับสหกรณ์ตามเงื่อนไขดังกล่าว ผู้กู้ยินยอมให้จำเลยที่ ๒ นำเงินรายได้ที่ผู้กู้จะพึงได้รับจากจำเลยที่ ๒
เป็นเงินบำเหน็จ เงินโบนัส หรือเงินรายได้อื่น ๆ มาหักชดใช้หนี้เงินกู้และดอกเบี้ยได้จนกว่าจะครบ
และหากผู้กู้ผิดข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งตามสัญญากู้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือผิดข้อบังคับหรือระเบียบสหกรณ์ ว่าด้วยการควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้ถือว่า
หนี้เงินกู้นั้นเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมดอกเบี้ยในทันที และผู้กู้ยินยอมให้สหกรณ์
เรียกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงระบุไว้ในทำนองเดียวกันอีกว่า ผู้กู้ยังตกลงยอมรับผูกพันตามข้อบังคับของสหกรณ์ว่า ถ้าผู้กู้ออกจาก
งานประจำ ผู้กู้จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สินซึ่งผู้กู้มีอยู่ต่อสหกรณ์
ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน หากผิดข้อตกลงหรือสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง
ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ หรือผิดข้อบังคับในกรณีใด ๆ ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ ว่าด้วยการควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้ ให้ถือว่าหนี้เงินกู้นั้นเป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมดอกเบี้ยในทันที และผู้กู้ยอมให้สหกรณ์เรียกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้
โดยพลัน เมื่อโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นผู้กู้ถูกจำเลยที่ ๒ เลิกจ้าง ทำให้ต้องออกจากงานประจำ โจทก์ทั้งหก
ย่อมไม่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างให้จำเลยที่ ๒ หักและนำส่งแก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย
ตามเงื่อนไขในสัญญากู้ได้ และโจทก์ทั้งหกก็ไม่ได้ทำหนังสือแจ้งให้สหกรณ์ทราบและจัดการชำระหนี้สิน
ที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นผู้กู้กระทำผิดข้อตกลง
ตามสัญญากู้ เป็นผลให้หนี้เป็นอันถึงกำหนดชำระทันที สหกรณ์จึงมีสิทธิเรียกให้โจทก์ทั้งหกชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดหรือแต่บางส่วนได้โดยพลัน ตามหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิก หนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญเพื่อบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจ หนังสือกู้สำหรับ
เงินกู้สามัญ และหนังสือกู้สำหรับเงินกู้สามัญเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกอันเนื่องมาจากอุทกภัย อีกทั้งโจทก์ทั้งหกได้ทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ มีสิทธิหักเงินเดือน หรือค่าจ้าง หรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่
สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งแก่จำเลยที่ ๒ จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป
ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ วรรคแรก และสัญญาว่าจะไม่ยกเลิก
หรือเพิกถอนหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าว จนกว่าสหกรณ์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป ซึ่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ กำหนดหลักเกณฑ์ที่สหกรณ์จะมีสิทธิแจ้งผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างในสถานประกอบการหรือหน่วยงานอื่นใดที่สมาชิกของสหกรณ์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ให้หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายแก่สมาชิกผู้นั้น
เพื่อนำมาชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่สมาชิกผู้นั้นมีต่อสหกรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อสหกรณ์ให้สมาชิกผู้นั้น
ทำความยินยอมเป็นหนังสือไว้กับสหกรณ์ และเมื่อได้รับแจ้งจากสหกรณ์แล้วให้หน่วยงานนั้นหักเงิน
และส่งเงินที่หักไว้ให้แก่สหกรณ์โดยพลัน ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทั้งหกทำหนังสือยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใด โดยมีข้อความว่า โจทก์ทั้งหกยินยอมให้จำเลยที่ ๒ หักเงินเดือน
หรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งแก่จำเลยที่ ๒ จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้น
จะระงับสิ้นไป ดังนั้น เมื่อสหกรณ์แจ้งจำนวนยอดหนี้ที่โจทก์ทั้งหกแต่ละคนยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ
แก่สหกรณ์ให้จำเลยที่ ๒ ทราบ จำเลยที่ ๒ ย่อมสามารถนำเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ ๒ เมื่อถูกเลิกจ้างส่งให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้
ที่โจทก์ทั้งหกมีต่อสหกรณ์ อันเป็นการทำตามข้อตกลงยินยอมของโจทก์ทั้งหก ชอบด้วยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๒/๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งหกตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งหกนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒
ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นของเงินเพิ่มและดอกเบี้ย เพราะไม่ทำให้ผล
แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งหก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
(พนารัตน์ คิดจิตต์ – วรศักดิ์ จันทร์คีรี – ฤทธิรงค์ สมอุดร)
ภัทรวรรณ ทรงกำพล - ย่อ
เกริกเกียรติ พุทธสถิตย์ - ตรวจ