คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2841/2566 นายยาสปาล ซิงค์ โจทก์
บริษัทอินโดไทยซินเทติคซ์ จำกัด จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 150, 850
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕, ๑๑๘
เงินประจำตำแหน่งหรือเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ
ให้ลูกจ้างที่เป็นชาวต่างชาติเป็นประจำทุกเดือนในอัตราที่เท่ากัน เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทน
ในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาในการทำงานปกติจึงเป็นค่าจ้าง
ค่าตอบแทนพิเศษหรือค่าตอบแทนการทำงานเป็นระยะเวลานานเป็นการจ่ายให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ ลาออก หรือโอนย้าย ทั้งกำหนดวิธีการคำนวณไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากการจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ อย่างชัดเจน ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย
ข้อตกลงที่ลูกจ้างสละสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนพิเศษหรือค่าตอบแทนการทำงาน
เป็นระยะเวลานานและเงินโบนัสจากนายจ้าง ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
ทั้งไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลใช้บังคับและผูกพันลูกจ้าง ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนพิเศษหรือค่าตอบแทนการทำงานเป็นระยะเวลานานและเงินโบนัสจากนายจ้างได้
ส่วนค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นเป็นเงินตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงสละสิทธิเงินดังกล่าวไม่ได้ ข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องเฉพาะในส่วนของค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ ไม่มีผลใช้บังคับและผูกพันนายจ้าง ลูกจ้างจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากนายจ้างได้
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินโบนัส ๓,๘๔๗,๔๓๙.๗๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ค่าชดเชย ๖,๒๐๕,๕๔๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ค่าภาษีอากรที่จำเลยหักไว้
๑,๑๔๐,๖๗๗.๒๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง
เป็นต้นไป ค่าตอบแทนพิเศษ ๙,๒๖๙,๕๙๔.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑,๐๘๗,๗๑๑.๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์เสียสิทธิไป ๖๒๐,๕๕๔.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว
นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จ่ายค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ๙,๕๑๐,๐๓๔.๑๐ บาท พร้อมภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกิดขึ้นในอนาคตตามคำพิพากษา และค่าเสียหาย ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีกรรมการและวัตถุประสงค์ตามหนังสือรับรอง จำเลยอยู่ในเครือบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า รวมทั้งบริษัทที่จดทะเบียน ณ ประเทศอินโดนีเซีย คือ บริษัทพีที เอเลแกนท์ เท็กซ์ไทลส์ อินดัสตรี้ บริษัทพีที อินโด ลิเบอร์ตี้ เท็กซ์ไทลส์ และบริษัทพีที ซันไรซ์ บูมี เท็กซ์ไทลส์ บริษัทที่จดทะเบียน ณ ประเทศอินเดีย คือ บริษัทอิสเทิร์น สปินนิ่งมิลล์ส ในปี ๒๕๓๙ โจทก์ทำงาน
กับบริษัทอิสเทิร์น สปินนิ่งมิลล์ส ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิต วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๓ ถึงปี ๒๕๔๘ โจทก์ทำงานกับบริษัทพีที เอเลแกนท์ เท็กซ์ไทลส์ อินดัสตรี้ ปี ๒๕๔๙ ถึงปี ๒๕๕๓ โจทก์ทำงาน
กับบริษัทพีที ซันไรซ์บูมี เท็กซ์ไทลส์ ปี ๒๕๕๔ ถึงปี ๒๕๕๗ โจทก์ทำงานกับบริษัทพีที อินโด ลิเบอร์ตี้ เท็กซ์ไทลส์ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐ โจทก์ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งประธานร่วม วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๖๑ โจทก์ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นประธานบริษัท และวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ โจทก์เกษียณอายุ
เอกสารการรับเงินมีข้อความแปลเป็นภาษาไทยว่า ข้าพเจ้าได้รับเงินเต็มจำนวนและเงินจำนวนสุดท้ายตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิได้รับ ข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องเงินใด ๆ จากการทำงานของข้าพเจ้าจนถึงวันที่
๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ อีกในอนาคต และในการเกษียณอายุของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้รับเงินเต็มจำนวน
และเงินจำนวนสุดท้ายตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิได้รับ ข้าพเจ้าจะไม่เรียกร้องเงินใด ๆ จากการทำงาน
ของข้าพเจ้าจนถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ อีกในอนาคต เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยอีก
เงินประจำตำแหน่งเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ ถือเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ส่วนค่าเช่าบ้าน ๒,๖๐๐ บาท จำเลยจ่ายให้โจทก์เพื่อเป็นสวัสดิการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ ค่าเช่าบ้านไม่ใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ โจทก์จึงได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๒,๘๕๖ ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนโจทก์มาทำงาน
กับจำเลย โจทก์ทำงานกับบริษัทในเครือบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เมื่อโจทก์โอนมาทำงานกับจำเลย
ตามความต้องการของนายจ้างเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๗ วรรคหนึ่ง โจทก์มีสิทธินับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง ค่าตอบแทนพิเศษหรือค่าตอบแทนการทำงานเป็นระยะเวลานานมีวัตถุประสงค์จ่ายให้ลูกจ้างที่สัญญาจ้าง
สิ้นสุดลงไม่ว่าเกษียณ ลาออกหรือโอนย้าย การคิดคำนวณต่างจากค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงไม่ใช่ค่าชดเชย จำเลยแก้ไขวิธีการคำนวณเงินตอบแทนพิเศษ
ทำให้โจทก์ได้รับค่าตอบแทนพิเศษน้อยลงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง แต่โจทก์ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทไม่โต้แย้งคัดค้านเป็นการยินยอมให้จำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยปริยาย
โจทก์เป็นลูกจ้างระดับผู้บริหารจะได้รับเงินโบนัสต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จำเลยได้จ่ายเงินโบนัสประจำปี ๒๕๖๐ ถึงปี ๒๕๖๒ ให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนปี ๒๕๖๓ จำเลยไม่มีผลกำไร เมื่อโจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสจากจำเลยอีก
การแก้ไขวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากปีละ ๔๐ วัน เป็น ๓๐ วัน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
แต่โจทก์ดำรงตำแหน่งระดับสูงในบริษัทจำเลย โจทก์ย่อมทราบการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวมาโดยตลอด แต่โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน เป็นการยอมรับโดยปริยาย จึงสามารถใช้บังคับได้
จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๘๒ วัน โดยไม่นำเงินประจำตำแหน่งหรือค่าตอบแทนพิเศษมาเป็นฐานในการคำนวณเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อโจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจเรียกร้องเงินส่วนต่างดังกล่าวจากจำเลยได้อีก หนังสือแต่งตั้งโจทก์ระบุว่า ค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยทั้งหมดอยู่ภายใต้การชำระภาษีเงินได้ตามกฎหมายไทย จำเลยไม่มีหน้าที่ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนโจทก์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่มีกฎหมายให้สิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องจากจำเลยได้
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น
หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ
ตามพระราชบัญญัตินี้” โดยนายจรูญศักดิ์ เบิกความว่า ตามเอกสารเป็นค่าเช่าบ้านเดือนละ ๒,๖๐๐ บาท
ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกเดือน โจทก์พักอาศัยอยู่บ้านพักภายในโรงงานของจำเลย เงินค่าเช่าบ้านดังกล่าวโจทก์ไม่ได้จ่ายให้แก่ผู้ใด เมื่อจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นจำนวนแน่นอนเท่ากันทุกเดือนโดยระบุว่า
เป็นค่าเช่าบ้าน (House Rent Allowance) แต่แท้จริงเงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าเช่าบ้าน เนื่องจากโจทก์
อาศัยอยู่บ้านพักบริเวณโรงงานของจำเลยซึ่งเป็นสวัสดิการที่จำเลยมอบให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้นำเงิน ๒,๖๐๐ บาท ไปจ่ายให้แก่ผู้ให้เช่าหรือผู้ใด เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์
เป็นจำนวนแน่นอนเท่ากันทุกเดือนเป็นค่าตอบแทนในการทำงานแก่โจทก์ จึงเป็นค่าจ้างนั้น อุทธรณ์
ของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๑ ซึ่งฟังข้อเท็จจริงว่า เงิน ๒,๖๐๐ บาท จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนเพื่อเป็นสวัสดิการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สาเหตุที่โจทก์ไม่อาจโต้แย้งคัดค้านว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากปีละ ๔๐ วัน เป็น ๓๐ วัน เนื่องจากโจทก์เหลือระยะเวลา
การทำงานอีกไม่กี่ปีจะเกษียณอายุ หากโจทก์โต้แย้งคัดค้านเรื่องดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานนั้น เมื่อศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า การแก้ไขวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากปีละ ๔๐ วัน เป็น ๓๐ วัน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง แต่โจทก์ดำรงตำแหน่งระดับสูงในบริษัทจำเลย โจทก์ย่อมทราบการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวมาโดยตลอด แต่โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน
เป็นการยอมรับโดยปริยาย จึงสามารถใช้บังคับได้ อุทธรณ์โจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจ
ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๑ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกก่อนว่า เงินประจำตำแหน่ง
หรือเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทน
ในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์
รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติ
ของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้าง
มิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้” เมื่อศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า
เงินประจำตำแหน่งหรือเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษ จำเลยจ่ายเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้โจทก์ที่เป็นชาวต่างชาติเป็นประจำทุกเดือนในอัตราที่เท่ากัน เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ ดังนั้น เงินประจำตำแหน่งหรือเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษที่จำเลยจ่ายให้โจทก์จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยว่า เงินประจำตำแหน่งหรือเงินเบี้ยเลี้ยงพิเศษต้องนำไปรวมคำนวณเป็นค่าจ้างอัตราสุดท้าย
จึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า ค่าตอบแทนพิเศษ
หรือค่าตอบแทนการทำงานเป็นระยะเวลานาน (Long Service Recognition) เป็นค่าชดเชยหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้นายจ้าง
จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง... โดยกำหนดการคำนวณไว้ตาม (๑) ถึง (๖) แต่ค่าตอบแทนพิเศษ
หรือค่าตอบแทนการทำงานเป็นระยะเวลานาน (Long Service Recognition) เป็นการจ่ายตามนโยบายของเครือบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า ให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ ลาออก หรือโอนย้าย ทั้งกำหนด
วิธีการคำนวณไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากการจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
มาตรา ๑๑๘ อย่างชัดเจน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ข้อความในเอกสารการรับเงิน
เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ที่มีผลใช้บังคับได้อันจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย เงินโบนัส ค่าเสียหาย และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่โจทก์พึงได้รับจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า เอกสารการรับเงินจัดทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่โจทก์ลงลายมือชื่อ
ในเอกสารดังกล่าวในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ โจทก์ทราบดีว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดในวันดังกล่าว
ด้วยเหตุเกษียณอายุครบ ๖๐ ปี โจทก์ทำงานในตำแหน่งประธานบริษัทซึ่งเป็นผู้บริหารมีอำนาจตัดสินใจได้โดยไม่ต้องเกรงกลัวหรือถูกบังคับให้ลงลายมือชื่อ โจทก์สามารถเลือกได้ว่ายินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่ตกลงยอมรับ แล้วไปใช้สิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนพิเศษหรือค่าตอบแทนการทำงานเป็นระยะเวลานานและเงินโบนัสซึ่งไม่ใช่เงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานจากจำเลยในภายหลังได้ ข้อความแปล
เป็นภาษาไทยระบุว่า โจทก์สละสิทธิไม่เรียกร้องเงินใด ๆ จากการทำงานของโจทก์จนถึงวันที่
๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ อีกในอนาคตนั้น ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
ทั้งไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ ข้อตกลงดังกล่าว
มีผลใช้บังคับและผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนพิเศษหรือค่าตอบแทนการทำงานเป็นระยะเวลานานและเงินโบนัสจากจำเลยได้ แต่ส่วนค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นเป็นเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วย
ความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงสละสิทธิเงินดังกล่าวไม่ได้ ข้อตกลง
สละสิทธิเรียกร้องเฉพาะในส่วนของค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามเอกสาร
การรับเงิน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องเฉพาะเงินดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับและผูกพันโจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค ๑ รับฟังมาเพียงพอที่จะให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยถึงค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปได้ จึงเห็นควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ในส่วนของค่าชดเชยนั้น เมื่อศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๒,๘๕๖ ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี ๒๕๓๙ โจทก์เริ่มทำงานกับบริษัทอิสเทิร์น สปินนิ่งมิลล์ส ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนอยู่ในประเทศอินเดีย วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๓ ถึงปี ๒๕๔๘ โจทก์ทำงานกับบริษัทพีที เอเลแกนท์ เท็กซ์ไทลส์ อินดัสตรี้
ปี ๒๕๔๙ ถึงปี ๒๕๕๓ โจทก์ทำงานกับบริษัทพีที ซันไรซ์ บูมี เท็กซ์ไทลส์ ปี ๒๕๕๔ ถึงปี ๒๕๕๗
โจทก์ทำงานกับบริษัทพีที อินโด ลิเบอร์ตี้ เท็กซ์ไทลส์ โดยทั้ง ๓ บริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียน
อยู่ในประเทศอินโดนีเซีย และทั้ง ๔ บริษัทอยู่ในเครือบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า ต่อมาวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐ โจทก์ทำงานกับจำเลย และวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ โจทก์เกษียณอายุซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘/๑ วรรคหนึ่ง แต่ศาลแรงงานภาค ๑ กลับวินิจฉัยโดยนับอายุงานตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ จึงไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์ยินยอมที่จะโอนย้ายมาทำงาน
กับจำเลยด้วยความสมัครใจตามความต้องการของนายจ้าง โจทก์มีสิทธินำระยะเวลาการทำงานเดิม
ที่โจทก์เคยทำงานกับทั้ง ๔ บริษัทมานับต่อเนื่องกับระยะเวลาการทำงานกับจำเลยในประเทศไทย
รวมเป็น ๒๓ ปีเศษ โจทก์จึงทำงานติดต่อกันครบ ๒๐ ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๔๐๐ วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ (6) เป็นเงิน 171,412 ดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนดอกเบี้ยของค่าชดเชยนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยทันทีเมื่อเลิกจ้าง ซึ่งเป็นผลตามกฎหมายอันเกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับ
ให้จำเลยชำระหนี้ทันที เมื่อได้ความว่าจำเลยไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทันทีเมื่อเลิกจ้าง จำเลย
จึงผิดนัดนับแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์เกษียณอายุ แต่โจทก์มีคำขอให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จึงเห็นควรกำหนดให้ตามขอ ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เมื่อศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเวลา ๘๒ วัน โดยไม่นำเงินประจำตำแหน่งหรือค่าตอบแทนพิเศษมาเป็นฐานในการคำนวณเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเวลา ๘๒ วัน โดยคิดคำนวณจากฐานค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๒,๘๕๖ ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงิน ๓๕,๑๓๙ ดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งถือเป็นค่าจ้างอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๐ วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างภายใน ๓ วัน นับแต่วันที่เลิกจ้าง เมื่อโจทก์เกษียณอายุซึ่งถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยให้มีผลในวันที่
3๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีภายในวันที่
๒ กันยายน ๒๕๖๓ เป็นต้นไป เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงผิดนัดนับถัดจากวันดังกล่าว แต่โจทก์มีคำขอให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จึงกำหนดให้ตามขอ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การคิดคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินบาทให้ใช้อัตราใด เห็นว่า แม้ตามคู่มือนโยบายทรัพยากรบุคคลสำหรับลูกจ้างชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย ของบริษัทในเครือบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า จะระบุ
ในเรื่องความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ว่า เงินเดือนของลูกจ้างชาวต่างชาติที่ทำงานในต่างประเทศทุกคนจะกำหนดเป็นเงินบาทที่อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๓๖ บาท อัตรานี้จะคงที่เป็นระยะเวลา ๒ ปี หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาใหม่ในอนาคต ในเวลาที่คำนวณค่าตอบแทนตามนโยบายการโยกย้ายจะใช้อัตราเดียวกันนี้ เมื่อจำเลยไม่ให้การปฏิเสธว่า
ไม่ต้องจ่ายเงินโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวและไม่ปรากฏว่าจำเลยแก้ไขอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอัตราเท่าใด จึงต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามคู่มือนโยบายทรัพยากรบุคคลสำหรับลูกจ้างชาวต่างชาติที่ทำงาน
ในประเทศไทย ตามที่โจทก์ขอ เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นสกุลเงินบาท โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ คิดอัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๓๖ บาทจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย 171,412 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงิน ๖,๑๗๐,๘๓๒ บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๓๕,๑๓๙ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงิน ๑,๒๖๕,๐๐๔ บาท แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพียง ๑,๐๘๗,๗๑๑.๔๐ บาท จึงกำหนดให้ตามขอ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงการคิดคำนวณค่าตอบแทนพิเศษหรือค่าตอบแทนสำหรับ
การทำงานเป็นระยะเวลานาน ทำให้โจทก์เสียสิทธิประโยชน์ และโจทก์ต้องได้เงินโบนัส ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้วว่า
โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าตอบแทนพิเศษหรือค่าตอบแทนการทำงานเป็นระยะเวลานานและเงินโบนัสจากจำเลยได้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้
ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕
วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๖,๑๗๐,๘๓๒ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑,๐๘๗,๗๑๑.๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง
(ฟ้องวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม
คำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๑.
(ชนกพรรณ บุญสม – สุรพงษ์ ชิดเชื้อ – นงนภา จันทรศักดิ์ ลิ่มไพบูลย์)
กิตติ เนตรประเสริฐชัย - ย่อ
อิสรา วรรณสวาท - ตรวจ