คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1869/2565 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์
นางสาวกมลชนก มูลตรีภักดี
หรือนางณัฐวดี ศรีนิล จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๓, ๔๐๗, ๔๒๕, ๔๒๖, ๔๔๒
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้กำหนดประเด็นให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริง
และวินิจฉัยด้วยว่า การเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาของโจทก์และการรถไฟแห่งประเทศไทย
เป็นการไม่ถูกต้องและมีส่วนผิดด้วยหรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า การรถไฟ
แห่งประเทศไทยและโจทก์มีส่วนกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๒ ประกอบมาตรา ๒๒๓ แล้วกำหนดให้จำเลยรับผิดตามสัดส่วน
เพียงสามส่วนในห้าส่วนของค่าเสียหาย จึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่อยู่ในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ อันเป็นการชอบ
ด้วยกฎหมายแล้ว
จำเลยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบในการปฏิบัติงาน รับเช็คชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม
ของการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้แล้วในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ แต่จำเลยกลับไม่ลงรายการ
ในระบบอินเทอร์เน็ตในวันดังกล่าวเนื่องจากเข้าใจผิดหลงว่าเป็นรายการที่ฝากไว้เพื่อทำรายการ
ในวันทำการถัดไป เมื่อจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ ปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบเป็นเหตุให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับความเสียหายต้องชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น
โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๕ การที่โจทก์ยินยอมจ่ายเงิน ๒๘๓,๓๑๗.๙๕ บาท เท่ากับจำนวนเงินที่การรถไฟแห่งประเทศไทยถูกกรมสรรพากรหักออกจากเงินจ่ายคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมิใช่เป็นการชำระเงินตามอำเภอใจโดยที่ตนไม่มีหน้าที่
ตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๐๗ แต่ประการใด และการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ
ขาดความรอบคอบในการปฏิบัติงานของจำเลยดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้ชดใช้ค่าเสียหาย
แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว ก็ชอบที่จะได้ชดใช้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา ๔๒๖
_____________________________
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ ๒๙๑,๙๙๒.๑๔ บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๘๓,๓๑๗.๙๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกนายเชิง และนายนรากร เข้าเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ๒๙๑,๙๙๒.๑๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๘๓,๓๑๗.๙๕ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนในส่วนคำสั่งยกคำร้องขอออกหมายเรียกเข้ามาเป็น
จำเลยร่วมของจำเลย และยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริง
และวินิจฉัยตามคำฟ้อง คำให้การ และประเด็นข้อพิพาทอย่างครบถ้วน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๑๖๙,๙๙๐.๗๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๒ จนถึงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๔
และอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี หรืออัตราที่อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๗ นับแต่วันที่
๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ตามที่โจทก์ขอ และดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๘,๖๗๔.๑๙ บาท ตามที่โจทก์ขอ
คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
จำเลย (ที่ถูก โจทก์) เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘
จำเลย (ที่ถูก โจทก์) จ้างโจทก์ (ที่ถูก จำเลย) เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นซุปเปอร์ไวเซอร์
บริการลูกค้าสาขากรุงเกษม เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นายวิชาญ เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เข้ามาขอใช้บริการที่สาขากรุงเกษมโดยฝากเอกสารหลายฉบับวางไว้กับจำเลย เช้าวันจันทร์ที่
๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ จำเลยพบว่ามีรายการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ที่ยังไม่ได้ทำรายการ จึงแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทราบ การรถไฟแห่งประเทศไทยติดต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรแล้ว ได้รับแจ้งว่าเป็นการชำระภาษีล่าช้าต้องรับผิดเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ต่อมากรมสรรพากรเรียกเก็บเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ๒๘๓,๓๑๗.๙๕ บาท โดยหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินภาษี
ที่กรมสรรพากรต้องชำระคืนแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมีหนังสือทวงถาม
ให้โจทก์ชำระหนี้ โจทก์อนุมัติจ่ายเงินเพิ่มและเบี้ยปรับให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อมาจำเลยลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ โดยจำเลยยอมลงลายมือชื่อในหนังสือยอมรับสารภาพผิดลงวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๒ แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยรับเช็คชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม
ของการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้แล้วในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ แต่ไม่ลงรายการในระบบอินเทอร์เน็ตในวันดังกล่าวเนื่องจากเข้าใจผิดหลงว่าเป็นรายการที่ฝากไว้เพื่อทำรายการในวันถัดไป จึงเป็นความประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบในการปฏิบัติงานของจำเลย แม้การรถไฟแห่งประเทศไทยนำแบบชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.๓๐ พร้อมเช็คเลขที่ ๑๐๐๙๐๐๓๖ จำนวน ๕,๑๕๑,๒๓๕ บาท ยื่นต่อโจทก์เพื่อชำระให้แก่กรมสรรพากร
ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ แต่จำเลยมิได้นำเช็คเข้าระบบบัญชีของกรมสรรพากรในวันดังกล่าว
ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ต้องนำเช็คเข้าระบบ จึงไม่อาจถือได้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
แก่กรมสรรพากรแล้วในวันดังกล่าว เนื่องจากการชำระหนี้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อกรมสรรพากรได้รับเงิน
ตามเช็คครบถ้วนแล้วเท่านั้น การที่กรมสรรพากรไม่เปิดให้โจทก์นำเช็คเข้าระบบในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ไม่ถือเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงถือว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยชำระภาษีล่าช้าต้องรับผิดในเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ แต่คดีนี้โจทก์มีหนี้ที่ผูกพันต้องชำระแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยจากความประมาทเลินเล่อปฏิบัติผิดพลาดของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ การที่โจทก์ชำระเงินเพิ่ม
และเบี้ยปรับแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงไม่ใช่การชำระหนี้ตามอำเภอใจ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ การที่จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือยอมรับสารภาพผิดที่ระบุว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ๒๘๓,๓๑๗.๙๕ บาท จำเลยอ่านข้อความจนครบถ้วนแล้วลงลายมือชื่อไว้โดยไม่ถูกบังคับขู่เข็ญ จึงมิใช่การสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม หนังสือยอมรับสารภาพผิดดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันจำเลยไม่ตกเป็นโมฆะ แต่การที่นายวิชาญเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยนำเช็คสำหรับชำระภาษี
แก่กรมสรรพากรและเอกสารอื่น ๆ ที่ต้องการทำธุรกรรมทั้งหมดยื่นให้จำเลย โดยไม่ได้กลับเข้ามาตรวจสอบว่าจำเลยทำธุรกรรมครบถ้วนหรือไม่และไม่รับสำเนาใบเสร็จจากจำเลย และการที่โจทก์ปล่อยปละละเลยยินยอมให้ลูกค้าฝากเอกสารไว้ที่พนักงานโดยไม่รอทำธุรกรรมตามคิวปกติจนเกิดความผิดพลาด
ในการทำงาน ถือว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยและโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย เมื่อพิจารณาความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดของจำเลย ความผิดของโจทก์ และการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยรับผิดสามส่วนในห้าส่วนจากค่าเสียหาย ๒๘๓,๓๑๗.๙๕ บาท เป็นเงิน ๑๖๙,๙๙๐.๗๗ บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ ๒.๑ ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีนอกเหนือไปจากประเด็นที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้กำหนดประเด็น
ให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยด้วยว่า การเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาของโจทก์
และการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นการไม่ถูกต้องและมีส่วนผิดด้วยหรือไม่ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลาง
ได้วินิจฉัยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยและโจทก์มีส่วนกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิด
ความเสียหายด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๒ ประกอบมาตรา ๒๒๓
แล้วกำหนดให้จำเลยรับผิดตามสัดส่วนเพียงสามส่วนในห้าส่วนของค่าเสียหาย จึงเป็นการวินิจฉัย
คดีที่อยู่ในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ อันเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ ๒.๑ ข้อ ๒.๒ ข้อ ๒.๓ ข้อ ๓.๑ ข้อ ๓.๒ ข้อ ๓.๓ และข้อ ๕ ว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า จำเลยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบในการปฏิบัติงาน รับเช็คชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มของการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้แล้วในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ แต่จำเลยกลับไม่ลงรายการในระบบอินเทอร์เน็ตในวันดังกล่าวเนื่องจากเข้าใจผิดหลงว่าเป็นรายการที่ฝากไว้เพื่อทำรายการในวันทำการถัดไป เมื่อจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ ปฏิบัติงานโดยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบเป็นเหตุให้
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับความเสียหายต้องชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๕
การที่โจทก์ยินยอมจ่ายเงิน ๒๘๓,๓๑๗.๙๕ บาท เท่ากับจำนวนเงินที่การรถไฟแห่งประเทศไทย
ถูกกรมสรรพากรหักออกจากเงินจ่ายคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมิใช่เป็นการชำระเงินตามอำเภอใจ
โดยที่ตนไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๗ แต่ประการใด
และการกระทำโดยประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบในการปฏิบัติงานของจำเลยดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว ก็ชอบที่จะได้ชดใช้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๖
พิพากษายืน.
(ปณิธาน วิสุทธากร - วิโรจน์ ตุลาพันธุ์ - ไพรัช โปร่งแสง)
มนุเชษฐ์ โรจนศิริบุตร - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ