คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1798/2560     บริษัทเอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด     โจทก์

                                                                         นางสาวพิมพ์สุชา  เกตุสินธุ์

                                                                         กับพวก                                จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 149, 193/14 (1), 193/30, 350, 680 วรรคหนึ่ง

 

          แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า เอกสารระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งผู้ที่จะรับสภาพหนี้ได้มีเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นตามมาตรา 193/14 (1) การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ แต่ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่าเอกสารระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ ตามเอกสารดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงกับโจทก์ว่ายินยอมที่จะร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ แม้ตามเอกสารดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิมและไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของจำเลยที่ 1 ระงับไป มิใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 หนี้เดิมจึงไม่ระงับ และเมื่อไม่ได้ตกลงกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะผูกพันตนต่อโจทก์เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไม่ชำระ จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามมาตรา 680 วรรคหนึ่ง แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงเข้าร่วมมาเป็นลูกหนี้ร่วมเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามมาตรา 149 มีผลผูกพันให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งหนี้ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

______________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน ๓,๓๑๕,๒๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ ๑ ขาดนัด

          จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การขอให้ยกฟ้อง

          ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับกันว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้กับโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้

          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน ๓,๓๑๕,๒๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒,๙๘๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๙) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ปลอมเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับพนักงานส่งเสริมการขายชั่วคราวรวม ๒๖ ครั้ง และจำเลยที่ ๑ ได้เงินไปจากโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และได้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดชำระหนี้ ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์ว่า หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ใช่สัญญาชนิดหนึ่งที่จะก่อให้เกิดหนี้ใหม่นอกเหนือไปจากมูลหนี้เดิมที่ได้รับสภาพหนี้ไว้ ไม่เป็นผลทำให้หนี้มูลละเมิดเดิมสิ้นผลลง จึงต้องใช้อายุความ ๑ ปี และก็ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกัน เมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ได้เป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่เป็นผู้ก่อให้เกิดหนี้และต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ แม้จะลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ก็ไม่มีผลบังคับแก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้นั้น เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งผู้ที่จะรับสภาพหนี้ได้มีเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๔ (๑) ดังนั้นการที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ก็ตาม แต่ศาลก็มีอำนาจวินิจฉัยว่า เอกสารระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามเป็นสัญญาประเภทใดตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ เมื่อพิเคราะห์แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตกลงกับโจทก์ว่า เพื่อเป็นการยืนยันถึงความเป็นหนี้และยินยอมที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไข ในการนี้จำเลยที่ ๑ ได้นำจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เข้าร่วมมาเป็นลูกหนี้ร่วมเพื่อชำระด้วย ซึ่งบุคคลทั้งสองตกลงและยินยอมที่จะร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ทุกประการ และจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ลงลายมือชื่อไว้ แม้ตามข้อตกลงดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิมและไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้หนี้ของจำเลยที่ ๑ ระงับไป มิใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๕๐ หนี้เดิมจึงไม่ระงับ และเมื่อไม่ได้ตกลงกันว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะผูกพันตนต่อโจทก์เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ ๑ ลูกหนี้ไม่ชำระ จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามมาตรา ๖๘๐ วรรคหนึ่ง ตามที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์ก็ตาม แต่ถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตกลงเข้าร่วมมาเป็นลูกหนี้ร่วมเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามมาตรา ๑๔๙ มีผลผูกพันให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งหนี้ตามสัญญาดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐ และนับแต่วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันที่หนี้ถึงกำหนดชำระในงวดแรกแล้วจำเลยทั้งสามไม่ชำระ เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๙ แล้วยังไม่เกิน ๑๐ ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยกขึ้นอ้างมาในอุทธรณ์นั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน.

 

(รุ่งโรจน์  รื่นเริงวงศ์ – เฉลิมพงศ์  ขันตี – สมเกียรติ  คูวัธนไพศาล)

 

กิตติ  เนตรประเสริฐชัย - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ