คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1796/2560   นายมงคล  แป้นไทย                   โจทก์

                                                                         นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร สีวลี

                                                                         รังสิต 1                                จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4 วรรคสอง, 6, 9 วรรคหนึ่ง

 

          การพิจารณาว่าจำเลยประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจอันจะเข้าข้อยกเว้นมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 5 ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2541) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ จำต้องคำนึงถึงลักษณะการประกอบกิจการแท้จริงและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกิจการที่ระบุในข้อบังคับประกอบด้วย ตามข้อบังคับของจำเลยกล่าวถึงรายได้ในข้อ 3 ว่า หมายถึงเงินที่ได้รับจากสมาชิกเป็นค่าสาธารณูปโภค รวมถึงรายได้อื่น ๆ ที่เกิดจากการลงทุน การเก็บเงินค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่าง ๆ เงินบริจาคและหรือเงินที่ได้รับจากการสนับสนุนจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ และยังกล่าวถึงการลงทุนในข้อ 19 ว่า การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินของหมู่บ้านที่ได้มาจากสมาชิกและเงินรายได้ของนิติบุคคลจะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการโดยมีมติ 2 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมดเพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้ (1) เพื่อการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก นอกจากนั้น ข้อบังคับของจำเลยได้กล่าวถึงผลกำไรไว้ในข้อ 21 ว่า ในกรณีนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีรายได้จากการจัดเก็บค่าสาธารณูปโภคส่วนกลางหรือรายได้อื่น ๆ ก็ตาม หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วในแต่ละปีที่มีกำไร ให้นำไปฝากเข้าเป็นเงินกองทุนสำรองของหมู่บ้านต่อไปตามความจำเป็น และยังกล่าวถึงการเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไว้ในข้อ 40 (3) ว่า ทรัพย์สินอื่นให้จัดแบ่งแก่สมาชิกของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภค จะเห็นได้ว่าทรัพย์สินอื่นนั้นย่อมหมายถึงผลกำไรจากการลงทุนด้วย กิจการของจำเลยจึงเข้าข่ายเป็นกิจการที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจและอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

          พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันว่าลูกจ้างจะไม่เรียกร้องค่าจ้างและค่าตอบแทนการทำงานอีกต่อไปทั้งที่มีสิทธิตามกฎหมาย ข้อตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ เว้นแต่เป็นกรณีที่ลูกจ้างสมัครใจทำข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวในขณะที่ลูกจ้างพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของนายจ้างและมีอิสระที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของตนเองได้เพราะพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างไปแล้วหรือถ้าหากลูกจ้างยังคงมีสภาพการเป็นลูกจ้างของนายจ้างอยู่ แต่ลูกจ้างมีอิสระที่จะตัดสินใจได้โดยไม่อยู่ในภาวะที่จะต้องเกรงกลัวนายจ้างหรือถูกบีบบังคับให้รับเงินต่าง ๆ ตามที่นายจ้างเสนอหรือเป็นการทำข้อตกลงกันต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานโดยสมัครใจเช่นนี้ ข้อตกลงอันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ หาได้ขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ กรณีจึงบังคับได้ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ ตามบันทึกลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ระบุว่า โจทก์ขอลาออกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 อันเป็นเวลาภายหลังวันทำบันทึกดังกล่าวถึง 2 เดือน ทั้งเป็นการทำบันทึกในขณะที่โจทก์ยังเป็นลูกจ้างและอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของจำเลย จึงไม่อาจเชื่อได้ว่าขณะทำบันทึกโจทก์อยู่ในภาวะที่มีอิสระในการตัดสินใจและไม่ต้องเกรงกลัวจำเลยหรือไม่ถูกบีบบังคับให้รับเงินตามที่จำเลยเสนอ ดังนั้น การทำบันทึกสละสิทธิเรียกร้องในเงินที่โจทก์พึงได้รับตามกฎหมายโดยไม่สมัครใจอันเป็นการทำข้อตกลงที่ขัดต่อ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้าง ค่าทำงานและค่าตอบแทนการทำงานจากจำเลยได้

          พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนหลักประกันที่เป็นเงินตามมาตรา 10 วรรคสอง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 หรือค่าชดเชยตามมาตรา 118 ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 มาตรา 121 มาตรา 122 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในหนี้ค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงมิอาจนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้

______________________________

 

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง ๑๐๙,๖๒๐ บาท ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี ๑๑,๗๐๐ บาท และค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ๔๙,๐๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทนการทำงาน ๘๑,๗๒๐ บาท ค่าทำงานและค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดตามประเพณี ๑๑,๗๐๐ บาท ค่าทำงานและค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ ๔๙,๐๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจอันเข้าข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๔ วรรคสอง และมาตรา ๖ ที่ห้ามมิให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแก่นายจ้างประเภทหนึ่งประเภทใดตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดไว้หรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าจำเลยประกอบกิจการที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจอันจะเข้าข้อยกเว้นมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด ๕ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ตามกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือไม่ จำต้องคำนึงถึงลักษณะการประกอบกิจการแท้จริงและวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกิจการที่ระบุในข้อบังคับประกอบด้วย ดังนั้นการที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยนำข้อบังคับของจำเลยมาประกอบในการพิจารณาจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ได้ความตามข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร สีวลี รังสิต ๑ อันเป็นข้อบังคับของจำเลยได้กล่าวถึงรายได้ในข้อบังคับข้อ ๓ ว่า หมายถึงเงินที่ได้รับจากสมาชิกเป็นค่าสาธารณูปโภค รวมถึงรายได้อื่น ๆ ที่เกิดจากการลงทุน การเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่าง ๆ เงินบริจาคและหรือเงินที่ได้รับจากการสนับสนุนจากองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ และยังกล่าวถึงการลงทุนในข้อบังคับหมวดที่ ๔ การบริหารการคลัง การดำเนินงานการบัญชี และการเงินในข้อ ๑๙ ว่า การอนุมัติการเบิกจ่ายเงินของหมู่บ้านที่ได้มาจากสมาชิกและเงินรายได้ของนิติบุคคลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโดยมีมติ ๒ ใน ๓ (สองในสาม) ของคณะกรรมการทั้งหมดเพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้ (๑) เพื่อการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก นอกจากนั้น ข้อบังคับของจำเลยได้กล่าวถึงผลกำไรไว้ในข้อ ๒๑ ว่า ในกรณีนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีรายได้จากการจัดเก็บค่าสาธารณูปโภคส่วนกลาง หรือรายได้อื่น ๆ ก็ตาม หลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้วในแต่ละปีที่มีกำไร ให้นำไปฝากเข้าเป็นเงินกองทุนสำรองของหมู่บ้านต่อไปตามความจำเป็น และข้อบังคับของจำเลยยังกล่าวถึงการเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรไว้ในข้อ ๔๐ (๓) ว่า ทรัพย์สินอื่นให้จัดแบ่งแก่สมาชิกของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและจัดการสาธารณูปโภค จะเห็นได้ว่าทรัพย์สินอื่นนั้นย่อมหมายถึงผลกำไรจากการลงทุนด้วย กิจการของจำเลยจึงเข้าข่ายเป็นกิจการที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจและอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับยกเว้นการเก็บภาษีค่าโอนที่ดินสาธารณูปโภค ซึ่งกฎหมายได้กำหนดประกาศยกเว้นไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ ๓๗๘ พ.ศ. ๒๕๔๔ ก็เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยจำเลยมิได้มีหลักฐานมาแสดง ทั้งลำพังการได้รับยกเว้นรัษฎากรก็ไม่อาจฟังเป็นยุติว่ากิจการของจำเลยมิใช่กิจการที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจแต่ประการใดไม่ เพราะการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยเป็นสำคัญ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๔๓๙๙-๑๔๔๐๑/๒๕๕๓ ซึ่งจำเลยอ้างถึงในอุทธรณ์จำเลยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า การที่โจทก์ทำบันทึกขอลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย โดยมีข้อความระบุด้วยว่าในการลาออกครั้งนี้เป็นการลาออกด้วยความสมัครใจของโจทก์พร้อมกับรับเงินชดเชย ๑ เดือน และเงินประกันการทำงานไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะไม่ขอใช้สิทธิเรียกร้องใด ๆ ต่อคณะกรรมการของจำเลยไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น จะมีผลสมบูรณ์ผูกพันโจทก์และจำเลยหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันว่าลูกจ้างจะไม่เรียกร้องค่าจ้างและค่าตอบแทนการทำงานอีกต่อไปทั้งที่มีสิทธิตามกฎหมาย ข้อตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ เว้นแต่เป็นกรณีที่ลูกจ้างสมัครใจทำข้อตกลงสละสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวในขณะที่ลูกจ้างพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของนายจ้างและมีอิสระที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของตนเองได้เพราะพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างไปแล้ว หรือถ้าหากลูกจ้างยังคงมีสภาพการเป็นลูกจ้างของนายจ้างอยู่ แต่ลูกจ้างมีอิสระที่จะตัดสินใจได้โดยไม่อยู่ในภาวะที่จะต้องเกรงกลัวนายจ้างหรือถูกบีบบังคับให้รับเงินต่าง ๆ ตามที่นายจ้างเสนอ หรือเป็นการทำข้อตกลงกันต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานโดยสมัครใจ เช่นนี้ ข้อตกลงอันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์หาได้ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ กรณีจึงบังคับได้ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ ซึ่งตามบันทึกลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ระบุว่า โจทก์ขอลาออกตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ อันเป็นเวลาภายหลังวันทำบันทึกดังกล่าวถึง ๒ เดือน ทั้งเป็นการทำบันทึกในขณะที่โจทก์ยังเป็นลูกจ้างและอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของจำเลย จึงไม่อาจเชื่อได้ว่าขณะทำบันทึกโจทก์อยู่ในภาวะที่มีอิสระในการตัดสินใจและไม่ต้องเกรงกลัวจำเลยหรือไม่ถูกบีบบังคับให้รับเงินตามที่จำเลยเสนอ ดังนั้นการทำบันทึกสละสิทธิเรียกร้องในเงินที่โจทก์พึงได้รับตามกฎหมายโดยไม่สมัครใจอันเป็นการทำข้อตกลงที่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้าง ค่าทำงานและค่าตอบแทนการทำงานจากจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทนการทำงาน ค่าทำงานและค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดตามประเพณี ค่าทำงานและค่าตอบแทนการทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์แก่โจทก์มานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยมีสิทธินำเงินที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ ๑๗,๓๑๙ บาท มาหักออกจากเงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ พิเคราะห์บันทึกและใบสำคัญจ่ายแล้ว เห็นว่า จำนวนเงินข้างต้นเป็นค่าชดเชย ค่าจ้างหรือค่าทำงานที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตามสิทธิ รวมทั้งเงินประกันการทำงาน ซึ่งต่างประเภทกับจำนวนเงินตามที่โจทก์ฟ้องและศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์ โดยเงินแต่ละจำนวนจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ตามกฎหมายแยกต่างหากจากกัน จึงนำจำนวนเงินที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ตามใบสำคัญจ่าย มาหักออกจากจำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้นำเงินที่จำเลยชำระให้โจทก์มาหักออกจากเงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เป็นการขัดต่อกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนหลักประกันที่เป็นเงินตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา ๗๐ หรือค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๘ ค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา ๑๒๐ มาตรา ๑๒๑ และมาตรา ๑๒๒ ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในหนี้ค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงมิอาจนำอัตราดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนั้น จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

          พิพากษายืน.

 

(มาลิน  ภู่พงศ์  จุลมนต์ – นาวี  สกุลวงศ์ธนา – นงนภา  จันทรศักดิ์  ลิ่มไพบูลย์)

 

ฐานุตร  เล็กสุภาพ - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ