อุทธรณ์ที่ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

หมายเลขคดีดำที่ ร.1036/2560                     นางรัตนาพร  เกษรบัว                                     โจทก์

หมายเลขคดีแดงที่ 1129/2560                     บริษัทเทอร์เรค เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด      จำเลย

 

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม, 179 วรรคท้าย

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

 

          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนี้ ค่าเสียหายที่จำเลยเรียกร้องตามฟ้องแย้งนั้นเป็นเงินที่จำเลยอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการทำงานของโจทก์ที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงาน ซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้วเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้น ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งจึงหาใช่เป็นการเรียกร้องเอาเงินอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมในประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

______________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 33,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว ค่าจ้าง 1,680 บาท และค่าชดเชย 100,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว ทั้งนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 1,849,076.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

          ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง เนื่องจากมูลหนี้ตามฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับมูลหนี้ตามฟ้องเดิม

          จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างมาก จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนี้ ค่าเสียหายที่จำเลยเรียกร้องตามฟ้องแย้งนั้นเป็นเงินที่จำเลยอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการทำงานของโจทก์ที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงาน ซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ดังนั้น ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งจึงหาใช่เป็นการเรียกร้องเอาเงินอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมในประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

          พิพากษากลับ ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป.

 

(ธีระพล  ศรีอุดมขจร - อนุวัตร  ขุนทอง - กนกรดา  ไกรวิชญพงศ์)

 

ศาลแรงงานกลาง        นายประภัทรพงษ์  ฉายสิว

 

นายมนุเชษฐ์  โรจนศิริบุตร                 ผู้ช่วยฯ/ย่อสั้น

นายสุโรจน์  จันทรพิทักษ์                   ผู้พิพากษาฯ ประจำกองผู้ช่วยฯ/ตรวจย่อสั้น/ตรวจย่อยาว

นางนิติรัตน์  ศิระภัสร์บารมี                นิติกร/ย่อยาว

นางสาวมนัสนันท์  อิ่มใจ                   พิมพ์