คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2114/2563   พนักงานอัยการ

                                                                        สำนักงานอัยการสูงสุด                โจทก์

                                                                        ฮ.                                    โจทก์ร่วม

                                                                        บริษัท ก. กับพวก                     จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 448

ป.อ. มาตรา 95 (3)

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1, 51 วรรคสอง

พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕22 มาตรา 36 (1), 85

            ป.พ.พ. มาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงชดใช้
ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด และวรรคสอง บัญญัติว่า แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความ
ทางอาญายาวกว่ากล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ เมื่อคดีนี้
เป็นการกระทำละเมิดสิทธิบัตรอันมีมูลความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๘๕ ประกอบมาตรา ๓๖ (๑) คำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายของโจทก์ร่วมในคดีนี้ จึงต้องปรับใช้ข้อความในมาตรา ๔๔๘ วรรคสอง มิใช่กรณีตามมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง ตามที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์มา กล่าวคือ เป็นกรณีเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมาย
ลักษณะอาญา ดังนั้น เมื่อระวางโทษจำคุกความผิดตามตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๕ กำหนดไว้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามความใน ป.อ. มาตรา ๙๕ (๓) และอายุความดังกล่าวเป็นกำหนดอายุความทางอาญาที่ยาวกว่า จึงต้องเอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ คดีนี้จึงมีอายุความสิบปีมิใช่หนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัว
ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน นอกจากนี้แล้วโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑
อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การนับอายุความที่โจทก์ร่วมจะมีสิทธิฟ้องคดีแพ่ง
ที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในกรณีที่คดีอาญาได้ฟ้องต่อศาลแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาด อายุความ
ตาม ป.อ. มาตรา ๙๕ ย่อมสะดุดหยุดลง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา ๕๑ วรรคสอง โจทก์ร่วมยื่นคำร้องในขณะที่อยู่ในระหว่าง
การพิจารณาคดีอาญา คำร้องของโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

_______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓, ๓๖, ๗๗ จัตวา, ๘๕, ๘๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓ ริบของกลาง

         จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

        

         ระหว่างพิจารณา ฮ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต กับยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายอันเนื่องจากจำเลยทั้งสามจงใจแย่งชิงส่วนแบ่งการขายเป็นเงิน ๕,๐๗๙,๐๙๐ บาท ค่าเสียหายอันเป็นการชำระค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการบังคับตามสิทธิจนถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน ๕๓,๙๑๘.๔๒ ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน
ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อัตรา ๓๒ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงิน ๑,๗๒๕,๓๘๙.๔๔ บาท และค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการบังคับตามสิทธิให้แก่โจทก์ร่วมเป็นรายเดือน
ในอัตราเดือนละ ๖๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะยุติการละเมิดสิทธิ
ของโจทก์ร่วม พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๖,๘๐๔,๔๗๙.๔๔ บาท นับถัดจาก
วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

         จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบ
ของกลางทั้งหมด และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน ๖,๘๐๔,๔๗๙.๔๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความ ๓๕๗,๙๐๐ บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ๗๑,๕๙๐ บาท ส่วนคำขออื่นของโจทก์ร่วมให้ยก

         จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา
แต่เครื่องยนต์ MUSASHI ของกลางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสาม
ของผู้ทรงสิทธิบัตรจึงให้ริบ โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามไม่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางคดีส่วนอาญา ข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญา
จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อันรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา รวม ๓ ฉบับ ได้แก่ สิทธิบัตรเลขที่ ๒๗๐๔๒ ชื่อ “กลไกควบคุมการทำงานของลิ้นในเครื่องยนต์ ๔ จังหวะ” สิทธิบัตรเลขที่ ๒๒๙๓๕ ชื่อ “ระบบสำหรับการหล่อลื่นกลไกการทำงานของลิ้นในเครื่องยนต์” และสิทธิบัตรเลขที่ ๒๑๙๘๘
ชื่อ “เครื่องยนต์ ๔ จังหวะ ชนิดใช้มือถือ” โดยมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามดังกล่าว
ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน เมื่อระหว่างวันที่
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ เวลากลางวัน ต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้า ผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์ ๔ จังหวะ
แบบมือถือ ใช้กับเครื่องตัดหญ้าจำนวน ๑,๒๕๐ เครื่อง และใช้กับเครื่องพ่นยาจำนวน ๔๙ เครื่อง
ซึ่งมีสาระสำคัญและลักษณะของการประดิษฐ์เช่นเดียวกับการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ และข้อถือสิทธิ
ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วม โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วม
ผู้ทรงสิทธิบัตร แต่จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสามได้รู้อยู่แล้วว่าเครื่องยนต์ MUSASHI ของกลางผลิตโดยใช้การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามดังกล่าว
และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามดังกล่าวนั้นยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๕ อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยทั้งสามที่จะกระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วมตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๕ ประกอบ ๓๖ (๑) ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดอาญา
ฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วม

         คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามประเด็นแรกว่า โจทก์ร่วมมีอำนาจ
ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาว่าโจทก์ร่วมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ชดใช้
ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งจำเลยทั้งสาม
ได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้ว แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะไม่ได้กำหนด
เป็นประเด็นข้อพิพาทและไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวไว้ จำเลยทั้งสามก็มีสิทธิยกขึ้นอ้าง
ในชั้นอุทธรณ์ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๘ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคสอง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่าง
ประเทศกลางวินิจฉัย เห็นว่า โจทก์ร่วมมีหนังสือมอบอำนาจที่โนตารีปับลิกลงนามรับรองว่า นายโคอิชิ รองประธานฝ่ายบริหารและตัวแทนกรรมการของโจทก์ร่วมได้รับมอบอำนาจในการลงลายมือชื่อ
ในหนังสือมอบอำนาจเพื่อและในนามของโจทก์ร่วม กับมีหนังสือรับรองของผู้อำนวยการ
สำนักงานกฎหมายแห่งโตเกียว หนังสือรับรองของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ
และหนังสือรับรองของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว อันเป็นการรับรองต่อเนื่องกันมา
เป็นลำดับและเป็นการถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๗ วรรคสาม โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบให้ฟังได้เป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าการมอบอำนาจในคดีนี้ของโจทก์ร่วมชอบแล้ว โจทก์ร่วม
จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามมีว่า คำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย
ของโจทก์ร่วมขาดอายุความ ๑ ปี แล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นการกระทำละเมิดสิทธิบัตรอันมี
มูลความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๕ ประกอบมาตรา ๓๖ (๑) คำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายของโจทก์ร่วมในคดีนี้จึงต้องปรับใช้ข้อความในมาตรา ๔๔๘ วรรคสอง
มิใช่กรณีตามมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง ตามที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์มา กล่าวคือ เป็นกรณีเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา ดังนั้น เมื่อระวางโทษจำคุกความผิดตามตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๕ กำหนดไว้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
จึงมีกำหนดอายุความสิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ (๓) และอายุความดังกล่าวเป็นกำหนดอายุความทางอาญาที่ยาวกว่า จึงต้องเอาอายุความที่ยาวกว่านั้น
มาบังคับ คดีนี้จึงมีอายุความสิบปีนับแต่วันกระทำความผิดอันเป็นวันกระทำละเมิดด้วย มิใช่หนึ่งปี
นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน นอกจากนี้แล้วโจทก์ร่วม
ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่อง
กับคดีอาญา การนับอายุความที่โจทก์ร่วมจะมีสิทธิฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในกรณี
ที่คดีอาญาได้ฟ้องต่อศาลแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาด อายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ ย่อมสะดุดหยุดลง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๑ วรรคสอง โจทก์ร่วมยื่นคำร้องในขณะที่อยู่
ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญา คำร้องของโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาในข้อนี้นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยทั้งสามข้อนี้
ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

         คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามมีว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๕ ประกอบมาตรา ๓๖ (๑) โจทก์ร่วม
ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา และยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ คดีนี้จึงเป็นคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๐ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ด้วยเหตุนี้การรับฟังพยานหลักฐาน
ในคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งในประเด็นปัญหาแห่งคดีที่ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดสิทธิบัตร
การประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วมหรือไม่ กรณีจำต้องรับฟังพยานหลักฐานให้เป็นที่ยุติในคดีส่วนอาญาก่อนว่า จำเลยทั้งสามกระทำการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วมหรือไม่ ในข้อนี้
คดีส่วนอาญาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า
จำเลยทั้งสามไม่ได้รู้อยู่แล้วว่าเครื่องยนต์ MUSASHI ของกลางผลิตโดยใช้การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตร
การประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วม และสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครอง จำเลยทั้งสามจึงไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วม
ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๕ ประกอบมาตรา ๓๖ (๑) แต่ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกลับรับฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งว่า เมื่อวันที่
๑ เมษายน ๒๕๕๙ เจ้าพนักงานตรวจค้นและยึดเครื่องยนต์ตัดหญ้าและเครื่องยนต์พ่นยาของจำเลยที่ ๑ เป็นจำนวน ๑,๒๙๘ เครื่อง และเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๙ แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสาม นอกจากนี้ ยังปรากฏจากใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มว่า ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ จำเลยที่ ๑ ยังคงนำเข้าเครื่องยนต์ตัดหญ้า MUSASHI รุ่น MS - E๔
จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาในราชอาณาจักรอีกจำนวน ๓,๑๐๐ เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องยนต์
ชนิดเดียวกับเครื่องยนต์ตัดหญ้าของกลางในคดีนี้ อันแสดงว่าจำเลยที่ ๑ เพิกเฉยที่จะระมัดระวัง
เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และจำเลยที่ ๑ ยังจงใจ
กระทำละเมิดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมขึ้นมาอีก การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่นำเข้า
และมีไว้เพื่อขายก็เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมแล้ว ซึ่งการรับฟังข้อเท็จจริงเช่นนี้สืบเนื่อง
มาจากในชั้นสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนั้น ได้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นสืบพยานคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งแยกออกจากกันคนละส่วน กล่าวคือ คดีส่วนอาญา โจทก์และโจทก์ร่วมสืบพยานร่วมกันในประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกัน
ละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วมหรือไม่ และคดีส่วนแพ่งโจทก์ร่วมเท่านั้นนำสืบพยานในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งและนำสืบเพิ่มเติมเรื่องค่าเสียหาย เห็นว่า แม้ว่าในทางพิจารณา
ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะรับฟังพยานหลักฐานแยกกันมาระหว่างคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ในชั้นรับฟังพยานหลักฐานนั้น ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางคงแยกรับฟังพยานหลักฐานคดีส่วนแพ่งได้เฉพาะเรื่อง
ค่าสินไหมทดแทนตามคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๔๔/๑ เท่านั้น แต่ในปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิบัตรทั้งสามของโจทก์ร่วมหรือไม่
กรณีต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ ที่ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อคดีส่วนอาญาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนา
กระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วมตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร
พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๕ ประกอบมาตรา ๓๖ (๑) แต่ในคดีส่วนแพ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกลับรับฟังพยานหลักฐานแตกต่างไปจากคดีส่วนอาญาไปในทางที่ว่า จำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทเลินเล่อและยังจงใจกระทำละเมิดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จึงเป็น
การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งขึ้นมาใหม่โดยไม่ถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา
อันเป็นการมิชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีได้ล่วงเลยมาจนถึงชั้นที่
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้ว ประกอบกับโจทก์
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสามไม่อุทธรณ์คำพิพากษาคดีส่วนอาญา คำพิพากษาคดีส่วนอาญาย่อมถึงที่สุดและมีผลผูกพันระหว่างคู่ความทุกฝ่าย เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญาว่า จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘๕ ประกอบมาตรา ๓๖ (๑) ดังนั้น ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงเป็นกรณี
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังข้อเท็จจริงคดีส่วนแพ่งผิดไปจาก
ที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ อันเป็นการไม่ถูกต้อง ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริง
ในคดีส่วนอาญาที่รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามไม่รู้ว่าเครื่องยนต์ MUSASHI ของกลางผลิต
โดยใช้การประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วม แม้จะได้ความว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขาย ซึ่งการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรทั้งสามของโจทก์ร่วมโดยไม่ได้รับอนุญาตมาก่อน ย่อมไม่ถือว่า จำเลยทั้งสามละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วม
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วมสืบเนื่องมาจากความไม่ระมัดระวังในฐานะที่
จำเลยที่ ๑ เป็นผู้นำเข้าสินค้าเครื่องยนต์งานช่างและเครื่องยนต์การเกษตรรายใหญ่ในปริมาณมาก ๆ
ดังนั้น โดยวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจอย่างจำเลยที่ ๑ ควรต้องระมัดระวังตรวจสอบว่าสินค้าที่สั่งนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย
และจำเลยทั้งสามอยู่ในวิสัยที่อาจร้องขอให้ผู้ขายสินค้าเครื่องยนต์ดังกล่าวแสดงหลักฐานยืนยันความชอบธรรมในการผลิตเครื่องยนต์ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นแก่ธุรกิจ
แต่จำเลยทั้งสามก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ นั้น ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิบัตรโดยประมาทเลินเล่อ
และแม้ภายหลังจากเจ้าพนักงานได้ตรวจค้นและยึดเครื่องยนต์ของกลางกับได้แจ้งข้อกล่าวหา
แก่จำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามยังคงนำเข้าเครื่องยนต์ MUSASHI ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ชนิดเดียวกับเครื่องยนต์ของกลางก็ตาม การรับฟังข้อเท็จจริงเช่นนี้ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางล้วนแล้วแต่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงในคดี
ส่วนอาญาที่รับฟังยุติไปแล้วทั้งสิ้น และโดยที่การยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม
เป็นการขอให้ชดใช้ในความเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามมีเจตนากระทำละเมิดสิทธิบัตรทั้งสาม
ของโจทก์ร่วมตามข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญารับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนากระทำละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ทั้งสามของโจทก์ร่วม ดังนั้น จำเลยทั้งสามไม่ต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดคดีส่วนแพ่งไม่ต้องด้วยความเห็นศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสามอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป

         พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งนี้ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม
คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

(พัฒนไชย ยอดพยุง - จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา - จุมพล ภิญโญสินวัฒน์)

 

อมรชัย ศิริถาพร - ย่อ

กลอน รักษา - ตรวจ