คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 495/2567 นางสาว ป. โจทก์
บริษัท อ. จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา ๕8๕
ปัญหาว่าจำเลยนายจ้างต้องออกหนังสือรับรองเงินเดือนและหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ลูกจ้างหรือไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 585 บัญญัติว่า “เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงแล้ว
ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้น
เป็นงานอย่างไร” การออกใบสำคัญแสดงการทำงานจึงเป็นหน้าที่ที่จำเลยที่จะต้องดำเนินการให้แก่โจทก์ และโจทก์ชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงการทำงานตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอบังคับของโจทก์ในส่วนนี้มาโดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในประการนี้ฟังขึ้น
_______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายหายจากการขาดรายได้ ๑๕๑,๒๐๐ บาท ค่าเสียหายจากการที่จำเลยแจ้งสำนักงานประกันสังคมเป็นเท็จ ๑๕๑,๒๐๐ บาท ค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ๓๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๖๐๒,๔๐๐ บาท และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงาน และหนังสือรับรองเงินเดือน
ฉบับลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตามความเป็นจริง และมีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานประกันสังคมว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๔ จำเลยว่าจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย รับค่าจ้าง
อัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๕,๒๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลทันที วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ โจทก์ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยต่อพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๕ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๕ มีคำสั่งที่ ๓๗/๒๕๖๕ ลงวันที่
๑๒ เมษายน ๒๕๖๕ สั่งให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชย ๒๙,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยยื่นฟ้องพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ๕
เป็นจำเลยที่ ๑ และโจทก์เป็นจำเลยที่ ๒ เรื่องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน การทำงาน
ของฝ่ายกฎหมายของจำเลยจะใช้แอปพลิเคชันไลน์เพื่อสื่อสารสั่งงาน แจ้งข้อมูลหรือข้อขัดข้องต่าง ๆ
ตามภาพถ่ายข้อความการสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์ของกลุ่มที่มีนางสาวรัตนาพรและโจทก์อยู่ในกลุ่มด้วย
แล้ววินิจฉัยว่า ในวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕ โจทก์แจ้งเหตุขัดข้องที่ทำวีซ่าไม่ได้ในกลุ่มไลน์ และมีข้อความในวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๕ ที่นางสาวนันทวรรณสอบถามโจทก์ว่า “ลูกค้าได้ยกเลิกใบอนุญาตทำงาน
ของบริษัทเดิมหรือยัง ทั้งนี้จะได้วางแผนขอเอกสารลูกค้าได้ถูก” แต่ไม่มีการตอบกลับจากโจทก์
ในเรื่องดังกล่าว ข้อผิดพลาดทำให้ลูกค้าต้องเสียค่าปรับจากการที่โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่ ทั้งนี้
ตามการสั่งงาน การติดต่อสื่อสารในการทำงานเป็นการสื่อสารถึงโจทก์ นางสาวรัตนาพรมอบหมาย
ให้โจทก์ดำเนินการเรื่องวีซ่าสำหรับเข้าประเทศเพื่อการทำงาน ส่วนนางสาวปิยะภรณ์เป็นเพียงผู้กรอกเอกสารเท่านั้น ในส่วนคู่มือพนักงานมีข้อบังคับและระเบียบการทำงานเรื่องเวลาเอาไว้ คือ เวลาปกติ
๙ นาฬิกา ถึง ๑๘ นาฬิกา เวลาทำงานที่ถือว่าพนักงานมาทำงานสายคือช่วงหลังเวลา ๙ นาฬิกา
โจทก์มาทำงานสายต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับยกเว้นในการมาทำงานสายได้ จำเลย
ออกหนังสือเตือนโดยถือเอาเหตุแห่งการมาสายของโจทก์เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนถึงเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ทั้งหลังจากการทำงานของโจทก์ที่มีข้อบกพร่องปรากฏว่าโจทก์ยังคงมาทำงานสาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้บกพร่องต่อหน้าที่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริง
จากพยานจำเลยที่เบิกความลอย ๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าโจทก์มีหน้าที่ประสานงานกับลูกค้าโดยตรง การที่ Miss Gangshan อยู่ในราชอาณาจักรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นเรื่องส่วนตัวไม่มีบุคคลใดสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โจทก์ได้ดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้นและรายงานแก่นางสาวรัตนาพร ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย โดยนางสาวรัตนาพรไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ในการทำเอกสารประกอบคำขอเพื่อต่อวีซ่า
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ มีนางสาวรัตนาพรประสานงานกับลูกค้าเพื่อกำหนดวันนัดให้ Miss Gangshan
คนต่างด้าว ไปยื่นเอกสารขอต่อวีซ่าโดยมีนางสาวปิยะภรณ์แจ้งขอหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อใช้สำหรับ
การประกอบคำขอวีซ่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ประสานงานเพื่อกำหนดวันนัดหรือประสานงานติดต่อราชการ
และลูกค้าของานใบอนุญาตทำงานและวีซ่า โจทก์ไม่ได้รายงานแจ้งเหตุขัดข้องที่ทำวีซ่าไม่ได้ในกลุ่มไลน์ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย โจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเรื่องวีซ่าสำหรับเข้าประเทศไทย โจทก์ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อวีซ่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จึงไม่บกพร่องต่อหน้าที่เรื่องดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้มาทำงานสายเนื่องจากตามรายงานคู่มือพนักงานนั้น พนักงานที่มาทำงานสายเกินกว่าเวลา ๒๐ นาที จึงจะถือว่ามาทำงานสายเกินกว่าเวลาปกติ ซึ่งคู่มือพนักงานมีการแก้ไขโดยไม่ได้เปิดเผยต่อพนักงานจำเลย โจทก์ไม่เคยทราบการเปลี่ยนแปลงคู่มือพนักงาน จำเลยอนุญาตให้โจทก์เข้าทำงานหลังเวลา ๙ นาฬิกา แต่ไม่เกิน ๒๐ นาที เป็นการตกลงเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาการเริ่มทำงานให้แก่จำเลย เนื่องจากลักษณะงานตามตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ต้องออกนอกสถานที่บ่อยครั้ง และแม้จะมีข้อมูลว่า
โจทก์มาทำงานสายตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ แต่มีข้อตกลงด้วยวาจาให้โจทก์เข้างานหลัง ๙ นาฬิกา
แต่ไม่เกิน ๒๐ นาที โจทก์จึงไม่ได้มาทำงานสาย การที่โจทก์ทำงานหลัง ๙ นาฬิกา เพราะต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ โจทก์ไม่ได้ทำงานบกพร่องต่อหน้าที่ทำให้จำเลยเสียหาย การเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นธรรม
จำเลยต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้องนั้น ล้วนเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางซึ่งรับฟังว่า โจทก์บกพร่องในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายทำให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าของจำเลย และโจทก์มาทำงานสายเป็นประจำ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องแจ้งไปยังสำนักงานประกันสังคมว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์
โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โดยศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นตามคำฟ้องของโจทก์
ในข้อดังกล่าวนั้น ในคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวเอาไว้แล้วว่า
การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็น
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้วกรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องออกหนังสือรับรองเงินเดือนและหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 585 บัญญัติว่า “เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงาน
มานานเท่าไร และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร” การออกใบสำคัญแสดงการทำงานจึงเป็นหน้าที่ที่จำเลย
ที่จะต้องดำเนินการให้แก่โจทก์ และโจทก์ชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงการทำงานตามบทบัญญัติดังกล่าว
ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกคำขอบังคับของโจทก์ในส่วนนี้มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ในประการนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานของโจทก์ว่าทำงานมานานเท่าไร
และงานที่ทำนั้นเป็นอย่างไร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
(ดาราวรรณ ใจคำป้อ - พิเชฏฐ์ รื่นเจริญ - ธีระศักดิ์ เงยวิจิตร)
ธนสร สุทธิบดี - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ