คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 888/2567  นาย ส.                                       โจทก์

                                                                   บริษัท อ.                                  จำเลย

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕22 มาตรา 49

         จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะสาเหตุที่โจทก์ไม่ยอมใช้ระบบการทำงานแบบใหม่ที่จำเลยนำมาใช้
ในการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรแทนการเก็บข้อมูลและนำมาคำนวณ
ในคอมพิวเตอร์แบบเดิม มิได้เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง
ของจำเลย ดังนั้น แม้การกระทำของโจทก์จะเข้าลักษณะเป็นการขัดขวางหรือต่อต้านนโยบาย
ในการทำงานอยู่บ้าง จำเลยก็ยังให้โอกาสโจทก์ทำงานมาโดยตลอด ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับ
ความเสียหายเป็นเงินเท่าใด กลับได้ความว่าโจทก์ได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานและประสิทธิผลการทำงานของเครื่องจักรอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของจำเลยอีกด้วย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็น
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 

_____________________________

 

            โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๙,๗๓๗,๔๘๐.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานภาค ๒ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ๓๙๗,๘๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๖) เป็นต้นไปจนกว่า
จะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้หากกระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินตามที่โจทก์ขอ

         จำเลยอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๒ รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการโรงงาน ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๑๓,๓๐๐ บาท ค่าเช่าบ้านเดือนละ ๑๑,๓๓๐ บาท ค่าน้ำมันรถเดือนละ ๘,๐๐๐ บาท รวม ๑๓๒,๖๓๐ บาท
เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่บรรลุเป้าหมาย
ในการบริหารงานปี ๒๕๖๕ เกี่ยวกับการไม่ยอมใช้ระบบพาวเวอร์บีไอ (Power BI) ที่จำเลยนำมาใช้
ในการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร (OEE) แทนการเก็บข้อมูลและนำมาคำนวณ
ในคอมพิวเตอร์ระบบ Excel โดยจำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แล้ววินิจฉัยว่า แม้โจทก์จะไม่ใช้ระบบพาวเวอร์บีไอ (Power BI) มาคำนวณเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงาน
ของเครื่องจักร (OEE) จำเลยก็ยังให้โอกาสโจทก์ทำงานมาโดยตลอด ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายเป็นเงินเท่าใด แต่ในปี ๒๕๖๕ โจทก์ได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานและประสิทธิภาพการทำงาน
ของเครื่องจักรอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของจำเลย โดยมิได้ถือว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง เป็นเพียงการบกพร่องขาดประสิทธิภาพ
ในการทำงานเท่านั้น สมควรที่จำเลยจะต้องมีหนังสือตักเตือนโจทก์ให้ปรับปรุงการทำงานเสียก่อน
หากโจทก์ไม่ปรับปรุงตัวตามหนังสือตักเตือน จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรเพียงพอ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ นั้น ต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะสาเหตุที่โจทก์ไม่ยอมใช้ระบบพาวเวอร์บีไอ (Power BI) ที่จำเลยนำมาใช้
ในการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร (OEE) แทนการเก็บข้อมูลและนำมาคำนวณ
ในคอมพิวเตอร์ระบบ Excel มิได้เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง
ของจำเลย ดังนั้น แม้การกระทำของโจทก์จะเข้าลักษณะเป็นการขัดขวางหรือต่อต้านนโยบาย
ในการทำงานอยู่บ้าง จำเลยก็ยังให้โอกาสโจทก์ทำงานมาโดยตลอด ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับ
ความเสียหายเป็นเงินเท่าใด กลับได้ความว่าในปี ๒๕๖๕ โจทก์ได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงาน
และประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของจำเลยอีกด้วย และค่าชดเชย
กับเงินอื่น ๆ ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ ก็เป็นเพียงผลอันเกิดจากการเลิกจ้าง หาใช่สาเหตุของการเลิกจ้างอันจะต้องนำมาพิจารณาในชั้นนี้ไม่ ที่ศาลแรงงานภาค ๒ รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลย
ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปมีว่า ศาลแรงงานภาค ๒ กำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขัดต่อคำวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานภาค ๒ กำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไว้โดยชัดเจนในคำวินิจฉัยว่า เมื่อเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จึงกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลา
๒ ปี ๔ เดือน ๑๓ วัน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๓๒,๖๓๐ บาท เห็นควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เท่ากับอัตราเงินเดือนสุดท้ายที่โจทก์พึงได้รับจากจำเลยเป็นเวลา ๓ เดือน เป็นเงิน ๓๙๗,๘๙๐ บาท
ก็โดยมีเจตนาหมายความรวมถึงค่าเช่าบ้านและค่าน้ำมันรถด้วย แม้ในตอนท้ายจะระบุว่า เห็นสมควรกำหนดเท่ากับอัตราเงินเดือนสุดท้ายก็ตาม แต่ถือเป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนผิดพลาดไปเล็กน้อยเท่านั้น หามีผลทำให้การกำหนดจำนวนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขัดต่อคำวินิจฉัย
ของศาลแรงงานภาค ๒ ไม่ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(สาโรช ทาสวัสดิ์ – พิเชฏฐ์ รื่นเจริญ – ธีรศักดิ์ เงยวิจิตร)

กิตติ เนตรประเสริฐชัย - ย่อ

สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ