คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 303/2567    บริษัทธนาคาร ก.                     ผู้ร้อง

                                                           นาย พ.                              ผู้คัดค้าน

                                                                           

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา 76

         การที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลแรงงานให้ลงโทษผู้คัดค้านเนื่องจากผู้คัดค้านกระทำผิดวินัย
และเป็นการลงโทษภายในขอบเขตระเบียบปฏิบัติงานด้วยการลดเงินเดือนผู้คัดค้านร้อยละ ๕ นั้น
การลงโทษดังกล่าวมิใช่เป็นการหักค่าจ้างของผู้คัดค้านตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๖ แต่เป็นกรณีการลงโทษทางวินัยซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้อง การลดเงินเดือนดังกล่าวจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยการหักค่าจ้าง
ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้คัดค้านก่อน ระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้องในการลงโทษทางวินัย
โดยการลดเงินเดือนดังกล่าวจึงใช้บังคับได้

______________________________

 

         ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องมีคำสั่งลงโทษทางวินัยโดยการลดเงินเดือนผู้คัดค้านร้อยละ ๕ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒

         ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกคำร้อง

         ผู้ร้องอุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างผู้ร้อง ปัจจุบันปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้าส่วนอาคารและจัดการทรัพย์สิน
ฝ่ายอาคารและจัดการทรัพย์สิน วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ผู้คัดค้านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างของสหภาพแรงงานธนาคาร ก. ระหว่างปี ๒๕๕๗ ถึง ๒๕๕๙ ขณะที่ผู้คัดค้านปฏิบัติงาน
ในตำแหน่งหัวหน้าส่วนธุรกิจสัมพันธ์ สำนักงานธุรกิจรามอินทรา ผู้คัดค้านมีหน้าที่ดูแลการขอสินเชื่อ
ของลูกค้ารายห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ผู้ร้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการพิจารณา
อนุมัติวงเงินกู้โดยตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
ทำรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงไว้ ต่อมาผู้ร้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาทางวินัยผู้คัดค้าน
และคณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงานมีบันทึกเรื่องกรณีการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้โดยตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) รายห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. เสนอกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีความเห็นควรลงโทษทางวินัย
แก่ผู้คัดค้านด้วยการลดเงินเดือนร้อยละ ๕ แล้ววินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านเป็นหัวหน้าส่วนธุรกิจสัมพันธ์ สำนักงานธุรกิจรามอินทรา ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบดูแลลูกหนี้
รายห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ซึ่งตามรายละเอียดตำแหน่งงานของผู้คัดค้านที่ทำงานอยู่ที่สำนักงานธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง สายงานธุรกิจขนาดกลาง ในตำแหน่งหัวหน้าส่วน มีหน้าที่รับผิดชอบและงานหลักด้านเรื่องการวางแผนการขายและการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า การบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ
และกระบวนการและคุณภาพการให้บริการ ข้อที่ผู้ร้องกล่าวหาว่าผู้คัดค้านกระทำผิดระเบียบปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ดังกล่าวเกี่ยวกับการนำเสนอการขอสินเชื่อของลูกค้ารายห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ระหว่างปี ๒๕๕๗ ถึง ๒๕๕๙ มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยฝ่ายตรวจสอบภายในด้านสินเชื่อของผู้ร้อง
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายงานว่า สำนักงานธุรกิจรามอินทราบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญ
ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไม่เป็นไปตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษกรณีประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๖ และเสนอให้ส่งเรื่องให้สายงานทรัพยากรบุคคลและบรรษัทภิบาลเพื่อพิจารณา
ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงพนักงานที่เกี่ยวข้องตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในรายงานผล
การตรวจสอบเรื่องการพิจารณาอนุมัติวงเงินกู้โดยตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) รายห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. และมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงานสอบวินัยของผู้คัดค้าน โดยคณะกรรมการพิจารณาวินัยดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและสรุปเห็นว่า ขณะผู้คัดค้านเป็นหัวหน้าส่วนธุรกิจสัมพันธ์ สำนักงานธุรกิจรามอินทรา
มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณานำเสนอขออนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อ นำเสนอขออนุมัติ Roll Over
ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และติดตามควบคุมดูแลลูกหนี้รายห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ไม่ได้ตรวจสอบ/สอบยันความถูกต้องน่าเชื่อถือของข้อมูลและเอกสารที่ได้รับจากลูกหนี้อย่างจริงจังเพียงพอ เอกสารประกอบที่ได้รับจากลูกหนี้เป็นสำเนาเอกสารที่ไม่มีการรับรองสำเนาถูกต้องโดยลูกหนี้ ไม่ได้พิจารณาในสาระสำคัญของการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อ กรณีลูกหนี้ค้างชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) มาเป็นเวลานาน นำเสนอขออนุมัติและดำเนินการ Roll Over ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ออกไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลกับหน่วยงานราชการคู่สัญญาของลูกหนี้อย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงกรณีที่ลูกหนี้ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน รวมทั้งลูกหนี้ได้รับเงิน
ค่าสินค้าจากหน่วยงานราชการแล้วแต่ไม่นำเงินมาชำระหนี้คืนธนาคาร นำเสนอข้อมูลประมาณการรายได้ของลูกหนี้ในลักษณะก้าวกระโดดต่อคณะกรรมการสินเชื่อระดับ ๖ เพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ และในช่วงปี ๒๕๕๗ ถึง ๒๕๕๙ ในรายงานนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อ (CA) ไม่ปรากฏพบการนำเสนอข้อมูลที่ระบุอย่างชัดเจนว่าลูกหนี้มีการค้างชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และมีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ (Roll Over) ตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ข้อมูลดังกล่าว
ถือเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อเพิ่มให้แก่ลูกหนี้เพื่อประกอบการนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อในระหว่างปี ๒๕๕๗ ถึง ๒๕๕๙ ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถือเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หละหลวม ไม่ระมัดระวังรอบคอบ และไม่รักษาผลประโยชน์ของธนาคาร ปฏิบัติ
ไม่เป็นไปตามระเบียบ คำสั่ง และนโยบายของธนาคาร ผิดวินัยตามระเบียบปฏิบัติงาน หมวด ๑ บท ๗ วินัยและโทษทางวินัย ข้อ ๑.๓ ตามรายละเอียดตำแหน่งงานของผู้ร้อง ที่กำหนดหน้าที่รับผิดชอบและงานหลักของพนักงานที่ทำงานอยู่ที่ส่วนงานธุรกิจซึ่งเป็นส่วนงานที่ผู้คัดค้านทำงานอยู่ในขณะเกิดเหตุกำหนดว่า
ในการปฏิบัติงานของพนักงานต้องประเมินสินเชื่อเบื้องต้น เพื่อกลั่นกรองลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง
และควบคุมให้สินเชื่อมีคุณภาพ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่เกี่ยวกับการนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อโดยต้อง
ทำรายงานการนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจพิจารณา ผู้คัดค้านในฐานะหัวหน้าส่วน
และมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลลูกค้ารายห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. โดยตรง จึงต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยต้องมีเอกสารของลูกค้าประกอบการขอสินเชื่ออย่างครบถ้วน และต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ที่เกี่ยวข้องอย่างรัดกุม โดยเฉพาะเรื่องการที่มีการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอย่างต่อเนื่องแม้จะอยู่ในหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ตามที่ผู้คัดค้านอ้าง แต่การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปย่อมแสดงให้เห็นว่าลูกหนี้ดังกล่าวมีปัญหาเรื่องความสามารถในการชำระหนี้และอาจทำให้ลูกหนี้ดังกล่าวไม่สามารถชำระหนี้ภายในกำหนดได้ ดังนั้น ข้อมูลการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของลูกหนี้รายห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ออกไปย่อมเป็นสาระสำคัญที่ผู้คัดค้านในฐานะที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบต้องทำบันทึกรายงานในการนำเสนอขออนุมัติเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการชำระของลูกหนี้ให้ปรากฏไว้
ในบันทึกรายงานดังกล่าวให้ชัดเจนว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีการค้างชำระหนี้มาเป็นระยะเวลานาน
เพื่อเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการสินเชื่อระดับ ๖ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติทราบเพื่อใช้ประกอบ
ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ การที่ไม่มีข้อมูลในเรื่องดังกล่าวย่อมเป็นการนำเสนอที่ไม่รอบคอบรัดกุม
และการที่ผู้คัดค้านไม่ได้ตรวจสอบยืนยันเอกสารสัญญาที่ลูกหนี้ยื่นประกอบการขอสินเชื่อให้ถูกต้องครบถ้วนทุกสัญญาทั้งที่สามารถทำได้ แต่ตรวจสอบเพียงบางสัญญา สัญญาที่ลูกหนี้ยื่นประกอบการ
ขอสินเชื่อลูกหนี้ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานราชการบางหน่วยงานและสัญญาบางสัญญามีการชำระเงินให้แก่ลูกหนี้ไปแล้ว หรือไม่มีการทำสัญญาระหว่างลูกหนี้กับหน่วยงานราชการบางหน่วยงาน ทำให้ผู้ร้อง
ไม่สามารถรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ ซึ่งหากผู้คัดค้านตรวจสอบให้ถูกต้องครบถ้วนก็จะไม่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว การที่มีระเบียบปฏิบัติงานใช้บังคับในการทำงานของพนักงานของผู้ร้องเพื่อให้การทำงานเป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้อง อันจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจากการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าของผู้ร้อง การที่ผู้คัดค้านเสนอการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. โดยไม่มีข้อมูลเอกสาร
ที่ได้รับจากลูกหนี้เกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้และเรื่องการทำหรือไม่ได้ทำสัญญากับหน่วยงานราชการ
อันถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะใช้ในการพิจารณาให้มีการเพิ่มวงเงินสินเชื่อแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.
เพื่อให้นำไปใช้ในการดำเนินกิจการต่อไป และผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ได้รับชำระหนี้จากคู่สัญญาตามที่มีการอ้างสัญญาดังกล่าวเพื่อขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากผู้ร้อง ทั้งเอกสาร
เป็นสำเนาที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อและไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน ถือเป็นเรื่องที่เป็นสาระสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้า
ของผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารสำนักงานธุรกิจรามอินทรา ทำให้มีการพิจารณาให้สินเชื่อ
โดยการเพิ่มวงเงินและต่อระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินออกไป อันเป็นผลจากการที่ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูล
ให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งต่อมาปรากฏว่าหลังจากมีการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.
ตามที่ผู้คัดค้านเสนอข้อมูลดังกล่าว ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถรับชำระหนี้จากหน่วยงานราชการผู้ให้สัญญา
แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ได้ และห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ไม่ได้ชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ซึ่งเกิดจากข้อเท็จจริง
ที่ผู้คัดค้านมีหน้าที่ตามระเบียบปฏิบัติงานในการตรวจสอบ แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบถูกต้องครบถ้วน และในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อดังกล่าวมีการค้างชำระหนี้
และมีการขอขยายระยะเวลาออกไปเป็นระยะเวลานาน เป็นข้อที่เห็นได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีปัญหา
การผิดนัดชำระหนี้ ผู้คัดค้านจึงต้องควรระมัดระวังและตรวจสอบข้อมูลการให้สินเชื่อโดยการเพิ่มวงเงินหรือขยายระยะเวลาการให้สินเชื่อออกไป รวมทั้งต้องนำเสนอข้อมูลดังกล่าวในบันทึกรายงาน
การขออนุมัติสินเชื่อให้ชัดเจนและครบถ้วนทั้งหมด แต่ผู้คัดค้านไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล
อย่างรอบคอบจากคู่สัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ตามที่อ้างว่ามีการทำสัญญาว่าจ้างจัดซื้อถังน้ำ
ไฟเบอร์กลาส ไม่ได้นำเสนอข้อมูลในรายงานการขออนุมัติสินเชื่อจนเป็นผลให้เกิดความเสียหาย
ที่ไม่สามารถเรียกให้ชำระหนี้ได้ ผู้คัดค้านขณะเป็นหัวหน้าส่วนธุรกิจสัมพันธ์ สำนักงานธุรกิจรามอินทรา กระทำผิดระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้อง โดยเป็นการกระทำโดยประมาท ไม่รอบคอบ และไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงชอบที่จะลงโทษทางวินัยแก่ผู้คัดค้านตามที่กำหนดไว้ในระเบียบปฏิบัติงานได้ คณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงานมีความเห็นควรลงโทษโดยการตัดเงินเดือนร้อยละ ๕
ให้เสร็จสิ้นก่อนระยะเวลาที่ผู้คัดค้านจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ การดำเนินการพิจารณาและการลงโทษทางวินัยแก่ผู้คัดค้านของผู้ร้องจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นไป
โดยมีเจตนาที่จะปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่ผู้คัดค้าน แต่เป็นการพิจารณาดำเนินการไปตามข้อเท็จจริง
ที่เกิดขึ้นที่ผู้คัดค้านปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามหน้าที่ให้ถูกต้องและระเบียบปฏิบัติงาน แต่การลงโทษ
โดยการลดเงินเดือนของผู้คัดค้านร้อยละ ๕ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้อง ที่กำหนดโทษ
ทางวินัยไว้ในระเบียบปฏิบัติงาน หมวด ๑ บท ๗ วินัยและโทษทางวินัย ที่กำหนดโทษไว้ว่า โทษทางวินัย
มี ๖ สถาน คือ ๑.ไล่ออก ๒.ปลดออก ๓.ลดเงินเดือนไม่เกินร้อยละ ๑๒.๕ ๔.ระงับการขึ้นเงินเดือน
๕.ตัดเงินเดือนไม่เกินร้อยละ ๑๕ มีกำหนดไม่เกิน ๖ เดือน และ ๖.ภาคทัณฑ์กำหนดระยะเวลาไม่เกิน ๒ ปี นั้น ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๖ บัญญัติห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง
ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อกรณีตามที่บัญญัติไว้
ใน (๑) ถึง (๕) ของมาตรา ๗๖ ดังกล่าว ซึ่งการลงโทษทางวินัยไม่ได้กำหนดให้เป็นข้อยกเว้นไว้ที่นายจ้างสามารถที่จะหักค่าจ้างได้ การลดเงินเดือนของผู้คัดค้านตามที่จะมีการลงโทษทางวินัยย่อมมีผลทำให้มี
การลดค่าจ้างของลูกจ้างลงจากเดิม ย่อมมีลักษณะเสมือนเป็นการหักค่าจ้างของลูกจ้างอันมีผลกระทบ
ต่อลูกจ้างและครอบครัวซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
ที่บัญญัติให้การคุ้มครองในเรื่องของค่าจ้างไว้โดยให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง
อย่างถูกต้องครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง แม้การกระทำผิดเกี่ยวกับการทำงาน
ตามสัญญาจ้างของลูกจ้างระหว่างการทำงานอาจเกิดขึ้นได้ และนายจ้างย่อมอาจมีสิทธิลงโทษทางวินัย
แก่ลูกจ้างได้เพื่อให้ลูกจ้างทำงานให้ถูกต้องและเป็นไปตามสัญญาจ้างหรือเป็นเรื่องของความประพฤติระหว่างการทำงานอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกจ้างที่กระทำ แต่การลงโทษทางวินัยต้องเป็นการกระทำในรูปแบบอื่นที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้
โดยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ไม่ได้บัญญัติในเรื่องของวินัยและการลงโทษไว้ว่า
ให้นายจ้างสามารถลงโทษทางวินัยโดยการลดค่าจ้างหรือตัดค่าจ้างได้ไว้แต่อย่างใด แต่บัญญัติในเรื่อง
ของการตักเตือนที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานตามสัญญาจ้างของลูกจ้างไว้ ดังนั้น การกระทำผิดของลูกจ้างเกี่ยวกับวินัยหรือการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นายจ้างย่อมมีอำนาจตักเตือนด้วยวาจา
หรือเป็นหนังสือเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย หากมีการกระทำผิดซ้ำย่อมสามารถเข้าเหตุในการเลิกจ้าง
หรือเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย หรือเรื่องการพักงานที่มีบัญญัติไว้เกี่ยวกับ
การสอบสวนลูกจ้างที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดหรือเรื่องการภาคทัณฑ์หรือเรื่องการตัดสวัสดิการ
หรือสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่ค่าจ้าง การเป็นลูกจ้างนายจ้างระหว่างกันเป็นนิติสัมพันธ์ทางกฎหมาย
ในเรื่องของสัญญาการทำงาน การลงโทษทางวินัยจึงต้องเป็นเรื่องการทำงานและความประพฤติในการทำงานโดยมุ่งให้มีผลถึงการเลิกสัญญาหรือไม่เลิกสัญญาตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน
แม้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จะไม่ได้บัญญัติกำหนดบทลงโทษทางวินัยว่า
มีอย่างไรบ้างและไม่ได้กำหนดลักษณะบทลงโทษทางวินัยที่ห้ามไม่ให้ลงโทษไว้โดยตรงก็ตาม แต่การกำหนดโทษทางวินัยไว้ในระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานควรต้องกำหนดไว้เท่าที่ไม่ขัดต่อเรื่อง
ที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มีเจตนารมณ์ต้องการให้การคุ้มครอง และต้องกำหนด
เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีและไม่ขัดต่อกฎหมาย มิเช่นนั้นนายจ้างอาจมีการกำหนดบทลงโทษทางวินัยไว้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด การลงโทษทางวินัยจึงควรต้องสอดคล้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่อาจกำหนดโทษทางวินัยขึ้นในลักษณะที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติที่กฎหมายให้ความคุ้มครองลูกจ้างได้
ทั้งการลงโทษโดยการลดเงินเดือนโดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาไว้ว่าลดเงินเดือนเป็นระยะเวลาเท่าใด
ย่อมมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างของลูกจ้างอันเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
โดยไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างที่นายจ้างกระทำการเปลี่ยนแปลงเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับความยินยอม
จากลูกจ้างซึ่งไม่อาจกระทำได้ เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๖ บัญญัติ
ห้ามในเรื่องการหักค่าจ้างไว้ การลงโทษทางวินัยโดยการลดเงินเดือนย่อมถือว่ามีลักษณะเป็นการหักค่าจ้างอย่างหนึ่ง ระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้องที่กำหนดโทษทางวินัยโดยการลดเงินเดือนและนำมาใช้ในการลงโทษแก่ผู้คัดค้านจึงขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๖ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ระเบียบปฏิบัติงานในการลงโทษวินัยโดยการลดเงินเดือนดังกล่าว
จึงไม่อาจใช้บังคับได้ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษทางวินัยแก่ผู้คัดค้าน
โดยการลดเงินเดือน ศาลจึงไม่อาจอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องได้

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การลดเงินเดือนร้อยละ ๕ ซึ่งเป็นโทษทางวินัย
ตามระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้องเป็นการหักค่าจ้างและเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
ทั้งจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้คัดค้านหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ตามระเบียบคำสั่งและนโยบาย
ของผู้ร้อง การกระทำผิดวินัยตามระเบียบปฏิบัติงาน หมวด ๑ บท ๗ ข้อ ๑.๓ การลงโทษผู้คัดค้าน
ด้วยการลดเงินเดือนร้อยละ ๕ ตามมติของคณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงานเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงานที่ วพส.ที่ 1๙๖๘/๒๕๖๔ หมวด HR เรื่อง วินัยและโทษทางวินัย ข้อ ๑ โดยโทษลดเงินเดือน
ไม่เกินร้อยละ ๑๒.๕ ก็เป็นโทษสถานหนึ่ง การหักค่าจ้างร้อยละ ๕ เป็นการลงโทษทางวินัย
ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องค่าจ้าง ไม่ใช่การหักค่าจ้างที่จะต้องได้รับ
ความยินยอมจากผู้คัดค้านตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๗๖ บัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน
ในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ (๑) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้าง
ต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ (๒) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับ
ของสหภาพแรงงาน (๓) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง (๔) เป็นเงินประกันตามมาตรา ๑๐ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้าง
ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง (๕) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หัก
เกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา ๗๐ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง การที่ผู้ร้องขออนุญาตศาลให้ลงโทษผู้คัดค้านเนื่องจากผู้คัดค้านกระทำผิดวินัยและเป็นการลงโทษภายในขอบเขตระเบียบปฏิบัติงานด้วยการลดเงินเดือนผู้คัดค้านร้อยละ ๕ นั้น การลงโทษดังกล่าวมิใช่เป็นการหักค่าจ้างของผู้คัดค้าน แต่เป็นกรณีการลงโทษ
ทางวินัยซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้อง การลดเงินเดือนดังกล่าวจึงมิใช่
การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยการหักค่าจ้างซึ่งจะต้องได้รับความยินยอม
จากผู้คัดค้านก่อนตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง ระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้องในการลงโทษทางวินัยโดยการลดเงินเดือนดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องต่อไปว่า เห็นควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษ
ผู้คัดค้านด้วยการลดเงินเดือนร้อยละ ๕ ตามคำร้องหรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านกระทำผิดระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้อง ประมาท ไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงชอบ
ที่จะลงโทษผู้คัดค้านตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการปฏิบัติงานได้ เห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้าง
การที่ผู้ร้องจะลงโทษผู้คัดค้านได้ต้องได้รับอนุญาตจากศาลตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์
พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕๒ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การที่ผู้คัดค้านเสนอการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. โดยไม่มีข้อมูลเอกสารที่ได้รับจากลูกหนี้เกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้และเรื่อง
การทำหรือไม่ได้ทำสัญญากับหน่วยงานราชการ อันถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะใช้ในการพิจารณาให้มี
การเพิ่มวงเงินสินเชื่อแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ทั้งเอกสารเป็นเพียงสำเนาที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อและไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน ถือเป็นเรื่องที่เป็นสาระสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้าของผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารสำนักงานธุรกิจรามอินทรา ทำให้มีการพิจารณาให้สินเชื่อโดยการเพิ่มวงเงินและต่อระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินออกไป
ซึ่งต่อมาปรากฏว่าหลังจากมีการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ตามที่ผู้คัดค้านเสนอข้อมูลดังกล่าว ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถรับชำระหนี้จากหน่วยงานราชการผู้ให้สัญญาแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ได้
และห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ไม่ได้ชำระหนี้แก่ผู้ร้อง ซึ่งเกิดจากข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านมีหน้าที่ตามระเบียบปฏิบัติงานในการตรวจสอบ แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบถูกต้องครบถ้วน และในขณะที่
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ.ขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อดังกล่าวมีการค้างชำระหนี้และมีการขอขยายระยะเวลาออกไป
เป็นระยะเวลานาน เป็นข้อที่เห็นได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ผู้คัดค้านมิได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในบันทึกรายงานการขออนุมัติสินเชื่อให้ชัดเจนและครบถ้วน ทั้งไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบจากคู่สัญญาของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายจากการไม่สามารถเรียกให้ชำระหนี้ได้ ผู้คัดค้านไม่ได้ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องน่าเชื่อถือของข้อมูลเอกสารที่ลูกหนี้ยื่นประกอบการขอสินเชื่ออย่างจริงจังเพียงพอ ไม่ได้พิจารณาในสาระสำคัญของการอนุมัติสินเชื่อกรณีที่ลูกหนี้ค้างชำระสินเชื่อตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) มาเป็นเวลานาน นำเสนอขออนุมัติดำเนินการขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลกับหน่วยงานราชการ เพื่อให้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่ลูกหนี้ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานราชการบางหน่วยงานและการที่ลูกหนี้ได้รับเงิน
ค่าสินค้าจากหน่วยงานราชการไปแล้ว และนำเสนอขออนุมัติวงเงินกู้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) ในช่วงปี ๒๕๕๗ ถึง ๒๕๕๙ โดยไม่มีการนำเสนอข้อมูลที่ระบุอย่างชัดแจ้งว่าลูกหนี้มีการค้างชำระหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เป็นระยะเวลานาน การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการกระทำผิดระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้อง ประมาท
ไม่รอบคอบ และไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของผู้ร้อง การสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของผู้คัดค้านที่บกพร่องดังกล่าวมีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ และมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงานสอบสวนมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ และคณะกรรมการดังกล่าวมีความเห็นลงโทษโดยการตัดเงินเดือนร้อยละ ๕ ให้เสร็จสิ้นก่อนระยะเวลาที่ผู้คัดค้านจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการลูกจ้าง
เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ดังนั้น การที่ผู้ร้องดำเนินการพิจารณาและการลงโทษทางวินัยแก่ผู้คัดค้านจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นไปโดยมีเจตนาที่จะปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมแก่ผู้คัดค้าน แต่เป็นการพิจารณาดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นที่ผู้คัดค้านปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามหน้าที่ให้ถูกต้องและระเบียบปฏิบัติงาน เมื่อผู้ร้องโดยกรรมการผู้จัดการใหญ่เห็นชอบให้มีการลงโทษทางวินัยผู้คัดค้าน
ตามที่คณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงานเสนอโดยให้ลงโทษลดเงินเดือนของผู้คัดค้านร้อยละ ๕
การที่ผู้ร้องขอให้ลงโทษผู้คัดค้านด้วยการลดเงินเดือนร้อยละ ๕ จึงเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงานของผู้ร้องและเหมาะสมกับการกระทำของผู้คัดค้านแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าไม่อนุญาตให้ลงโทษผู้คัดค้านมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังขึ้น

         พิพากษากลับเป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องมีคำสั่งลงโทษโดยการลดเงินเดือนผู้คัดค้านร้อยละ ๕ ได้.

(ฤทธิรงค์ สมอุดร – พนารัตน์ คิดจิตต์– วรศักดิ์ จันทร์คีรี)

 

กิตติ เนตรประเสริฐชัย – ย่อ

สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ – ตรวจ