คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2568 บริษัท ร. โจทก์
สำนักงานประกันสังคม จำเลย
พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5
“ค่าจ้าง” ที่จะต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น จะต้องเป็น ค่าจ้าง ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 5 ซึ่ง ค่าจ้าง หมายความว่า
เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในแต่ละวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้มาทำงานด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายในลักษณะใด วิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร แต่หากเป็นการจ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อื่นให้แก่ลูกจ้างย่อมไม่ถือเป็นค่าจ้าง เดิมโจทก์เคยจ่ายค่านั่งเครื่องให้แก่ลูกจ้างตำแหน่งแคชเชียร์เป็นรายเดือน เดือนละ 800 บาท ต่อคน โดยจ่ายเป็นประจำและจำนวนแน่นอน โดยไม่ได้ความว่า โจทก์จ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการหรือเงินจูงใจให้แก่ลูกจ้างแต่อย่างใด ถือว่าการจ่ายค่านั่งเครื่องเป็นรายเดือนให้แก่พนักงานแคชเชียร์ในวันและเวลาทำงานปกติ เป็นค่าจ้างตามความหมายของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 แม้โจทก์ปรับเปลี่ยนการจ่ายค่านั่งเครื่อง โดยยกเลิกการจ่ายรายเดือนเป็นการจ่ายรายวันที่มาทำงานตั้งแต่
2 ชั่วโมงขึ้นไป โดยจำนวน 200 บาท ให้ปรับเข้าไปในฐานเงินเดือน และค่านั่งเครื่องรายวัน
วันละ ๒๕ บาท ตามจำนวนวันที่มาทำงานจริงตั้งแต่ ๒ ชั่วโมงขึ้นไป และหากวันใดพนักงานแคชเชียร์ทำงานไม่ครบ 2 ชั่วโมง หรือถูกพักงาน หรือไม่มาทำงาน หรือโจทก์หยุดกิจการ จะไม่มีสิทธิ์ได้รับค่านั่งเครื่องก็ตาม ก็ยังถือเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในแต่ละวันและเวลาทำงานปกติให้แก่ลูกจ้างตำแหน่งแคชเชียร์เช่นเดิม เพียงแต่จ่ายเงินโดยคำนวณตามชั่วโมงทำงาน ไม่ได้มีลักษณะเป็นการจูงใจให้ลูกจ้างขยันทำงานมากขึ้น จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งโจทก์ผู้เป็นนายจ้างมีหน้าที่ต้องนำค่านั่งเครื่องดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบเพื่อเข้ากองทุนประกันสังคม
(สุจินต์ เชี่ยวชาญศิลป์ - พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น - กัมปนาท วงษ์นรา)
อนุชา กำแหงหาญ - ย่อ
สุทจิ์ธิฎา สุทธิพงศ์คณาสัย - ตรวจ
(คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2126/2565)