คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 293/2567 บริษัท ต. โจทก์
(ประชุมใหญ่) นาย อ. ในฐานะ
พนักงานตรวจแรงงาน จำเลย
นาง ว. จำเลยร่วม
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕
ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๗ วรรคสาม
การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ เนื่องจากเห็นว่าคําสั่งของจําเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยแก่จําเลยร่วมชอบด้วยกฎหมาย จำเลยร่วมมีสิทธิเพียงขอให้ศาลแรงงานกลางสั่งจ่ายเงินที่โจทก์นำมวางไว้ต่อศาลให้แก่จําเลยร่วมได้โดยไม่ต้องบังคับคดีเท่านั้น ตามที่บัญญัติ
ไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๕ วรรคท้าย แต่จําเลยร่วมไม่อาจบังคับคดี
ในส่วนของดอกเบี้ยผิดนัดตามคําสั่งของจําเลยนับแต่วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปที่โจทก์ยังไม่ได้วางไว้ต่อศาลแรงงานกลางได้ ดังนั้น การที่จําเลยร่วมฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่
วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงแปลความได้ว่า จำเลยร่วมประสงค์จะฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จ่ายดอกเบี้ยตามคำสั่งของจำเลยเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่
โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เพื่อก่อให้เกิดสิทธิในการเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของโจทก์ในส่วนนี้หากโจทก์ไม่ชำระ จำเลยร่วมจึงสามารถฟ้องแย้งได้
________________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ที่ 94/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน 2565
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกนางวาศินี ลูกจ้างโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
จำเลยร่วมให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 129,351 บาท นับแต่วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยร่วม
โจทก์และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
และปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด
จำเลยร่วมเป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานเก็บเงิน ได้รับค่าจ้างเดือนละ ๙,๗๔๔ บาท ค่าบริการ
ขั้นต่ำเดือนละ ๔,๕๐๐ บาท ค่าครองชีพเดือนละ ๔๒๕ บาท เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒ โจทก์ให้จำเลยร่วมไปช่วยทำงานที่สถาบัน จ. โดยปรับเพิ่มเงินให้เป็นเบี้ยพิเศษ (ค่าตำแหน่ง) เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท
และค่าเดินทางวันละ ๒๐๐ บาท มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ กำหนดจ่ายค่าจ้าง
ของการทำงานวันที่ ๒๑ ของเดือนก่อนถึงวันที่ ๒๐ ของเดือน ทุกวันสิ้นเดือน ตัดรอบการทำงานวันที่
๒๑ ของเดือน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนมกราคม 2565 มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้กิจการของโจทก์ได้รับผลกระทบไม่มีลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการ
โจทก์จึงไม่จ่ายเงินอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าจ้างให้แก่จำเลยร่วม วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 จำเลยร่วม
ยื่นคำร้องต่อจำเลยว่า โจทก์หักค่าจ้างจำเลยร่วมเพื่อเป็นเงินวันลาหยุดโดยที่จำเลยร่วมไม่ได้หยุดงาน
และโจทก์จ่ายค่าจ้างให้จำเลยร่วมไม่ครบตามข้อตกลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนมกราคม 2565 จำเลยสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 9 ที่ 94/2565 ลงวันที่ 8 เมษายน 2565 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างรวมทั้งสิ้น 129,351 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดจนถึงวันชำระเสร็จสิ้นให้แก่จำเลยร่วมภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง แล้ววินิจฉัยว่า ค่าบริการขั้นต่ำ
เดือนละ 4,500 บาท เป็นเงินที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ใช้บริการแล้วแบ่งเฉลี่ยให้แก่จำเลยร่วมเท่ากันทุกเดือนโดยกำหนดขั้นต่ำที่แน่นอน เป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในวันเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้าง ค่าครองชีพเดือนละ 425 บาท เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยร่วมในอัตราเท่ากันทุกเดือน เพื่อตอบแทนการทำงานในวันเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้าง ค่าตำแหน่ง (หรือที่ตามเอกสารหมาย จ.๕ เรียกว่า เบี้ยพิเศษ) เดือนละ 3,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยร่วมในอัตราที่แน่นอนเท่ากัน
ทุกเดือนเป็นประจำ เพื่อตอบแทนการทำงานในวันเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้าง ค่าเดินทางวันละ
200 บาท โจทก์จ่ายให้จำเลยร่วมเฉพาะวันที่มาทำงานเป็นสวัสดิการ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้าง เมื่อจำเลยร่วมทำงานให้โจทก์ตามปกติระหว่างเดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนมกราคม 2565 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2565
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม
ที่โจทก์อ้างว่า ต้องหักค่าจ้างร้อยละ 10 ระหว่างเดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจาก
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นเหตุให้ต้องหยุดกิจการ แต่การกระทำดังกล่าว
เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างซึ่งไม่เป็นคุณแก่จำเลยร่วม โดยที่จำเลยร่วมไม่ยินยอม ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 76 ที่โจทก์จะมีสิทธิหักค่าจ้าง
ของจำเลยร่วมได้ คำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 ถึงวันที่
20 มกราคม 2565 รวมทั้งสิ้น 129,351 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในระหว่าง
ผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุให้เพิกถอน
ส่วนที่จำเลยร่วมฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 129,351 บาท นับแต่วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วมนั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกดอกเบี้ยซ้ำซ้อนกับที่จำเลยมีคำสั่ง จึงไม่กำหนดให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งที่ 94/2565
ลงวันที่ 8 เมษายน 2565 ของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ค่าบริการขั้นต่ำเดือนละ 4,500 บาท เป็นเงิน
ที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในกิจการของโจทก์เพื่อนำมาแบ่งเฉลี่ยให้แก่จำเลยร่วม
และพนักงานคนอื่น หากแบ่งเฉลี่ยแล้วมียอดต่ำกว่า 4,500 บาท โจทก์จะจ่ายเงินของโจทก์เพิ่มเพื่อให้จำเลยร่วมได้รับไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,500 บาท ค่าบริการจึงเป็นเงินที่จ่ายจำนวนเท่ากันทุกเดือน
เพื่อตอบแทนการทำงานในวันเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ค่าครองชีพเดือนละ 425 บาท เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยร่วมจำนวนเท่ากันทุกเดือน เพื่อตอบแทนการทำงานในวันเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติ
คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ค่าตำแหน่งเดือนละ 3,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้
จำเลยร่วมในอัตราที่แน่นอนเท่ากันทุกเดือน เพื่อตอบแทนการทำงานในวันเวลาทำงานปกติ
จึงเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างเดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนมกราคม 2565 จำเลยร่วมทำงานให้โจทก์ตามปกติ การที่โจทก์จ่ายเฉพาะค่าจ้างส่วนที่เป็นเงินเดือนให้แก่จำเลยร่วมเพียงอย่างเดียว โดยไม่จ่ายค่าบริการ ค่าครองชีพและค่าตำแหน่งที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นว่าเป็นค่าจ้างจึงไม่ชอบ ส่วนการที่โจทก์หักเงินอัตราร้อยละ 10
ของค่าจ้างรายเดือนของจำเลยร่วม โดยอ้างผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยร่วม เมื่อจำเลยร่วม
ไม่ได้ให้ความยินยอมในเรื่องดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจหักค่าจ้างของจำเลยร่วมได้ ที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าบริการ ค่าครองชีพ ค่าตำแหน่ง และค่าจ้างที่โจทก์หักไว้ระหว่างเดือนมีนาคม 2563
ถึงเดือนมกราคม 2565 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่จำเลยร่วมชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยร่วมว่า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องแย้ง
ของจำเลยร่วมนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ เนื่องจากเห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยร่วมชอบด้วยกฎหมาย จำเลยร่วม
มีสิทธิเพียงขอให้ศาลแรงงานกลางสั่งจ่ายเงินที่โจทก์นำมาวางไว้ต่อศาลให้แก่จำเลยร่วมได้โดยไม่ต้องบังคับคดีเท่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 125 วรรคท้าย แต่จำเลยร่วมไม่อาจบังคับคดีในส่วนของดอกเบี้ยผิดนัดตามคำสั่งของจำเลยนับแต่วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปที่โจทก์ยังไม่ได้วางไว้ต่อศาลแรงงานกลางได้ ดังนั้น การที่จำเลยร่วมฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงแปลความได้ว่า จำเลยร่วมประสงค์
จะฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จ่ายดอกเบี้ยตามคำสั่งของจำเลยเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยผิดนัด
นับแต่วันที่โจทก์ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เพื่อก่อให้เกิดสิทธิในการเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของโจทก์ในส่วนนี้หากโจทก์ไม่ชำระ จำเลยร่วมจึงสามารถฟ้องแย้งได้
ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยร่วมโดยอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกดอกเบี้ยผิดนัดซ้ำซ้อนกับคำสั่งของจำเลยนั้นไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์
ของจำเลยร่วมฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 129,351 บาท
ตามฟ้องแย้งของจำเลยร่วมนับแต่วันที่โจทก์ฟ้อง (วันที่ 18 พฤษภาคม 2565) เป็นต้นไปจนกว่า
จะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
(พิเชฏฐ์ รื่นเจริญ - ธีรศักดิ์ เงยวิจิตร - คมสัณห์ รางชางกูร)
ภัทรวรรณ ทรงกำพล – ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ – ตรวจ