คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 581/2567 นาย ด.                                       โจทก์

                                                                  บริษัท ท.                                   จำเลย

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕22 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

         ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมจำเลยกำหนดให้ลูกจ้างทำงาน ๒๑ วัน หยุด ๒๑ วัน  เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ จำเลยเรียกพนักงานตำแหน่งนักบินรวมทั้งโจทก์เข้าประชุม
และแจ้งว่า จะเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานปกติจากเดิมวันทำงาน ๒๑ วัน และหยุด ๒๑ วัน
เป็นวันทำงาน ๒๐ วัน และหยุด ๑๐ วัน และมีการจ่ายเงินพิเศษร้อยละ ๑๐ ของเงินเดือนพื้นฐาน
ให้แก่พนักงาน วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้จัดการ
ฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่า ไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างใหม่และจะยังคงยึดถือ
สภาพการจ้างเดิม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ดำเนินการใดอีกหลังจากนั้น และทำงานตามวันเวลา
ทำงานใหม่จนกระทั่งมาฟ้องคดีนี้เป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง ๖ เดือน พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์
จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานโดยปริยายแล้ว การเปลี่ยนแปลง
วันเวลาทำงานดังกล่าวของจำเลยมีผลใช้บังคับได้
 

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของโจทก์สำหรับวันเวลาทำงานปกติ
ตามสภาพการจ้างเป็นอย่างเดิม คือทำงาน ๒๑ วัน หยุด ๒๑ วัน และสิทธิประโยชน์เดิม
ทุกประการ และให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ๑,๐๗๔,๓๔๙.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา
ร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันผิดนัดของเงินแต่ละจำนวน เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์แถลงว่า ปัจจุบันโจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยแล้ว
ขอสละประเด็นในส่วนที่มีคำขอบังคับจำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเรื่องวันเวลาทำงานปกติ
ให้เป็นอย่างเดิม และประเด็นในส่วนค่าปฏิบัติงานรายวัน 3๑๕,000 บาท คงเหลือค่าทำงานในวันหยุด 759,349.50 บาท

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศที่มีตารางเวลา
เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ครั้งสุดท้ายตำแหน่งนักบิน
เดิมจำเลยกำหนดวันเวลาทำงานปกติให้โจทก์ทำงาน ๒๑ วัน หยุด ๒๑ วัน ภายหลังเปลี่ยนแปลง
วันเวลาทำงานปกติโดยให้โจทก์ทำงาน ๒๐ วัน หยุด ๑๐ วัน โจทก์ไม่เห็นด้วยและทำหนังสือโต้แย้ง
การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าว หลังฟ้องคดีนี้โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างจำเลยโดยถูกเลิกจ้าง แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยกำหนดวันเวลาทำงานไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อวันเวลาทำงานเป็นสภาพการจ้างตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานของจำเลยในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงดังกล่าว หากไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง และลูกจ้างมิได้ให้ความยินยอม
จำเลยจะต้องดำเนินการแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ กำหนดไว้ก่อน ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า เดิมมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดให้ลูกจ้างทำงาน ๒๑ วัน หยุด ๒๑ วัน แม้จะเป็นไปตามเงื่อนไขในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (ฉบับแก้ไขครั้งที่ ๘) ว่า หากจำเป็นนายจ้างสามารถกำหนดวันเวลาทำงานนอกเหนือจากวันเวลาทำงานปกติได้ก็ตาม แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงาน จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง นายจ้างจึงต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
การที่จำเลยประสบปัญหาถูกบริษัทคู่สัญญาลดเที่ยวบิน และต้องปรับสัดส่วนนักบินตามข้อบังคับ
ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แม้จะมีเหตุผลและความจำเป็นที่ทำให้จำเลย
ต้องปรับเปลี่ยนวันเวลาทำงานของลูกจ้างเพื่อให้เหมาะสมกับการให้บริการอากาศยานก็ตาม
แต่จำเลยก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อจำเลยเพียงแต่ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เชิญประชุม และเมื่อถึงวันประชุมก็แจ้งเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มวันทำงาน
และลดวันหยุด อันไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นกรณีที่จำเลยในฐานะนายจ้างกระทำไปฝ่ายเดียว
โดยมิได้ดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามขั้นตอน
ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๘ แม้ลูกจ้างนักบินรวมทั้งโจทก์จะเข้าร่วมประชุม
รับฟังที่จำเลยแจ้งเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานดังกล่าว แต่ต่อมาในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ โจทก์กับพวกก็มีหนังสือโต้แย้งการเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานดังกล่าวนั้น และแม้หลังจากนั้นจำเลยจะจัดให้มี
การประชุมร่วมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนักบินในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยมีการตกลง
จะจ่ายเงินเพิ่มเป็นเงินพิเศษร้อยละ ๑๐ ของเงินเดือนพื้นฐานให้แก่ลูกจ้างนักบินทุกคน และย้อนหลังไปถึงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ แต่การจ่ายเงินเพิ่มดังกล่าวก็ยังไม่สอดคล้องกับวันเวลาทำงานที่เพิ่มขึ้นของลูกจ้าง ส่วนที่จำเลยกล่าวอ้างว่า ที่ประชุมเสียงข้างมากของลูกจ้างให้ความยินยอม จึงมีผลผูกพันลูกจ้างรวมถึงโจทก์ด้วย เมื่อได้ความว่า การเรียกประชุมลูกจ้างดังกล่าวทั้ง ๒๕ คน ปรากฏว่ามีลูกจ้าง ๑๙ คน
ซึ่งเป็นเสียงข้างมากให้ความยินยอม แต่ความยินยอมของลูกจ้างทั้ง ๑๙ คนดังกล่าวไม่มีผลผูกพันโจทก์เนื่องจากไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องอันนำไปสู่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการประชุมในวันดังกล่าว เมื่อจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติงานตามวันเวลาทำงานใหม่ และมีการจ่ายเงินพิเศษร้อยละ ๑๐
ของเงินเดือนพื้นฐานให้แก่โจทก์ โจทก์ก็คงปฏิบัติงานให้แก่จำเลยตลอดมาตั้งแต่วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ แม้จะได้ความว่าในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลย แจ้งว่าไม่สามารถยอมรับข้อตกลงในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและจะยังคง
ยึดถือสภาพการจ้างเดิม แต่ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ดำเนินการใดอีกหลังจากนั้น และมิได้โต้แย้งคัดค้านข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับใหม่ (ฉบับแก้ไขครั้งที่ ๙) แต่อย่างใด โจทก์ยังคงทำงานตามวันเวลาทำงานใหม่จนกระทั่งมาฟ้องคดีนี้เป็นเวลาล่วงเลยมานานถึง ๖ เดือน พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์
จึงเป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานโดยปริยายแล้ว ถือได้ว่าการเปลี่ยนแปลง
วันเวลาทำงานดังกล่าวของจำเลยมีผลใช้บังคับได้ การที่โจทก์ทำงานตามวันเวลาทำงานที่เปลี่ยนแปลงใหม่ในช่วงระยะเวลาตามฟ้องมาโดยตลอด จึงมิใช่เป็นการทำงานในวันหยุด จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าทำงาน
ในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

         ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ในเดือนธันวาคม 2563 จำเลยเลิกจ้างนักบินสัญชาติไทยกว่า 11 คน
และอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อีก 12 คน จำเลยเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานใหม่โดยอ้างว่า
เป็นอำนาจของจำเลย แม้จะเพิ่มเงินพิเศษร้อยละ 10 ของเงินเดือนขั้นพื้นฐาน เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไม่เป็นคุณแก่โจทก์ เป็นโมฆะ ไม่สามารถใช้บังคับกับโจทก์ได้
โจทก์ปล่อยระยะเวลาล่วงเลยมาถึง ๖ เดือน ก็ย่อมอ้างไม่ได้เพราะโจทก์คัดค้านการเปลี่ยนแปลง
วันเวลาทำงานใหม่เรื่อยมา โจทก์ไม่ได้ยินยอมโดยปริยาย ภายหลังจากที่โจทก์ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยแจ้งว่าไม่สามารถยอมรับข้อตกลงในการเปลี่ยนแปลง
สภาพการจ้างแล้ว โจทก์ยังคงทำงานตามสภาพการจ้างเดิม คือ ทำงาน ๒๑ วัน หยุด ๒๑ วัน และโจทก์ไม่ได้ทำงานตามวันเวลาทำงานใหม่ คือ ทำงาน ๒๐ วัน หยุด ๑๐ วัน นั้น อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์.

(สัญชัย  ลิ่มไพบูลย์ – นรพัฒน์  สุจิวรกุล – ชุติมา  รางชางกูร)

วิฑูรย์  ตรีสุนทรรัตน์ - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ - ตรวจ