คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 294/2567    นาย ส.                                  โจทก์

                                                           นาย ป. ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน

                                                                       กับพวก                                 จำเลย

                                                                           

ป.พ.พ. มาตรา 583

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคท้าย, 119 (4) 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ 

         โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่จะนำออกและเป็นผู้มีอำนาจ
ในการอนุมัติโดยลงลายมือชื่อในใบอนุญาตนำสิ่งของออกนอกบริษัท ซึ่งตามระเบียบหรือข้อกำหนดของจำเลยที่ ๒ กำหนดให้มีการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น และโจทก์รับทราบระเบียบ
หรือข้อกำหนดของนายจ้างดังกล่าวเป็นอย่างดีเนื่องจากทำงานกับจำเลยที่ ๒ มานานถึง ๑๖ ปี
และยังคงฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อกำหนดดังกล่าวแทนที่จะควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อกำหนดดังกล่าวซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์หรือทรัพย์สินของนายจ้าง
แต่กลับอนุมัติด้วยวาจาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์นำเศษสายไฟซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ออกจากบริษัท ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ ๒ ในกรณีที่ร้ายแรง
จำเลยที่ ๒ มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่จำต้องมีหนังสือเตือน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า อีกทั้งเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ
ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยที่

 

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

         จำเลยที่ ๑ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานภาค ๒ พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๒ ฟังข้อเท็จจริงว่า
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ ตำแหน่งสุดท้าย I&E Supervisor ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๗๓,๙๒๖ บาท มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานไฟฟ้าและเครื่องมือวัด และมีหน้าที่ตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่จะนำออกและเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติแบบฟอร์มใบอนุญาตนำสิ่งของออกนอกบริษัท วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผล
วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ เนื่องจากการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
เป็นความผิดวินัยร้ายแรงตามหนังสือการบอกเลิกสัญญาจ้างงาน โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑
เพื่อมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ ๑
มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองที่ ๕๖/๒๕๖๖
ว่าจำเลยที่ ๒ เลิกจ้างด้วยสาเหตุโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่จะนำออกและเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติโดยลงลายมือชื่อในแบบฟอร์มใบอนุญาต
นำสิ่งของออกนอกบริษัท เพื่อเป็นหลักฐานให้ตรวจสอบภายหลังได้ โจทก์ย่อมมีหน้าที่โดยตรง
ในการตรวจสอบดูแลรักษาทรัพย์สินของนายจ้างตามวิธีการที่นายจ้างมอบหมาย แต่โจทก์กลับอนุมัติ
ด้วยวาจาให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำหางปลาสายไฟหรือเศษสายไฟซึ่งเป็นทรัพย์สินของนายจ้างออกนอกบริษัทนายจ้าง เพื่อนำออกไปขายและนำเงินมาซื้อน้ำดื่มให้กับทีมซึ่งโจทก์อนุญาตโดยไม่ทักท้วงและไม่มี
การทำใบอนุญาตนำสิ่งของออกนอกบริษัทตามระเบียบหรือข้อกำหนดในการปฏิบัติงาน ประกอบกับโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ ๒ มานาน ๑๖ ปีเศษ ย่อมต้องรู้ระเบียบหรือข้อกำหนดในการปฏิบัติงานเป็นอย่างดี
การอนุญาตด้วยวาจาของโจทก์ทั้งที่ทราบดีว่าต้องทำใบอนุญาตนำสิ่งของออกนอกบริษัท ถือเป็น
การกระทำที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ ไม่ว่าจะมีมูลค่ามากหรือน้อยเพียงใดหรือพนักงานจะนำทรัพย์สินออกไปหรือไม่ และไม่ว่าจะได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ถือว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๑) แล้ว อีกทั้งเมื่อโจทก์มีหน้าที่ความรับผิดชอบ
ในการตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่จะนำออกและเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติโดยลงลายมือชื่อ
ในแบบฟอร์มใบอนุญาตนำสิ่งของออกนอกบริษัท โจทก์ย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบดูแลรักษาทรัพย์สินของนายจ้างตามวิธีการที่นายจ้างมอบหมาย แต่พฤติการณ์ของโจทก์ที่อนุญาตให้พนักงาน
นำทรัพย์สินออกนอกบริษัทด้วยวาจากลับก่อให้เกิดความยุ่งยากในการตรวจสอบดูแลรักษาทรัพย์สิน
ของนายจ้าง จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรงตามมาตรา ๑๑๙ (๔) จำเลยที่ ๒ จึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเป็นกรณีที่ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา ๑๗ วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุ
ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และการที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่
และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยที่ ๒ มีเหตุให้เลิกจ้างโจทก์ดังกล่าว จึงไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ จำเลยที่ ๒
ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ หรือไม่
และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจาก
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยที่ ๒ หรือไม่ เพียงใด โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่โจทก์อนุญาตให้พนักงาน
นำเศษสายไฟซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ นายจ้างออกนอกบริษัทจำเลยที่ ๒ ด้วยวาจายังไม่สมบูรณ์เพราะพนักงานต้องยื่นใบอนุญาตนำสิ่งของออกอีกครั้งหนึ่งก่อนจึงจะเอาเศษสายไฟออกจากบริษัท
จำเลยที่ ๒ ได้ และการที่พนักงานนำเศษสายไฟซึ่งมีมูลค่าน้อยนำออกไปจำหน่ายเพื่อไปซื้อน้ำดื่ม
กลับมาให้พนักงานในทีม โจทก์ไม่ได้รับประโยชน์จากการกระทำดังกล่าวและไม่ได้สมรู้ร่วมคิด
กับพนักงานที่นำเศษสายไฟออกไป มิได้มีเจตนาทุจริตต่อหน้าที่ และการกระทำของตนเป็นความผิดเล็กน้อย จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างทันทีโดยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือ จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยที่ ๒ ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เห็นว่า แม้ศาลแรงงานภาค ๒ อ้างเหตุที่จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้อง
จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทั้งกรณีทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย
และเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรงก็ตาม ซึ่งเพียงแต่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดเพียงกรณีเดียวก็เลิกจ้างโจทก์ได้
โดยไม่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวแล้ว เมื่อศาลแรงงานภาค ๒ ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบ
ในการตรวจสอบรายการทรัพย์สินที่จะนำออกและเป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติโดยลงลายมือชื่อ
ในใบอนุญาตนำสิ่งของออกนอกบริษัท ซึ่งตามระเบียบหรือข้อกำหนดของบริษัทกำหนดให้มีการอนุมัติ
เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ซึ่งได้ความว่าโจทก์รับทราบระเบียบหรือข้อกำหนดของนายจ้างดังกล่าว
เป็นอย่างดีเนื่องจากทำงานกับจำเลยที่ ๒ มาเป็นเวลานาน แต่ยังคงฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อกำหนดดังกล่าวแทนที่จะควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อกำหนดดังกล่าวซึ่งมีวัตถุประสงค์
เพื่อปกป้องผลประโยชน์หรือทรัพย์สินของนายจ้าง แต่กลับอนุมัติด้วยวาจาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์
นำเศษสายไฟซึ่งเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ออกจากบริษัท ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงานของจำเลยที่ ๒ หมวด ๘ เรื่องวินัยและโทษทางวินัยหลายข้อ ข้อ ๘.๑ มาตรฐานวินัย
และความประพฤติ หมวดวินัยเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ ๘.๑.๑ พนักงานต้องปฏิบัติตาม สนับสนุน
และไม่ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนด คำสั่ง มาตรการต่าง ๆ ที่บริษัทกำหนด รวมถึงคำสั่ง
ของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งงานในหน้าที่โดยชอบอย่างเคร่งครัด ข้อ ๘.๑.๒ บริษัทถือว่าเป็นหน้าที่
ความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาทุกคนที่จะต้องควบคุมดูแลพนักงานในสังกัดให้ปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย เพื่อเป็นการป้องกันมิให้พนักงานทำผิดวินัย หรือทำความเสียหายทั้งต่อตนเอง เพื่อนร่วมงานหรือบริษัท และข้อ ๘.๑.๑๘ พนักงานต้องไม่กระทำการใด ๆ หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสนับสนุนบุคคลใด อันเป็น
การกระทำความผิดทางอาญาต่อบริษัท การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) จำเลยที่ ๒ มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่จำ
ต้องมีหนังสือเตือน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และถือว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง
เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยที่ ๒ จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ตามมาตรา ๑๗ วรรคท้าย ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ อีกทั้งเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จำเลยที่ ๒ จะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยที่ ๒
ที่ศาลแรงงานภาค ๒ วินิจฉัยว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรง ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ มานั้น
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า
โจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่นั้นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป

         พิพากษายืน.

(สิงห์ชัย สุพรรณพงษ์ – สุรพงษ์ ชิดเชื้อ – ชนกพรรณ บุญสม)

 

กิตติ  เนตรประเสริฐชัย – ย่อ

สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ – ตรวจ