คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 5602 - 5603/2566 นายธานี ดวงจิตร กับพวก โจทก์
บริษัทวี 2 โลจิสติกส์ จำกัด จำเลย
ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง, 57
โจทก์ทั้งสองตั้งประเด็นในคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานประจำสาขา LNG RY ต่อมาสัญญาดำเนินธุรกิจระหว่างจำเลยกับคู่ค้าสิ้นสุด จำเลยจึงต้องย้ายพนักงานสาขา LNG RY ไปปฏิบัติงานที่สาขากิ่งแก้วหรือสาขาอื่น ๆ ของจำเลย แล้วจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ทั้งสองให้ไปปฏิบัติงานที่สาขากิ่งแก้วหรือสาขาอื่น ๆ ของจำเลย ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยลักษณะของงาน
ทั้งค่าจ้างก็แตกต่างกันมาก ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ที่จะย้ายไปปฏิบัติงานสังกัดหน่วยงานตามที่จำเลยแจ้งมา จึงบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานแก่จำเลย โดยโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งพอเข้าใจได้ว่า
เป็นการเรียกร้องค่าชดเชยพิเศษเนื่องจากการการย้ายสถานประกอบกิจการและค่าชดเชยพิเศษ
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั่นเอง ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญาเช่าพื้นที่สาขา LNG RY ระหว่างจำเลยกับคู่ค้าสิ้นสุด จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ย้ายไปปฏิบัติงานที่สาขากิ่งแก้ว
หรือสาขาอื่น ๆ ของจำเลย การย้ายสถานที่ปฏิบัติงานดังกล่าว เป็นความจำเป็นด้านการบริหาร
งานบุคคล เพื่อให้ธุรกิจของจำเลยดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง และจำเลยสามารถกระทำได้
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทั้งเป็นเพียงการย้ายชื่อสาขาสถานที่ปฏิบัติงาน โดยโจทก์ทั้งสองยังคงปฏิบัติหน้าที่และอยู่ในตำแหน่งเดิมในสถานที่บริเวณเดียวกันกับสาขา LNG RY จึงไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของโจทก์ทั้งสอง ดังนี้ ประเด็นหลักที่ศาลแรงงานภาค ๑ ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่สัญญาดำเนินธุรกิจระหว่างจำเลยกับคู่ค้าสิ้นสุดและจำเลยต้องย้ายโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นพนักงานสาขา LNG RY ไปปฏิบัติงานที่สาขากิ่งแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสาขา LNG RY หรือที่สาขาอื่น ๆ ของจำเลย เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๐ หรือไม่ การที่ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาคดีโดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นหลักก่อน จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานภาค ๑ ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นหลักแห่งคดี
พร้อมเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง อันเป็นกรณีที่ศาลแรงงานภาค ๑ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ (๑) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควร
ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยในประเด็นหลักแห่งคดีให้ถูกต้องและพิพากษาใหม่
______________________________
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้อง
ของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย มีวันเริ่มทำงานและค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน โจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกก๊าซ LNG ประจำสาขา LNG RY ตั้งอยู่เลขที่ ๘๘/๙
หมู่ที่ ๕ ตำบลราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาสัญญาดำเนินธุรกิจระหว่าง
จำเลยกับคู่ค้าจะสิ้นสุดในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ จำเลยจึงต้องย้ายพนักงานสาขา LNG RY
ไปปฏิบัติงานที่สาขากิ่งแก้ว ตั้งอยู่เลขที่และในบริเวณเดียวกันกับสาขา LNG RY หรือไปที่สาขาอื่น ๆ ของจำเลย เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ทั้งสองให้ไปรายงานตัว
เพื่อปฏิบัติงานที่สาขากิ่งแก้วหรือสาขาอื่น ๆ ของจำเลย มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ แต่งาน
ที่ย้ายโจทก์ทั้งสองไปนั้นเป็นงานขนถ่ายก๊าซ NGV วันที่ ๑๕ และวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
โจทก์ทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานแก่จำเลยตามลำดับ จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยไม่เคยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง แล้ววินิจฉัยว่า การขนถ่ายก๊าซ LNG และ NGV
เป็นการประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเชื้อเพลิงตามวัตถุประสงค์
ในการประกอบกิจการของจำเลย การที่คู่ค้าของจำเลยไม่ประสงค์จะต่อสัญญาหรือจำเลยไม่สามารถประมูลงานได้จากคู่ค้าในการให้บริการขนถ่ายก๊าซ LNG อันมีผลให้จำเลยต้องยุบหน่วยงานสาขา LNG RY แต่ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเลิกหรือหยุดการประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเชื้อเพลิง
แม้เดิมโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ขับรถบรรทุกก๊าซ LNG แต่ภายหลังถูกปรับเปลี่ยนให้มาขับรถบรรทุกก๊าซ NGV ตามที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสองโอนย้ายงานไปหน่วยงานสาขากิ่งแก้วหรือสาขาอื่น ๆ ของจำเลย
แสดงว่าจำเลยยังมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งสองทำต่อไป และยังถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างโดยเหตุผลด้านการบริหารงานบุคคลและจัดการภายในองค์กร จะเป็นการกดดันบีบคั้นจนทำให้โจทก์ทั้งสองไม่อาจทนทำงานกับจำเลยต่อไปได้ การที่จำเลยมอบหมายงานให้โจทก์ทั้งสองทำแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองไม่ทำงาน กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญา
จ้างแรงงานและเรียกค่าชดเชยเอาแก่จำเลย ถือว่าโจทก์ทั้งสองมีคำเสนอให้จำเลยเลิกจ้าง
โดยจ่ายค่าชดเชย เมื่อจำเลยไม่สนองรับคำเสนอโดยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง กรณีฟังได้ว่าจำเลยมิได้
เลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสอง
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า การที่สัญญาดำเนินธุรกิจ (สัญญาเช่าพื้นที่สาขา LNG RY) ระหว่างจำเลยกับคู่ค้าสิ้นสุด จำเลยต้องย้ายพนักงานสาขา LNG RY ไปปฏิบัติงาน
ที่สาขากิ่งแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสาขา LNG RY หรือที่สาขาอื่น ๆ ของจำเลย เป็นการย้าย
สถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๐ หรือไม่ เห็นว่า
โจทก์ทั้งสองตั้งประเด็นในคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองปฏิบัติงานประจำสาขา LNG RY ต่อมาสัญญา
ดำเนินธุรกิจระหว่างจำเลยกับคู่ค้าสิ้นสุด จำเลยจึงต้องย้ายพนักงานสาขา LNG RY ไปปฏิบัติงาน
ที่สาขากิ่งแก้วหรือสาขาอื่น ๆ ของจำเลย แล้วจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ทั้งสองให้ไปปฏิบัติงานที่สาขากิ่งแก้วหรือสาขาอื่น ๆ ของจำเลย ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยลักษณะของงาน ทั้งค่าจ้างก็แตกต่างกันมาก
ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย โจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ที่จะย้ายไปปฏิบัติงานสังกัดหน่วยงานตามที่จำเลยแจ้งมา จึงบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานแก่จำเลย โดยโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชย
และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเป็นการเรียกร้องค่าชดเชยพิเศษเนื่องจาก
การการย้ายสถานประกอบกิจการและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั่นเอง ส่วนจำเลย
ให้การต่อสู้ว่า สัญญาเช่าพื้นที่สาขา LNG RY ระหว่างจำเลยกับคู่ค้าสิ้นสุด จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ย้ายไปปฏิบัติงานที่สาขากิ่งแก้วหรือสาขาอื่น ๆ ของจำเลย การย้ายสถานที่ปฏิบัติงานดังกล่าว
เป็นความจำเป็นด้านการบริหารงานบุคคล เพื่อให้ธุรกิจของจำเลยดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง
และจำเลยสามารถกระทำได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทั้งเป็นเพียงการย้ายชื่อสาขาสถานที่ปฏิบัติงาน โดยโจทก์ทั้งสองยังคงปฏิบัติหน้าที่และอยู่ในตำแหน่งเดิมในสถานที่บริเวณเดียวกันกับสาขา LNG RY จึงไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของโจทก์ทั้งสอง ดังนี้ ประเด็นหลักที่ศาลแรงงานภาค ๑
ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่สัญญาดำเนินธุรกิจระหว่างจำเลยกับคู่ค้าสิ้นสุดและจำเลยต้องย้ายโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นพนักงานสาขา LNG RY ไปปฏิบัติงานที่สาขากิ่งแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสาขา LNG RY หรือที่สาขาอื่น ๆ ของจำเลย เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๒๐ หรือไม่ การที่ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาคดีโดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นหลักก่อน ซึ่งหากวินิจฉัยว่าเป็นการย้ายสถานประกอบกิจการ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษเนื่องจากการการย้ายสถานประกอบกิจการและค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ เพียงใด โดยคดีจะไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีก เพราะไม่มีกรณีจำเลย
เลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง แต่หากวินิจฉัยว่าไม่เป็นการย้ายสถานประกอบกิจการ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองหรือไม่ และต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
และชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด จึงเป็นการที่ศาลแรงงานภาค ๑
ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นหลักแห่งคดีพร้อมเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง อันเป็นกรณี
ที่ศาลแรงงานภาค ๑ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๑) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจหยิบยก
ขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยในประเด็นหลักแห่งคดี
ให้ถูกต้องและพิพากษาใหม่ ในชั้นนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๑ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีที่ยังไม่ได้วินิจฉัยก่อน แล้วพิพากษาใหม่ต่อไป.
(ไพรัช โปร่งแสง – อนุวัตร ขุนทอง – ปณิธาน วิสุทธากร)
พรรณทิพย์ วัฒนกิจการ - ย่อ
เกริกเกียรติ พุทธสถิตย์ - ตรวจ