คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 142/2566 บริษัทกามาคัตสึ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โจทก์
(ประชุมใหญ่) คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กับพวก จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๐
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗
การที่จะถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้น
ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็นการประนีประนอมยอมความนั้น จะต้องได้ความว่าในขณะที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้เป็นคู่สัญญารู้ถึงสิทธิของตนอย่างครบถ้วน
ในอันที่จะเรียกร้องจากอีกฝ่ายตามกฎหมายหรือข้อผูกพันระหว่างกัน แล้วยังสมัครใจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ใบรับเงินตอนท้ายระบุว่า จำเลยที่ ๒ รับรองความจริงว่าถูกโจทก์เลิกจ้างจากการกระทำผิดวินัยร้ายแรงฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามหนังสือเลิกจ้าง
ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ และไม่ติดใจเรียกร้อง ฟ้องร้องโจทก์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอีกต่อไป รวมทั้งไม่ติดใจฟ้องร้องเรียกสิทธิต่าง ๆ ส่วนเงินค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ จำเลยที่ ๒ ได้รับครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่ในใบรับเงินดังกล่าวตอนต้นระบุเพียงว่า จำเลยที่ ๒ ได้รับค่าจ้างงวดวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ เป็นเงิน ๘,๘๗๖.๕๐ บาท ซึ่งเป็นสิทธิ
ของจำเลยที่ ๒ ที่จะได้รับจากการทำงานให้แก่โจทก์ก่อนถูกเลิกจ้าง และโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๒ อยู่แล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ รู้ถึงซึ่งสิทธิของตน
อย่างครบถ้วนในอันที่จะเรียกร้องจากโจทก์ตามกฎหมาย แล้วยังสมัครใจทำสัญญาประนีประนอม
ยอมความ รวมทั้งมิได้มีข้อความใดที่โจทก์ตกลงยินยอมผ่อนผันหรือให้สิทธิประโยชน์อื่นใด
แก่จำเลยที่ ๒ นอกเหนือจากค่าจ้างค้างชำระดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่มีลักษณะเป็นการต่างระงับ
ข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๐ อีกทั้งใบรับเงินดังกล่าวตามวรรคแรกได้ระบุว่า จำเลยที่ ๒ ได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวจากโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ถูกเลิกจ้างโดยมีข้อความว่า “อ้างอิงตามหนังสือเลิกจ้างลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓” ใบรับเงินนี้จึงเป็นผลมาจากการเลิกจ้างตามหนังสือเลิกจ้างดังกล่าว ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวตอนท้าย มีข้อความระบุว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๒ โดยจะไม่จ่ายเงินโดยกำหนดเฉพาะเงินตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๔๑ และ ป.พ.พ. บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ จ้างแรงงาน เท่านั้น โดยมิได้มีข้อความอันชัดแจ้ง
หรืออาจแปลได้ว่าจำเลยที่ ๒ สละสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้จากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของโจทก์ซึ่งเป็นเงินตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วยแต่อย่างใด อีกทั้งข้อความ
ในใบรับเงินดังกล่าวยังเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอีกด้วยเนื่องจากจำเลยที่ ๒ มิได้กระทำ
ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง จึงเป็นการแสดงถึงเจตนาที่ไม่สุจริตของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ ๒ เข้าตกลงทำใบรับเงินที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการสละสิทธิตามที่ปรากฏ
อยู่ในวรรคสองของใบรับเงินดังกล่าว ข้อตกลงสละสิทธิดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับได้แต่อย่างใด นอกจากนี้ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๓ หลังจากจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในใบรับเงินแล้วเมื่อวันที่
๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ เพียง ๔ วัน จำเลยที่ ๒ ได้ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ กล่าวหาโจทก์เกี่ยวกับ
การกระทำอันไม่เป็นธรรมที่จำเลยที่ ๒ ถูกโจทก์เลิกจ้างดังกล่าวในทันที แสดงว่าจำเลยที่ ๒
ยังคงติดใจที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ต่อไป
หาได้มีเจตนาสละสิทธิตามกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ จึงยังมีสิทธิฟ้องร้องบังคับ
เรียกค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของโจทก์ได้
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๑๕๙/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๓
และให้บังคับจำเลยที่ ๒ คืนค่าเสียหาย ๓๔,๕๕๔ บาท แก่โจทก์ภายใน ๓ วัน หากไม่ชำระในกำหนด
ให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๑๕๙/๒๕๖๓ ลงวันที่
๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ และให้จำเลยที่ ๒ จ่ายเงิน ๓๔,๕๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๓) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๔ และอัตรา
ร้อยละ ๕ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้
อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗ ที่แก้ไขใหม่ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๑ เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งพนักงานฝ่ายผลิต เงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๐,๑๑๘ บาท ค่าครองชีพเดือนละ ๑,๔๐๐ บาท เบี้ยขยันเดือนละ
๕๐๐ ถึง ๘๐๐ บาท และค่าอาหารวันละ ๔๐ บาท วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑ จำเลยที่ ๒ สมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกามาคัตสึ นวนคร แต่ไม่มีบทบาทในสหภาพแรงงาน วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ สหภาพแรงงานกามาคัตสึ นวนคร ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง มีการเจรจาตกลงกันได้และทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่
๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๒ ออกไปจาก
ที่ทำงานโดยไม่เขียนใบขออนุญาต ต่อมาเวลา ๑๓.๒๐ นาฬิกา จำเลยที่ ๒ โทรศัพท์มาแจ้ง
หัวหน้างานว่าไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ทันเวลาและกลับมาทำงานเวลา ๑๔ นาฬิกา
โจทก์ออกหนังสือเตือนจำเลยที่ ๒ ฉบับลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ ว่าละทิ้งหน้าที่การงาน จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อรับทราบคำเตือนแล้ว วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๒ จำเลยที่ ๒ ยื่นใบลากิจเพื่อไป
งานบวชเพื่อนในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ แต่นายไดสึเกะ ผู้ดูแลการผลิตไม่อนุญาต จำเลยที่ ๒ ทราบแล้ว
แต่ละทิ้งหน้าที่การงานไปทำให้โจทก์ต้องหยุดการผลิตในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ โจทก์เรียกจำเลยที่ ๒
ไปพบในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ พร้อมมีหนังสือเตือนการขาดงานวันดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อรับทราบหนังสือเตือนแล้ว วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ จำเลยที่ ๒ โทรศัพท์แจ้งหัวหน้างานว่า
ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้มในคืนวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ขอลาป่วย หัวหน้างานอนุญาต ต่อมาวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ จำเลยที่ ๒ ไม่มาทำงานและไม่แจ้งขอลางาน จำเลยที่ ๒
กลับมาทำงานวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓ พร้อมยื่นใบรับรองแพทย์โรงพยาบาลการุญเวช ปทุมธานี ระบุให้หยุดงาน ๒ วัน โจทก์มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ ๒ ในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ หยุดงานวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งที่เคยตักเตือนเป็นหนังสือแล้วเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ และวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ ถือเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน โดยให้มีผล
เป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ ใบรับเงินลงวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ มีข้อความว่า
จำเลยที่ ๒ ได้รับค่าจ้างงวดวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ จำนวน ๘,๘๗๖.๕๐ บาท และยอมรับว่าถูกโจทก์เลิกจ้างเนื่องจากกระทำผิดวินัยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ติดใจเรียกร้อง ฟ้องร้องโจทก์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอีกต่อไป รวมทั้ง
ไม่ติดใจฟ้องร้องเรียกสิทธิต่าง ๆ ส่วนค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ จำเลยที่ ๒ ได้รับครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ และวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๓๔,๕๕๔ บาท แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๒ ออกไปจากที่ทำงาน
ในวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๒.๓๐ นาฬิกา แต่ไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ทันเวลางาน
เป็นการละทิ้งหน้าที่ในเวลางาน และการที่จำเลยที่ ๒ ขออนุญาตลากิจในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ โจทก์ไม่อนุญาต แต่จำเลยที่ ๒ ไม่มาทำงานวันดังกล่าว จึงเป็นการขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร
อันเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาหนึ่งวันทำงาน ส่วนการที่จำเลยที่ ๒ ไม่มาทำงานในวันที่ ๒๒ และวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ล้มและยื่นใบรับรองแพทย์ที่ลงความเห็นว่าให้พักงาน ๒ วัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ มีอาการเจ็บป่วยจริง มิใช่การละทิ้งหน้าที่เหมือนเช่นการละทิ้งหน้าที่เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๒ และวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๒ ตามลำดับ ไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนที่โจทก์สามารถเลิกจ้างจำเลยที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ (๓) หรือมีเหตุอันสมควรให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๒ ได้ แต่การที่จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในใบรับเงิน มีข้อความระบุถึงการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๒ เพราะจำเลยที่ ๒ กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และข้อความย่อหน้าถัดไปซึ่งแยกออกจากเรื่องค่าจ้างว่า จำเลยที่ ๒ รับข้อเท็จจริงทุกประการและไม่ติดใจเรียกร้อง ฟ้องร้องโจทก์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอีกต่อไป รวมทั้ง
ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องต่าง ๆ แสดงว่าจำเลยที่ ๒ ทราบการเลิกจ้างเป็นหนังสือ โดยได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย และจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อภายหลังจากโจทก์เลิกจ้าง ข้อตกลงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ของประชาชน มีลักษณะต่างระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ จำเลยที่ ๒ ไม่มีสิทธิฟ้องร้องบังคับเรียกค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมได้อีก ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๒ คืนเงินตามคำสั่งดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๒ คืนเงินตามคำสั่งดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางหรือไม่ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่จะถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็น
การประนีประนอมยอมความ ซึ่งจะมีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายยอมสละนั้นระงับสิ้นไป
และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าเป็นของตนนั้น จะต้องได้ความว่าในขณะที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้เป็นคู่สัญญารู้ถึงสิทธิของตนอย่างครบถ้วน
ในอันที่จะเรียกร้องจากอีกฝ่ายตามกฎหมายหรือข้อผูกพันระหว่างกัน แล้วยังสมัครใจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ใบรับเงินตอนท้ายระบุว่า จำเลยที่ ๒ รับรองความจริงว่าถูกโจทก์เลิกจ้างจากการกระทำผิดวินัยร้ายแรงฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามหนังสือเลิกจ้าง ลงวันที่
๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ และไม่ติดใจเรียกร้อง ฟ้องร้องโจทก์ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอีกต่อไป
รวมทั้งไม่ติดใจฟ้องร้องเรียกสิทธิต่าง ๆ ส่วนค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ จำเลยที่ ๒
ได้รับครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่ในใบรับเงินดังกล่าว ตอนต้นระบุเพียงว่า จำเลยที่ ๒ ได้รับค่าจ้างงวดวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓ เป็นเงิน ๘,๘๗๖.๕๐ บาท ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยที่ ๒
ที่จะได้รับจากการทำงานให้แก่โจทก์ก่อนถูกเลิกจ้าง และโจทก์ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๒ อยู่แล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ รู้ถึงซึ่งสิทธิของตนอย่างครบถ้วนในอันที่จะเรียกร้องจากโจทก์ตามกฎหมาย แล้วยังสมัครใจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ รวมทั้งมิได้มีข้อความใด
ที่โจทก์ตกลงยินยอมผ่อนผันหรือให้สิทธิประโยชน์อื่นใดแก่จำเลยที่ ๒ นอกเหนือจากค่าจ้างค้างชำระดังกล่าวเท่านั้น จึงไม่มีลักษณะเป็นการต่างระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จ
ไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน อันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ อีกทั้งใบรับเงินดังกล่าวตามวรรคแรกได้ระบุว่าจำเลยที่ ๒ ได้รับค่าจ้างดังกล่าวจากโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ถูกเลิกจ้างโดยมีข้อความว่า “อ้างอิงตามหนังสือเลิกจ้างลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๓” ใบรับเงินนี้จึงเป็นผลมาจากการเลิกจ้างตามหนังสือเลิกจ้างดังกล่าว
ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือเลิกจ้างดังกล่าวตอนท้าย มีข้อความระบุว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๒
โดยจะไม่จ่ายเงินโดยกำหนดเฉพาะเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ จ้างแรงงาน เท่านั้น โดยมิได้มีข้อความอันชัดแจ้ง
หรืออาจแปลได้ว่าจำเลยที่ ๒ สละสิทธิที่จะเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้จากการกระทำอันไม่เป็นธรรม
ของโจทก์ซึ่งเป็นเงินตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วยดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแต่อย่างใด อีกทั้งข้อความในใบรับเงินดังกล่าวยังเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงอีกด้วยเนื่องจากจำเลยที่ ๒ มิได้กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงตามที่โจทก์กล่าวอ้างไว้ในวรรคแรกของใบรับเงินดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นการแสดงถึงเจตนาที่ไม่สุจริตของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ ๒
เข้าตกลงทำใบรับเงินที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการสละสิทธิตามที่ปรากฏอยู่ในวรรคสองของใบรับเงินดังกล่าว ข้อตกลงสละสิทธิดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับได้แต่อย่างใด นอกจากนี้ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๓ หลังจากจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในใบรับเงินแล้วเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ เพียง ๔ วัน จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ กล่าวหาโจทก์เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่จำเลยที่ ๒ ถูกโจทก์เลิกจ้างดังกล่าวในทันที แสดงว่าจำเลยที่ ๒ ยังคงติดใจที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ตามกฎหมาย
แรงงานสัมพันธ์ต่อไป หาได้มีเจตนาสละสิทธิค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามใบรับเงินดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ จึงยังมีสิทธิฟ้องร้องบังคับเรียกค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของโจทก์ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ ไม่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนที่โจทก์สามารถเลิกจ้างจำเลยที่ ๒ ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘
มาตรา ๑๒๓ (๓) หรือมีเหตุอันสมควรให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๒ ได้ การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๒
จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๒
จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๒ คืนเงินตามคำสั่งดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยมานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยมติที่ประชุมใหญ่ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.
(ปณิธาน วิสุทธากร - วิโรจน์ ตุลาพันธุ์ - ไพรัช โปร่งแสง)
มนุเชษฐ์ โรจนศิริบุตร - ย่อ
อิสรา วรรณสวาท - ตรวจ