คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 3446/2566  การประปาส่วนภูมิภาค               โจทก์

                                                                     นายวุฒิพงศ์  โนนศรีชัย กับพวก    จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 193/12, 193/30, 448 วรรคหนึ่ง

พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 10 วรรคสอง

         โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ รับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือ วันที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๒ และมาตรา ๑๙๓/๓๐ ส่วนฟ้องในมูลละเมิดนั้น แม้มาตรา ๑๐ วรรคสอง
แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่เป็นกฎหมายพิเศษจะบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่า “สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง
ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึง
ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด
แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง” อันเป็นการขัดหรือแย้งกับมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ที่เป็นกฎหมายทั่วไป จึงมีผลเป็นการยกเว้นมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด
ขาดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่ไม่มีผลยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง ในส่วนที่กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันทำละเมิด เมื่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การต่อสู้ว่า โจทก์เห็นแบบแปลนเพื่อขออนุมัติเงินงบประมาณตามระเบียบในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔  ถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่มีการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและทำละเมิด หากนับถึงวันฟ้อง
เป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๒  มาตรา ๑๙๓/๓๐ และมาตรา ๔๔๘

______________________________

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหาย ๑๒,๙๖๘,๕๑๔.๓๕ บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๗,๘๑๗,๒๕๐ บาท และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔
ชดใช้ค่าเสียหายคนละ ๑,๘๕๒,๖๔๔.๙๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๑๑๖,๗๕๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์

         จำเลยที่ ๑ ขาดนัด

         จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานภาค ๔ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหาย ๑๒,๙๖๘,๕๑๔.๓๕ บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๗,๘๑๗,๒๕๐ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่
๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๔) และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ชดใช้ค่าเสียหายคนละ ๓๙๐,๘๖๒.๕๐ บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๔ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ การคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ นั้น ให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาที่กระทรวงการคลังพิจารณาบวกอัตราเพิ่มร้อยละ ๒ ต่อปีได้ แต่เมื่อ
บวกเพิ่มแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ ๕ ต่อปี

         จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๔ ฟังข้อเท็จจริงว่า
โจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นพนักงานโจทก์ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่า โรงสูบน้ำดิบของโจทก์สาขาขอนแก่น ก่อสร้าง
แล้วเสร็จตามสัญญาเลขที่ กปภ.ข.๖/๒๐๓/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๔ ไม่สามารถใช้งานได้
ตามวัตถุประสงค์ของโครงการสืบเนื่องจากในขั้นตอนการออกแบบได้กำหนดระดับความสูง
ของพื้นอาคารโรงสูบน้ำดิบอยู่สูงกว่าระดับเก็บกักน้ำปกติ ส่วนในขั้นตอนการก่อสร้างผู้เกี่ยวข้อง
ก็มิได้แก้ไขแบบแปลนแต่อย่างใดทั้งที่รู้ว่าระดับพื้นอาคารโรงสูบน้ำดิบใหม่อยู่สูงกว่าพื้นโรงสูบน้ำดิบเดิม เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงาน โรงสูบน้ำดิบใหม่จึงไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์
ของการก่อสร้าง และไม่มีการแก้ไขเพื่อให้ใช้งานได้แต่อย่างใด โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการ
สอบข้อเท็จจริงขึ้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงสอบปากคำพยานบุคคลและตรวจสอบเอกสาร
ที่เกี่ยวข้องแล้วเชื่อว่ามีมูลจริง โจทก์จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย (ไม่ร้ายแรง)
และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งในส่วนความรับผิดทางละเมิด คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีความรู้
และประสบการณ์ในการสำรวจ จำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่สำรวจออกแบบ และเป็นผู้รับผิดชอบโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากหน่วยงานภายนอก (กรมชลประทาน)
ลดระดับน้ำดิบในลำน้ำพองบริเวณสถานีสูบน้ำแรงต่ำหนองหิน ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำผลิต
ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้รับมอบหมายให้ร่วมสำรวจกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ กำหนดคุณสมบัติของโรงสูบน้ำดิบเป็นแบบชนิดบ่อแห้ง และกำหนดให้รางชักน้ำอยู่ที่ระดับท้องแม่น้ำ แต่ในการสำรวจ
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ กำหนดจุดหาค่าระดับท้องแม่น้ำที่ตำแหน่งห่างจากจุดก่อสร้างจริง ๒๐ เมตร
การสำรวจออกแบบก่อสร้างไม่เป็นไปตามหลักวิชาชีพ คือ ไม่ได้ตรวจสอบให้ทั่วบริเวณที่จะทำ
การก่อสร้าง จุดสำรวจตรวจสอบวัดค่าระดับน้ำหย่อนไม้สต๊าฟ (Staff) ต้องมีมากกว่า ๓ จุด ไม่มี
การสำรวจสอบทานระหว่างโรงสูบน้ำเก่าและโรงสูบน้ำที่จะสร้างใหม่เปรียบเทียบกัน ไม่ได้สำรวจ
โดยใช้วิธี Cross Section (รูปตัดแม่น้ำตามขวางออกเป็นหลาย ๆ แนว) ในบริเวณที่จะก่อสร้างโรงสูบน้ำ
แม้จุดสำรวจหาค่าระดับท้องแม่น้ำจะอยู่ในแม่น้ำเดียวกันกับจุดก่อสร้างรางชักน้ำ แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ อยู่ในวิสัยที่อาจคาดได้ว่าระดับท้องแม่น้ำที่สำรวจห่างจากจุดก่อสร้าง ๒๐ เมตร การสำรวจจะได้
ค่าระดับที่คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง ซึ่งค่าระดับท้องแม่น้ำเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ออกแบบจะต้อง
นำมาพิจารณาประกอบการออกแบบโรงสูบน้ำดิบหนองหิน (ใหม่) เมื่อนำค่าระดับการสำรวจดังกล่าว
ไปใช้ในการออกแบบ โดยไม่นำค่าระดับน้ำต่ำสุด – สูงสุด และค่าระดับของรางชักน้ำโรงสูบน้ำดิบ
หนองหิน (เดิม) มาพิจารณาประกอบการออกแบบ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ เกิดปัญหารางชักน้ำ
อยู่สูงกว่าท้องแม่น้ำ ๑.๒๐ เมตร และอยู่สูงกว่ารางชักน้ำโรงสูบน้ำดิบหนองหิน (เดิม) ๓ เมตร ทำให้
ท่อทางดูดของปั๊มน้ำอยู่สูงกว่าระดับน้ำ น้ำไม่เข้ารางชักน้ำ โรงสูบน้ำดิบหนองหิน (ใหม่) ไม่สามารถ
ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเกิดจากขั้นตอนการสำรวจและออกแบบ และยังไม่สามารถแก้ไขให้ใช้งานได้ตามปกติ โครงการดังกล่าวจัดจ้างเป็นเงิน ๔๑,๗๔๗,๖๖๓.๕๕ บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) การที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการไม่อาจแยกส่วน
ของความเสียหายได้ ต่อมากระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย๔๔,๖๗๐,๐๐๐ บาท เมื่อหักส่วนความบกพร่องของระบบดำเนินการโครงการในอัตราร้อยละ ๕๐
ของความเสียหายแล้ว คงเหลือความเสียหาย ๒๒,๓๓๕,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การต่อสู้
อ้างว่าโจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑๐ ปี นับแต่วันทำละเมิดและกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์เรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ นับแต่วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕ อันเป็นวันที่คณะกรรมการตรวจการจ้างรับงานงวดสุดท้าย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีหน้าที่ร่วมกันในการสำรวจและออกแบบ
การก่อสร้างโรงสูบน้ำดิบหนองหิน (ใหม่) แต่มิได้ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง เป็นการกระทำ
โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔
กระทำละเมิดต่อโจทก์ในการปฏิบัติหน้าที่ และต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น จำเลยที่ ๑
เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เห็นสมควรให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร้อยละ ๓๕ ของความเสียหายที่หักส่วนความบกพร่องของระบบดำเนินการแล้ว คิดเป็นเงิน ๗,๘๑๗,๒๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔
ตามภาระหน้าที่และพฤติการณ์ยังไม่พอฟังว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงมากนัก เห็นสมควรให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร้อยละ ๑๕ ของความเสียหาย ๗,๘๑๗,๒๕๐ บาท
โดยให้รับผิดคนละส่วนเท่า ๆ กัน คิดเป็นเงินคนละ ๓๙๐,๘๖๒.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัด โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติความรับผิด
ทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
ในมาตรา ๑๐ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยกอายุความเรื่องหนึ่งขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่ได้ความเป็นเรื่องอื่น ถือว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุ
ยกฟ้องไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๒๙ ดอกเบี้ยค้างชำระที่เกิดจาก
มูลละเมิดมีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓
โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยค้างชำระจากจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้เพียง ๕ ปี นับถึงวันฟ้อง ส่วนดอกเบี้ย
ค้างชำระก่อนหน้านั้นขาดอายุความ

         มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค ๔
ครบทุกประเด็นแห่งคดีหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๒
ถึงที่ ๔ กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอย่างเดียว แต่โจทก์บรรยายระบุชัดเจน
ในคำฟ้องว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดต่อโจทก์
อันเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ รับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่อง
ผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี นับแต่วันที่
อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือ วันที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๒ และมาตรา ๑๙๓/๓๐ ส่วนฟ้องในมูลละเมิดนั้น
แม้มาตรา ๑๐ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙
ที่เป็นกฎหมายพิเศษจะบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่า “สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ทั้งสองประการตามวรรคหนึ่ง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และกรณีที่หน่วยงานของรัฐเห็นว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องรับผิด แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องรับผิด ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีกำหนด
อายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง” อันเป็นการ
ขัดหรือแย้งกับมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เป็นกฎหมายทั่วไป
จึงมีผลเป็นการยกเว้นมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความ ๑ ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่ไม่มีผลยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๔๔๘ วรรคหนึ่ง ในส่วนที่กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันทำละเมิด เมื่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การต่อสู้ว่า โจทก์เห็นแบบแปลนเพื่อขออนุมัติเงินงบประมาณตามระเบียบในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ ถือว่า
วันดังกล่าวเป็นวันที่มีการผิดสัญญาจ้างแรงงานและทำละเมิด หากนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๒ มาตรา ๑๙๓/๓๐ และมาตรา ๔๔๘ อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้คำฟ้องของโจทก์แล้ว
ซึ่งศาลแรงงานภาค ๔ ได้จดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง การที่ศาลแรงงานภาค ๔ วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยกอายุความเรื่องหนึ่งขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่ได้ความเป็นเรื่องอื่น ถือว่าจำเลยที่ ๒
ถึงที่ ๔ ไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๒๙ เท่ากับศาลแรงงานภาค ๔ ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับอายุความ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค ๔ จึงไม่ครบทุกประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒
ถึงที่ ๔ ฟังขึ้น ชอบที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๔ เสีย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ (๑) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗

         พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๔ ให้ย้อนสำนวนไปยังศาลแรงงานภาค ๔
เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

(ไพรัช  โปร่งแสง – อนุวัตร  ขุนทอง – ปณิธาน  วิสุทธากร)

 

                                วิฑูรย์  ตรีสุนทรรัตน์  -  ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์  -  ตรวจ