คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1091/2567    นาย ว.                                 โจทก์

                                                                                 นาย ต. กับพวก                        จำเลย

 

ป.อ. มาตรา 274

พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรคสอง, 109, 110

            จำเลยที่ 1 สร้างเหรียญกอร์กอน เมดูซา ในฐานะที่เป็นเครื่องรางของขลัง มิได้นำมาใช้
อย่างเครื่องหมายการค้า อีกทั้งเหรียญของจำเลยทั้งสองมีการปลุกเสกโดยจำเลยที่ 1 มาก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การเสนอจำหน่ายเหรียญกอร์กอน
ของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลอันเป็นความผิด

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๘๓, ๒๗๔ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๙

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์มีมูลอันเป็นความผิด
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๙ หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๙ บัญญัติว่า “บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้ว
ในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้นต้องระวางโทษ...” และมาตรา ๔ บัญญัติว่า เครื่องหมายการค้า หมายความว่า เครื่องหมายที่ใช้หรือจะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองจะมีมูลความผิดตามมาตรา ๑๐๙ พยานหลักฐานของโจทก์จะต้องมีมูลเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ คือมีเจตนา
ที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมาย
ที่ทำเลียนขึ้นนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อเปรียบเทียบเหรียญโลหะกอร์กอนของโจทก์
กับเหรียญโลหะกอร์กอนของจำเลยทั้งสอง ที่โจทก์นำสืบกล่าวอ้างว่ามีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว เหรียญโลหะกอร์กอนทั้งของโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างมีลักษณะเป็นเหรียญรูปวงกลม ด้านหน้าเป็นรูปประดิษฐ์หัวคนขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ด้านหน้าของเหรียญโลหะ
คล้ายกับรูปหัวคนที่โจทก์จดทะเบียนใช้เป็นเครื่องหมายการค้า ด้านหลังเหรียญโลหะกอร์กอนของโจทก์
มีลักษณะเป็นแผ่นโลหะเรียบและมีเครื่องหมายการค้ารูปหัวคนขนาดเล็กอยู่ตรงกลางเหรียญ ส่วนด้านหลังเหรียญโลหะกอร์กอนของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นรูปประดิษฐ์อักขระคล้ายยันต์ขนาดใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ด้านหลังของเหรียญโลหะ โดยไม่ปรากฏเครื่องหมายการค้ารูปหัวคนของโจทก์ประทับที่ด้านหลัง
ของเหรียญเหมือนกับของโจทก์ ส่วนเนื้อหาการโฆษณาที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยทั้งสองโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก
ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งใช้ชื่อว่า “อ. คมขมังเวท” มีรายละเอียดว่า “พระองค์ครู ไตรเทพ ไกรงู ล้อมรอบด้วยพระคาถาศักดิ์สิทธิ์ มงกุฎพระพุทธเจ้าอันโบราณจารย์ถือว่าเป็นพ่อแม่แห่งพระคาถาที่มีอานุภาพครอบจักรวาล สนใจสอบถามรายละเอียดและสั่งจองได้ที่ ... พร้อมโพสต์ภาพเหรียญโลหะกอร์กอน
ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง นอกจากนี้มีการโพสต์ข้อความพร้อมตัวอย่างเหรียญด้านหน้าและด้านหลัง
ว่าเหรียญกอร์กอนเมดูซ่า เทพปีศาจผู้มีอิทธิฤทธิ์อัศจรรย์ ... แม้ทวยเทพทั้งหลายก็ต้องหลีกลี้ ภูตผีเกรงกลัว ... และยังมีภาพของจำเลยที่ ๑ ประกอบการโฆษณาในลักษณะผู้มีอาคมทำพิธีปลุกเสกเหรียญกอร์กอน
เป็นภาพโฆษณาจำหน่ายเหรียญกอร์กอนเครื่องรางนานาชาติ ...” ความข้อนี้โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองรับว่า โจทก์เห็นจำเลยทั้งสองเสนอจำหน่ายเหรียญกอร์กอนผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน
เฟซบุ๊ก และยูทูบ โดยภาพที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.๒ แผ่นที่ ๑๒ และภาพตามเอกสารหมาย ล.๑
ซึ่งระบุวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ นั้นน่าจะเป็นคลิปเดียวกันกับที่ลงในยูทูบ และรับว่าโจทก์รู้จัก
ช่องยูทูบที่ชื่อว่า “ไตรเทพ” ตามที่ปรากฏในสำเนาภาพ เอกสารหมาย ล.๕ ซึ่งเป็นภาพการสัมภาษณ์
จำเลยที่ ๑ ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ และรับว่าโจทก์เคยดูคลิปเกี่ยวกับเหรียญกอร์กอน
ของจำเลยที่ ๑ ตามสำเนาภาพ เอกสารหมาย ล.๖ ซึ่งระบุวันที่เผยแพร่คลิป คือวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เมื่อพิจารณาคำอธิบายประกอบภาพจำเลยที่ ๑ และเหรียญกอร์กอน ตามคลิปภาพ เอกสารหมาย จ.๒ แผ่นที่ ๑๒ และเอกสารหมาย ล.๑ ที่โจทก์รับว่าเป็นคลิปเดียวกันซึ่งเผยแพร่ทางยูทูบ มีข้อความทำนองว่า เหรียญกอร์กอน เมดูซ่า เป็นเครื่องรางนานาชาติ ถือกำเนิดจากประเทศกรีซ เหรียญกอร์กอนเป็นเครื่องรางเก่าแก่ที่มีอายุมานากว่าสองพันปี คนโบราณเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ที่มีพลังอำนาจในตัวเอง สามารถป้องกันภัยจากภูตผี วิญญาณร้าย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๑ สร้างเหรียญกอร์กอน เมดูซา ในฐานะที่เป็นเครื่องรางของขลัง มิได้นำมาใช้อย่างเครื่องหมายการค้า อีกทั้งเหรียญกอร์กอน เมดูซา ของจำเลยทั้งสอง
มีการปลุกเสกโดยจำเลยที่ ๑ ซึ่งใช้ชื่อว่า “อาจารย์คม ไตรเวทย์” มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “รูปหัวคน” และคำว่า “กอร์กอน” เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๓
การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๙ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว การเสนอจำหน่ายเหรียญกอร์กอนของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลอันเป็นความผิด
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ ประกอบมาตรา ๑๐๙ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๔ นั้น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓ วรรคสอง ให้ใช้มาตรา ๑๐๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแทนบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับ
การเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนภายในราชอาณาจักรแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยความผิด
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๔ อีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(รุ่งระวี โสขุมา – มนตรี ศิลป์มหาบัณฑิต – สุวิทย์ รัตนสุคนธ์)

สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ

กลอน รักษา - ตรวจ