คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1201/2567    นาย อ.                                 โจทก์

                                                                                 นางสาว ศ.                              จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 587

พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 10, 15

            โจทก์มีอาชีพรับจ้างรีวิวการใช้บริการโรงแรม มีโรงแรมเป็นผู้ว่าจ้าง ผลงานที่ส่งมอบ
เป็นบทความข้อมูลต่าง ๆ เช่น รีวิวการใช้บริการห้องพัก ห้องอาหาร สปา การใช้พื้นที่และบรรยายความสวยงามของภูมิทัศน์ทั้งภายในภายนอกโรงแรม ประกอบภาพถ่ายสถานที่ของโรงแรมผู้ว่าจ้าง และมีค่าตอบแทนหรือสินจ้าง เป็นการใช้บริการที่พัก อาหาร และบริการอื่น ๆ ของโรงแรม
โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และได้รับบัตรกำนัลของโรงแรมผู้ว่าจ้าง งานรับจ้างรีวิวของโจทก์จึงเป็นงานจ้างทำของ โรงแรมผู้ว่าจ้างจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่โจทก์รับจ้าง

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา ๔, ๖, ๘, ๑๕, ๒๗, 31, ๖๒, ๖๔, 69, 70 และ 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้องเฉพาะข้อหาตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 , 69 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

         จำเลยให้การปฏิเสธ

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติในเบื้องต้นได้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพช่างภาพอิสระ
เป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรม ลักษณะงานภาพถ่ายตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 แผ่นสุดท้าย
ภาพตามเอกสารหมาย จ.2 ถ่ายเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 ที่โรงแรม ด. โดยโจทก์เผยแพร่
งานดังกล่าวครั้งแรกบนเว็บไซต์ของโจทก์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 และภาพตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นสุดท้าย ถ่ายเมื่อระหว่างวันที่ 27 ถึง 28 ธันวาคม 2564 ที่โรงแรม ค. โดยโจทก์เผยแพร่งานดังกล่าวครั้งแรกบนเพจเฟซบุ๊กของโจทก์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2565 จำเลยประกอบอาชีพขายบัตรกำนัลโรงแรม (Gift Voucher) ทางแอปพลิเคชันเฟซบุ๊กและไลน์ และร่วมกับพวกเป็นผู้ดูแล (Admin)
กลุ่มสนทนาไลน์โอเพ่นแชท เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 จำเลยได้โพสต์ข้อมูลขาย Voucher
และข้อมูลภาพถ่ายประกอบการขายในบัญชีเฟชบุ๊กของจำเลย เป็นภาพถ่ายภายในและภายนอกอาคารโรงแรม ด. ๖ ภาพ โดยมีภาพ ๑ ภาพ เป็นภาพที่โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ตามเอกสารหมาย จ.2
พร้อมข้อความเสนอขาย Voucher โจทก์พบโพสต์ครั้งที่หนึ่งนี้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 จำเลยโพสต์ข้อมูลขาย Voucher และข้อมูลภาพถ่ายประกอบการขายประมาณ
๗ ภาพ เป็นภาพภายในและภายนอกอาคารโรงแรม ค. มีภาพถ่าย ๑ ภาพ เป็นภาพถ่ายที่โจทก์
เป็นผู้สร้างสรรค์ตามเอกสารหมาย จ.๓ โดยจำเลยโพสต์ในกลุ่มสนทนา Line OpenChat พร้อมข้อความเสนอขาย Voucher

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามคำเบิกความพยานโจทก์ประกอบพยานหลักฐานที่โจทก์อ้างมา ฟังได้ว่า โจทก์มีอาชีพรับจ้างรีวิวการใช้บริการโรงแรม
มีโรงแรมเป็นผู้ว่าจ้าง ผลงานที่ส่งมอบเป็นบทความข้อมูลต่าง ๆ เช่น รีวิวการใช้บริการห้องพัก ห้องอาหาร สปา การใช้พื้นที่และบรรยายความสวยงามของภูมิทัศน์ทั้งภายในภายนอกโรงแรม ประกอบภาพถ่ายสถานที่ของโรงแรมผู้ว่าจ้าง และมีค่าตอบแทนหรือสินจ้าง เป็นการใช้บริการที่พัก อาหาร และบริการอื่น ๆ ของโรงแรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และโจทก์ได้รับบัตรกำนัล หรือ Voucher ของโรงแรมผู้ว่าจ้าง ซึ่งโจทก์สามารถนำไปขายในช่องทางต่าง ๆ เช่น ทางออนไลน์ ค่าตอบแทนมีมูลค่าประมาณการ ตามเอกสารหมาย จ.๑๙ งานรับจ้างรีวิวของโจทก์จึงเป็นงานจ้างทำของตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๗ ซึ่งตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า “งานที่ผู้สร้างสรรค์
ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์
และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น” ดังนี้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงถือว่า ผู้ว่าจ้างคือโรงแรม
เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่โจทก์รับจ้าง คือ ผลงานรีวิวที่เป็นข้อความที่โจทก์รับจ้างเขียนพร้อมภาพถ่ายประกอบรีวิว ไม่ว่างานอันมีลิขสิทธิ์จะปรากฏหรือเผยแพร่ในเพจหรือบล็อกเกอร์ หรือสื่อใด ๆ ของโจทก์ หรือของโรงแรมก็ตาม ย่อมถือเป็นงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างคือโรงแรม โดยเป็นรูปแบบ
การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ในภาพลักษณ์ของผู้ใช้บริการโรงแรมเพื่อผลทางการตลาดของผู้ว่าจ้าง
คือโรงแรมทั้งสองแห่ง ส่วนที่โจทก์นำสืบอ้างว่าภาพถ่ายที่ปรากฏในการรีวิวโรงแรม ด. และในรีวิว
โรงแรม ค. ยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ หากทั้งสองโรงแรมติดต่อขอซื้อภาพถ่ายจากโจทก์ ตามปกติ
โจทก์คิดราคาภาพละประมาณ 10,000 ถึง 15,000 บาท นั้น โจทก์อ้างถึงบุคคลที่โจทก์ตกลงด้วย
คือบุคคลชื่อคุณบัว ของโรงแรม ด. และบุคคลชื่อคุณชมภู่ และคุณอเล็กซ์ ของโรงแรม ค. ตามทางนำสืบโจทก์ฟังได้ว่าบุคคลทั้งสามเป็นเพียงลูกจ้างของโรงแรม และโจทก์ไม่ได้ตัวมาเบิกความ บางคนลาออกจากงานโรงแรมนั้นแล้ว เมื่อพิจารณาประกอบรายละเอียดข้อความที่ระบุการเจรจาต่อรองกันระหว่างพนักงานโรงแรมดังกล่าวกับโจทก์เรื่องการงานและผลตอบแทน ก็ไม่ปรากฏมีข้อตกลงโดยชัดแจ้งเรื่องการยกลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายให้โจทก์ ที่กระทำโดยผู้มีอำนาจที่แท้จริงของโรงแรมเป็นผู้ทำข้อตกลงด้วยแต่อย่างใด ข้ออ้างเรื่องข้อตกลงของผู้ว่าจ้างที่ให้โจทก์มีลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายประกอบการรีวิวรวมถึงภาพถ่ายพิพาทจึงรับฟังไม่ได้ แม้โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานภาพถ่ายประกอบการรีวิวรวมถึงภาพถ่ายพิพาท แต่มิได้เป็น
ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น โจทก์จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๑๕ ประกอบ มาตรา ๑๐ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
เห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เพราะไม่เปลี่ยนแปลงผลคดี อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษายืน.

(ธัชพงศ์ วิสุทธิสังวร – มนตรี ศิลป์มหาบัณฑิต – สุวิทย์ รัตนสุคนธ์)

สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ

กลอน รักษา - ตรวจ