คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1029/2567    พ.                                      โจทก์

                                                                                 กรมทรัพย์สินทางปัญญา              จำเลย

ทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า

            เครื่องหมายการค้า  ของผู้จดทะเบียนมีจุดเด่นที่สามารถจดจำเป็นคำว่า Panthera
ซึ่งสาธารณชนทั่วไปที่พบเห็นอาจมองเห็นว่าเป็นภาพสัตว์ชนิดหนึ่งกำลังกระโจนไปทางด้านขวามือ
เข้าไปในเครื่องหมายรูปโค้ง หากมองดูอย่างผิวเผินอาจเห็นได้ว่ารูปสัตว์กระโจนกับรูปโค้งประกอบกันคล้ายอักษรโรมันรูปตัว P ตามด้วยตัวอักษร ANTHERA สาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอ
จดทะเบียนไม่ใช่เสือกำลังกระโจนเหมือนกับเครื่องหมายการค้า                         
และ    ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ และยังมีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน เครื่องหมายการค้าของผู้ขอ
จดทะเบียนไม่มีลักษณะใดที่สามารถเห็นหรือแยกแยะในทันทีว่ามีองค์ประกอบสำคัญหรือลักษณะเด่นเป็นรูปเสือกำลังกระโจนที่เป็นภาพเงา เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของโจทก์

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ ๘๘/๒๕๖๔ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ ๕/๒๕๖๕ และเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๗๐๑๓๗๘๔๐

         จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียม
ให้เป็นพับ

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จำเลยเป็นนิติบุคคลในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายเครื่องหมายการค้า โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า PUMA เครื่องหมายการค้ารูปเงาเสือกระโจน เครื่องหมายการค้าที่เป็นลักษณะแถบโค้ง และเครื่องหมายอื่นอีกหลายรายการ โดยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าหลายจำพวกในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ (๑) เครื่องหมายการค้า    
คำขอเลขที่ ๒๗๖๘๘๒ ทะเบียนเลขที่ ค๒๓๒๑๗ ใช้กับสินค้าจำพวก ๑๔ รายการสินค้า นาฬิกา นาฬิกาพก นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนหรือตั้งโต๊ะ นาฬิกาปลุก ฯลฯ (๒) เครื่องหมายการค้า   คำขอ
เลขที่ ๓๐๓๘๕๘ ทะเบียนเลขที่ ค๔๕๐๔๐ ใช้กับสินค้าจำพวก ๑๔ รายการสินค้า นาฬิกา นาฬิกาพก นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวนหรือตั้งโต๊ะ นาฬิกาปลุก ฯลฯ (๓) เครื่องหมายการค้า     คำขอเลขที่ ๒๕๑๘๘๒ ทะเบียนเลขที่ ค๖๐๒๐ ใช้กับสินค้าจำพวก ๙ รายการสินค้า แว่นตา แว่นกันแดด แว่นใส่เล่นกีฬา (๔) เครื่องหมายการค้า    คำขอเลขที่ ๔๘๖๖๘๙ ทะเบียนเลขที่ ค๑๗๗๓๙๓ ใช้กับสินค้าจำพวก ๙ รายการสินค้า ชุดเสื้อผ้าสวมใส่ป้องกันอุบัติเหตุ อุปกรณ์สวมป้องกันดวงตา หมวกนิรภัย แว่นตา ฯลฯ
(๕) เครื่องหมายการค้า    คำขอเลขที่ ๒๕๑๘๘๐ ทะเบียนเลขที่ ค๗๕๑๑ ใช้กับสินค้าจำพวก
๑๘ รายการสินค้า กระเป๋าช็อปปิง กระเป๋าถือ กระเป๋าเดินทาง ฯลฯ (๖) เครื่องหมายการค้า   คำขอเลขที่ ๒๖๙๓๑๖ ทะเบียนเลขที่ ค๑๕๗๙๔ ใช้กับสินค้าจำพวก ๑๘ รายการสินค้า กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋ากุญแจ กระเป๋าเอกสาร ฯลฯ (๗) เครื่องหมายการค้า    คำขอเลขที่ ๒๖๖๖๒๑ ทะเบียนเลขที่ ค๑๑๑๕๑๓ ใช้กับสินค้าจำพวก ๑๘ รายการสินค้า กระเป๋าถือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าเอกสาร กระเป๋าใส่ของ กระเป๋านักปีนภูเขา ฯลฯ (๘) เครื่องหมายการค้า    คำขอเลขที่ ๓๒๐๐๓๔
ทะเบียนเลขที่ ค๗๑๒๕๕ ใช้กับสินค้าจำพวก ๑๘ รายการสินค้า กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าใส่อุปกรณ์กีฬา กระเป๋าใส่เศษสตางค์ กระเป๋ากีฬา ฯลฯ (๙) เครื่องหมายการค้า   คำขอเลขที่ ๔๓๑๖๙๒
ทะเบียนเลขที่ ค๑๒๓๙๐ ใช้กับสินค้าจำพวก ๒๕ รายการสินค้า รองเท้า รองเท้าบู้ท รองเท้ากีฬา เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว กระโปรง ฯลฯ (๑๐) เครื่องหมายการค้า    คำขอเลขที่ ๓๒๐๐๓๕ ทะเบียนเลขที่
ค๗๑๐๗๘ ใช้กับสินค้าจำพวก ๒๕ รายการสินค้า รองเท้าบู้ท รองเท้ากีฬา เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว
(๑๑) เครื่องหมายการค้า     คำขอเลขที่ ๘๒๙๑๙๗ ทะเบียนเลขที่ ค๓๖๗๗๖๑ ใช้กับสินค้าจำพวก
๒๕ รายการสินค้า รองเท้า รองเท้าบู้ท รองเท้ากีฬา รองเท้าแตะ เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว ฯลฯ
(๑๒) เครื่องหมายการค้า   คำขอเลขที่ ๗๒๖๗๒๖ ทะเบียนเลขที่ ค๓๑๔๐๒๘ ใช้กับสินค้า
จำพวก ๒๕ รายการสินค้า รองเท้าบู้ท รองเท้า (ยกเว้นรองเท้ากีฬา) เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว กระโปรง ฯลฯ (๑๓) เครื่องหมายการค้า  คำขอเลขที่ ๗๑๖๖๒๖ ทะเบียนเลขที่ ค๓๑๓๔๑๐ ใช้กับสินค้าจำพวก
๒๕ รายการสินค้า รองเท้าบู้ท รองเท้า (ยกเว้นรองเท้ากีฬา) เสื้อเชิ้ต กางเกงขายาว กระโปรง ฯลฯ
(๑๔) เครื่องหมายการค้า    คำขอเลขที่ ๒๕๘๙๒๖ ทะเบียนเลขที่ ค๑๐๕๘๖ ใช้กับสินค้าจำพวก
๒๕ รายการสินค้า รองเท้ากีฬา (๑๕) เครื่องหมายการค้า    คำขอเลขที่ ๕๒๓๕๓๔ ทะเบียนเลขที่
ค๒๑๑๔๙๗ ใช้กับสินค้าจำพวก ๒๕ รายการสินค้า รองเท้า รองเท้ากีฬา เสื้อโปโล เสื้อกีฬา กางเกงกีฬา กางเกงขายาว หมวก ฯลฯ (๑๖) เครื่องหมายการค้า     คำขอเลขที่ ๒๕๑๘๘๖ ทะเบียนเลขที่
ค๑๕๗๘๗ ใช้กับสินค้าจำพวก ๑๔ รายการสินค้า เพชรพลอย หินมีค่า เพชรพลอยเทียม กระดุมข้อมือเสื้อ เข็มกลัดเน็คไท (๑๗) เครื่องหมายบริการ     คำขอเลขที่ ๓๐๒๖๘๕ ทะเบียนเลขที่ บ๕๔๖๔
ใช้กับสินค้าจำพวก ๔๑ รายการบริการ บริการให้การศึกษา/ฝึกฝนด้านการกีฬา บริการจัดการแข่งขันด้านกีฬา จัดแนะแนวโปรแกรมออกกำลังกาย จัดรายการแสดงเพื่อความบันเทิง (๑๘) เครื่องหมายการค้า     
คำขอเลขที่ ๓๘๔๙๔๑ ทะเบียนเลขที่ ค๙๕๘๖๕ ใช้กับสินค้าจำพวก ๒๘ รายการสินค้า ลูกบอลใช้เล่นเกม ลูกฟุตบอล ไม้เทนนิส ไม้กอล์ฟ รองเท้าสเกต ฯลฯ (๑๙) เครื่องหมายการค้า       คำขอเลขที่ ๔๘๖๖๙๐ ทะเบียนเลขที่ ค๑๗๘๘๑๓ ใช้กับสินค้าจำพวก ๒๔ รายการสินค้า ผ้าม่านทำด้วยสิ่งทอ ผ้าคลุมเตียง ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดตัว (๒๐) เครื่องหมายการค้า    คำขอเลขที่ ๕๘๐๗๖๓ ทะเบียนเลขที่ ค๒๓๖๒๖๕
ใช้กับสินค้าจำพวก ๑๔ รายการสินค้า นาฬิกา นาฬิกาพก นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแขวน/ตั้งโต๊ะ นาฬิกาปลุก หน้าปัดนาฬิกา ตัวเรือนนาฬิกา ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของนาฬิกา ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของนาฬิกาพก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของนาฬิกาข้อมือ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของนาฬิกาแขวน/ตั้งโต๊ะ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของนาฬิกาปลุก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของหน้าปัดนาฬิกา ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของตัวเรือนนาฬิกา
โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวนริสราเป็นผู้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๐ นางสาวปัญจรีย์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า     เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก ๙ รายการสินค้า นาฬิกาอัจฉริยะ นาฬิกาสมาร์ทวอทช์ เครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใช้ควบคุม
การทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องควบคุมระยะไกลระบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในบ้าน (สมาร์ทโฮม) นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเครื่องหมายที่ชอบที่จะรับจดทะเบียนได้จึงประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๒ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน
การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่มีลักษณะของเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ เป็นการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
โดยไม่สุจริต กล่าวคือ มีการนำเอารูปลักษณะที่เป็นส่วนสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปเสือกระโจนซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วและเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั้งในประเทศ
และต่างประเทศมาลอกเลียนหรือดัดแปลงเพื่อแสวงหาประโยชน์จากความมีชื่อเสียงแพร่หลาย
ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อีกทั้งส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้ามีความเหมือน
หรือคล้ายกันอย่างมากจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิด
ของสินค้า ถือเป็นลักษณะที่ต้องห้ามรับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๘ (๙) (๑๐) ผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำโต้แย้งต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อขอให้ยกคำคัดค้านและดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนต่อไป โดยอ้างเหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนประกอบด้วยอักษรโรมันจำนวน ๘ ตัวอักษร คือ P A N T H E R และ A
ในลักษณะประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษร (Font) อักษรทั้งหมดจัดเรียงอยู่ในระดับเดียวกัน โดยประดิษฐ์ตัว P เป็นรูปเสือก้าวขาขึ้นพระจันทร์เสี้ยว อ่านออกเสียงเรียกขานได้ว่า “แพนเทอร่า” โดยยื่นขอจดทะเบียน
ในจำพวก ๙ รายการสินค้า นาฬิกาอัจฉริยะ นาฬิกาสมาร์ทวอทช์ เครื่องชั่งน้ำหนักอัจฉริยะ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใช้ควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องควบคุมระยะไกลระบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้ในบ้าน (สมาร์ทโฮม) ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยอักษรโรมันจำนวน ๔ ตัวอักษร
คือ P U M และ A ในลักษณะปกติไม่มีการประดิษฐ์หรือการจัดวางในลักษณะพิเศษ อ่านออกเสียง
เรียกขานได้ว่า “พูม่า” โดยเครื่องหมายของโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนในหลายจำพวก แม้จะยื่นขอจดทะเบียนในจำพวก ๙ ซึ่งเป็นจำพวกเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียน แต่เป็นคนละรายการสินค้า เครื่องหมายการค้า
ของผู้ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับโจทก์และไม่สร้างความสับสนหลงผิดในแหล่งที่มาของสินค้า
หรือความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามรับจดทะเบียน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาคำคัดค้านและคำโต้แย้งตลอดจนพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วเห็นว่า
แม้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจะมีสาระสำคัญเป็นรูปเสือกระโจนเช่นเดียวกันกับ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่รูปดังกล่าวยังมีลักษณะการประดิษฐ์แตกต่างกัน โดยรูปเสือ
ในเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอักษรประดิษฐ์ในคำว่า “แพนเทอร่า” ส่วนรูปเสือในเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะกระโจนไปด้านซ้าย ซึ่งโจทก์ใช้รูปเสือดังกล่าว
ในหลายลักษณะ เช่น ใช้ประกอบกับอักษรโรมันคำว่า “PUMA” ตามทะเบียนเลขที่ ค๒๓๒๑๗ ค๔๕๐๔๐ ค๑๗๗๓๙๓ ค๑๑๑๕๑๓ เป็นต้น หรือ คำว่า “ECOSHERE” ตามทะเบียนเลขที่ ค๓๑๔๐๒๘ หรือใช้เป็นรูปเสือลักษณะกระโจนไปด้านซ้ายผ่านช่องสี่เหลี่ยมตามทะเบียนเลขที่ ค๓๑๓๔๑๐ ค๑๐๕๘๖ ค๒๑๑๔๙๗ และ ค๑๕๗๘๗ รูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจึงแตกต่างกัน ทั้งเมื่อพิจารณาเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเรียกขานได้ว่า “แพนเทอร่า” ส่วนเครื่องหมายของโจทก์
อาจเรียกขานได้ตามแต่ผู้พบเห็นจะเข้าใจหรืออาจเรียกขานได้ว่า “พูม่า” นับว่ามีเสียงเรียกขานแตกต่างกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันแล้วแม้จะนำไปใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน
หรือต่างจำพวกกันและรายการสินค้ามีลักษณะอย่างเดียวกันก็ตาม โอกาสที่สาธารณชนจะสับสน
หรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมไม่เกิดขึ้น เมื่อเครื่องหมายแตกต่างกัน
จึงไม่ต้องพิจารณาว่าผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ และไม่จำต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ จึงวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน
และดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัย
ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อขอให้กลับคำวินิจฉัย
ของนายทะเบียนและไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน โดยอ้างเหตุผลว่า เครื่องหมายการค้ารูปเสือกระโจนของโจทก์มีลักษณะเป็นภาพเงา เป็นเครื่องหมายการค้าและภาพที่ผู้บริโภคในประเทศไทยคุ้นเคย เมื่อพบเห็นเครื่องหมายการค้ารูปเสือกระโจนที่มีลักษณะเป็นภาพเงา
ตามคำขอจดทะเบียนของผู้ขอจดทะเบียน ซึ่งสามารถเรียกขานได้ว่ารูปเสือกระโจนหรือเงาเสือกระโจน
ได้เช่นเดียวกัน เมื่อใช้กับสินค้าอย่างเดียวกันย่อมเกิดความสับสนหลงผิดได้โดยง่ายว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย อันเป็นการลวงให้สาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิด
ในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ผู้ขอจดทะเบียนมีเจตนาไม่สุจริตจึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาอุทธรณ์โดยเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า
ของผู้ยื่นขอจดทะเบียนพร้อมหลักฐานแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว เพราะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นคำว่า “แพนเทอร่า” ซึ่งผู้ขอจดทะเบียนได้ประดิษฐ์อักษรโรมันตัว P เป็นรูปเสือหันไปทางขวาในลักษณะ
ก้าวขาขึ้นพระจันทร์เสี้ยว ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำว่า “พูม่า” โดยมีรูปเสือหันไปทางซ้าย
ในลักษณะกระโจนจัดวางอยู่บนอักษรโรมันตัว A หรือเป็นรูปเสือหันไปทางซ้ายในลักษณะกระโจน
แต่เพียงอย่างเดียว รูปลักษณะเครื่องหมายของทั้งสองฝ่ายจึงแตกต่างกัน ทั้งเมื่อพิจารณาถึงการเรียกขาน
ก็มีเสียงเรียกขานแตกต่างกันจนไม่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ
หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ สำหรับประเด็นเรื่องความสุจริตของผู้ขอจดทะเบียน เมื่อโจทก์ไม่ได้นำส่งหลักฐานใดที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างไร จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ขอจดทะเบียนมีเจตนาไม่สุจริตลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์
เพื่อแสวงหาประโยชน์จากความมีชื่อเสียงแพร่หลายในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีมติในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ยืนตาม
คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และให้นายทะเบียน
เครื่องหมายการค้าพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่าเครื่องหมายการค้า      ของผู้ขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า           
            และ     ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ เห็นว่า
ในการพิจารณาความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายการค้าจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิด
ในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น ต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ
เช่น องค์ประกอบโดยรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมาย ลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญ
ของเครื่องหมายที่ทำให้ผู้บริโภคหรือสาธารณชนจดจำ เสียงเรียกขาน และข้อเท็จจริงที่จะเกิดโอกาส
ในความสับสนหลงผิดแก่ผู้บริโภค เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว จะเห็นได้ว่าภาคส่วนหรือองค์ประกอบหลักซึ่งถือเป็นสาระสำคัญในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกเครื่องหมายคือ ภาพเสือในลักษณะท่าทางกระโจนหรือกระโดดไปทางซ้าย ขาหลังยืดเหยียด
ไปด้านหลัง มองเห็นเฉพาะลำตัวด้านข้าง ขาหน้าและขาหลังด้านนอกด้านเดียว หางยกขึ้นและส่วนปลายหางชี้ขึ้นในลักษณะเป็นภาพเงา (Silhouette) อาจเป็นสีดำ      หรือ     สีขาวทั้งตัว บางเครื่องหมาย
ใช้ภาพเสือในลักษณะดังกล่าวประกอบกับอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า “PUMA” วางอยู่ด้านล่าง
ของภาพ      บางเครื่องหมายใช้       ภาพเสือประกอบกับอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า “PUMA CELL” วางอยู่ด้านล่างของภาพ    หรืออาจใช้ภาพเสือประกอบกับเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์อื่นดังเช่นเครื่องหมาย  หรือ  ส่วนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคือเครื่องหมายการค้า   มีส่วนประกอบที่เป็นภาพเสือในลักษณะท่าทางกระโจนหรือกระโดดไปทางขวา ขาหลังยืดเหยียด
ไปด้านหลัง มองเห็นเฉพาะลำตัวด้านข้าง ส่วนที่เป็นขาหน้ายาวไปจรดรูปโค้งคล้ายพระจันทร์เสี้ยว
มองดูคล้ายอักษรโรมันตัว P และมีเส้นตัดให้แยกออกจากส่วนที่เป็นหัวและขาหลังของเสือ หางเสือชี้ไปทางด้านซ้ายในองศาที่เกือบจะขนานกับพื้น บริเวณส่วนหัวและขาหลังของเสือมีลักษณะเป็นภาพเงาสีดำ ส่วนบริเวณขาหน้าถึงหางเสือเป็นภาพเงาสีทองตัดเส้นขอบด้านล่างด้วยแรงเงาสีดำ ติดกับขาหน้ามีรูปโค้งคล้ายพระจันทร์เสี้ยวสีดำ    หากมองในภาพรวมรูปเสือกระโจนสามารถมองเป็นอักษรโรมัน
ตัวพิมพ์ใหญ่ตัว P ได้ และยังประกอบด้วยอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่คำว่า “ANTHERA” ที่วางอยู่ด้านล่าง
ของภาพประดิษฐ์รูปเสือในแนวระนาบเป็นแถวเดียวกันสามารถอ่านได้ว่า “PANTHERA” โดยรูปเสือ
ลักษณะดังที่กล่าวข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของอักษรประดิษฐ์ในคำว่า “PANTHERA” เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของผู้ขอจดทะเบียนต่างมีส่วนประกอบที่เป็นภาพเสือประดิษฐ์ในลักษณะท่าทางกระโจน
หรือกระโดดไปทางด้านข้างซึ่งสามารถมองเห็นเฉพาะขาหน้า ลำตัว ขาหลัง และหางด้านข้างเช่นเดียวกัน
ก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบภาพเสือประดิษฐ์ของทั้งสองเครื่องหมายแล้วปรากฏว่าทิศทางการกระโจน
หรือกระโดดของเสือเป็นการกระโจนหรือกระโดดไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยภาพเสือในเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น เสือกระโจนไปทางด้านซ้าย ส่วนภาพเสือในเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน
เสือกระโจนไปทางด้านขวา และหากพิจารณาส่วนที่เป็นภาพเสือก็พบว่ามีรายละเอียดแตกต่างกัน กล่าวคือ ภาพเสือของโจทก์ไม่มีรายละเอียดใด เป็นแต่เพียงภาพทึกหรือภาพเงาเท่านั้น ส่วนภาพเสือของผู้ขอ
จดทะเบียนมีลายเส้นตัดขวางผ่านลำตัวและหัวเสือที่พุ่งเข้าหามุมโค้งคล้ายพระจันทร์เสี้ยว เห็นว่า
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมของเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมาย เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีภาพเสือกำลังกระโจนอยู่เหนืออักษรโรมันคำว่า PUMA บ้าง หรือรูปเสือกำลังกระโจนประกอบ
คำว่า PUMA ที่มีแถบสี่เหลี่ยมพื้นทึบ อยู่ในแถบครึ่งวงกลม กำลังกระโจนผ่านรูปสี่เหลี่ยม หรือเครื่องหมายที่มีภาพเสือครึ่งตัวกระโจนตามทะเบียนเลขที่ ค๓๑๓๔๑๐ ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าเครื่องหมายการค้า
ที่โจทก์อ้างว่าจดทะเบียนในรูปเสือกระโจนนั้น มีการจดทะเบียนอยู่ ๒ แบบคือเสือกระโจนโดยลำพัง
กลุ่มหนึ่ง และมีคำว่า PUMA คำว่า PUMA CELL หรือคำว่า ECOSHERE และประกอบเครื่องหมาย
วงรี วงกลม หรือกรอบสี่เหลี่ยมอีกกลุ่มหนึ่ง ในกลุ่มที่มีรูปเสือกระโจนประกอบวงกลม วงรี
หรือในกรอบสี่เหลี่ยมนั้น ถือได้ว่าคำว่า PUMA คำว่า PUMA CELL วงกลม หรือครึ่งวงกลมดังกล่าว
เป็นองค์ประกอบอันเป็นลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายที่ทำให้ผู้บริโภคหรือสาธารณชน
จดจำเพราะเป็นส่วนที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด และมีรูปตัวอักษรโรมัน PUMA หรือรูปเสือกระโจน
เป็นส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบย่อย เพราะมีแนวโน้มที่ประชาชนจะมุ่งดูที่หมายแห่งสินค้ายิ่งกว่าดูรูปเสือกระโจน ส่วนเครื่องหมายที่เป็นรูปเสือกระโจนโดยลำพังที่ไม่ได้ประกอบกับคำ อักษร
หรือภาพประกอบอื่น รูปเสือกระโจนก็อาจเป็นลักษณะเด่น เพราะไม่มีสิ่งใดเด่นกว่าในการเพ่งมองเครื่องหมาย รูปเสือจึงเป็นจุดดึงดูดสายตาของผู้พบเห็น ดังนั้น การพิจารณาลักษณะเด่นหรือสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าจำเป็นจะต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายทั้งเครื่องหมายประกอบกัน
ในกรณีนี้ไม่ใช่การพิจารณาแยกส่วนหรือเลือกหยิบยกเฉพาะรูปเสือกระโจนมาพิจารณาเพียงอย่างเดียว
ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เห็นว่าเมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้า    ของผู้จดทะเบียน
ทั้งเครื่องหมายแล้ว เห็นว่า มีจุดเด่นที่สามารถจดจำเป็นคำว่า Panthera ซึ่งสาธารณชนทั่วไปที่พบเห็น
อาจมองเห็นว่าเป็นภาพสัตว์ชนิดหนึ่งกำลังกระโจนไปทางด้านขวามือเข้าไปในเครื่องหมายรูปโค้ง
และหากมองดูอย่างผิวเผินอาจเห็นได้ว่ารูปสัตว์กระโจนกับรูปโค้งประกอบกันคล้ายอักษรโรมันรูปตัว P ตามด้วยตัวอักษร ANTHERA ไม่มีลักษณะใดที่สามารถเห็นหรือแยกแยะในทันทีว่ามีองค์ประกอบสำคัญหรือลักษณะเด่นเป็นรูปเสือกำลังกระโจนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ไม่ว่าจะพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์รูปแบบเสือกำลังกระโจนไปทางซ้ายมือโดยลำพัง หรือรูปเสือกระโจนในลักษณะที่เป็นภาพภาพเงา (Silhouette) หรือเสือประกอบกรอบสี่เหลี่ยม วงกลม หรือสัญลักษณ์อื่นใด และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่าย อันเป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่โจทก์จดทะเบียนแล้วกับเครื่องหมายการค้า
ของผู้ขอจดทะเบียน พบว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่เสือกำลังกระโจนเหมือนกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้ และกรณีไม่อาจแยกองค์ประกอบในเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนโดยนำเอาเฉพาะภาพเสือกระโจนมาหาจุดเหมือนเพื่อให้เห็นว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังที่โจทก์อุทธรณ์ เพราะไม่มีผู้บริโภคคนใดที่เห็นเครื่องหมายการค้า
แล้วใช้เวลาแยกองค์ประกอบของเครื่องหมายออกเป็นส่วนๆ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง
ของเครื่องหมายการค้าก่อนที่จะเลือกซื้อสินค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้กับเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มิใช่แตกต่างกันเล็กน้อยดังที่โจทก์อุทธรณ์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์
ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว ไม่อาจทำให้สาธารณะชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงเสียงเรียกขาน จากทางนำสืบของโจทก์ พยานโจทก์ปาก
นางสาวนริศรา ได้เน้นย้ำถึงเฉพาะความเหมือนคล้ายของรูปเสือกระโจน แต่โจทก์มิได้มีพยานหลักฐานใดมายืนยันว่า เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของโจทก์ที่จดทะเบียนมีเสียงเรียกขานว่า เสือกระโจน แต่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำว่า เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ ๑๗๐๑๓๗๘๔๐ เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ในส่วนของคำนั้น เครื่องหมายการค้า
คำขอเลขที่ ๑๗๐๑๓๗๘๔๐ ประกอบด้วยอักษรโรมันคำว่า “PANTHERA” อ่านว่า แพน-เธอ-รา
ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยคำว่า “PUMA” อ่านว่า พู-ม่า ยิ่งเห็นชัดว่า แม้โจทก์เอง
ก็ยอมรับว่าคำอ่านของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า
ของผู้ขอจดทะเบียนแตกต่างกัน จึงไม่อาจเป็นไปได้ที่โอกาสเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้า
ของผู้ขอจดทะเบียนจะเหมือนกับเสียงเรียกของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการของโจทก์ได้

การที่นางสาวนริสรายื่นบันทึกถ้อยคำต่อมาว่า เครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ ๑๗๐๑๓๗๘๔๐ ของผู้ขอ
จดทะเบียนสามารถเรียกขานได้ว่า ตรารูปเสือกระโจนหรือตราเสือจึงปราศจากเหตุผลและขัดแย้ง
กับที่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำเกี่ยวกับคำอ่านไว้ ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเรียกขานได้ว่า แพนเธอร์ร่า ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว
เรียกขานได้ว่า พูม่า หรือเรียกขานได้ตามแต่ผู้พบเห็นจะเข้าใจและเรียกขาน นับว่าเครื่องหมายการค้า
ของทั้งสองฝ่ายมีเสียงเรียกขานต่างกันโอกาสที่สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ
หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมไม่เกิดขึ้นนั้น ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ทางนำสืบของโจทก์จึงปราศจากน้ำหนัก ฟังไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน
มีเสียงเรียกขานเหมือนกัน เมื่อเสียงเรียกขานถือเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าที่จะทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบ และเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่าง
จากสินค้าอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจะเกิดโอกาสในการสร้าง
ความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ นั้น ข้อนี้โจทก์กล่าวอ้างความไม่สุจริตของผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยอ้างเหตุผลเรื่องความเหมือนคล้ายของเครื่องหมายการค้า
และนำสืบว่าเครื่องหมายของโจทก์มีชื่อเสียงเป็นที่แพร่หลายโดยอ้างหลักฐานการโฆษณา
เครื่องหมายการค้าบนเว็บไซต์ เห็นว่า ประเด็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปหรือไม่ มิใช่เป็นประเด็นโดยตรงในคดี เพราะการจะนำข้อเท็จจริงว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าแพร่หลายหรือไม่มาพิจารณาก็ต่อเมื่อได้ความว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน
เป็นเครื่องหมายที่เหมือนกับเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า
และเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของ
หรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้
เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ส่วนประเด็นเรื่องความสุจริตของผู้ขอจดทะเบียนอันจะนำไปสู่
การวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสนโนบายอันต้องห้ามมิให้จดทะเบียนตามมาตรา ๘ (๙) หรือไม่นั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิด
ของสินค้าดังที่ได้วินิจฉัยมาโดยละเอียดแล้ว จึงไม่อาจถือว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
หรือรัฐประศาสโนบาย อันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตามมาตรา ๘ (๙) อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมา ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย

          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

(คมน์ทนงชัย ฉายไพโรจน์ – กนกรดา ไกรวิชญพงศ์ – นิภา ชัยเจริญ)

สุธรรม สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ

กลอน รักษา - ตรวจ