คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2581 - 2585/2565 นายสรนันท์ ส่วนเสน่ห์
กับพวก โจทก์
บริษัทโกลเบิล เลาจ์ ทีเค บีเคเค
จำกัด จำเลย
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง
ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าคืนบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าไม่ได้เข้าทำงาน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า บัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน ไม่ใช่บัตรที่จำเลยออกให้ แต่เป็นบัตร
ที่ท่าอากาศยานเป็นเจ้าของและออกให้ สามารถเรียกคืนเมื่อใดก็ได้ ซึ่งนายสถานีสายการบิน
ตุรกีแอร์ไลน์ขอให้เรียกเก็บบัตรของโจทก์ทั้งห้าคืน ไม่ใช่จำเลยเป็นผู้ตัดสินใจออกคำสั่งเรียกเก็บ
บัตรคืน การที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้งห้าคืนบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน เป็นไปตามคำสั่งของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และนายสถานีสายการบินตุรกีแอร์ไลน์นั้น จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๑ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้าม
มิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
จำเลยให้โจทก์ทั้งห้าคืนบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยานและให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนของการหยุดทำงานชั่วคราวไว้ ถือว่าหนังสือเรื่องให้พนักงานส่งคืนบัตร RAMP PASS และหยุดปฏิบัติงานเป็นหนังสือเลิกจ้าง แสดงว่าจำเลยถือว่าโจทก์ทั้งห้าพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว กรณีจึงเป็นการที่ศาลแรงงานภาค ๑ ได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ของจำเลยหลายอย่างประกอบกันแล้วจึงวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า หาได้พิจารณาเฉพาะประเด็นไม่จ่ายค่าจ้างเพียงอย่างเดียวไม่
______________________________
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ค่าสูตรอาหาร ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งห้าตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๗๖๖.๖๖ บาท และโจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑,๕๓๓.๓๒ บาท จ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ คนละ ๓,๘๓๓.๓๐ บาท และโจทก์ที่ ๕ เป็นเงิน ๒,๒๙๙.๙๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้าคนละ ๖๙,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริง
และข้อเท็จจริงที่ยุติในสำนวนได้ความว่า สายการบินตุรกีแอร์ไลน์ จ้างจำเลยให้บริหารงานการให้บริการห้องรับรองผู้โดยสารภายในอาคารสนามบิน โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างจำเลย ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน
ที่ร้านของจำเลยในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เริ่มทำงานวันที่
๑ มกราคม ๒๕๖๒ ตำแหน่งพนักงานปรุงอาหาร โจทก์ที่ ๓ เริ่มทำงานวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
ตำแหน่งผู้ช่วยพนักงานปรุงอาหาร โจทก์ที่ ๔ เริ่มทำงานวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ตำแหน่งพนักงานต้อนรับ โจทก์ที่ ๕ เริ่มทำงานวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒ ตำแหน่งพนักงานต้อนรับ โจทก์ทั้งห้าได้รับค่าจ้าง
อัตราสุดท้ายเดือนละ ๒๓,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยตกลงจ่ายค่าสูตรอาหารให้แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ในช่วงแรกที่มีการเปิดบริการอาหารเท่านั้น แต่มิได้ตกลงที่จะจ่ายค่าสูตรอาหารให้ตลอดไป โจทก์ที่ ๑ มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด ๑ วัน โจทก์ที่ ๒ มีสิทธิได้รับ ๒ วัน โจทก์ที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่มีสิทธิได้รับ จำเลยกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ ๑๒ วัน ในปี ๒๕๖๔ โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ ยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ที่ ๕ ใช้สิทธิแล้ว ๒ วัน บัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน
หรือบัตร RAMP PASS เป็นบัตรที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ออกให้แก่โจทก์ทั้งห้า
ตามที่สายการบินตุรกีแอร์ไลน์ขออนุมัติต่อบริษัทดังกล่าว นับแต่ต้นปี ๒๕๖๓ ประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลกประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ต่อมาช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๔ รัฐบาลนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวจากต่างประเทศเพื่อนำมาฉีดให้แก่ประชาชนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกัน หยุดยั้ง หรือลดอัตราการเสี่ยงไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดและมิให้เกิดความเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว นักลงทุน ประชาชน ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการภายในท่าอากาศยานเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างมีความเชื่อมั่นและปลอดภัย อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการสาธารณสุข จากนโยบายดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ
และผู้เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานอื่น ๆ จึงต้องได้รับการฉีดวัคซีน
อย่างครบถ้วนเป็นกรณีพิเศษและเร่งด่วน เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายสถานีสายการบินตุรกีแอร์ไลน์ขอความร่วมมือให้พนักงานทุกคนของจำเลยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ โจทก์ทั้งห้าปฏิเสธ อ้างว่าไม่มั่นใจประสิทธิภาพของวัคซีนและมีโรคประจำตัว ต่อมาวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายสถานีสายการบินตุรกีแอร์ไลน์แจ้งว่าหากพนักงานไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทางสายการบินต้องขอคืน
บัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งนโยบายดังกล่าวให้พนักงานทราบ
จากนั้นวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ การท่าอากาศยานจัดฉีดวัคซีนให้แก่พนักงานทุกคน แต่โจทก์ทั้งห้า
ไม่เข้ารับการฉีดวัคซีน วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายสถานีสายการบินตุรกีแอร์ไลน์แจ้งให้จำเลย
เก็บรวบรวมบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน คืนให้แก่สายการบินและไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้า
ใช้บัตรอนุญาตที่ออกจากสายการบินตุรกีแอร์ไลน์เข้ามาในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิและห้องรับรองผู้โดยสารของจำเลย ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง จำเลย
จึงมีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าส่งคืนบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยานให้แก่จำเลยแล้ว และหยุดงานโดยไม่รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ ต่อมาวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔
การท่าอากาศยานจัดให้มีการฉีดวัคซีนรอบสอง ลูกจ้างจำเลย ๒ คน ซึ่งไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนในรอบแรกได้เข้ารับการฉีดวัคซีน นายสถานีสายการบินตุรกีแอร์ไลน์จึงอนุญาตให้บุคคลทั้งสองเข้ามาในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อทำงานตามปกติตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป จำเลยส่งเงินสมทบ
แก่สำนักงานประกันสังคมให้โจทก์ทั้งห้าจนถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ โจทก์ทั้งห้าเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เข็มแรกแล้ว โจทก์ทั้งห้าไม่ประสงค์จะกลับไปทำงานกับจำเลยอีก แล้ววินิจฉัยว่า แม้การเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการแพร่ระบาด
การเจ็บป่วยและเสียชีวิต ช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศ หรือประชาชนผู้มาใช้บริการที่ท่าอากาศยาน สร้างความเชื่อมั่นว่าพนักงานผู้ประกอบการและบุคลากรภายในท่าอากาศยานได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ แล้ว แต่การเข้ารับการฉีดวัคซีนดังกล่าว เป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับจากบริการสาธารณสุขของรัฐ และประชาชนมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ
โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๗ ไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมาย
ทั้งประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของตนเอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๘ จึงไม่อาจใช้มาตรการใดเพื่อมีผลเป็นการบังคับให้จำยอมต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยไม่สมัครใจ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานโรคติดต่อจะดำเนินการให้ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดโรคได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค อันหมายความรวมถึงการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นการเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๓๔ (๒) การบังคับให้เข้ารับการฉีดวัคซีนจึงไม่อาจกระทำได้ ดังนั้น
การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ตามนโยบายของการท่าอากาศยานและนายสถานีสายการบินตุรกีแอร์ไลน์ จึงไม่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
และเป็นธรรม ไม่สามารถบังคับได้ ที่โจทก์ทั้งห้าปฏิเสธการเข้ารับการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะโดยเหตุผลใด
จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ส่วนการที่จำเลย
ผู้เป็นนายจ้างมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าคืนบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน จำเลยย่อมต้องทราบว่า
หากไม่ได้รับการต่อบัตรอนุญาตดังกล่าวโจทก์ทั้งห้าจะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ท่าอากาศยานเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างให้แก่จำเลยได้ การที่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้เข้าทำงานให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ จึงไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่ ๓ วันทำงานติดต่อกัน ที่จำเลยอ้างว่า การให้โจทก์ทั้งห้าคืนบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยานและให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ โดยไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นการให้หยุดทำงานชั่วคราว จนกว่าโจทก์ทั้งห้าจะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙
แต่จำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนให้โจทก์ทั้งห้าหยุดทำงานชั่วคราวและโจทก์ทั้งห้าไม่ได้
ตกลงยินยอม อีกทั้งตามหนังสือเรื่องการช่วยต่ออายุประกันสังคมเอกสารหมาย ล.๕ แสดงว่าจำเลยถือว่าโจทก์ทั้งห้าพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยไปแล้ว ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า จำเลยใช้มาตรการบังคับ
ให้โจทก์ทั้งห้าเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ และให้โจทก์ทั้งห้าหยุดทำงานชั่วคราว แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนของการหยุดทำงานชั่วคราวไว้และไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งห้านับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป โดยโจทก์ทั้งห้าไม่ได้กระทำผิดและไม่ตกลงยินยอม
จึงเป็นการเลิกจ้างนับแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ วรรคสอง และต้องถือว่าหนังสือเรื่องให้พนักงานส่งคืนบัตร RAMP PASS และหยุดปฏิบัติงานเป็นหนังสือเลิกจ้าง แต่เหตุเลิกจ้างที่ระบุไว้ในหนังสือดังกล่าว ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับ
การทำงาน หรือคำสั่งของนายจ้างกรณีร้ายแรง การที่จำเลยส่งเงินสมทบของโจทก์ทั้งห้าแก่สำนักงานประกันสังคม เพื่อรักษาสิทธิของโจทก์ทั้งห้าในฐานะเป็นผู้ประกันตน ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ไม่ใช่ข้อที่แสดงว่าจำเลยยังไม่เลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยโจทก์ทั้งห้าไม่มีความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน เป็นเงินคนละ ๖๙,๐๐๐ บาท
ค่าทำงานในวันหยุดให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๗๖๖.๖๖ บาท และโจทก์ที่ ๒ เป็นเงิน ๑,๕๓๓.๓๒ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนแก่โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๔ คนละ ๓,๘๓๓.๓๐ บาท และโจทก์ที่ ๕ เป็นเงิน ๒,๒๙๙.๙๘ บาท สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อพิจารณา
ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ และจำเลยประกอบกิจการภายใน
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และนโยบายที่การท่าอากาศยานกำหนด
เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการเตรียมเปิดประเทศ การที่โจทก์ทั้งห้าปฏิเสธเข้ารับการฉีดวัคซีน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งห้าทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยชอบที่จะบอกเลิกจ้างได้ทันที โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และกรณีถือได้ว่าจำเลยมีเหตุสมควร
และเพียงพอในการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และจำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายเงิน
ค่าสูตรอาหารให้แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่เคยใช้มาตรการบังคับให้โจทก์ทั้งห้าเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ เนื่องจากจำเลยรับจ้างสายการบินตุรกีแอร์ไลน์บริหารงานการให้บริการ
ห้องรับรองผู้โดยสารภายในอาคารสนามบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงต้องปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของท่าอากาศยานและสายการบินซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และผู้ว่าจ้าง จำเลยไม่มีอิสระและอำนาจในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวด้วยตนเอง และที่อุทธรณ์ว่า บัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน ไม่ใช่บัตร
ที่จำเลยออกให้ แต่เป็นบัตรที่ท่าอากาศยานเป็นเจ้าของและออกให้ สามารถเรียกคืนเมื่อใดก็ได้ ซึ่งนายสถานีสายการบินตุรกีแอร์ไลน์ขอให้เรียกเก็บบัตรของโจทก์ทั้งห้าคืน ไม่ใช่จำเลยเป็นผู้ตัดสินใจออกคำสั่งเรียกเก็บบัตรคืน การที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้งห้าคืนบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน เป็นไปตามคำสั่ง
ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และนายสถานีสายการบินตุรกีแอร์ไลน์นั้น ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริง
และวินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ตามนโยบายของการท่าอากาศยานและนายสถานีสายการบินตุรกีแอร์ไลน์ ไม่เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ไม่สามารถบังคับได้ และจำเลยผู้เป็นนายจ้างมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งห้าคืนบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยาน เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งห้าไม่ได้เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ การที่จำเลยอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้มีคำสั่งหรือบังคับให้โจทก์ทั้งห้าเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ และไม่มีอิสระหรืออำนาจตัดสินใจออกคำสั่งเรียกเก็บบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยานคืน จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน
ของศาลแรงงานภาค ๑ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อมาอีกว่า จำเลยจำเป็นต้องให้โจทก์ทั้งห้าหยุดงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่
๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ เพื่อให้โจทก์ทั้งห้าไปฉีดวัคซีนและนำหลักฐานการฉีดวัคซีนมาแสดง หนังสือ
เรื่องการช่วยต่ออายุประกันสังคมที่จำเลยแจ้งโจทก์ทั้งห้าว่าจำเลยต่ออายุประกันสังคมถึงวันที่
๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เป็นหนังสือที่ยืนยันว่าจำเลยให้โจทก์ทั้งห้าหยุดงานชั่วคราวเพื่อให้โจทก์ทั้งห้า
ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก โดยมีกำหนดระยะเวลาเพียงพอให้โจทก์ทั้งห้านำหลักฐานการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปต่อบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยานและกลับเข้าทำงานได้ มิใช่ไม่ให้โจทก์ทั้งห้าเข้าทำงานตลอดไป เมื่อโจทก์ทั้งห้าได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วก่อนวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ แต่โจทก์ทั้งห้า
ไม่มาติดต่อเข้าทำงานกับจำเลย พฤติการณ์ของโจทก์ทั้งห้าจึงเป็นการออกจากงานไปเองโดยปริยาย
ไม่เป็นการเลิกจ้าง และที่อุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ขณะที่ยังเป็นลูกจ้างจำเลยและยังไม่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ คือ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔
ที่ศาลแรงงานภาค ๑ ถือเอาประเด็นที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งห้าตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ มาวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้าง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยให้โจทก์ทั้งห้าคืนบัตรอนุญาตเข้าออกพื้นที่ท่าอากาศยานและให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนของการหยุดทำงานชั่วคราวไว้ ถือว่า
หนังสือเรื่องให้พนักงานส่งคืนบัตร RAMP PASS และหยุดปฏิบัติงานเป็นหนังสือเลิกจ้าง อีกทั้งตามหนังสือเรื่องการช่วยต่ออายุประกันสังคม แสดงว่าจำเลยถือว่าโจทก์ทั้งห้าพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว กรณีจึงเป็นการที่ศาลแรงงานภาค ๑ ได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ของจำเลยหลายอย่างประกอบกันแล้ว
จึงวินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้า หาได้พิจารณาเฉพาะประเด็นไม่จ่ายค่าจ้างเพียงอย่างเดียวไม่ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค ๑ และบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลแรงงานภาค ๑ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยอีกเช่นกัน
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย.
(สุรพงษ์ ชิดเชื้อ – นงนภา จันทรศักดิ์ ลิ่มไพบูลย์ – ชนกพรรณ บุญสม)
ภัทรวรรณ ทรงกำพล - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ