คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2503/2565 บริษัทกามาคัตสึ อินเตอร์เนชั่นแนล

                                                                      จำกัด                                      โจทก์

                                                                      นายเดชา  หอมตา ในฐานะพนักงาน

                                                                      ตรวจแรงงาน กับพวก                 จำเลย

 

พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๑ (๔), ๑๒๓

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา ๑๑๘, 119 (4)

         จำเลยที่ ๒ เคยถูกโจทก์ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว ๒ ครั้ง ตามหนังสือเตือนฉบับแรก
ลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๒ เป็นเรื่องของการละทิ้งหน้าที่ และตามหนังสือเตือนฉบับที่ ๒ ลงวันที่
๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ เป็นเรื่องของการขาดงาน ตามหนังสือเตือนทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว เป็นกรณี
ที่จำเลยที่ ๒ ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวด ๙ วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.๔.๑๓
ในกรณีของการละทิ้งหน้าที่หรือการขาดงาน ส่วนการหยุดงานของจำเลยที่ ๒ ในวันที่
๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ นั้น เป็นกรณีของการลาป่วยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวด ๔ วันลาและหลักเกณฑ์การลา ข้อ ๒.๒ การลาป่วย ดังนั้น ไม่ว่าการลาป่วยของจำเลยที่ ๒
ในวันดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์หรือไม่ก็ตามก็เป็นคนละเรื่อง
กับกรณีที่จำเลยที่ ๒ เคยถูกโจทก์ตักเตือนเป็นหนังสือดังกล่าว กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒
ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วตาม
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ ๒ ได้
โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

         แม้โจทก์จ่ายค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้แก่จำเลยที่ ๒ ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ครบถ้วนแล้วก็ตาม ก็เป็นเงินที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ ๒ ในการเลิกจ้าง
เพราะขณะเลิกจ้างจำเลยที่ ๒ เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง และอยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ โดยที่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้กระทำผิดตามมาตรา ๑๒๓ (๑) ถึง (๕) แห่ง พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงเป็นค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรม
ที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจกำหนดให้โจทก์ชดใช้ได้ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๑ (๔) และเป็นเงินคนละส่วนกับค่าชดเชยที่จำเลยที่ ๒ มีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑๘
แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มิใช่เป็นการซ้ำซ้อนกันดังที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัย

______________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ที่ ๒๓๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ และให้มีคำสั่งคืนเงิน ๓๗,๑๓๘.๔๕ บาท
ที่โจทก์วางไว้ต่อศาลแก่โจทก์

         จำเลยที่ ๑ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ให้การด้วยวาจา  ขอถือเอาคำให้การของจำเลยที่ ๑  เป็นคำให้การของจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๒ ขาดนัดพิจารณา

         ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการ
และคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ที่ ๒๓๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ของจำเลยที่ ๑ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการ
และคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี จำเลยที่ ๒ เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ เริ่มทำงานเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๖๑ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานฝ่ายผลิต ทำหน้าที่เหลาเบ็ด ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๑,๕๑๘ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๖ ของทุกเดือน และจำเลยที่ ๒
เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานกามาคัตสึ นวนคร โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๒ อ้างเหตุว่าจำเลยที่ ๒ กระทำผิดซ้ำคำเตือน หลังจากที่จำเลยที่ ๒ ถูกโจทก์เลิกจ้างเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ แล้ว จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๒ นั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ และเมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ ๑๕๙/๒๕๖๓ ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๓๔,๕๕๔ บาท แล้ว ต่อมาจำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยแก่จำเลยที่ ๒ โดยอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันว่าจำเลยที่ ๒ ถูกโจทก์เลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำผิด แล้วจำเลยที่ ๑ มีคำสั่ง
ที่ ๒๓๔/๒๕๖๓ ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่จำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๓๔,๕๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างเวลาผิดนัด โดยในระหว่างที่จำเลยที่ ๑ ยังไม่มีคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ไปรับเงินค่าเสียหายจากโจทก์ตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ ๑๕๙/๒๕๖๓ แล้ว แล้ววินิจฉัยว่า การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ หรือไม่ หรือนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๘ หรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวคือพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์
พ.ศ. ๒๕๑๘ และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไว้แตกต่างกัน และเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างไม่ให้ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำผิดเช่นเดียวกัน จำเลยที่ ๒ มีสิทธินำคำร้องกล่าวหาโจทก์ไปยื่นต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา ๑๒๔
ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาวินิจฉัยและออกคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ ๒ กลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหาย หรือปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ
อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
ตามมาตรา ๔๑ (๔) และมาตรา ๑๒๕ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘
ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้จำเลยที่ ๒ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงาน
ตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๒๓
และมาตรา ๑๒๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ในกรณีที่การเลิกจ้างนั้น
เป็นทั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรม และการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำผิด แม้ลูกจ้างจะมีสิทธิ
ยื่นคำร้องดังกล่าวได้ทั้งต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และพนักงานตรวจแรงงานก็ตาม แต่ลูกจ้าง
จะถือเอาประโยขน์จากคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งมาจากเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันทั้งสองทางไม่ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่าจะเป็น
การซ้ำซ้อนกัน ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ลูกจ้างจะต้องเลือกรับเอาประโยชน์ตามคำสั่งดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว การที่จำเลยที่ ๒ เลือกเข้าถือเอาประโยชน์จากคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ สละสิทธิไม่ถือเอาประโยชน์จากคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมาจากเหตุเลิกจ้างเดียวกันไปแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ อีก

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑
ที่ ๒๓๔/๒๕๖๓ เรื่อง ค่าชดเชย ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ หรือไม่ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติ จำเลยที่ ๒ เคยถูกโจทก์ตักเตือนเป็นหนังสือมาแล้ว ๒ ครั้ง ตามหนังสือเตือนฉบับแรกลงวันที่
๓ กันยายน ๒๕๖๒ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ออกไปนอกบริเวณบริษัทโจทก์โดยจำเลยที่ ๒ โทรศัพท์
มาแจ้งให้หัวหน้างานรับทราบแล้วว่าจะเข้ามาทำงานล่าช้า ซึ่งเป็นกรณีของการละทิ้งหน้าที่
และตามหนังสือเตือนฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ขอลากิจแต่โจทก์
ไม่อนุญาตให้ลา แล้วจำเลยที่ ๒ หยุดงานไปในวันนั้น ซึ่งเป็นกรณีของการขาดงาน ทั้งนี้ ตามหนังสือเตือนทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าว เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวด ๙ วินัย
และโทษทางวินัย ข้อ 3.๔.๑๓ ในกรณีของการละทิ้งหน้าที่หรือการขาดงาน ส่วนการหยุดงาน
ของจำเลยที่ ๒ ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ นั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ จำเลยที่ ๒ แจ้งหัวหน้างานว่าขอลาป่วยเพราะประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ โดยมีใบรับรองแพทย์ระบุให้หยุดพัก ๒ วัน ตั้งแต่วันที่ ๒๒ ถึงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๓ นั้น เป็นกรณีของการลาป่วยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวด ๔ วันลาและหลักเกณฑ์การลา ข้อ ๒.๒ การลาป่วย ดังนั้น
ไม่ว่าการลาป่วยของจำเลยที่ ๒ ในวันดังกล่าวจะเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์หรือไม่ก็ตามก็เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่จำเลยที่ ๒ เคยถูกโจทก์ตักเตือนเป็นหนังสือดังกล่าว กรณี
ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ซึ่งโจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ ๒ ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แม้โจทก์จ่ายค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้แก่จำเลยที่ ๒
ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ครบถ้วนแล้วก็ตาม ก็เป็นเงินที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยที่ ๒ ในการเลิกจ้างเพราะขณะเลิกจ้างจำเลยที่ ๒ เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานกามาคัตสึ นวนคร
ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง และอยู่ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ
โดยที่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้กระทำผิดตามมาตรา ๑๒๓ (๑) ถึง (๕) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงเป็นค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจกำหนดให้โจทก์ชดใช้ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๑ (๔)
และเป็นเงินคนละส่วนกับค่าชดเชยที่จำเลยที่ ๒ มีสิทธิได้รับตามมาตรา ๑๑๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มิใช่เป็นการซ้ำซ้อนกันดังที่ศาลแรงงานภาค ๑ วินิจฉัย ที่ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
จังหวัดปทุมธานี ที่ ๒๓๔/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ของจำเลยที่ ๑ นั้น ศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ ๑
ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป

         พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

(ดาราวรรณ  ใจคำป้อ - ศุภร  พิชิตวงศ์เลิศ - กนกรดา  ไกรวิชญพงศ์)

มนุเชษฐ์   โรจนศิริบุตร - ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์  - ตรวจ