คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1526/2565 นายพิศุทธิ์ อาคม โจทก์
ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แห่งประเทศไทย จำเลย
ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๔๔ วรรคสอง
เมื่อข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แห่งประเทศไทย (สร.วว.) ข้อ ๑๕ (๒) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกรรมการของสหภาพแรงงานซึ่งเป็นเรื่องการบริหารงานของสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกและการขาดจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานแต่ประการใด ข้อบังคับดังกล่าว
จึงไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๔๔ วรรคสอง หากโจทก์เห็นว่าข้อบังคับดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อการทำงานของสหภาพแรงงาน ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะ
สมาชิกสหภาพแรงงานจะต้องไปดำเนินการตามข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สร.วว.) เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าวต่อไปซึ่งกำหนดให้กระทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้นตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๓ ของข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สร.วว.) กรณี
ที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้จึงไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิของโจทก์ไว้ ดังนั้น โจทก์ไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิ
หรือหน้าที่ตามกฎหมายแต่ประการใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๕
ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
_____________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลตัดข้อความข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สร.วว.) ข้อ ๑๕ (๒) ออก และเพิกถอนประกาศสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการ
การเลือกตั้งกรรมการบริหาร สร.วว. ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๓
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ส่วนจำเลยเป็นประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โจทก์ขอสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงานดังกล่าว แต่ได้รับการปฏิเสธ
โดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติเนื่องจากไม่เคยเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการหรือที่ปรึกษา
สหภาพแรงงานดังกล่าวไม่น้อยกว่า ๓ เดือน ตามข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สร.วว.) ข้อ ๑๕ (๒) แล้ววินิจฉัยว่า ตามรายงาน
การประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แห่งประเทศไทย บันทึกว่า มีสมาชิกของสหภาพแรงงานได้ทักท้วงและคัดค้านการลงมติแต่งตั้ง
กรรมการสหภาพแรงงานโดยสมาชิกได้ขอเพิ่มระเบียบวาระการประชุม แต่ประธานที่ประชุมแจ้งว่าสมาชิกที่ประสงค์จะยื่นญัตติเพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับในหมวด ๘
ข้อ ๓๐ ก่อน ดังนั้น การที่สมาชิกได้เสนอญัตติเข้าพิจารณาในที่ประชุมโดยไม่เข้าองค์ประกอบ
ของข้อบังคับดังกล่าว ประธานจึงไม่รับพิจารณาและที่ประชุมยังมีมติไม่รับญัตติของสมาชิกที่เสนอ
ขอเพิ่มระเบียบวาระการประชุมด้วย เมื่อพิจารณาข้อบังคับ ข้อ ๓๐ ระบุว่า สมาชิกที่ประสงค์
จะเสนอญัตติใด ๆ เข้าไว้ในวาระการประชุมใหญ่ให้เสนอเรื่องต่อประธานสหภาพแรงงาน
หรือเลขาธิการสหภาพแรงงานภายในระยะไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน ก่อนการประชุมใหญ่และเรื่องที่จะเสนอนั้นต้องมีสมาชิกร่วมสนับสนุนไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ส่วนญัตติซึ่งเสนอขึ้นมาในระหว่างการประชุม ที่ประชุม
จะพิจารณาได้ต่อเมื่อมีสมาชิกสนับสนุนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาประชุม ดังนั้น เมื่อโจทก์
เสนอขอเพิ่มระเบียบวาระการประชุมโดยที่ไม่มีการเสนอเรื่องต่อประธานสหภาพแรงงานหรือเลขาธิการสหภาพแรงงานภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน ก่อนการประชุม และมีผู้สนับสนุนไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ญัตติของโจทก์จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อ ๓๐ ของข้อบังคับดังกล่าว อีกทั้งระหว่างการประชุมสมาชิก
มีเสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาประชุมตามที่ปรากฏในรายงานการประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกที่ประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกจึงยังไม่ได้พิจารณาถึงปัญหาและการขอแก้ไขข้อบังคับในข้อ ๑๕ (๒) ของโจทก์แต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจหรือที่ประชุมได้มีการพิจารณาว่าข้อบังคับในข้อ ๑๕ (๒) นั้น มีลักษณะกีดกันไม่ให้สมาชิกอื่นสามารถใช้สิทธิสมัครเป็นกรรมการสหภาพหรือไม่หรือข้อบังคับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร จึงเป็นกรณีที่ประชุมใหญ่
สามัญประจำปีของสมาชิกยังไม่เคยได้พิจารณามาก่อนว่าข้อบังคับในข้อ ๑๕ (๒) ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร โจทก์ควรจะใช้สิทธิในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานยื่นเรื่องเข้าที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงาน
เพื่อพิจารณาถึงความชอบด้วยกฎหมายของข้อบังคับดังกล่าวให้ถูกต้องเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้ออื่นอีก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่
เห็นว่า เมื่อข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สร.วว.) ข้อ ๑๕ (๒) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกรรมการของสหภาพแรงงาน
ซึ่งเป็นเรื่องการบริหารงานของสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกและการขาด
จากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานแต่ประการใด ข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่ได้ขัดต่อพระราชบัญญัติ
แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๔๔ วรรคสอง หากโจทก์เห็นว่าข้อบังคับดังกล่าว
ไม่เป็นผลดีต่อการทำงานของสหภาพแรงงาน ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงาน
จะต้องไปดำเนินการตามข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สร.วว.) เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าวต่อไปซึ่งกำหนดให้กระทำได้
โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้นตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓๓ ของข้อบังคับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สร.วว.) กรณีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้
จึงไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิของโจทก์ไว้ ดังนั้น โจทก์ไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย
แต่ประการใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑
พิพากษายืน.
(ธีระพล ศรีอุดมขจร - สิริพร เปรมาสวัสดิ์ สุรมณี - อนุวัตร ขุนทอง)
มนุเชษฐ์ โรจนศิริบุตร - ย่อ
อิสรา วรรณสวาท - ตรวจ