คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 7062/2562   นายพงศ์โสภณ คุรุรัตน์ชัยกุล         โจทก์

                                                                         การทางพิเศษแห่งประเทศไทย       จำเลย

 

ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 4, 33

         เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นมีลักษณะเป็นเงินที่จําเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทน การทํางานปกติในวันทํางานของโจทก์ ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จะนํามา เป็นฐานในการคํานวณเงินชดเชยตามโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ด้วย การที่มติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒7 มีนาคม ๒๕๕8 กําหนดว่าเงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้น
ไม่ถือเป็นเงินเดือน มีลักษณะการจ่ายเป็นการชั่วคราว และไม่ให้ใช้เป็นฐานในการคํานวณเงินชดเชย
ตามโครงการ จึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตก
เป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันโจทก์
 

            แม้การยื่นคําขอเกษียณอายุก่อนกําหนดตามโครงการจะไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ยินยอมสละสิทธิ
การเรียกค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีและวันหยุดพักผ่อนประจําปีสะสม แต่เมื่อโจทก์
พ้นสภาพการเป็นพนักงานจําเลยเนื่องจากข้อตกลงตามโครงการ โดยผู้เข้าร่วมโครงการต่างยื่นใบสมัครลาออกอันมีลักษณะเป็นการตกลงระงับสัญญาจ้างระหว่างจําเลยกับโจทก์ด้วยความสมัครใจ
และจําเลยตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่พนักงานซึ่งตกลงเข้าร่วมโครงการ การที่จําเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกตามคําขอของโจทก์จึงเป็นการยื่นคําขอและการอนุมัติให้ลาออกตามโครงการเกษียณอายุก่อนกําหนด
ซึ่งมิใช่เป็นการเลิกจ้าง จําเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีและวันหยุดพักผ่อนประจําปีสะสมให้แก่โจทก์
 

______________________________

 

         โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๕๙,๙๖๒.๘๕ บาท และค่าชดเชย ๒๑,๘๘๕.๒๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ วันที่ ๒ สิงหาคม 2525 จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงาน ตำแหน่งสุดท้ายผู้อำนวยการฝ่ายจัดเก็บค่าผ่านทาง ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 108,810 บาท
และเงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นอีกร้อยละ 2 ต่อเดือนเป็นเงิน 2,176.20 บาท
ในปีงบประมาณ 2561 โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 10 วัน และวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม 35 วัน โจทก์ลาหยุดพักผ่อนประจำปี ๒ วัน คงเหลือ 43 วัน โจทก์เข้าร่วมโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ 2561 โดยมีผล ณ วันที่ ๑ ตุลาคม 2561 ที่มาของโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ เป็นไปตามรายงานการประชุม เอกสารหมาย จ.๖ เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นร้อยละ ๒ คิดเป็นเงินเดือนละ ๒,๑๗๖.๒๐ บาท นั้น โจทก์ได้รับตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๐ โดยจำเลยโอนเข้าบัญชีของโจทก์พร้อมกับเงินเดือน ซึ่งเงินดังกล่าวมีที่มาตามรายงานการประชุม ข้อบังคับของจำเลย หนังสือเรื่องการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษ เอกสารหมาย ล.๔ ถึง ล.๗ แล้ววินิจฉัยว่า เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นเป็นเงินจูงใจจ่ายให้เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงาน มีลักษณะการจ่ายเป็นการชั่วคราว รวมทั้งไม่ใช้เป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือน
ทุกเรื่องของพนักงานและลูกจ้างของจำเลย ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘ เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นจึงไม่ถือเป็นค่าจ้าง ไม่นำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์ ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายลาออกเองโดยเข้าร่วมโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายเลิกจ้างตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ ๓๓ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า เงินตอบแทนพิเศษ เนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นถือเป็นค่าจ้างหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด            เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าเงินค่าตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นเป็นค่าจ้างหรือไม่              ย่อมพิจารณาตามความหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสัญญาจ้างแรงงาน และเป็นไปตามคำนิยามของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (๑) ได้นำ                    คำนิยามดังกล่าวมาประกาศไว้ในประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐาน
ขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ ๔ โดย “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลา
หรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ดังนั้น จึงเห็นว่า เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นดังกล่าว 
เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าตอบแทนการทำงานโดยตรงในวันและเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้าง ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้น โจทก์มีสิทธินำมา
เป็นฐานในการคำนวณเงินชดเชยตามโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง โดยสภาพการจ้างหมายความรวมถึงค่าจ้างด้วย เมื่อประกาศการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เรื่อง โครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ 2561 ให้โจทก์มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษและสิทธิประโยชน์
เป็นเงินชดเชย 300 วันของอัตราค่าจ้างสุดท้ายตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ดังนั้น ในเบื้องต้น เห็นว่า เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้น ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไรย่อมเป็นค่าจ้างที่จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณเงินชดเชยตามโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ได้ และแม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘ ซึ่งใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทุกแห่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า
ไม่ให้ถือเป็นเงินเดือน และมีลักษณะการจ่ายเป็นการชั่วคราว รวมทั้งไม่ใช้เป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินเดือนทุกเรื่องของพนักงานและลูกจ้าง แต่ด้วยเหตุที่เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้น มีลักษณะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ เงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง
เมื่อประกาศการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เรื่อง โครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ 2561
ให้โจทก์มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษและสิทธิประโยชน์เป็นเงินชดเชย 300 วันของอัตราค่าจ้างสุดท้าย ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง            ในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 ดังนั้น ในการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษและสิทธิประโยชน์เป็นเงินชดเชยตามประกาศการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เรื่อง โครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ 2561 จำเลยต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมเงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นมาเป็นฐานในการคำนวณด้วย การที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘ กำหนดว่าไม่ให้นำเงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นไปรวมกับค่าจ้าง            เพื่อเป็นฐานในการคำนวณเงินชดเชยตามโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ จึงเป็น
การฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง
ในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง จำเลยจึงต้องนำเงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นมาเป็นฐานในการคำนวณเงินชดเชยตามโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ด้วย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางไม่ให้นำเงินตอบแทนพิเศษเนื่องจากเงินเดือนเต็มขั้นมาเป็นฐานในการคำนวณเงินชดเชยตามโครงการร่วมใจ
จาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ด้วยนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

         คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยกำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ 2561 เป็นการสมัครใจลาออก เป็นการใช้ข้อความหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
จึงต้องถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด เมื่อโจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ คงเหลืออยู่ ๔๓ วัน ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์              เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 17 ให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่ให้แก่โจทก์แต่จำเลยหาได้กระทำดังกล่าวไม่ โจทก์ยังคงต้องทำงานให้แก่จำเลยจนถึงวันสิ้นปีงบประมาณ 2561 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ โดยในการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาออกตามโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑
ถือเป็นการเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานจำเลยตามโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ อันมีลักษณะเป็นข้อตกลงระงับสัญญาจ้างร่วมกัน โดยจำเลยตกลงให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่พนักงานซึ่งตกลงเข้าร่วมโครงการและข้อตกลงดังกล่าวมิได้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายและมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด
จึงมีผลบังคับได้ ดังนั้น แม้การที่โจทก์ยื่นคำขอเกษียณอายุก่อนกำหนดตามโครงการจะเป็นการขอให้จำเลยอนุมัติให้ลาออกก็ตาม แต่ก็เป็นการยื่นคำขอและการอนุมัติให้ลาออกตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด การอนุมัติของจำเลยดังกล่าวเป็นการอนุมัติให้โจทก์ลาออกตามคำขอของโจทก์ และเมื่อโจทก์พ้นสภาพการเป็นพนักงานจำเลยเนื่องจากข้อตกลงตามโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ โดยผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวยื่นใบสมัครลาออกอันมีลักษณะเป็นการตกลงระงับสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ดังกล่าวด้วยความสมัครใจ จึงถือว่าเป็นการลาออกจากงานด้วยความสมัครใจของโจทก์ การที่จำเลยอนุมัติคำขอของโจทก์ดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกจ้าง มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมาว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ในการยื่นคำขอเกษียณอายุก่อนกำหนดของโจทก์จะไม่มีข้อความที่แสดงว่าโจทก์ยินยอมสละสิทธิการเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามที่โจทก์มีสิทธิ
อยู่แล้วก็ตาม แต่เมื่อประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ ๓๓ ระบุว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิด
ตามข้อ ๖๐ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ ๑๗ และข้อ ๓๒ ด้วย อันมีความหมายโดยชัดแจ้งว่าการที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่ลูกจ้างนั้น จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ ๖๐ ดังนั้น เมื่อการที่จำเลยอนุมัติคำขอเกษียณอายุก่อนกำหนดของโจทก์ดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกจ้างดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยส่วนที่ขาดโดยนำเงินตอบแทนพิเศษ เนื่องจากเงินเดือน
เต็มขั้นมาเป็นฐานในการคำนวณเงินชดเชยตามโครงการร่วมใจจาก กทพ. ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ด้วย พร้อมด้วยดอกเบี้ยของต้นเงินค่าชดเชยส่วนที่ขาดที่ได้รับในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่
๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา
ของศาลแรงงานกลาง.

 (สมเกียรติ คูวัธนไพศาล – เฉลิมพงศ์ ขันตี – ยิ่งลักษณ์ สุขวิสิฏฐ์)

กรรณิกา อัศวเมธา - ย่อ

ฤทธิรงค์ สมอุดร - ตรวจ