คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1427/2562  นายธีระ หรุ่นเกษม                        โจทก์

                                                                        บริษัทขนส่ง จำกัด กับพวก             จำเลย

                                                                          นายจักรินทร์  กาวีจันทร์           จำเลยร่วม   

ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ (๑)

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑, ๕๗

คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยในประเด็นว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ หรือไม่ เพียงแต่สรุปเป็นข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ ๑ โดยคณะกรรมการผู้มีอำนาจ
มีคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้การจัดการความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของพนักงานและการวางแผนสืบทอดตำแหน่งของจำเลยที่ ๑ ดำเนินการอย่างเป็นธรรม มีการเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลเพื่อแต่งตั้ง
ให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ไม่ได้วินิจฉัยหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยให้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งแต่งตั้งให้พนักงานดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น และออกคำสั่งอื่น ๆ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดกล่าวอ้าง หรือศาลมีเหตุผลในการรับฟังอย่างไร จึงมีผลเท่ากับศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาท เป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ ปัญหาข้อนี้
แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ แต่เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วย
คำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ วรรคหนึ่ง (๑) ซึ่งนำมาใช้บังคับในศาลแรงงานตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทให้ถูกต้องแล้วพิพากษาใหม่                

_____________________________

         โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ก.๗๔/๒๕๖๐ ในส่วนที่แต่งตั้งนายจักรินทร์ และบุคคลที่ไม่มีสิทธิหรือไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เพิกถอนคำสั่งที่
ก.๘๘/๒๕๖๐ คำสั่งที่ ค.๓๐ ถึง ค.๓๒/๒๕๖๐ และคำสั่งที่ ค.๓๗/๒๕๖๐ และให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๑ พิจารณาแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นให้แก่โจทก์ตามสิทธิจากบัญชีรายชื่อผู้รักษาสถานภาพตามประกาศหรือคำสั่งประจำปี ๒๕๕๙ หรือที่เกี่ยวข้องด้วยความเป็นธรรมและความสมัครใจของโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๑ ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ๑๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
นับจากวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๐ หากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๑ ไม่ดำเนินการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งแก่โจทก์
ให้ร่วมกันชำระค่าเสียหาย ๒๘๐,๐๐๐ บาท ๓๘๐,๐๐๐ บาท ๔๘๐,๐๐๐ บาท และ ๕๘๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของรอบปีที่ครบกำหนด และให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๑ ร่วมกันชำระค่าเสียหายกรณีไม่แต่งตั้งโจทก์เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นนับจากเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ ในอัตราปีละ ๖๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ศาลอนุญาตให้นายจักรินทร์ เข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๗ ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑

         จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า การพิจารณาเลื่อนพนักงานให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นของจำเลยที่ ๑ ตามคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ก.๗๔/๒๕๖๐  ในส่วนที่แต่งตั้งนายจักรินทร์ จำเลยร่วม คำสั่งที่ ก.๘๘/๒๕๖๐ ที่แต่งตั้งให้นายสุรีย์วัฒน์ ไปรักษาการหัวหน้างานบริหารอสังหาริมทรัพย์ เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง ขัดกับคำสั่ง เงื่อนไข ระเบียบ และวิธีการที่กำหนดไว้ และคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ค.๓๐ ถึง ค.๓๒/๒๕๖๐ ที่ยกเลิกบัญชีรายชื่อของโจทก์ และคำสั่งที่ ค.๓๗/๒๕๖๐
การคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารฯ เป็นการออกคำสั่งโดยไม่โปร่งใส ไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับ
ความเสียหายสูญเสียความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ และศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงนอกสำนวน
มาวินิจฉัย วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายังไม่ครบถ้วนและวินิจฉัยข้อกฎหมายและตีความประกาศ ระเบียบและคำสั่งคลาดเคลื่อน เห็นว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ก.๗๔/๒๕๖๐ ในส่วนที่แต่งตั้งนายจักรินทร์ จำเลยร่วม คำสั่งที่
ก.88/2560 คำสั่งที่ ค.๓๐ ถึง ค.๓๒/๒๕๖๐ และคำสั่งที่ ค.๓๗/๒๕๖๐ โดยกล่าวอ้างว่าเป็นการออกคำสั่ง
ที่ไม่ถูกต้อง ขัดกับคำสั่ง เงื่อนไข ระเบียบ วิธีการที่กำหนด ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม แต่จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ ๑ พิจารณาและแต่งตั้งบุคลากรให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นโดยพิจารณาจากตำแหน่งที่ว่าง ความเหมาะสม และความจำเป็นของแต่ละหน่วยงาน และนำปัจจัยการคัดเลือกในด้านต่าง ๆ
มาประกอบการพิจารณา เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ จำเลยทั้งสิบเอ็ดปฏิบัติ
ตามอำนาจหน้าที่ตามประกาศ และระเบียบข้อบังคับพนักงานโดยสุจริต ไม่ทำให้โจทก์เสียหายนั้น ประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยจึงมีว่า มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ก.๗๔/๒๕๖๐ คำสั่งที่ ก.๘๘/๒๕๖๐ คำสั่งที่ ค.๓๐ ถึง ค.๓๒/๒๕๖๐ และคำสั่ง ที่ ค.๓๗/๒๕๖๐ หรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการพิจารณาเลื่อนพนักงานให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นของจำเลยที่ ๑ ตามคำสั่งข้างต้นเป็นไป
โดยไม่ถูกต้อง ขัดกับคำสั่ง เงื่อนไข ระเบียบ วิธีการที่กำหนด ไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรมกับโจทก์แล้ว
ก็มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ตามฟ้องโจทก์ และโดยที่ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๑ บัญญัติเรื่องการทำคำพิพากษาหรือคำสั่งไว้ว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัย
ในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น” ฉะนั้นในการวินิจฉัยหรือรับฟังข้อเท็จจริงที่ว่า
การพิจารณาเลื่อนพนักงานให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นของจำเลยที่ ๑ ตามคำสั่งข้างต้น เป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ขัดกับคำสั่ง เงื่อนไข ระเบียบ วิธีการที่กำหนด ไม่โปร่งใส ไม่สุจริต และไม่เป็นธรรมกับโจทก์หรือไม่นั้น
ศาลแรงงานกลางต้องแสดงเหตุแห่งการวินิจฉัยหรือการรับฟังให้ชัดแจ้ง คดีนี้ปรากฏว่าศาลแรงงานกลาง
รับฟังว่าจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งที่ ก.๗๔/๒๕๖๐ คำสั่งที่ ก.๘๘/๒๕๖๐ คำสั่งที่ ค.๓๐ ถึง ค.๓๒/๒๕๖๐
และคำสั่งที่ ค.๓๗/๒๕๖๐ โดยชอบด้วยระเบียบและหลักเกณฑ์ข้อบังคับ ประกอบการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยสรุปเป็นข้อเท็จจริงซึ่งฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ ๑ โดยคณะกรรมการผู้มีอำนาจมีคำสั่งดังกล่าวข้างต้นเพื่อให้การจัดการความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของพนักงานและการวางแผนสืบทอดตำแหน่งของจำเลยที่ ๑ ดำเนินการอย่างเป็นธรรม มีการเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงให้ชัดแจ้งว่าที่รับฟังว่าจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งแต่งตั้งพนักงานให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น และออกคำสั่งอื่น ๆ ข้างต้น เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดกล่าวอ้าง หรือศาลมีเหตุผลในการรับฟังอย่างไรบ้าง การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีโดยวิธีสรุปเป็นข้อเท็จจริง
ซึ่งรับฟังได้ในเบื้องต้น ย่อมมีผลเท่ากับศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทตามที่คู่ความโต้เถียงกัน คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหานี้แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ แต่เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๓ วรรคหนึ่ง (๑) ซึ่งนำมาใช้บังคับในศาลแรงงานตาม พ.ร.บ. จัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีอำนาจ
หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเห็นสมควรย้อนสำนวนไปยังศาลแรงงานกลางเพื่อให้วินิจฉัยข้อเท็จจริง
ในประเด็นข้อพิพาทให้ถูกต้องและพิพากษาใหม่ ในชั้นนี้จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์

         พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นแห่งคดีดังกล่าวและพิพากษาใหม่ต่อไป.

(นาวี  สกุลวงศ์ธนา - เริงศักดิ์  วิริยะชัยวงศ์ - นงนภา  จันทรศักดิ์  ลิ่มไพบูลย์)

อิศเรศ  ปราโมช ณ อยุธยา – ย่อ

                                                                                                       สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ – ตรวจ