คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1568/2562  

นางสาวเฮซุน ชุง                        โจทก์

มูลนิธิคณะสงฆ์พระมหาไถ่ แห่งประเทศไทย กับพวก             จำเลย

ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๑

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑, ๔๙, ๕๔, ๕๕

         สัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน จะต้องเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดตามสัญญาเอาไว้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจะต้องเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ แต่ละฉบับมีกำหนดระยะเวลาจ้าง ๑ ปี แต่มีการทำสัญญาจ้างแต่ละฉบับต่อเนื่องกันมาตลอดตั้งแต่สัญญาจ้างฉบับแรกจนถึงสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายรวมระยะเวลาที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยทั้งสอง ๑๗ ปี ๑๐ เดือน สัญญาจ้าง ข้อ ๔ กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายที่ประสงค์จะเลิกสัญญาต้องแจ้งแก่อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า ๓๐ วัน โดยบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร อันเป็นการกำหนดให้โจทก์และจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้โดยบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า ๓๐ วัน สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงเหตุ
แห่งการเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้  การที่จำเลยที่ ๒ ไม่ต่อสัญญากับโจทก์โดยอ้างว่าประสบปัญหาทางการเงินอย่างร้ายแรง จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันสมควร การเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นชอบแล้ว

         แม้จำเลยที่ ๒ ยื่นอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้ขอทุเลาการบังคับ และการยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงาน ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๕ เมื่อจำเลยที่ ๒ วางเงินต่อศาลแรงงานกลางเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการวางเงินเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์หากจำเลยที่ ๒ แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ และจำเลยที่ ๒ ไม่ได้คัดค้านการที่โจทก์ขอรับเงินดังกล่าว
ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยที่ ๒ วางเงินต่อศาลแรงงานกลางเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี เพื่อขอให้ศาลแรงงานกลางงดการบังคับคดีไว้
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๑ วรรคสาม ประกอบ
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โจทก์จึงมีสิทธิขอรับเงินที่จำเลยที่ ๒ นำมาวางศาลเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๒ เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง อย่างไรก็ดี แม้โจทก์จะมีสิทธิขอรับเงิน
ที่จำเลยที่ ๒ นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่เป็นการตัดอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์รับเงินที่มาวางศาลนั้นได้ ดังนี้ เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยคดีไม่มีการอุทธรณ์ในส่วนค่าชดเชย และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้มีคำพิพากษาในส่วนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแล้ว เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี เห็นสมควรอนุญาตให้โจทก์รับเงินที่จำเลยที่ ๒ นำมาวางศาลดังกล่าวไปได้ แม้คดียังไม่ถึงที่สุด

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย ๑,๖๘๔,๘๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 178,871.06 บาท ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของค่าชดเชยดังกล่าวทุกระยะเวลา ๗ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ จนกว่าจะชำระเสร็จ
แก่โจทก์ เงินเพิ่มคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 9,๐62,๐86.07 บาท และให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหาย
จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์รวม 18 เดือน เป็นเงิน 3,๐3๒,๗๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1๖0,983.96 บาท

         จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันว่า โจทก์ได้รับเงินเดือน 1๓๓,485 บาท
ค่าเช่าบ้าน 25,000 บาท และค่าวิชาชีพ 10,000 บาท โดยจ่ายให้แก่โจทก์ทุกเดือนไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน

         ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชย 1,๖84,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 2,300,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

         จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์

         โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงิน ๔,๖๓๗,๒๕๓.๘๓ บาท ที่จำเลยที่ ๒ นำมาวางศาลแรงงานกลาง
เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๒

         ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า คดียังไม่ถึงที่สุด จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง

         โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริง
และวินิจฉัยว่า ตามสัญญาจ้างพร้อมคำแปลเป็นสัญญาจ้างที่จำเลยที่ ๒ ทำสัญญากับโจทก์โดยได้รับ
การแต่งตั้งและรับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๑ แม้สัญญาจ้างแต่ละฉบับดังกล่าวจะมีกำหนดระยะเวลา
๑ ปี โดยมีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแน่นอน แต่จำเลยทั้งสองก็ทำสัญญาต่อเนื่องกับโจทก์
มาตลอดนับแต่สัญญาจ้างฉบับแรกถึงสัญญาจ้างฉบับสุดท้าย รวมระยะเวลาที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยทั้งสอง 17 ปี 10 เดือน โดยในการต่อสัญญาแต่ละฉบับ จำเลยทั้งสองจะส่งสัญญาให้กับโจทก์ล่วงหน้าหลายเดือน เพื่อให้โจทก์ตอบรับภายใน ๑๕ วัน ว่าประสงค์จะต่อสัญญากับจำเลยทั้งสองหรือไม่ มิใช่
ในกรณีที่ใกล้จะครบสัญญาแล้วจึงมีการต่อสัญญากันใหม่แต่อย่างใด ลักษณะของการที่จำเลยที่ ๒
ทำสัญญาจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไปจนกระทั่งถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐ ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลา ๑๗ ปีเศษ โดยมีการต่อสัญญาจ้างเป็นระยะเวลาครั้งละ ๑ ปี ปีต่อปีเช่นนี้ ถือว่าจำเลยที่ ๒ มีเจตนาทำสัญญาจ้างกับโจทก์ไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา พฤติการณ์
ที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวปีต่อปีกับโจทก์และครูคนอื่นก็โดยมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยง
ไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับโจทก์และครูคนอื่นซึ่งเป็นลูกจ้าง และการที่จำเลยทั้งสองยื่นสัญญาจ้างฉบับใหม่ให้โจทก์ต่อสัญญาจ้างล่วงหน้าหลายเดือนก็มีลักษณะเป็นการผูกมัดเพื่อที่จะไม่ให้โจทก์ออกไปทำงาน
ที่อื่น สัญญาจ้างระหว่างจำเลยที่ ๒ กับโจทก์เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา จึงไม่สามารถ
นำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 ข้อ 35 (๒) มาใช้บังคับกับโจทก์ได้ กรณีดังกล่าวจึงต้องนำ พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๖ ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 หมวด 4 ข้อ 32 (5) มาใช้กับโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริง
รับฟังได้ว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยที่ ๒ เป็นเวลา 17 ปี 10 เดือน ถือว่าโจทก์ทำงานติดต่อกันครบ
๑๐ ปี ขึ้นไป จึงให้จำเลยที่ ๒ จ่ายค่าชดเชยให้กับโจทก์เท่ากับอัตราเงินเดือนสุดท้าย ๑๐ เดือน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำแถลงรับของคู่ความว่าโจทก์ได้รับเงินเดือน 1๓3,485 บาท ค่าเช่าบ้าน

 

 

2๕,000 บาท และค่าวิชาชีพ10,000 บาท โดยจำเลยที่ ๒ จ่ายให้แก่โจทก์ทุกเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงิน และทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าจำเลยที่ ๒ จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ตลอดมา
เป็นเวลา 17 ปี 10 เดือน ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับเงินเดือนทั้งสิ้นในอัตราเดือนละ 168,485 บาท จำเลยที่ ๒ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ๑,๖๘๔,๘๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่
วันสิ้นสุดสัญญาจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนกรณีของเงินเพิ่มนั้น การที่จำเลยที่ ๒ ไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เนื่องมาจากจำเลยที่ ๒ เข้าใจว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒
เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ให้แก่โจทก์ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ 2547 ข้อ 35 (๒) กรณีดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ได้จงใจ
ไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (ที่ถูกต้องเป็น
ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน
พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๑๓ วรรคสอง) โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
ให้แก่โจทก์ ส่วนการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าการเลิกจ้างนั้นมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ เมื่อปรากฏตามเอกสารซึ่งเป็นเอกสารการบอกกล่าวไม่ต่อสัญญากับโจทก์ระบุสาเหตุการไม่ต่อสัญญาว่ามีผู้สมัครเข้าเรียนน้อยลงหรือการประสบปัญหาทางด้านการเงิน
(ที่ถูกการประสบปัญหาทางการเงินอย่างร้ายแรง) เป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนพนักงานและไม่ต่อสัญญากับโจทก์นั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ การที่จำเลยที่ ๒ ไม่ต่อสัญญากับโจทก์โดยอ้างว่าประสบปัญหาด้านการเงิน (ที่ถูก ประสบปัญหา
ทางการเงินอย่างร้ายแรง) จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันสมควร การเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้าง
ไม่เป็นธรรม

         มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ประการแรกว่า จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์
เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน จะต้อง
เป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดตามสัญญาเอาไว้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจะต้องเลิกจ้างตามกำหนดเวลานั้น แม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ แต่ละฉบับมีกำหนดระยะเวลาจ้าง ๑ ปี แต่มีการทำสัญญาจ้างแต่ละฉบับต่อเนื่องกันมาตลอดตั้งแต่สัญญาจ้างฉบับแรกจนถึงสัญญาจ้างฉบับสุดท้าย รวมระยะเวลาที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยทั้งสอง 17 ปี 10 เดือน สัญญาจ้างข้อ ๔ กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายที่ประสงค์จะเลิกสัญญาต้องแจ้งแก่อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้า ๓๐ วัน โดยบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร อันเป็นการกำหนดให้โจทก์และจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้โดยบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า ๓๐ วัน สัญญาจ้างดังกล่าว
จึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาถึงเหตุ
แห่งการเลิกจ้างของนายจ้างว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ประสบภาวะขาดทุนจนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ การที่จำเลยที่ ๒ ไม่ต่อสัญญากับโจทก์โดยอ้างว่าประสบปัญหาทางการเงินอย่างร้ายแรง จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันสมควร การเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้
ของจำเลยที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ต่อไปว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหาย
จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์สูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหาย

 

 

 

จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 โดยชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานกลางในการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย

         ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ขอรับเงินที่จำเลยที่ ๒ นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ ยื่นอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่ได้
ขอทุเลาการบังคับ และการยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของ
ศาลแรงงาน ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๕
เมื่อจำเลยที่ ๒ วางเงินต่อศาลแรงงานกลางเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการวางเงินเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์หากจำเลยที่ ๒ แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์และจำเลยที่ ๒ ไม่ได้คัดค้านการที่โจทก์ขอรับเงินดังกล่าว ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยที่ ๒ วางเงินต่อศาลแรงงานกลางเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี เพื่อขอให้ศาลแรงงานกลาง
งดการบังคับคดีไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓๑ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและ
วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ โจทก์จึงมีสิทธิขอรับเงินที่จำเลยที่ ๒ นำมาวางศาล
เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๒ เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง อย่างไรก็ดี แม้โจทก์
จะมีสิทธิขอรับเงินที่จำเลยที่ ๒ นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่เป็นการตัดอำนาจ
ของศาลแรงงานกลางที่จะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์รับเงินที่มาวางศาลนั้นได้ ดังนี้ เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยคดีไม่มีการอุทธรณ์ในส่วนค่าชดเชย และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้มีคำพิพากษาในส่วนค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแล้ว เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดี เห็นสมควรอนุญาตให้โจทก์รับเงินที่จำเลยที่ ๒ นำมาวางศาลดังกล่าวไปได้ แม้คดี
ยังไม่ถึงที่สุด อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

         พิพากษายืน อนุญาตให้โจทก์รับเงินที่จำเลยที่ ๒ นำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

                   (ชาตรี  หาญไพโรจน์ – สัญชัย  ลิ่มไพบูลย์ – ยุคนธร  พาณิชปฐมพงศ์)

ธัชวุทธิ์  พุทธิสมบัติ – ย่อ

สุโรจน์  จันทรพิทักษ์ – ตรวจ