คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1597/2562
นายสิวะวุฒิ ม้าทอง โจทก์
บริษัทเรย์ ครีเอทีฟ คอนซัลทิงค์ จำกัด กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา ๔๙, ๕๖ วรรคสองและวรรคสาม
การกระทำของโจทก์เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างไม่ร้ายแรง และโจทก์ปฏิบัติหน้าที่
ในขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย ความผิดพลาดไม่ได้เกิดจากโจทก์ โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด
ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างและไม่ทำให้จำเลยที่ ๑ เสียหาย การเลิกจ้างของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีสาเหตุไม่จำเป็นหรือสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สัญญาจ้างที่กำหนดว่า พนักงานไม่สามารถถ่ายทอด สอน แสดง โชว์ หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกสอน ฝึกอบรมจากบริษัท และหรือจากสถาบันอื่นโดยที่บริษัทเป็นผู้จัดหาให้กับบุคคลภายนอก หากพนักงานกระทำการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย
ต่อบริษัท พนักงานตกลงยินยอมที่จะชดใช้ค่าเสียหายตามแต่ที่บริษัทเรียกร้องโดยมูลค่า
ความเสียหายสูงสุดไม่เกิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นสัญญาที่ไม่กำหนดขอบเขตระยะเวลา
และพื้นที่อันจะใช้บังคับ อันเป็นการผูกมัดหรือบังคับคู่สัญญาตลอดไป จึงเป็นกรณีสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ซึ่งตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔/๑ ให้ศาลแรงงานกลางมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้างนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี เมื่อศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ได้ลงประกาศว่าโจทก์เป็นผู้คิดค้นท่าออกกำลังกายและชักชวนผู้อื่นให้มาเรียนกับโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างงาน ข้อ ๙.๑ หรือไม่ หากทำให้จำเลยที่ ๑ ได้รับ
ความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหายเพียงใด และสัญญาจ้างงาน ข้อ ๙.๑ นั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีโดยมีขอบเขตระยะเวลาและพื้นที่การใช้บังคับเพียงใด จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาดังกล่าวเสียใหม่ให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ วรรคสองและวรรคสาม
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน ๓๕,๕๘๔,๗๗๙ บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของยอดเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ แก้ไขคำให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์ชำระเงิน
แก่จำเลยที่ ๑ เป็นค่าฝึกอบรมและค่าเสียหาย ๑,๘๘๖,๘๑๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕
ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๘๕๒,๐๘๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์หยุดการกระทำ
อันเป็นการค้าแข่งกับจำเลยที่ ๑ และห้ามกระทำการค้าแข่งเป็นเวลา ๕ ปี หากไม่หยุดกระทำการ
ให้ชดใช้เงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์แถลงสละประเด็นเรื่องค่าจ้างค้างจ่าย
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าชดเชย ๑๕๐,๐๐๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๘๐,๐๐๐ บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๑๖,๖๖๖.๖๖ บาท ค่าเสียหาย
จากการปรับลดคลาสการสอนและค่าขาดโอกาส ๒๕๓,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง
ที่ไม่เป็นธรรม ๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของยอดเงินแต่ละจำนวนตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ในตำแหน่ง ARTISTIC DIRECTOR ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ค่าจ้างเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท ค่าฝึกสอนเดือนละ ๘๐,๐๐๐ บาท ก่อนหน้านั้นจำเลยที่ ๑ พาโจทก์ไปเรียนวิชาสอนการออกกำลังกายด้วยบันจี้ (BUNGEE) ที่ประเทศอังกฤษ การส่งไปเรียนวิชาสอนการออกกำลังกายที่ประเทศอังกฤษ จำเลยที่ ๑ ส่งคนไปเรียน ๓ คน คือ โจทก์ จำเลยที่ ๒ และนางสาววรินรดา ลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ อีกคน หลังจากโจทก์และจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างงานกันไปได้ระยะหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ จำเลยที่ ๑ ออกหนังสือแจ้งให้ปรับปรุงพฤติกรรมและทัศนคติ
ต่อการทำงานและองค์กรโดยสั่งให้โจทก์หยุดงาน ๒ วัน เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๐ จำเลยที่ ๑
ออกหนังสือตักเตือนให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ แล้ววินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๐ จำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ปรับปรุงพฤติกรรมและทัศนคติต่อการทำงานและองค์กรจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เริ่มจะนำไปสู่การจะยุตินิติสัมพันธ์ด้านการจ้างงานต่อกัน จากนั้นมาจำเลยที่ 1 ก็มีหนังสือตักเตือนโจทก์ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2560 อ้างว่าเมื่อวันที่ ๑0 กันยายน 2560
พบข้อผิดพลาดในการจัดตารางการเรียนการสอน โจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยจัดตาราง
การเรียนการสอนไม่รอบคอบทำให้คลาสเรียนตกหล่น โดยลูกค้าที่ซื้อแพ็กเกจเรียนที่ตกหล่นแจ้งมายังจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ พบความผิดพลาดของโจทก์ก่อนหน้านี้หลายครั้ง และเคยตักเตือนด้วยวาจา
แต่โจทก์ไม่ปรับปรุง นอกจากนี้ยังพบว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่บริการที่จัดไว้เป็นสถานที่ทำงาน ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ จำเลยที่ 2 ตรวจพบในวันที่ 10 กันยายน 2560 จึงแจ้งให้โจทก์แก้ไขด้วยวาจา โจทก์รับว่าโจทก์จะแก้ไข และในที่สุดวันที่ 15 กันยายน 2560 ลูกค้าสามารถเข้าเรียนได้
จึงมีการเรียนการสอนตามปกติ จำเลยที่ 2 อ้างว่า การที่โจทก์แก้ไขตารางการเรียนการสอนวันที่
15 กันยายน 2560 แล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้รับความเสียหายเนื่องจากมีลูกค้าบางส่วนที่เห็นตาราง
การเรียนการสอนไม่มีการจัดการเรียนการสอนในวันดังกล่าว ลูกค้าจะไปเรียนที่อื่นไม่มาเรียนกับจำเลยที่ 1 และมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้าประจำหากเห็นตารางไม่มีการจัดการเรียนการสอนก็ไม่มาใช้บริการ
ทำให้จำเลยที่ 1 เกิดความเสียหาย แต่ไม่พบว่าลูกค้าที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าไปเรียนที่อื่นไม่มาเรียน
กับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 มีลูกค้าขาจรเป็นใครมีจริงหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจึงเป็นการคาดคะเนของจำเลยที่ 1 ไปเอง การกระทำของโจทก์จึงเป็นการประมาทเลินเล่อ
อย่างไม่ร้ายแรงและไม่ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้างไม่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่บริการที่จำเลยที่ ๑ จัดไว้ โดยจะหลบอยู่หลังกำแพงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานได้ แต่ไม่ปรากฏเหตุดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูล ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า วันที่ 30 กันยายน 2560 จำเลยที่ 1 ตรวจพบว่า โจทก์จัดตารางการเรียนการสอนผิดพลาดอีกครั้ง คือ ครูผู้ฝึกสอนได้แจ้งลาหยุดกับโจทก์และโจทก์ทราบแล้ว แต่โจทก์กลับจัดตารางการเรียนการสอนของครูผู้ฝึกสอนลงในระบบของบริษัท เป็นเหตุให้ลูกค้าในคลาสเดินทางมาเรียนแต่ไม่พบครูผู้ฝึกสอน ลูกค้าต่อว่าและแสดงข้อความผ่านสื่อบริษัททำให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหาย ได้ความว่า วันที่ 15 กันยายน 2560 ครูกานต์ขอลาในวันที่ 30 กันยายน 2560 และวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ซึ่งคลาสวันที่ 30 กันยายน 2560 ครูกานต์ลาในวันดังกล่าว โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบและแจ้งโจทก์ว่า คลาสครูกานต์คนไม่เยอะเดือนตุลาคมเอาออก จำเลยที่ 2 จะแจ้งครูกานต์เอง
แต่ไม่ปรากฏว่าคลาสวันที่ 30 ตุลาคม 2560 จะทำอย่างไร ทั้งคลาสครูกานต์วันที่ 30 กันยายน 2560 โจทก์ จำเลยที่ 2 และพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่มีใครสอนได้ โจทก์มีหน้าที่จัดตารางการเรียนการสอนแต่ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 ยังสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงตารางการเรียนการสอนได้โดยไม่ต้องแจ้งโจทก์ กรณีที่คลาสครูกานต์ลาในวันที่ 30 กันยายน 2560 โจทก์ก็ได้
แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตที่ได้รับมอบหมายแล้ว
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงไม่ได้เกิดจากโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้กระทำผิดตามที่ระบุในหนังสือ
บอกเลิกสัญญาจ้าง ค่าฝึกสอนไม่ใช่ค่าจ้างตามคำนิยามตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ค่าจ้างที่จ่ายเดือนละ 50,000 บาทเท่านั้นเป็นค่าจ้างตามคำนิยามดังกล่าว จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเวลา 90 วัน ของค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 150,000 บาท จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์
ในวันที่ 13 ตุลาคม 2560 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จึงต้องชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 และเดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นเวลา 48 วัน ของค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท เป็นเงิน 80,000 บาท โจทก์มีสิทธิหยุด
ตามกฎหมายและวันหยุดประจำปี 2559 และปี 2560 จำนวน 10 วัน จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์เป็นเงิน 16,666.66 บาท สัญญาจ้างงาน ข้อ 2 ซึ่งระบุว่าค่าฝึกสอนในอัตราเดือนละ 80,000 บาท ไม่พบว่าลูกค้าที่มาเรียนกับโจทก์ไม่อยากกลับมาเรียน
กับโจทก์อีกอันทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีรายได้ ทั้งพบว่าตารางการเรียนการสอนของโจทก์ในปี 2560 ลดลงจากปี 2559 จำเลยที่ ๑ ประกาศลดคลาสการสอนของโจทก์ลงจาก 90 นาที ให้เหลือ 60 นาที เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับค่าฝึกสอนลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของสัญญาจ้างงานโดยโจทก์ไม่ยินยอม
ในเดือนกันยายน 2560 ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเลิกจ้างโจทก์ โจทก์มีรายได้ค่าจ้างและค่าฝึกสอน
เหลือเพียงประมาณเดือนละ 84,666 บาท จำเลยที่ ๑ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเรื่องการจ่ายค่าฝึกสอน จำเลยที่ 1 ปรับลดคลาสการสอนของโจทก์ลงตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึงเดือนตุลาคม 2560
ซึ่งโจทก์ยังคงมาทำงานตามปกติเท่าเดิม จึงให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ
30,000 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2560 เป็นเงิน 253,000 บาท จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด การเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นธรรม โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 มาเกือบ 2 ปี เมื่อพิเคราะห์สาเหตุของการเลิกจ้าง อายุของโจทก์ขณะถูกเลิกจ้างประกอบค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทนอื่น ๆ ของสัญญาจ้างงาน
3 ปี แล้ว จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 80,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3
เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำภายในขอบอำนาจของผู้แทนนิติบุคคล จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างงานเลิกก่อนครบกำหนดเวลาเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาจ้างงานกับโจทก์เอง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ที่สัญญาจ้างงาน ข้อ 9 เรื่องความรับผิดชอบ
ของพนักงาน ข้อ ๙.๑ ระบุว่า ไม่ว่าจะอยู่ในอายุสัญญาหรือสิ้นสุดสัญญา พนักงานไม่สามารถถ่ายทอด สอน แสดง โชว์ หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกสอน ฝึกอบรม จากบริษัท
และหรือจากสถาบันอื่นโดยบริษัทเป็นผู้จัดหาให้กับบุคคลภายนอกโดยปราศจากความยินยอม
เป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท หากพนักงานกระทำการใด ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย
ต่อบริษัทด้วยทางใดทางหนึ่ง พนักงานตกลงยินยอมที่จะชดใช้ค่าเสียหายตามแต่บริษัทเรียกร้อง
โดยมูลค่าความเสียหายสูงสุดไม่เกิน 5,000,000 บาท สัญญาดังกล่าวไม่กำหนดขอบเขตระยะเวลาและพื้นที่อันจะใช้บังคับต่อกัน อันเป็นการผูกมัดหรือบังคับคู่สัญญาตลอดไป จึงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่อาจให้นำมาใช้บังคับได้
ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในข้อ 3 ว่า โจทก์กระทำผิดตามหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างและหนังสือตักเตือน เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า แม้โจทก์มีหน้าที่จัดตารางการเรียนการสอน แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากจำเลยที่ ๒ ทั้งจำเลยที่ ๒ ยังสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงตารางการเรียนการสอนได้โดยไม่ต้องแจ้งโจทก์ โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตที่ได้รับมอบหมายแล้ว ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้กระทำผิดตามหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงล้วนเป็นอุทธรณ์โต้เถียงหรือโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน
ของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้ง
ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้าง
แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการปรับลดคลาสการสอนและค่าขาดโอกาสเพราะจำเลยทั้งสามจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว ส่วนค่าฝึกสอนนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 เปิดกิจการมาครบ
1 ปี จำเลยที่ 1 จึงมีการปรับปรุงตารางการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ การลดเวลาการสอนจาก 90 นาที เหลือ 60 นาที แต่ยังคงจ่ายค่าจ้างตามอัตราเดิม จำนวนคลาสการสอนจำเลยที่ 1
ก็กำหนดให้ตามประสิทธิภาพการสอนและจ่ายเป็นเงินค่าตอบแทนตามการสอนจริง ทั้งโจทก์ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนแล้วจึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์กระทำผิดสัญญาจ้างงาน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมจากโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลาง
ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า โจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย
และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า การที่สัญญาจ้างงานเลิกก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญานั้น
เกิดจากจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ผิดสัญญาเพราะปรับลดคลาสการสอนโดยโจทก์ไม่ยินยอมและบอกเลิกสัญญาจ้างงานกับโจทก์เอง จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหาย
จากการปรับลดคลาสการสอนและค่าขาดโอกาสเป็นเงิน ๒๕๓,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงล้วนเป็นการโต้เถียงหรือโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจ
ในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อ ๖ ว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา
คดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น หมายถึง การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุหรือแม้มีสาเหตุแต่ก็ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็นหรือสมควรจนถึงกับต้องเลิกจ้าง แต่หากนายจ้างเลิกจ้างมีเหตุที่สมควรและเพียงพอถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เมื่อศาลแรงงานกลางฟังว่า การกระทำของโจทก์เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างไม่ร้ายแรง และโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย ความผิดพลาดดังกล่าวไม่ได้เกิดจากโจทก์ โจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างและไม่ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ดังนั้น การเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีสาเหตุไม่จำเป็นหรือสมควรจนถึงกับต้องเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามในข้อ ๘ ว่า การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดขอบเขตการมีผลใช้บังคับของสัญญาจ้างงานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างงาน
ข้อ ๙.๑ ที่ระบุว่า ไม่ว่าจะอยู่ในอายุสัญญาหรือสิ้นสุดสัญญา พนักงานไม่สามารถถ่ายทอด สอน
แสดง โชว์ หรือกระทำการใด ๆ ที่เป็นการนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกสอน ฝึกอบรมจากบริษัท
และหรือจากสถาบันอื่นโดยที่บริษัทเป็นผู้จัดหาให้กับบุคคลภายนอกโดยปราศจากความยินยอม
เป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัท หากพนักงานกระทำการใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทด้วยทางใดทางหนึ่ง พนักงานตกลงยินยอมที่จะชดใช้ค่าเสียหายตามแต่บริษัทเรียกร้องโดยมูลค่า
ความเสียหายสูงสุดไม่เกิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งไม่ปรากฏว่าระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑
อยู่นั้น โจทก์นำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกสอน ฝึกอบรมจากจำเลยที่ ๑ และหรือจากสถาบันอื่นโดยที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดหาให้กับบุคคลภายนอก ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่าหลังจากที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์ได้กระทำผิดสัญญาจ้างงาน ข้อ ๙.๑ หรือไม่ แต่เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่กำหนดระยะเวลาและขอบเขตพื้นที่การใช้บังคับ เป็นผลให้ผูกมัดหรือบังคับคู่สัญญาตลอดไป จึงเป็นกรณีสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ซึ่งตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔/๑ ให้ศาลแรงงานกลางมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้างนั้นมีผลใช้บังคับเพียง
เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี เมื่อศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงว่า หลังจากจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ได้ลงประกาศว่าโจทก์เป็นผู้คิดค้นท่าออกกำลังกายและชักชวนผู้อื่นให้มาเรียน
กับโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างงาน ข้อ ๙.๑ หรือไม่ หากทำให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหายเพียงใด และสัญญาจ้างงาน ข้อ ๙.๑ นั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีโดยมีระยะเวลาและขอบเขตพื้นที่การใช้บังคับเพียงใด จึงให้ย้อนสำนวนไปให้
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาดังกล่าวเสียใหม่ให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน
และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๖ วรรคสองและวรรคสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะประเด็นสัญญาจ้างงาน ข้อ ๙.๑ ไม่มีผลใช้บังคับ และให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ได้ลงประกาศว่าโจทก์เป็นผู้คิดค้น
ท่าออกกำลังกายและชักชวนผู้อื่นให้มาเรียนกับโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างงาน ข้อ ๙.๑ หรือไม่
หากทำให้จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ได้รับความเสียหายเพียงใด และสัญญาจ้างงาน
ข้อ ๙.๑ นั้นมีผลใช้บังคับเพียงใด แล้วพิพากษาประเด็นนี้ใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม
คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
(เริงศักดิ์ วิริยะชัยวงศ์ – นาวี สกุลวงศ์ธนา –นงนภา จันทรศักดิ์ ลิ่มไพบูลย์)
กิตติ เนตรประเสริฐชัย – ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ – ตรวจ