คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1567/2562
นางสาวฉัฐมณฑน์ ครองผล โจทก์
บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด จำเลย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๗
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวด ๑ วันทำงาน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก กำหนดให้งานสำนักงานมีวันทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ วันละ ๙ ชั่วโมง เวลาทำงานปกติระหว่างเวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ถึง ๑๘.๓๐ นาฬิกา และ ๙ นาฬิกา ถึง ๑๙ นาฬิกา มีเวลาพัก๑๒ นาฬิกา ถึง ๑๓ นาฬิกา โดยโจทก์ทำงานวันละ ๙ ชั่วโมง มีเวลาพักช่วง ๑๒ นาฬิกาถึง ๑๓ นาฬิกา เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๗ ที่บัญญัติว่าในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน ๕ ชั่วโมงติดต่อกันนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมายกำหนดคุ้มครองลูกจ้างให้มีเวลาพัก โดยให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างการทำงาน มิให้ต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินสมควรซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง บทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างมีโอกาสฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายสามารถทำงานต่อไปได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างในการทำงาน แม้ปรากฏว่าจำเลยได้จัดให้โจทก์ทำงานตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา หรือ ๙ นาฬิกา โดยให้พักเวลา ๑๒ นาฬิกา ถึง ๑๓ นาฬิกา ถือว่านายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง ตามกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ในช่วงบ่ายจำเลยมิได้จัดให้โจทก์มีเวลาพักหลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน ๕ ชั่วโมงติดต่อกัน และกรณียังไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๗ แต่ที่โจทก์ฟ้องขอค่าล่วงเวลาในส่วนนี้มานั้น เมื่อระยะเวลาระหว่าง ๑๘ นาฬิกา ถึง ๑๙ นาฬิกา ยังคงเป็นเวลาทำงานปกติของโจทก์และนายจ้างก็ได้จัดให้โจทก์มีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง แล้ว เพียงแต่วิธีการกำหนดหรือจัดสรรเวลาพักของจำเลยไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๗ เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาในช่วงเวลาดังกล่าวตามฟ้อง อย่างไรก็ดี พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ทำให้โจทก์มิได้มีเวลาพักถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ โดยค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต้องไม่ใช่ค่าเสียหายที่มีลักษณะเดียวกับค่าจ้างหรือค่าล่วงเวลา ทั้งโจทก์ได้รับการจัดสรรเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงแล้ว แต่โจทก์จะได้รับความเสียหายเท่าใดนั้น คดียังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอและการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่อาจจะกระทำได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้เพิ่มเติมและกำหนดจำนวนค่าเสียหายเสียก่อนแล้วพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี
____________________________
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคําฟ้อง ขอให้บังคับจําเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 42,499.66 บาท เงินโบนัส 23,973.50 บาท ค่าล่วงเวลา ๘๔๖,๗๒๐ บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 324,150 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 216,100 บาท ค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปี 9,720 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์
จําเลยให้การและแก้ไขคําให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์อ้างว่าจําเลยข่มขู่ให้เขียนใบลาออกมิฉะนั้นจะไม่จ่ายเงินโบนัส โจทก์ทํางานกับจําเลยมานาน เป็นผู้จัดการแผนก ย่อมต้องรู้ดีว่าลาออกแล้วจะไม่ได้รับค่าชดเชยและเงินอื่นตามกฎหมายซึ่งมีจํานวนมากกว่าเงินโบนัสที่โจทก์จะได้รับ และสิทธิในการรับเงินโบนัสนั้น หากโจทก์ไม่ได้กระทําผิด ก็สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้โดยไม้จําต้องลาออก ทั้งโจทก์เองก็เคยกระทําผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานของจําเลยทะเลาะวิวาทกับเพื่อนร่วมงานประมาทเลินเล่อแจ้งโอนสินค้าผิดสาขา ทําให้จําเลยได้รับความเสียหาย ถูกจําเลยลงโทษทางวินัยโดยตักเตือนเป็นหนังสือ มาทํางานสายบ่อย และก่อนที่โจทก์จะลาออกยังได้ปรึกษากับอดีตที่ปรึกษากฎหมายของจําเลย แนะนําว้าหากไม้ยอมลาออกจะไม่ได้รับเงินใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงเขียนใบลาออกเพราะกลัวว่าจะไม่ได้รับเงิน ดังนั้นการที่โจทก์เขียนใบลาออกน่าจะเกิดจากปัญหาการทํางานของโจทก์เอง จึงเกิดความกดดันและความกลัวว่าจะถูกไล่ออกและไม่ได้รับเงินใด ๆ โจทก์ได้เขียนความประสงค์ขอลาออกจากการเป็นพนักงานแล้วนําไปให้นางพิมพ์ใจ พิจารณาอนุมัติ จากนั้นวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๐ โจทก์นําเอกสารแจ้งต้นสังกัดมาติดต่อกับฝ่ายบุคคลอีกครั้งหนึ่งเพื่อขอใบลาออกไปเขียนเสนอผู้มีอํานาจพิจารณาอนุมัติตามสายงาน โดยโจทก์ได้กรอกแบบสอบถามพนักงานลาออกให้แก่ฝ่ายบุคคล และได้เขียนใบลาออกและนําไปยื่นให้นางพิมพ์ใจเพื่อมีความเห็นก่อนเสนอนายจักรกฤษณ์ ผู้อํานวยการใหญ่อาวุโสบริหารสินค้า B2 เพื่ออนุมัติตามขั้นตอน โจทก์เขียนข้อความและลงลายมือชื่อในเอกสารด้วยตนเองเสนอผู้บังคับบัญชาตามสายงานอนุมัติตามขั้นตอนซึ่งโจทก์มีเวลาคิดเป็นเวลานาน ทั้งยังมีอิสระ
ในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในภาวะต้องเกรงกลัวจําเลย พฤติการณ์ของโจทก์ฟังได้ว่าโจทก์สมัครใจลาออกเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานของจําเลยไม้อนุญาตให้สะสมวันหยุดพักผ่อนประจําปี เพื่อใช้ในปีถัดไป ในปี ๒๕๖๐ โจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจําปีเหลือ ๑ วัน ๔ ชั่วโมง และโจทก์ได้ใช้สิทธิลาพักผ่อนไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผลการประเมินการทํางานของโจทก์ในปี ๒๕๖๐ ได้เกรด C โจทก์ต้องถูกหักเงินโบนัส ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เมื่อจําเลยจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน ๕๕,๙๓๙ บาท ถือว่าจําเลยจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความใน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ข้อ ๒ กําหนดไว้ว่างานอาชีพด้านบริการนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกําหนดเวลาทํางานปกติในวันหนึ่ง ๆ เป็นจํานวนกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่เมื่อรวมเวลาทํางานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมง และตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานของจําเลยกําหนดให้งานสำนักงานทำงานวันละ ๙ ชั่วโมง มีเวลาพักวันละ ๑ ชั่วโมง งานของจําเลยเป็นงานด้านบริการ จําเลยจึงกําหนดเวลาทํางานเกินวันละ ๘ ชั่วโมง ได้ทั้งโจทก์ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานของจําเลยมาตลอดโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านถือว่าโจทก์และจําเลยตกลงกําหนดเวลาทํางานและเวลาพักแล้ว แม้ในช่วงบ่ายจําเลยจะกําหนดเวลาทํางานเกิน ๕ ชั่วโมงติดต่อกัน แต่สัปดาห์หนึ่งรวมกันแล้วโจทก์ทํางาน ๔๕ ชั่วโมง มีเวลาพักวันละ ๑ ชั่วโมง จึงไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา
ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ ๒.๑ ว่า พยานหลักฐานต่าง ๆ ในการไต่สวนของศาลแรงงานกลางเป็นพยานของจําเลยแทบทั้งสิ้น จําเลยเป็นบริษัทใหญ่และมีที่ปรึกษากฎหมายที่มีความรู้ความสามารถ ตรงข้ามกับโจทก์ที่เป็นแค่พนักงานระดับ ๖ ในการทํางานของโจทก์ไม่มีลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาให้ต้องปกครองโดยตําแหน่งเทียบเท่าผู้จัดการแผนกที่ตั้งขึ้นในบริษัทจําเลยเพื่อความสะดวกในการจัดสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งการคํานวณเงินโบนัสรายปีเท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายแรงงานให้อํานาจแก่ศาลแรงงานในการเรียกพยานหลักฐานมาสืบเองได้ตามสมควรเพื่อใช้ดุลพินิจว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อโจทก์หรือไม่ และการกําหนดแนวทางในการพิจารณาที่ให้ศาลคํานึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทํางานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง เงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณาด้วย จําเลยบังคับให้โจทก์ลาออก ซึ่งข้อเท็จจริงทางคดีมีนอกเหนือจากที่ศาลได้ทําการไต่สวนไว้ในสํานวน ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายประการที่ยังไม่ปรากฏที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เขียนใบลาออกน่าจะเกิดจากปัญหาในการทํางานของโจทก์เอง จึงเกิดความกดดันและความกลัวว่าถ้าหากถูกไล่ออกจะไม่ได้รับเงินใด ๆ นั้น เป็นคําวินิจฉัยที่ขัดต่อกฎหมายเพราะศาลต้องฟ้งข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อนที่จะพิพากษา เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยมานาน เป็นถึงผู้จัดการแผนก โจทก์ย่อมรู้ดีว่าหากลาออกเอง โจทก์จะไม่ได้รับเงินค่าชดเชยและเงินอื่น ๆ ตามกฎหมายซึ่งมีจำนวนมากกว่าเงินโบนัสที่จะได้รับ โจทก์เคยทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประมาทเลินเล่อแจ้งโอนสินค้าผิดสาขา มาทำงานสายบ่อย โจทก์จึงเขียนใบลาออกเอง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อ ๒.๒ ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวด ๑ วันทำงาน เวลาทำงานปกติ เวลาพัก กำหนดให้งานสำนักงานมีวันทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ วันละ ๙ ชั่วโมง เวลาทำงานปกติระหว่างเวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ถึง ๑๘.๓๐ นาฬิกา และ ๙ นาฬิกา ถึง ๑๙ นาฬิกา มีเวลาพัก ๑๒ นาฬิกา ถึง ๑๓ นาฬิกา โดยโจทก์ทำงานวันละ ๙ ชั่วโมง มีเวลาพักช่วง ๑๒ นาฬิกา ถึง ๑๓ นาฬิกา เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๗ ที่บัญญัติว่า ในวันที่มีการทำงาน ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักระหว่างการทำงานวันหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน ๕ ชั่วโมงติดต่อกันนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมายกำหนดคุ้มครองลูกจ้างให้มีเวลาพัก โดยให้นายจ้างกำหนดให้ลูกจ้างหยุดพักระหว่างการทำงาน มิให้ต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเกินสมควร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง บทบัญญัติดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างมีโอกาสฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายสามารถทำงานต่อไปได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างในการทำงาน แม้ปรากฏว่าจำเลยได้จัดให้โจทก์ทำงานตั้งแต่เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา หรือ ๙ นาฬิกา โดยให้พักเวลา ๑๒ นาฬิกา ถึง ๑๓ นาฬิกา ถือว่านายจ้างได้จัดให้ลูกจ้างมีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง ตามกฎหมายแล้วก็ตาม แต่ในช่วงบ่ายจำเลยมิได้จัดให้โจทก์มีเวลาพักหลังจากทำงานมาแล้วไม่เกิน ๕ ชั่วโมงติดต่อกัน และกรณียังไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๗ แต่ที่โจทก์ฟ้องขอค่าล่วงเวลาในส่วนนี้มานั้น เมื่อระยะเวลาระหว่าง ๑๘ นาฬิกา ถึง ๑๙ นาฬิกา ยังคงเป็นเวลาทำงานปกติของโจทก์ และนายจ้างก็ได้จัดให้โจทก์มีเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมง แล้ว เพียงแต่วิธีการกำหนดหรือจัดสรรเวลาพักของจำเลยไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๒๗ เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาในช่วงเวลาดังกล่าวตามฟ้อง อย่างไรก็ดี พอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ทำให้โจทก์มิได้มีเวลาพักถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ โดยค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต้องไม่ใช่ค่าเสียหายที่มีลักษณะเดียวกับค่าจ้างหรือค่าล่วงเวลา ทั้งโจทก์ได้รับการจัดสรรเวลาพักวันหนึ่งไม่น้อยกว่า ๑ ชั่วโมงแล้ว แต่โจทก์จะได้รับความเสียหายเท่าใดนั้น คดียังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอและการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่อาจจะกระทำได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้เพิ่มเติมและกำหนดจำนวนค่าเสียหายเสียก่อนแล้วพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในส่วนนี้มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่โจทก์ฟ้องขอค่าล่วงเวลาในเวลาพักตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องครั้งที่ ๓ และครั้งที่ ๔ ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวข้างต้น แล้วพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.
(เกื้อ วุฒิปวัฒน์ – สุจินต์ เชี่ยวชาญศิลป์ – วิชชุพล สุขสวัสดิ์)
ธัชวุทธิ์ พุทธิสมบัติ – ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ – ตรวจ