คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1374/2562
นายณภัทร วรรณกลาง หรือฉัตรวรรณกลาง โจทก์
บริษัทลีดอน ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๖ วรรคหนึ่ง, ๕๘๒ วรรคหนึ่ง
จำเลยอุทธรณ์ว่า สัญญาจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญาอาจบอก
เลิกสัญญาโดยแสดงเจตนาไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่จำต้องได้รับความยินยอม ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๖ วรรคหนึ่ง และ ๕๘๒ วรรคหนึ่ง โดยลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้าง
ด้วยการแสดงเจตนาลาออก ส่วนนายจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาเลิกจ้าง
เมื่อใบลาออกซึ่งโจทก์ยอมรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ซึ่งขณะลงลายมือชื่อนั้นมีข้อความแสดงเจตนาจะลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย โดยให้มีผลในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ แล้ว จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน อันมีผลทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยในฐานะนายจ้าง
กับลูกจ้างสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่ใบลาออกระบุเหตุผลของการลาออกว่า เลิกจ้างเพราะกระทำความผิด ก็ไม่มีผลทำให้ใบลาออกของโจทก์กลับกลายเป็นหนังสือเลิกจ้าง
ของจำเลยดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เพราะใบลาออกมิใช่หนังสือของจำเลยที่มีถึงโจทก์
เพื่อแสดงเจตนาที่จะเลิกจ้างเพราะเหตุที่โจทก์กระทำผิด ประกอบกับโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูง
ของจำเลย ทำงานให้แก่จำเลยมาหลายปี หากโจทก์มิได้กระทำผิดดังที่ระบุเหตุผลไว้ในใบลาออก
ก็ไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะยอมลงชื่อในใบลาออก ใบลาอออกของโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์และผูกพันโจทก์ ทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง แม้ภายหลังจำเลยจะมีหนังสือ
ถึงสำนักงานประกันสังคม แจ้งเรื่องการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ โดยระบุเหตุผลว่า
ไล่ออก/ปลดออก/ให้ออก เนื่องจากกระทำความผิด ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงที่โจทก์ได้ลาออก และอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายหลัง หามีผลทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งสิ้นสุดลงแล้วกลับมีผลผูกพันอันจะถือได้ว่าจำเลย
เลิกจ้างโจทก์ไม่ จำเลยจึงมิได้เลิกจ้างโจทก์และไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้อง คำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง
ที่ให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๙๘,๓๓๓ บาท
และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ
๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน และค่าชดเชยจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๙๓,๓๓๓ บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ
๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันถัดจากฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา
ร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันถัดจากฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระ
เสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริง
เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๕๐,๐๐๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่
๒๕ ของเดือน ต่อมาวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ จำเลยให้โจทก์ลงชื่อในใบลาออก ต่อมาจำเลย
มีหนังสือแจ้งการสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนต่อสำนักงานประกันสังคม แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่โจทก์ลาออกเอง และการที่จำเลยตั้งคณะทำงานเพื่อสอบสวนหาสาเหตุของการเลิกจ้าง
โจทก์โดยไม่ได้ระบุแต่แรกว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดเรื่องอะไรไว้ให้ชัดเจนที่ถือว่าเป็นหนังสือเลิกจ้าง ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันควรและไม่เป็นธรรม
แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สัญญา
จ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่งที่คู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาโดยแสดงเจตนาไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๖ วรรคหนึ่ง
และ ๕๘๒ วรรคหนึ่ง โดยลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาลาออก ส่วนนายจ้าง
อาจบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาเลิกจ้าง เมื่อใบลาออกซึ่งโจทก์ยอมรับว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ซึ่งขณะลงลายมือชื่อนั้นมีข้อความแสดงเจตนาจะลาออกจากการเป็นพนักงานของจำเลย โดยให้มีผล
ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ แล้ว จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน อันมีผลทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่ใบลาออกระบุเหตุผลของการลาออกว่า “เลิกจ้างเพราะกระทำความผิด” ก็ไม่มีผลทำให้ใบลาออก
ของโจทก์กลับกลายเป็นหนังสือเลิกจ้างของจำเลยดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เพราะใบลาออกมิใช่หนังสือของจำเลยที่มีถึงโจทก์เพื่อแสดงเจตนาที่จะเลิกจ้างเพราะเหตุที่โจทก์กระทำผิด ประกอบกับโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลย ทำงานให้แก่จำเลยมาหลายปี หากโจทก์มิได้กระทำผิดดังที่ระบุเหตุผลไว้ในใบลาออก ก็ไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะยอมลงชื่อในใบลาออก ใบลาอออกของโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์และผูกพันโจทก์ ทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง แม้ภายหลังจำเลย
จะมีหนังสือถึงสำนักงานประกันสังคม แจ้งเรื่องการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนของโจทก์ โดยระบุเหตุผลว่า “ไล่ออก/ปลดออก/ให้ออก เนื่องจากกระทำความผิด” ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงที่โจทก์
ได้ลาออก และอาจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันภายหลัง
หามีผลทำให้สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งสิ้นสุดลงแล้วกลับมีผลผูกพันอันจะถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ จำเลยจึงมิได้เลิกจ้างโจทก์และไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทน
การบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามฟ้อง คำพิพากษา
ของศาลแรงงานกลางที่ให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์
คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง.
(ดำรงค์ ทรัพยผล – อนันต์ คงบริรักษ์ – วัฒนา สุขประดิษฐ์)
สุเจตน์ สถาพรนานนท์ – ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ – ตรวจ