คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1772-1773 นายสมชาย ฮูวัยรี กับพวก โจทก์
/2560 บริษัทลินฟ้อกซ์ ทรานสปอร์ต
(ประเทศไทย) จำกัด จำเลย
ป.พ.พ. มาตรา 575
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20
ศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า การที่จำเลยไม่มอบหมายงานให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสอง อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องมอบหมายงานให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างเพียงแต่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างตามปกติเท่านั้น แม้รายได้ของโจทก์ทั้งสองลดลงก็เป็นไปตามเงื่อนไขการจ่ายเงินแต่ละประเภทซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่แน่นอนในแต่ละเดือน การที่จำเลยไม่มอบหมายงานจึงไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองนั้น จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงว่าการไม่มอบหมายงานแก่โจทก์ทั้งสองไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการที่จำเลยไม่มอบหมายงานแก่โจทก์ทั้งสองเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ 1 - 4/2559 ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายตามคำร้อง คำสั่งดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่ความในคดีนี้ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้น เมื่อศาลแรงงานภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 308/2559 และที่ 327/2559 ซึ่งมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ทั้งต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ 1 - 4/2559 ซึ่งมีคำสั่งให้จำเลยมอบหมายงานให้แก่โจทก์ทั้งสอง อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังมา อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง เช่นกัน
______________________________
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานภาค ๑ มีคำสั่งให้พิจารณารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ ๒๐๙/๒๕๖๐ ของศาลแรงงานภาค ๑ ซึ่งศาลแรงงานภาค ๑ ให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตามลำดับ และให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า จำเลย
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานภาค ๑ โจทก์ที่ ๓ ในคดีดังกล่าวขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานภาค ๑ อนุญาต คดีจึงมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเพียงสองสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๓๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๓๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ ๒.๑ ว่า ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำแต่นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างตามปกติ ดังนั้น เมื่อจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสองแล้ว แม้รายได้ของโจทก์ทั้งสองลดลงก็เป็นไปตามเงื่อนไขการจ่ายเงินแต่ละประเภท หากจำเลยมอบหมายงานแก่โจทก์ทั้งสองก็ไม่ทำให้โจทก์แต่ละคนได้รับค่าเที่ยว เงินรางวัลประหยัดน้ำมัน และค่าโทรศัพท์ รวมเป็นเงินเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท เสมอไป การไม่มอบหมายงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสอง เห็นว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่จำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและพักงานโจทก์ทั้งสองจนถึงวันฟ้อง ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังมาเพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษฟังข้อเท็จจริงว่า การไม่มอบหมายงานแก่โจทก์ทั้งสองไม่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย มีรายได้ลดลง เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยไม่มอบหมายงานแก่โจทก์ทั้งสองถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสอง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ ๒.๒ ว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง เนื่องจากก่อนโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งที่ ๑ - ๔/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายตามคำร้อง คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่ความในคดีนี้ เห็นว่า ศาลแรงงานภาค ๑ ฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๓๐๘/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และที่ ๓๒๗/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงาน ทั้งต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ ๑ - ๔/๒๕๕๙ ลงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ที่มีคำสั่งให้จำเลยมอบหมายงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมแก่โจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยเลือกอุทธรณ์เฉพาะคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑ - ๔/๒๕๕๙ เพื่อปฏิเสธการจ่ายค่าเสียหายถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองสำนวน.
(ยิ่งศักดิ์ โอฬารสกุล - พงษ์รัตน์ เครือกลิ่น - ดาราวรรณ ใจคำป้อ)
กรรณิกา อัศวเมธา - ย่อ
สุโรจน์ จันทรพิทักษ์ - ตรวจ