อุทธรณ์ที่ตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

หมายเลขคดีดำที่ ร.557/2560                      สหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครสวรรค์ จำกัด               โจทก์

หมายเลขคดีแดงที่ 1705/2560                      นายอนุสรณ์  จันทรส กับพวก                        จำเลย

 

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง

 

          พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง ให้อำนาจเฉพาะประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ การที่ศาลแรงงานภาค 6 มีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีลักษณะเป็นคดีพิพาทตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จึงไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการวินิจฉัยปัญหาอำนาจศาลในคดีส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมเป็นการไม่ชอบ เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย โดยประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 6

______________________________

 

          โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,035,145 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 849,350 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแทน และหากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระเงิน ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแทน

          ศาลแรงงานภาค 6 มีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องของโจทก์ว่า ให้รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เห็นว่าในตำแหน่งของจำเลยทั้งสองไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของโจทก์หรือเป็นลูกจ้างโจทก์ จึงไม่มีลักษณะเป็นคดีพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จึงไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้ขอให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง และประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำวินิจฉัยที่ วร.118/2560 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานภาค 6 ที่ไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวแล้ว ศาลแรงงานภาค 6 มีคำสั่งว่า ให้ส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาสั่งก็ตาม ก็ถือได้ว่าคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 3 ได้กระทำผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลแรงงานภาค 6 จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดขึ้นในศาลแรงงานหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วเสนอปัญหานั้นให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้เป็นที่สุด ดังนี้ที่ศาลแรงงานภาค 6 มีคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีลักษณะเป็นคดีพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จึงไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการวินิจฉัยปัญหาอำนาจศาลในคดีส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษส่งให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นผู้วินิจฉัย โดยประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำวินิจฉัยที่ วร.118/2560 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ว่าคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานภาค 6 ที่ศาลแรงงานภาค 6 มีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน

 

(กนกรดา  ไกรวิชญพงศ์ - ธีระพล  ศรีอุดมขจร - อนุวัตร  ขุนทอง)

 

ศาลแรงงานภาค 6        นางณัฐสิริ  นิตยะประภา

 

นายกิตติ  เนตรประเสริฐชัย               ผู้ช่วยฯ/ย่อสั้น

นายสุโรจน์  จันทรพิทักษ์                   ผู้พิพากษาฯ ประจำกองผู้ช่วยฯ/ตรวจย่อสั้น/ตรวจย่อยาว

นางสาวนิติรัตน์  ศิระภัสร์บารมี            นิติกร/ย่อยาว

นางสาวมนัสนันท์  อิ่มใจ                   พิมพ์