คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 2150/2563  บริษัทเอ็ม  เอส  ไอ  จี  ประกันภัย 

                                                                     (ประเทศไทย)  จำกัด  (มหาชน)          โจทก์

                                                                     บริษัทเอเบิ้ล  โลจิสติกส์  จำกัด  

                                                                     กับพวก                                   จำเลย       บริษัทฮุนได  เมอร์ชานท์  มารีน 

                                                                     จำกัด                                 จำเลยร่วม

พ.ร.บ. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง 

            แม้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับจำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่จำเลยที่ ๒
ผู้เป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ 
ผู้เอาประกันภัยก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยได้ เมื่อมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง  กำหนดให้การใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมีกำหนดอายุความ ๙ เดือน  นับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ  ผู้เอาประกันภัยก็ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยก็ต้องใช้สิทธิเท่าที่
ผู้เอาประกันภัยมีต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น 

         การที่จำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนว่า
ตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จำเลยร่วมจึงชอบที่จะยกอายุความตาม พ.ร.บ. การขนส่งต่อเนื่อง
หลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดที่มีต่อโจทก์
ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันภัยได้ ซึ่งเป็นเรื่องความรับผิดของจำเลยร่วมที่มีต่อโจทก์ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยร่วมอันจะต้องใช้กำหนดอายุความทั่วไปไม่ 

         พ.ร.บ. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า
อายุความเริ่มนับตั้งแต่ได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ มิได้เริ่มนับตั้งแต่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งรู้ตัว
ผู้กระทำความผิดที่จะต้องรับผิดต่อตน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงอาจจะรับฟังได้ว่าผู้เอาประกันภัยไม่ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นผู้ขนส่งซึ่งจะต้องรับผิดต่อตน อายุความก็เริ่มนับตั้งแต่ได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของแล้ว 

         กำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น  เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้อายุความจึงสะดุดหยุดลงเฉพาะสำหรับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งโจทก์
ได้ยื่นฟ้องเท่านั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยร่วมจึงขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

______________________________

         โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๓๖๕,๘๓๘.๖๙ บาท                     พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑,๓๓๑,๓๖๙ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

         จำเลยที่ ๑ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันสืบพยาน

         ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทฮุนได เมอร์ชานท์ มารีน จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต

         จำเลยร่วมให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียม                ให้เป็นพับ

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ผู้เอาประกันภัย ตกลงซื้อสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตมอเตอร์คอมเพรสเซอร์จากซาร่า อินดัสตรีส์ ผู้ขายในประเทศอินเดีย ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงการซื้อขาย INCOTERMS แบบ FOB ตามใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อเอกสารหมาย จ.๕ ผู้เอาประกันภัยเอาประกันภัยสินค้าดังกล่าวไว้จากโจทก์ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัย     แบบเปิดเอกสารหมาย จ.๔ และหนังสือรับรองการประกันภัยเอกสารหมาย จ.๖ ในการขนส่งสินค้าดังกล่าวมายังประเทศไทย สินค้าพิพาทมีการขนส่งทางทะเลจากท่าเรือเนวา เชวา ประเทศอินเดีย
มายังท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งเป็นการขนส่งในระบบตู้คอนเทนเนอร์แบบซีวาย/ซีวาย (CY/CY) โดยจำเลยร่วมส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ให้ซาร่า อินดัสตรีส์ นำไปบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์เองแล้วซาร่า อินดัสตรีส์ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าและปิดผนึกแล้วให้แก่จำเลยที่ ๒ ทำการขนส่งมายังท่าเรือเนวา เชวา ตู้คอนเทนเนอร์พิพาทถูกบรรทุกลงเรือเนวาร์คเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ตามใบตราส่งต่อเนื่องเอกสารหมาย จ.๓ ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.๑ และ ลร.๑ และใบตราส่ง (SEA WAYBILL) เอกสารหมาย ล.๒ เรือเนวาร์คเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ จำเลยที่ ๑ แจ้งการมาถึงของเรือให้ผู้เอาประกันภัยทราบและเรียกเก็บค่าระวางสินค้ากับค่าใช้จ่าย ตามใบเรียกเก็บเงินเอกสารหมาย ล.๓ ผู้เอาประกันภัยชำระค่าระวางกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้วรับใบปล่อยสินค้าตามเอกสารหมาย ล.๕ ไปรับสินค้าออกจากท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ จากนั้น
ผู้เอาประกันภัยนำตู้คอนเทนเนอร์พิพาทไปเปิดที่โกดังในวันถัดมา ปรากฏว่าสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายจากสนิมอันเป็นผลมาจากน้ำจืดที่รั่วเข้าไปทางรูรั่วของตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีสภาพชำรุด
โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปเป็นเงิน ๑,๓๓๑,๓๖๙ บาท ตามสำเนาใบสำคัญจ่ายและสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.๑๕

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งหรือไม่               เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้เอาประกันภัยตกลงทำสัญญาซื้อขายสินค้าพิพาทกับผู้ขายภายใต้เงื่อนไขข้อตกลง INCOTERMS แบบ FOB แต่เงื่อนไขข้อตกลง INCOTERMS ไม่ใช่กฎหมาย ผู้ซื้อ
และผู้ขายสามารถตกลงเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น แม้ตามเงื่อนไขข้อตกลง INCOTERMS แบบ FOB โดยทั่วไป ผู้ซื้อหรือผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จัดหาและว่าจ้างผู้ขนส่งไปรับมอบสินค้าด้วยค่าใช้จ่าย
ของตนเองก็ตาม ผู้ซื้อและผู้ขายก็สามารถตกลงเป็นอย่างอื่นได้ ทางนำสืบของโจทก์ โจทก์มีนางสาวปาริฉัตร์ พนักงานของโจทก์ เป็นพยานเพียงปากเดียวที่ให้ถ้อยคำและเบิกความว่า ผู้เอาประกันภัยมอบหมาย
หรือว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ขนส่งสินค้าพิพาท ส่วนพยานโจทก์ปากอื่น คือ นายเชี่ยวชาญ ผู้สำรวจภัย เพียงแต่ให้ถ้อยคำและเบิกความเกี่ยวกับการตรวจสอบความเสียหายของตู้คอนเทนเนอร์และสินค้าพิพาท และนายภาคิน พนักงานของผู้เอาประกันภัย ก็ให้ถ้อยคำและเบิกความเกี่ยวกับความเสียหาย
ของสินค้าพิพาทเช่นกัน ในขณะที่ทางนำสืบของจำเลยที่ ๑ มีนางสาวสุธิดา กรรมการของจำเลยที่ ๑
ให้ถ้อยคำและเบิกความว่า ผู้เอาประกันภัยไม่ได้มอบหมายหรือว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ให้ขนส่งสินค้าพิพาท แต่ซาร่า อินดัสตรีส์ ผู้ขายในประเทศอินเดีย ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ ๑
เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ในประเทศไทย ทำหน้าที่แจ้งการมาถึงของสินค้าให้ผู้เอาประกันภัยทราบ เรียกเก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายอื่นจากผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ ๒ และออกใบปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยเท่านั้น โดยมีพยานเอกสารคือใบตราส่งต่อเนื่องเอกสารหมาย ล.๑ ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย จ.๓ และ ลร.๑ และใบตราส่ง (SEA WAYBILL) เอกสารหมาย ล.๒ มาสนับสนุน
ซึ่งเมื่อพิจารณาตามใบตราส่งต่อเนื่องเอกสารหมาย ล.๑ ดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่า ใบตราส่งต่อเนื่องดังกล่าวเป็นเอกสารของจำเลยที่ ๒ โดยในช่องที่มุมล่างด้านขวาของเอกสารดังกล่าวมีชื่อจำเลยที่ ๒
และมีลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามเป็นผู้ออกเอกสาร ในช่องผู้ส่งสินค้าระบุชื่อ ซาร่า อินดัสตรีส์ ในช่อง
ค่าระวางระบุว่า ชำระค่าระวางที่ปลายทาง และในช่องที่มุมล่างด้านซ้ายระบุชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ติดต่อสำหรับการส่งมอบของ ส่วนตามใบตราส่งเอกสารหมาย ล.๒ เห็นได้ว่า ใบตราส่งดังกล่าวเป็นเอกสารของจำเลยร่วม โดยในช่องผู้ส่งสินค้าระบุชื่อจำเลยที่ ๒ และในช่องผู้รับตราส่งกับช่องผู้รับแจ้งการมาถึงของเรือระบุชื่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งนางสาวสุธิดาเบิกความว่า ที่ใบตราส่งเอกสารหมาย ล.๓ ระบุชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับตราส่ง เป็นการดำเนินการเพื่อให้จำเลยที่ ๑ สามารถรับใบปล่อยสินค้าจากจำเลยร่วมเพื่อนำไปเรียกเก็บค่าระวางสินค้าจากผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ ๒ ได้เท่านั้น ซึ่งตามใบสั่งปล่อยสินค้าเอกสารหมาย ล.๕ ได้มีการแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งเป็นผู้เอาประกันภัยเรียบร้อยแล้ว เช่นนี้ ใบตราส่งทั้งสองฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ซาร่า อินดัสตรีส์ ผู้ขาย เป็นผู้ทำสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบกับจำเลยที่ ๒ โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ ๒ เรียกเก็บค่าระวางสินค้าและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นจากผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็น
ผู้ซื้อที่ปลายทาง เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายภายใต้เงื่อนไขข้อตกลง INCOTERMS แบบ FOB สามารถตกลงกันเช่นนี้ได้ และใบตราส่งต่อเนื่องกับใบตราส่งดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ
การขนส่งสินค้าพิพาทในฐานะอื่นใดนอกจากการเป็นผู้ติดต่อสำหรับการส่งมอบของซึ่งจำเลยที่ ๒
รับทำการขนส่งจากซาร่า อินดัสตรีส์ และจำเลยที่ ๒ ว่าจ้างจำเลยร่วมให้ทำการขนส่งในช่วงการขนส่งทางทะเลมาให้แก่ผู้เอาประกันภัยทางนำสืบของจำเลยที่ ๑ มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร
ที่สอดคล้องกับคำของพยานบุคคลดังกล่าวมสนับสนุน จึงน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักให้รับฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๑ มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้
รับมอบหมายหรือรับจ้างผู้เอาประกันภัยให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ ๑ จึงไม่ใช่ผู้ขนส่ง ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๑ เรียกเก็บค่าระวางและค่าใช้จ่ายมายังผู้เอาประกันภัยและออกใบเสร็จรับเงินตามเอกสารหมาย จ.๒๒ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นการออกและเรียกเก็บในนามตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ก็ดีในการเรียกเก็บเงินดังกล่าวจำเลยที่ ๑ หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วยก็ดี หรือเมื่อจำเลยที่ ๑ ได้รับแจ้งเรื่องความเสียหายของสินค้าพิพาทจากผู้เอาประกันภัยแล้วไม่ได้แจ้งต่อผู้เอาประกันภัยว่า
ตนเป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ก็ดี ล้วนแสดงว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขนส่งเองนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดนอกจากคำเบิกความของนางสาวปาริฉัตร์ซึ่งได้วินิจฉัยมาแล้วว่ารับฟังไม่ได้ว่า                 จำเลยที่ ๑ ได้ตกลงรับมอบหมายหรือรับจ้างผู้เอาประกันภัยให้ทำการขนส่งสินค้าพิพาทแล้ว                 ลำพังพฤติการณ์ของจำเลยที่ ๑ ที่โจทก์กล่าวมาล้วนยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ ๑              เป็นผู้ขนส่งเอง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปมีว่า ตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทเกิดชำรุดบกพร่องเป็นรูรั่วระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ หรือจำเลยร่วมหรือไม่ เห็นว่า
โจทก์กล่าวอ้างว่าตู้คอนเทนเนอร์พิพาทเกิดชำรุดบกพร่องเป็นรูรั่วระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ หรือจำเลยร่วม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง ทางนำสืบของโจทก์ นางสาวปาริฉัตร์
ให้ถ้อยคำและเบิกความว่า ก่อนที่จำเลยที่ ๒ จะรับมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าจากผู้ขาย จำเลยที่ ๒ ได้ตรวจสอบสภาพความเรียบร้อยต่าง ๆ ของตู้คอนเทนเนอร์แล้วเห็นว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่มี
ความเสียหาย ไม่ปรากฏร่องรอยรูรั่วใด ๆ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ตู้คอนเทนเนอร์ได้ลากไปถึงโกดังของผู้เอาประกันภัยและได้เปิดออก พบว่าสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์เปียกน้ำ และพื้นตู้เทนเนอร์เปียกชุ่มไปด้วยน้ำ จึงตรวจสอบอย่างละเอียด พบว่าสภาพของตู้คอนเทนเนอร์
มีร่องรอยชำรุดบกพร่อง มีรอยรั่ว ยางกันน้ำบริเวณประตูตู้เสื่อมสภาพและฉีกขาด โดยมีนายเชี่ยวชาญให้ถ้อยคำและเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อเปิดตู้คอนเทนเนอร์พิพาทที่โกดัง ของผู้เอาประกันภัย พบว่าสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์เปียกน้ำและพื้นตู้เปียกชุ่มไปด้วยน้ำ จึงมีการตรวจสอบและพบว่าสภาพของตู้คอนเทนเนอร์มีร่องรอยชำรุดบกพร่อง และนายภาคินให้ถ้อยคำและเบิกความว่า พยานตรวจสอบพบว่ากล่องบรรจุสินค้าพิพาทเปียกน้ำและสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายจากสนิม
เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามปากยังไม่ได้ความเลยว่า ตู้คอนเทนเนอร์พิพาทเกิดชำรุดบกพร่องเป็นรูรั่วในช่วงเวลาใด ที่นางสาวปาริฉัตร์เบิกความว่า จำเลยที่ ๒ ได้รับตู้คอนเทนเนอร์ในสภาพเรียบร้อย เมื่อต่อมามีการตรวจสอบพบว่าสภาพตู้คอนเทนเนอร์มีร่องรอยความชำรุดบกพร่อง มีรอยรั่ว ความเสียหายดังกล่าวถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ ๒ และจำเลยร่วมนั้น ก็เห็นว่า เป็นการคาดคะเนของพยานเอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า เรือเนวาร์คเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๐ และจำเลยร่วมได้ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์พิพาทให้แก่ท่าเรือกรุงเทพตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นการส่งมอบโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นผู้เอาประกันภัย
ได้ไปรับตู้คอนเทนเนอร์พิพาทจากท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ จึงมีช่วงเวลา
ที่ตู้คอนเทนเนอร์พิพาทค้างอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพและเป็นช่วงเวลาที่ตู้คอนเทนเนอร์พิพาทพ้นจากความดูแลของจำเลยที่ ๒ และจำเลยร่วมแล้วด้วย จำเลยที่ ๑ และจำเลยร่วมนำสืบโต้แย้งว่า เมื่อตู้คอนเทนเนอร์พิพาทถูกขนส่งโดยรถไฟมาถึงท่าเรือเนวา เชวา จำเลยร่วมตรวจสอบแล้วเห็นว่าตู้คอนเทนเนอร์พิพาท
ไม่มีความเสียหายใด ๆ จึงบรรทุกลงเรือเนวาร์ค และเมื่อเรือเนวาร์คเดินทางถึงท่าเรือกรุงเทพ
ตู้คอนเทนเนอร์พิพาทถูกส่งมอบให้แก่ท่าเรือกรุงเทพในสภาพเรียบร้อย ไม่มีรูรั่วแตก ไม่มีร่องรอยเปียกน้ำ และมีตราผนึกปิดอยู่ตามปกติ เช่นนี้ โจทก์ชอบที่จะนำเจ้าหน้าที่ของท่าเรือกรุงเทพมาเบิกความ
หรือนำพยานเอกสารที่สามารถยืนยันได้ว่า ในขณะที่จำเลยร่วมส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์พิพาทให้แก่ท่าเรือกรุงเทพตู้สินค้าพิพาทมีสภาพชำรุดบกพร่องมาแสดง แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงยังมีข้อน่าสงสัยว่าตู้คอนเทนเนอร์พิพาทชำรุดบกพร่องระหว่าง
ที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ หรือจำเลยร่วมจริงหรือไม่ โจทก์นำสืบได้ไม่สมกับที่มีภาระการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า ตู้คอนเทนเนอร์พิพาทเกิดชำรุดบกพร่อง เป็นรูรั่ว ระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ หรือจำเลยร่วม อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

         ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า คดีเกี่ยวกับจำเลยร่วมขาดอายุความ ๙ เดือน ตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยร่วม และจำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเนื่องจากเห็นว่าตนสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยร่วมได้ การฟ้องไล่เบี้ย
ไม่มีกำหนดอายุความไว้ในพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงต้องใช้กำหนดอายุความทั่วไปนั้น เห็นว่า การขนส่งในคดีนี้เป็นการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ สิทธิและหน้าที่ของบุคคล
ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๓๗ วางหลักเรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องต่อบุคคลอื่นที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบไว้ไม่ว่าการเรียกร้องนั้นจะมีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด ดังนั้น แม้ผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับจำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่จำเลยที่ ๒ อันเป็นผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ใช้บริการในการปฏิบัติตามสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
ผู้เอาประกันภัยก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยร่วมรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยได้โดยการใช้สิทธิเรียกร้อง
ของผู้เอาประกันภัยต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง กำหนดให้การใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบมีกำหนดอายุความ ๙ เดือน นับแต่วันที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ ผู้เอาประกันภัยก็ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยก็ต้องใช้สิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัย
มีต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น การที่จำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๓) จำเลยร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง จำเลยร่วมจึงชอบที่จะยกอายุความตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดที่มีต่อโจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันภัยได้ ซึ่งเป็นเรื่องความรับผิดของจำเลยร่วมที่มีต่อโจทก์ หาใช่เป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยระหว่างจำเลยที่ ๑
กับจำเลยร่วมอันจะต้องใช้กำหนดอายุความทั่วไปไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๒ ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ การใช้สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยร่วมต้องทำภายในกำหนดอายุความ ๙ เดือน นับแต่วันดังกล่าว แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ซึ่งถือเสมือนว่าจำเลยร่วมถูกฟ้อง
ให้รับผิดต่อโจทก์ในวันดังกล่าว สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ที่มีต่อจำเลยร่วมจึงขาดอายุความแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ผู้เอาประกันภัยไม่ทราบว่ามีจำเลยร่วมเป็นผู้ขนส่ง จึงไม่ควรจะถือว่ารู้ตัวผู้กระทำความผิดที่จะต้องรับผิดต่อผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง อายุความยังไม่สมควรที่จะเริ่มนับนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่ได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของ มิได้เริ่มนับตั้งแต่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งรู้ตัวผู้กระทำความผิดที่จะต้องรับผิดต่อตน ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงอาจจะรับฟังได้ว่าผู้เอาประกันภัยไม่ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นผู้ขนส่งซึ่งจะต้องรับผิดต่อตน อายุความก็เริ่มนับตั้งแต่ได้ส่งมอบของหรือควรจะส่งมอบของแล้ว และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า อายุความได้สะดุดหยุดลงนับแต่โจทก์ยื่นฟ้องซึ่งย่อมมีผลไปถึง
จำเลยร่วมด้วยนั้น เห็นว่า กำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะ
แต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้อายุความจึงสะดุดหยุดลงเฉพาะสำหรับจำเลยที่ ๑
และจำเลยที่ ๒ ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องเท่านั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยร่วมจึงขาดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

         พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

(ธารทิพย์  จงจักรพันธ์ - วราคมน์ เลี้ยงพันธุ์ – กรกันยา  สุวรรณพานิช)

สุธรรม  สุธัมนาถพงษ์ - ย่อ

นิภา  ชัยเจริญ - ตรวจ