คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1360/2563 บริษัทอาควาไลน์ โปรทาร์เก็ต จำกัด โจทก์
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กับพวก จำเลย
พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 9, 65 ทวิ, 65 ทศ
ตามคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงว่า
การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตร เลขที่ ๖๙๓๔ ของจําเลยที่ ๒ ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องพิจารณา ตามบทบัญญัติว่าด้วยการขอรับอนุสิทธิบัตรดังที่บัญญัติไว้ใน
พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทวิ (๑) กับมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบมาตรา 6 วรรคสอง (๑) และมาตรา ๙ (๒) เพียงประการเดียว กรณีหาได้มีประเด็นข้อพิพาทว่า การประดิษฐ์
ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ของจําเลยที่ ๒ ละเมิดสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตร
คนใดไม่ ทั้งตามคําฟ้องของโจทก์และคําให้การของจําเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็ไม่ปรากฏว่าผู้ผลิตทั้งสาม
เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรแต่ประการใด ดังนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศกลางหยิบยกเรื่องขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครอง
ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทศ ประกอบมาตรา ๓๖ ทวิ วรรคสอง ขึ้นวินิจฉัยมาด้วยนั้น จึงไม่ชอบเพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท
การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรใดจะเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ดังที่กําหนดใน
พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทวิ (๑) หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบ
มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏ
อยู่แล้ว” ส่วนมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติว่า “งานที่ปรากฏอยู่แล้ว
ให้หมายความถึง การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) การประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้ว
ในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร (2) การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสําคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้ว ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร” แม้จําเลยที่ ๒ จะใช้ชื่อการประดิษฐ์ว่า “ถังดักไขมันและแยกไขมัน” ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดการประดิษฐ์ทั้งหมดแล้ว ยังมีอีกขั้นตอนหนึ่ง คือ เรื่อง “การระบายไขมัน”
ซึ่งจําเลยที่ ๒ ระบุถึง “ส่วนระบายไขมัน” ไว้ในข้อถือสิทธิข้อที่ ๑ วรรคหนึ่ง ข้อที่ ๒ และข้อที่ ๓ รวม ๓ ข้อ นอกจากนี้ยังระบุไว้ในย่อหน้าที่ ๒ หรือวรรคสอง (วรรคท้าย) ของข้อถือสิทธิข้อที่ ๑ เพื่อแยก “ส่วนระบายไขมัน” ออกมาต่างหากเป็นพิเศษว่า “ที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ...ส่วนระบายไขมันถูกจัดวางในแนวดิ่ง” โดยจําเลยที่ ๒ ระบุความมุ่งหมายของการประดิษฐ์เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการระบายไขมันว่า “ถังดักไขมันและแยกไขมันตามคําขอรับ
อนุสิทธิบัตร สามารถระบายไขมันที่ปะปนมากับน้ำโดยผ่านช่องระบายไขมันในลักษณะที่เป็นแนวดิ่ง ทําให้...สามารถระบายไขมันออกได้โดยสะดวกและระบายได้หมดจดกว่าถังดักไขมันที่ติดตั้ง
ช่องระบายในลักษณะแนวราบที่มีอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป...” จึงเห็นได้ว่า ข้อถือสิทธิ
ในการประดิษฐ์ “ส่วนระบายไขมันถูกจัดวางในแนวดิ่ง” อันมีลักษณะเฉพาะดังกล่าวนั้นย่อมถือเป็นข้อสาระสําคัญ ดังนั้นการประดิษฐ์ “ส่วนระบายไขมัน” ที่มีลักษณะเป็นช่องในแนวดิ่งตามข้อถือสิทธิ
ข้อที่ ๑ วรรคสอง (วรรคท้าย) ตามอนุสิทธิบัตรของจําเลยที่ ๒ จึงยังไม่เคยมีบุคคลใดเป็นผู้คิดค้นหรือคิดทําขึ้นมาก่อน กล่าวคือ หาใช่เป็นการประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักร หรือที่ได้มีการเปิดเผยสาระสําคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้ว
ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันที่จําเลยที่ ๒ ขอรับอนุสิทธิบัตรไม่ จึงแตกต่างกับงาน
ที่ปรากฏอยู่แล้ว ดังนั้น การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ของจําเลยที่ ๒
เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วไม่ใช่การประดิษฐ์ซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ การที่จําเลยที่ ๑ ออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ให้แก่จําเลยที่ ๒ จึงชอบแล้ว
“กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว
ตามธรรมชาติแม้จะไม่สามารถนําไปขอรับอนุสิทธิบัตรได้เนื่องจากไม่ได้รับความคุ้มครอง
ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทวิ, มาตรา ๖๕ ทศ ประกอบมาตรา ๙ (๒) ดังคําแก้อุทธรณ์
ของโจทก์ แต่หากนำ “กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” ไปประยุกต์ใช้
ในการผลิตผลิตภัณฑ์ ก็ย่อมเป็นการประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรได้ เมื่อ “ส่วนระบายไขมันที่จัดวางในแนวดิ่ง” อันเป็นข้อถือสิทธิข้อที่ ๑ วรรคสอง ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ไม่ปรากฏว่า
จําเลยที่ ๒ ผู้ทรงอนุสิทธิบัตรได้ขอถือสิทธิในลักษณะการไหลของน้ำและไขมันหรือของเหลว
จากที่สูงลงสู่ที่ต่ำซึ่งเป็นกฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แต่อย่างใดแล้ว
การที่จําเลยที่ ๒ ขอถือสิทธิในการจัดวางส่วนระบายไขมันไว้ในแนวดิ่งดังกล่าวย่อมเป็นเพียงการนํา “กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์
“ถังดักไขมันและแยกไขมัน” เท่านั้น จึงเป็นการประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรได้
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้เพิกถอนคำขอรับอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๐๘๐๓๐๐๑๑๙๒ ของจำเลยที่ ๒ และเพิกถอนอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ที่ออกโดยจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว
จำเลยที่ ๑ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตร
เลขที่ ๖๙๓๔ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า อนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ สำหรับ
การประดิษฐ์ชื่อ “ถังดักไขมันและแยกไขมัน” ของจำเลยที่ ๒ มีข้อถือสิทธิทั้งหมด ๙ ข้อ โดยการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิข้อที่ ๑ วรรคหนึ่ง และข้อที่ ๒ ถึงที่ ๙ เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิ
ข้อที่ ๑ วรรคสอง (วรรคท้าย) ระบุว่า “ที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ ส่วนรับน้ำหรือของเหลวจากแหล่งกำเนิด ส่วนระบายไขมันและส่วนระบายน้ำหรือของเหลวถูกติดตั้งถาวรและผลิตเป็นชิ้นเดียวกันกับส่วนตัวถังสำหรับทำหน้าที่รองรับน้ำหรือของเหลว โดยที่ส่วนระบายไขมันถูกจัดวางในแนวดิ่ง”
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในประการแรกว่า การที่ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหยิบยกเรื่องขอบเขตของการประดิษฐ์ที่ได้รับความคุ้มครอง
ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทศ ประกอบมาตรา ๓๖ ทวิ วรรคสอง
ขึ้นวินิจฉัยมาด้วยนั้นเป็นการชอบหรือไม่ ในเบื้องต้นเมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์กับคำให้การ
ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แล้ว คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตร
เลขที่ ๖๙๓๔ ของจำเลยที่ ๒ ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องพิจารณา
ตามบทบัญญัติว่าด้วยการขอรับอนุสิทธิบัตรดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทวิ (๑) กับมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบมาตรา ๖ วรรคสอง (๑) และมาตรา ๙ (๒)
เพียงประการเดียวเท่านั้น กรณีหาได้มีประเด็นข้อพิพาทว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ของจำเลยที่ ๒ ละเมิดสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรคนใด อันจะต้องวินิจฉัย
เรื่องขอบเขตของการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิของผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรคนนั้น
ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทศ ประกอบ
มาตรา ๓๖ ทวิ วรรคสอง ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาไม่ ทั้งนี้เพราะหากปรากฏว่ามีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวแล้วก็จะต้องนำลักษณะการประดิษฐ์
ที่ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรได้ระบุไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิของตน
มาเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ของจำเลยที่ ๒ แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่า
มีสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรของผู้ทรงรายใดรายหนึ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบกับอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ของจำเลยที่ ๒ หากจะมีก็แต่เพียงผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ๓ ราย ได้แก่ (๑) ผลิตภัณฑ์รุ่นดี - แม็กซ์ (D-MAX) ของโจทก์ที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ (๒) ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “FATBUSTA”ของบริษัทเอฟเอ็ม เอ็นไวรอนเมนทัล จำกัด (FM ENVIRONMENTAL LTD.) แห่งไอร์แลนด์เหนือ ที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๒๐
และ (๓) ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมิราเอ อินดัสทรี จำกัด (MIRAE INDUSTRY CO., LTD.) แห่งสาธารณรัฐเกาหลี
ที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เท่านั้น โดยที่ตามคำฟ้องของโจทก์กับคำให้การของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
ไม่ปรากฏว่า ผู้ผลิตทั้งสามเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรหรือผู้ทรงอนุสิทธิบัตรแต่ประการใด ดังนี้
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหยิบยกเรื่องขอบเขตของการประดิษฐ์
ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทศ ประกอบ
มาตรา ๓๖ ทวิ วรรคสอง ขึ้นวินิจฉัยมาด้วยนั้นจึงไม่ชอบเพราะเป็นคำวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในประการต่อไปว่า การประดิษฐ์ชื่อ
“ถังดักไขมันและแยกไขมัน” ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่จำเลยที่ ๒
มีสิทธิขอรับอนุสิทธิบัตรได้หรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรใดจะเป็น
การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ดังที่กำหนดในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทวิ (๑) หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว” ส่วนมาตรา ๖๕ ทศ ประกอบมาตรา ๖ วรรคสอง บัญญัติว่า “งานที่ปรากฏอยู่แล้ว ให้หมายความถึง การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ด้วย (๑) การประดิษฐ์ที่มี
หรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในราชอาณาจักรก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร (๒) การประดิษฐ์ที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันขอรับอนุสิทธิบัตร” เมื่อพิจารณาชื่อและขั้นตอนของการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ แล้ว แม้จำเลยที่ ๒ จะใช้ชื่อการประดิษฐ์ว่า “ถังดักไขมันและแยกไขมัน” ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดการประดิษฐ์ทั้งหมดแล้ว ยังมีอีกขั้นตอนหนึ่ง คือ เรื่อง “การระบายไขมัน” อีกด้วย โดยจำเลยที่ ๒ ระบุถึง “ส่วนระบายไขมัน” ไว้ในข้อถือสิทธิข้อที่ ๑ วรรคหนึ่ง ข้อที่ ๒ และข้อที่ ๓ รวม ๓ ข้อ นอกจากนี้ยังระบุไว้ในย่อหน้าที่ ๒ หรือวรรคสอง (วรรคท้าย) ของข้อถือสิทธิข้อที่ ๑ เพื่อแยก
“ส่วนระบายไขมัน” ออกมาต่างหากเป็นพิเศษว่า “ที่ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ ... ส่วนระบายไขมัน
ถูกจัดวางในแนวดิ่ง” ประกอบกับจำเลยที่ ๒ ระบุความมุ่งหมายของการประดิษฐ์เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการระบายไขมันว่า “ถังดักไขมันและแยกไขมันตามคำขอนี้ (คำขอรับอนุสิทธิบัตร) สามารถระบายไขมันที่ปะปนมากับน้ำโดยผ่านช่องระบายไขมันในลักษณะที่เป็นแนวดิ่ง ทำให้ ... สามารถระบายไขมันออกได้โดยสะดวกและระบายได้หมดจดกว่าถังดักไขมันที่ติดตั้ง
ช่องระบายในลักษณะแนวราบที่มีอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป ...” เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่า ข้อถือสิทธิ
ในการประดิษฐ์ “ส่วนระบายไขมันถูกจัดวางในแนวดิ่ง” อันมีลักษณะเฉพาะดังกล่าวนั้นย่อมถือเป็น
ข้อสาระสำคัญ หาใช่เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยหรือส่วนหนึ่งในขั้นตอนการทำงานของถังดักไขมัน
และแยกไขมัน โดยที่สาระสำคัญปรากฏอยู่ในข้อถือสิทธิ ข้อที่ ๑ วรรคหนึ่ง ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๔ ข้อที่ ๕
ข้อที่ ๖ และข้อที่ ๘ ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมา
ในทำนองนั้นไม่ พิจารณาทางนำสืบของจำเลยที่ ๒ โดยพยานปากนายฐานวัฒน์ เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า การประดิษฐ์ “ส่วนระบายไขมัน” ตามข้อถือสิทธิ
ข้อที่ ๑ วรรคสอง (วรรคท้าย) ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ของจำเลยที่ ๒ มีลักษณะเป็นช่อง
ในแนวดิ่ง ซึ่งแตกต่างกับผลิตภัณฑ์รุ่นดี- แม็กซ์ (D - MAX) ของโจทก์ที่เป็นท่อยื่นออกมาในแนวราบ ผลิตภัณฑ์ “FATBUSTA” ของบริษัทเอฟเอ็ม เอ็นไวรอนเมนทัล จำกัด (FM ENVIRONMENTAL LTD.) แห่งไอร์แลนด์เหนือ ที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๒๐ ต้องใช้น้ำยาย่อยสลายเพื่อระบายไขมัน และผลิตภัณฑ์ของบริษัทมิราเอ อินดัสทรี จำกัด (MIRAE INDUSTRY CO., LTD.) แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ที่ผลิตขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ต้องใช้วิธีตักไขมันออกมาทิ้ง ผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตทั้งสามรายจึงไม่มีท่อระบายไขมัน
ในแนวดิ่ง เมื่อโจทก์มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ตามทางนำสืบ
ของจำเลยที่ ๒ ว่า การประดิษฐ์ “ส่วนระบายไขมัน” ที่มีลักษณะเป็นช่องในแนวดิ่งตามข้อถือสิทธิ
ข้อที่ ๑ วรรคสอง (วรรคท้าย) ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ของจำเลยที่ ๒ ยังไม่เคยมีบุคคลใด
เป็นผู้คิดค้นหรือคิดทำขึ้นมาก่อน กล่าวคือ หาใช่เป็นการประดิษฐ์ที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้ว
ในราชอาณาจักร หรือที่ได้มีการเปิดเผยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้
เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนวันที่จำเลยที่ ๒ ขอรับอนุสิทธิบัตรไม่ จึงแตกต่าง
กับงานที่ปรากฏอยู่แล้ว ดังนั้น การประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ของจำเลยที่ ๒
เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วไม่ใช่การประดิษฐ์ซึ่งเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว จึงเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่
ด้วยเหตุนี้การที่จำเลยที่ ๑ ออกอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ให้แก่จำเลยที่ ๒ จึงชอบแล้ว
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ มิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ไม่อาจขอรับอนุสิทธิบัตรได้ ถือว่า อนุสิทธิบัตรดังกล่าว
ไม่สมบูรณ์ แล้วพิพากษาให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรของจำเลยที่ ๒ มานั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่หยิบยกข้อกล่าวอ้างในคำฟ้องและในทางนำสืบ
โดยนายธนพัฒน์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ว่า ข้อถือสิทธิเกี่ยวกับส่วนระบายไขมันที่จัดวาง
ในแนวดิ่งตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ของจำเลยที่ ๒ มิใช่ข้อถือสิทธิที่จะขอรับอนุสิทธิบัตรได้
เพราะมิใช่การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ หากเป็นข้อถือสิทธิที่เกิดจากการกระทำของธรรมชาติตามทฤษฎี
หรือหลักแรงโน้มถ่วงและแรงดึงดูดของโลก (Gravity) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติเรียกว่า “กฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ” (law of nature) อันเป็นสมบัติ
แห่งมนุษยชาติ บุคคลใดไม่มีสิทธิผูกขาดได้ แต่เป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้วตามธรรมชาติ กล่าวคือ
น้ำและไขมันหรือของเหลวต้องไหลในแนวดิ่งจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งปัญหาข้อนี้แม้ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทข้อที่ ๒ ไว้แล้ว
กลับมิได้วินิจฉัยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองได้สืบพยานมาจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นนี้ไปเสียทีเดียวได้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาท
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัยให้คดีเสร็จไปเสียทีเดียว
โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนมาให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก็ได้ เห็นว่า “กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” ซึ่งเป็นสิ่งที่มี
อยู่แล้วตามธรรมชาติ แม้จะไม่สามารถนำไปขอรับอนุสิทธิบัตรได้เนื่องจากไม่ได้รับความคุ้มครอง
ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ ทวิ, มาตรา ๖๕ ทศ ประกอบมาตรา ๙ (๒)
ดังคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ แต่หากนำ “กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์”
ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ ก็ย่อมเป็นการประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรได้ หาใช่เป็นข้อห้าม
ดังที่โจทก์กล่าวในคำแก้อุทธรณ์ไม่ เมื่อ “ส่วนระบายไขมันที่จัดวางในแนวดิ่ง” อันเป็นข้อถือสิทธิข้อที่ ๑ วรรคสอง ของอนุสิทธิบัตรเลขที่ ๖๙๓๔ ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ ผู้ทรงอนุสิทธิบัตรได้ขอถือสิทธิ
ในลักษณะการไหลของน้ำและไขมันหรือของเหลวจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำซึ่งเป็นกฎเกณฑ์และทฤษฎี
ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แต่อย่างใดแล้ว การที่จำเลยที่ ๒ ขอถือสิทธิในการจัดวาง
ส่วนระบายไขมันไว้ในแนวดิ่งดังกล่าวย่อมเป็นเพียงการนำ “กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์
และคณิตศาสตร์” ไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ “ถังดักไขมันและแยกไขมัน” เท่านั้น จึงเป็น
การประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรได้ คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ.
(วราคมน์ เลี้ยงพันธุ์ – ธารทิพย์ จงจักรพันธ์ – กรกันยา สุวรรณพานิช)
รุ่งระวี โสขุมา - ย่อ
นิภา ชัยเจริญ - ตรวจ