คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 712/2563 พนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรี โจทก์
นางปัณณทัต เฉลิมนาค จำเลย
พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165
รถยนต์เป็นยานพาหนะที่จำเลยได้ใช้ในการซ่อนเร้นหรือขนของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ ศาลมิอาจใช้ดุลพินิจไม่ริบของกลางตาม ป.อ. มาตรา 33 ได้ รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่ต้องริบตามกฎหมายดังกล่าว
______________________________
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔, ๑๕๙, ๑๖๕, ๒๐๓, ๒๐๗ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๔, ๑๖๕, ๑๖๖, ๒๔๖ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๑๐๘, ๑๑๐, ๑๑๕ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓ ริบบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศเครื่องหมายการค้ามอนด์ (MOND) และเครื่องหมายการค้าเอส เอ็ม เอส (SMS) กับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ยจ – ๔๒๗ นครราชสีมา ของกลาง จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ
และจ่ายรางวัลแก่พนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต
พ.ศ. 2560 มาตรา 203 (1) ประกอบมาตรา 165 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานมีไว้
เพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 60,000 บาท
ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งของที่ไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร และฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษี เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว
ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ
หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งของที่ไม่ได้ผ่านพิธีการทางศุลกากร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับ 32,640 บาท รวมเป็นโทษจำคุก 2 เดือน
และปรับ 92,640 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ
ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 46,320 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลย
ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศ
ของกลาง ส่วนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ยจ – ๔๒๗ นครราชสีมา ไม่ปรากฏว่าใช้ในการย้าย ซ่อนเร้นบุหรี่ซิกาแรตที่ยังมิได้เสียภาษีอย่างไร จึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดไม่อาจริบได้ ยกคำขอ
ให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับจากเงินที่ได้จากการขายของกลางหรือค่าปรับในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 โดยให้จ่ายตามพระราชบัญญัติ
ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 5 (2), 6, 7, 8 วรรคหนึ่ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่พึงต้องริบ
ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยในส่วนความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย
ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศรวม 340 ซอง ราคา 5,100 บาท
โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดและผลิตในต่างประเทศ แล้วนำเข้ามาในราชอาณาจักร
โดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ยจ – ๔๒๗ นครราชสีมาของกลาง ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้ตอนท้ายด้วยว่า รถยนต์ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่จำเลย
ใช้ในการกระทำความผิดโดยใช้ซุกซ่อนและเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศ และผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ที่จำเลยช่วยซ่อนเร้น
ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด อันเป็นความผิดข้างต้น
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยกระทำความผิด
ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๖ วรรคหนึ่ง และรถยนต์ดังกล่าวเป็นยานพาหนะที่จำเลยได้ใช้ในการซ่อนเร้น หรือขนของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ โดยศาล
มิอาจใช้ดุลพินิจไม่ริบของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ ได้ รถยนต์ของกลาง
จึงเป็นทรัพย์ที่ต้องริบตามกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้รถยนต์ของกลางในการย้าย ซ่อนเร้นบุหรี่ซิกาแรตที่ยังมิได้
เสียภาษีอย่างไร จึงมิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด แล้วพิพากษายกคำขอให้ริบรถยนต์ของกลาง จึงไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง การจ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
ปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน ยจ – ๔๒๗ นครราชสีมาของกลางด้วย
ให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับจากเงินที่ได้จากการขายของกลางหรือค่าปรับในความผิด
ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 โดยให้จ่ายตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จ
ในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 5 (2), 6, 7, 8 วรรคสอง นอกจากที่แก้
คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.
(กรกันยา สุวรรณพานิช – ธารทิพย์ จงจักรพันธ์ – วราคมน์ เลี้ยงพันธุ์)
ธนวรรณ นราวิริยะกุล - ย่อ
กลอน รักษา - ตรวจ