คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 10/2563  

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด     โจทก์

นางสาวสายใจ วงศ์จิตติยานนท์ กับพวก    จำเลย

พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561

พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มาตรา 8, 9, 101, 102

            จําเลยที่ ๒ กระทําความผิดเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๒ หลังจากวันที่ ๒8 มีนาคม ๒๕๖๑
อันเป็นวันที่ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษากำหนดโทษปรับ 2,000 บาท ย่อมเป็นการวางโทษต่ำกว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ อนึ่งการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จําเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐๑ ประกอบมาตรา 8 และมาตรา ๑๐๒ ประกอบมาตรา 9 อันอาจเข้าใจไปได้ว่าจําเลยทั้งสองมีความผิดทั้งสองฐานความผิด แม้จะได้พิพากษาแยกให้จําเลยแต่ละคนรับผิดตามฐานความผิดเฉพาะในส่วนของตนแล้วตามที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมา ย่อมเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษชอบที่ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

_____________________________

 

         โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔, ๑๐๘, ๑๐๙, ๑๑๐, ๑๑๕, ๑๑๗ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕, ๘, ๙, ๑๐๑, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓, ๙๑ และริบของกลาง

         จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

         ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐๑ ประกอบมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐๒ ประกอบมาตรา ๙ การกระทำของจำเลยทั้งสอง
เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ให้ปรับคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ ฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด ๑ ปี ส่วนจำเลยที่ ๒ ฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ให้ปรับ ๒,๐๐๐ บาท รวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว เป็นให้ปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท ปรับจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๒๒,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองให้การ
รับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท และปรับจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๑๑,๐๐๐ บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ริบของกลาง

         โจทก์อุทธรณ์

         ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดโทษสำหรับจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐๑ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๘ โดยกำหนดโทษปรับ ๒,๐๐๐ บาท นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหานี้เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ ๒ ฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ ๒ กระทำความผิดเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๒ หลังจากวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑
ซึ่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับแล้ว โดยมาตรา ๔๕ แห่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้บัญญัติให้ยกเลิกบทกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืนมาตรา ๘ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๐๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ และให้ใช้ความที่แก้ไขใหม่แทน ซึ่งความแห่งมาตรา ๑๐๑ วรรคหนึ่งที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า คนต่างด้าวผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๘ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท... ดังนี้ การที่ศาลทรัพย์สิน
ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจวางโทษก่อนลดให้โดยลงโทษปรับจำเลยที่ ๒
เป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท ย่อมเป็นการลงโทษปรับจำเลยที่ ๒ ต่ำกว่าอัตราโทษปรับขั้นต่ำที่กฎหมาย
ที่ใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติไว้ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรแก้ไขและกำหนดโทษของจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานดังกล่าวเสียใหม่ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

         อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปซึ่งสินค้าหมวก ๑๙ ใบ, ๔๕ ใบ กับ ๔ ใบ ที่มีเครื่องหมายการค้า           ,     กับ     อันเป็นเครื่องหมายการค้าปลอมที่มีผู้ทำปลอมเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ ตามลำดับ และสินค้าหมวก ๓๖ ใบ ที่มีเครื่องหมายการค้า            อันเป็นเครื่องหมายการค้าเลียนที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้า   ของผู้เสียหายที่ ๔ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ ๔ โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้า    ,     กับ     ของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓ และเลียนเครื่องหมายการค้า    ของผู้เสียหายที่ ๔ ซึ่งในวันเวลาที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดนั้น เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดสินค้าหมวกรวม ๑๐๔ ใบ ที่จำเลยทั้งสองจำหน่าย เสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นการกระทำความผิดดังกล่าวไว้เป็นของกลาง เช่นนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมเป็นการกระทำในคราวเดียวกัน แม้สินค้าของกลางจะมีเครื่องหมายการค้าทั้งลักษณะปลอมเครื่องหมายการค้า    ,    กับ    ที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๓
และลักษณะเลียนเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ ๔ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยทั้งสอง
มีเจตนาในผลของการกระทำเป็นอย่างเดียวกันคือมุ่งแสวงหากำไรจากการจำหน่ายสินค้าของกลาง
ทั้งสองลักษณะดังกล่าวด้วยกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องจึงเป็นการกระทำกรรมเดียว
เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งได้แก่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ บทหนึ่ง และพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๙  อีกบทหนึ่ง โดยต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแก่จำเลยทั้งสองผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ดังนี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ เพียงบทเดียว โดยไม่มีเหตุผลที่ไม่ตัดสินและไม่มีคำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๙ จึงเป็นการไม่ชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๑๘๖ (๖) และ (๘) นอกจากนี้คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ ส่วนการกระทำความผิดต่อพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ โจทก์บรรยายฟ้องให้เห็นการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคนตามองค์ประกอบความผิดคนละฐานกัน การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงาน
ของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐๑ ประกอบมาตรา ๘ และมาตรา ๑๐๒ ประกอบมาตรา ๙
อันอาจเข้าใจไปได้ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดทั้งสองฐานความผิดตามกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าจะได้พิพากษาแยกให้จำเลยแต่ละคนรับผิดในความผิดต่อกฎหมายดังกล่าว เพียงคนละฐานความผิด
ตามการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคนดังที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาก็ตาม ย่อมเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์
แต่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญา
และการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๙ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง

         พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ และมาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐๒ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๙ จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐๑ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๘ สำหรับความผิดฐานร่วมกันจำหน่าย เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ และสำหรับจำเลยที่ ๒ ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๐๑ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๘ ให้ปรับ ๕,๐๐๐ บาท เมื่อรวมกับโทษปรับในความผิดอีกฐานหนึ่งข้างต้นแล้ว
.

 

 

 

ให้ปรับจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ ๑๒,๕๐๐ บาท ส่วนโทษสำหรับจำเลยที่ ๑ และนอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

(วราคมน์ เลี้ยงพันธุ์ – จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา – กรกันยา  สุวรรณพานิช)

ฐิติ สุเสารัจ - ย่อ

วิวัฒน์ วงศกิตติรักษ์ - ตรวจ

 

หมายเหตุ   คดีถึงที่สุด